วันนี้ (24 มิ.ย. 49) วันสุดท้ายของ Workshop ครั้งที่ 3 แล้ว เราเริ่มกระบวนการตั้งแต่ 08.30 น. แต่ผู้เข้าร่วมกลุ่มนี้มีความกระตือรือร้นมาก เข้ามานั่งเตรียมพร้อมอยู่ในห้องประชุมก่อนเวลาเริ่มกิจกรรมจริงๆ เสียอีก
กระบวนการช่วงแรกของวันนี้ เริ่มต้นด้วยการที่ ผศ.ดร.ทัศนีย์ ไพฑูรย์พงษ์ ให้ผู้เข้าร่วมแบ่งกลุ่มตามสังกัดของตนเอง แล้วนำตารางแห่งอิสรภาพที่ช่วยกันสร้างเมื่อวานนี้ มาพูดคุยแลกเปลี่ยนกันเพื่อประเมินว่า ในแต่ละแก่นความรู้ หน่วยงานของตัวเอง อยู่ในระดับใดในปัจจุบัน และภายในหนึ่งปี ต้องการจะไปที่ระดับใด แต่จากการสังเกต ผู้เขียนยังไม่ค่อยเห็นภาพบรรยากาศของการพูดคุยแลกเปลี่ยน
หลังจากนั้น คุณอุษา ชูชาติ และ คุณณัฐจรีย์ กาญจนรจิต นักวิจัยจากสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา ได้นำเสนอธารปัญญาและบันไดแห่งการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ จากผลการประเมินตนเองของหน่วยงานที่เข้าร่วมกิจกรรมครั้งนี้ ให้ผู้เข้าร่วมได้เรียนรู้เครื่องมือทั้ง 2 อย่างนี้ต่อไป แม้จะเป็นเวทีแรก แต่ทั้งคู่สามารถนำเสนอประโยชน์และวิธีการใช้เครื่องมือเหล่านี้ได้ดี อธิบายทุกขั้นตอนอย่างละเอียดชัดเจน
กิจกรรมต่อมาคือ การ AAR หรือ After Action Review ดำเนินกระบวนการโดย ผศ.ดร.สุกัญญา ศรีโพธิ์ จากการได้ฟัง AAR ของผู้เข้าร่วม ผู้เขียนเห็นได้อย่างชัดเจนว่า ผู้เข้าร่วมประชุม กลุ่มนี้ มีความสนใจ ตั้งใจที่จะเรียนรู้กระบวนการจัดการความรู้จากทีมวิทยากร และการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ความรู้ปฏิบัติระหว่างกันอย่างมาก แต่ละคนสะท้อนความรู้สึกความเข้าใจของตนเองออกมาได้ดี มีการเน้นย้ำถึงเรื่องของ Tacit Knowledge และการฟังอย่างลึกซึ้ง มากเป็นพิเศษ ซึ่งอาจจะเป็นผลสืบเนื่องมาจากการบรรยายของ อ.ประพนธ์ ในวันแรก อีกสิ่งหนึ่งที่ผู้เข้าร่วมได้สะท้อนออกมากันมาก คือ ความสัมพันธ์แบบกัลยาณมิตร แต่ละคนมาจากคนละโรงเรียน คนละจังหวัด แต่ได้ร่วมกิจกรรมกันมา 3 วัน มีการเปิดใจแลกเปลี่ยนเรียนรู้ มีความประทับใจซึ่งกันและกัน และมีแนวโน้มที่จะสานสัมพันธ์เป็นเครือข่ายที่ดีกันต่อไปในอนาคตได้
นอกจากนั้น มีบางท่านบอกว่า เวทีแบบนี้ ทำให้เราได้ฉุกคิดเพื่อนำสิ่งที่ผู้เข้าร่วมคนอื่นๆ ที่ได้เล่าประสบการณ์การทำงานของตนเองที่ประสบความสำเร็จและความภาคภูมิใจเล่าให้ฟัง นำไปพัฒนาปรับปรุงตนเองได้ เพราะบางคนเป็นผู้ใหญ่เป็นผู้บริหาร จะให้ใครมาจี้จุดหรือบอกตรงๆ ก็คงจะไม่ดี แต่เวทีเช่นนี้ ผู้บริหารได้ฝึกฟังและคิดเอง เพื่อจะนำไปพัฒนาตนเองต่อไปได้
อีกสิ่งหนึ่งที่ผู้เข้าร่วมสะท้อนออกมากันมากอีกประเด็นหนึ่งคือ การเพิ่มหรือเน้นย้ำกระบวนการของการสกัด “ขุมความรู้” และการทำ “แก่นความรู้” เพราะยังมีผู้เข้าร่วมหลายคนยังไม่ค่อยเข้าใจมากนัก แต่โดยรวมผู้เข้าร่วมค่อนข้างพอใจกับสิ่งที่ได้เรียนรู้ใน 3 วันนี้
กิจกรรมช่วงสุดท้าย คือ การทำความเข้าใจการเข้าร่วมโครงการฯ ตลอดระยะเวลา 2 ปี โดย ดร.เลขา ปิยะอัจฉริยะ ได้ชี้แจงวัตถุประสงค์โครงการฯ, แผนการทำงานตามโครงการวิจัย, แนวคิดในการใช้ KM เพื่อพัฒนาคุณภาพองค์กร, การนำ KM สู่การปฏิบัติใน 2 มิติ (KM กับการแผนพัฒนาองค์กร และ KM กับระบบโครงสร้างการบริหารองค์กร), KM กับแผนพัฒนาองค์กร, KM กับระบบโครงสร้างการบริหารองค์กร, บทบาทหน้าที่ของบุคลากรแกนนำ KM, ภารกิจของบุคลากรแกนนำ KM และการติดต่อกับสำนักงานโครงการฯ พร้อมให้ผู้เข้าร่วมได้ซักถามสอบถาม ก่อนที่จะปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการในครั้งนี้
(มีต่อ)