ต้นธารแห่งศรัธทา
นิติกรชำนาญการ นักวิชาการศุลกากรชำนาญการ (ปัจจุบัน) อรอนงค์ ต้นธารแห่งศรัธทา นิลธจิตรัตน์

บทสรุปและเสนอแนะอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการโอนสิทธิเรียกร้องทางการเงินในทางการค้าระหว่างประเทศ อาจารย์ ดร. วิรรณ ลาภวงศ์วัฒนา ประธานกรรมการสอบ


อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการโอนสิทธิเรียกร้องทางการเงินในทางการค้าระหว่างประเทศ Conventions on the Assignment of the Receivables in International Trade

บทที่ 5บทสรุปและข้อเสนอแนะ

 อนุสัญญาการโอนสิทธิเรียกร้องทางการเงินในทางการค้าระหว่างประเทศ

1.  บทสรุป 

อนุสัญญานั้นใกล้เคียงกับหลักกฎหมายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ป.พ.พ.) ซึ่งกระจายอยู่ทั่วไปในหมวดของการโอนสิทธิเรียกร้อง และหมวดอื่น ๆ ของ ป.พ.พ. เช่น หลักในอนุสัญญาตาม Article 11.1 ที่กำหนดให้สิทธิและหน้าที่ของผู้โอนและผู้รับโอนเป็นไปตามความผูกพันที่ทั้งสองฝ่ายได้ตกลงกันไว้  ซึ่งข้อกำหนดดังกล่าวเป็นไปตามหลักเรื่องความศักดิ์สิทธิในการแสดงเจตนา (Autonomy of Will) ที่ ป.พ.พ. ได้ยอมรับหลักนี้อยู่แล้วในมาตรา 149 โดยมิได้นำมาบัญญัติซ้ำอีกในเรื่องการโอนสิทธิเรียกร้อง เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม มีหลักบางประการที่อนุสัญญาได้กล่าวไว้อย่างละเอียดและชัดเจนกว่าที่กำหนดไว้ใน ป.พ.พ. เช่น Article 13.1 ที่กำหนดเกี่ยวกับการบอกกล่าวการโอนไว้ว่าผู้โอนหรือผู้รับโอนอาจส่งคำบอกกล่าวการโอนและวิธีการชำระหนี้ให้ลูกหนี้ทราบได้ แต่ถ้าได้มีการส่งคำบอกกล่าวการโอนไปยังลูกหนี้แล้ว ผู้รับโอนเท่านั้นที่สามารถแจ้งคำสั่งให้ชำระเงินไปยังลูกหนี้ได้ ซึ่งในประเด็นดังกล่าว ป.พ.พ. มิได้กำหนดไว้อย่างชัดเจนว่า บุคคลใดเป็นผู้มีสิทธิในการบอกกล่าวการโอนไปยังลูกหนี้  แต่เป็นที่เข้าใจกันโดยนัยว่าผู้โอนหรือผู้รับโอนย่อมบอกกล่าวการโอนสิทธิเรียกร้องให้ลูกหนี้ทราบได้ เป็นต้น

นอกจากนี้ อนุสัญญาได้วางหลักบางประการไว้  ซึ่งน่าจะเป็นประโยชน์หากนำมาบัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. ด้วย เช่น Article 17.3 ที่กำหนดเกี่ยวกับการชำระหนี้ของลูกหนี้ในกรณีที่ลูกหนี้ได้รับคำสั่งให้ชำระเงินมากกว่าหนึ่งครั้งในการโอนเพียงครั้งเดียว(ผู้รับโอนมีการเปลี่ยนแปลงคำสั่ง) Article 17.5 ที่กำหนดเกี่ยวกับการชำระหนี้ของลูกหนี้ในกรณีที่มีการโอนหนี้เดียวกันนั้นหลายทอด Article 17.7 ที่ให้สิทธิแก่ลูกหนี้ที่จะขอให้ผู้รับโอนแสดงข้อพิสูจน์ว่า เป็นผู้รับโอนที่แท้จริง Article 20 ที่กำหนดเกี่ยวกับผลของการแก้ไขสัญญาเดิมระหว่างลูกหนี้และผู้โอน เป็นต้น 

หากจะสรุปโดยภาพรวมแล้ว อนุสัญญามิได้ขัดหรือแย้งกับ ป.พ.พ. ยกเว้นในประเด็นที่เกี่ยวกับการโอนสิทธิเรียกร้องต่างราย (Article 17.4 และมาตรา 307 ป.พ.พ.) ซึ่งหลักตามอนุสัญญากำหนดให้ “การโอนที่ลูกหนี้ได้รับคำบอกกล่าวครั้งแรก เป็นการโอนที่ผูกพันให้ลูกหนี้ต้องชำระหนี้แก่ผู้รับโอนรายดังกล่าว” ในขณะที่ ป.พ.พ. ได้วางหลักไว้ว่า “...โอนรายใดได้บอกกล่าวหรือตกลงกันก่อน โอนรายนั้นมีสิทธิดีกว่าโอนรายอื่น ๆ” ซึ่งการยอมรับหลักทั้งสองประการดังกล่าวของ ป.พ.พ. อาจไม่สอดคล้องกับหลักตามอนุสัญญา[1]

 2.  ข้อเสนอแนะ

 เนื่องจากอนุสัญญาการโอนสิทธิเรียกร้องทางการเงินในทางการค้าระหว่างประเทศจะเป็นผลประโยชน์ต่อประเทศชาติในระยะยาวประกอบกับประเทศไทยเองก็กำลังศึกษาพิจารณาถึงข้อดีข้อเสียและผลกระทบจากอนุสัญญาต่อการลงนามเป็นภาคี ดังนั้น ผู้ศึกษาจึงขอเสนอแนะดังนี้

1)  ในภาพรวม อนุสัญญาเป็นบทบัญญัติที่ดีมีความยืดหยุ่นมากโดยเปิดโอกาสให้ประเทศภาคีสามารถทำข้อสงวนได้ในหลายเรื่องที่สำคัญ[2] เนื่องจากอนุสัญญาฯ มีสาระที่มุ่งเน้นส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ด้วยการสร้างความชัดเจนของหลักกฎหมาย ซึ่งจากกฎเกณฑ์ของกฎหมายที่ชัดเจนในการอ้างอิง และมีความแน่นอน อันเป็นมาตรฐานสากลเช่นนี้ จะช่วยให้เกิดความมั่นใจในการค้าระหว่างประเทศ เนื่องจากอนุสัญญาฯ มีความเป็นระหว่างประเทศ จึงเห็นควรให้ความสนใจข้อ 9 ของอนุสัญญาฯ ที่ยืนยันหลักความเป็นอิสระของคู่สัญญา ที่จะตกลงกันเป็นอย่างอื่นจากบทบัญญัติของอนุสัญญาฯ ได้ 

โดยข้อ 9 กำหนดห้ามยกเว้นการบังคับใช้อนุสัญญาฯกับสิทธิเรียกร้องบางประเภทที่เกิดมีพื้นฐานของธุรกรรมจากการค้าและบริการอย่างแท้จริง ไม่ใช่เป็นธุรกรรมทางด้านบริการทางด้านการเงิน อันเป็นการชี้ให้เห็นถึงหลักกฎหมายที่มีความยืดหยุ่น ซึ่งแสดงให้เห็นว่า อย่างน้อยต้องมีสิทธิเรียกร้องบางประเภทซึ่งเป็นพื้นฐานในการค้าระหว่างประเทศที่จะต้องมีความชัดเจนแน่นอน และห้ามประเทศภาคีทำการยกเว้นมิฉะนั้น จะทำให้เกิดความสับสน เพราะฉะนั้น อนุสัญญาฯ จึงน่าจะส่งผลดีต่อการค้าระหว่างประเทศ เนื่องจากเป็นการสร้างความชัดเจนในเชิงกฎหมาย ทำให้ผู้ประกอบการภายในประเทศและผู้ส่งออกสามารถโอนสิทธิเรียกร้องไปยังผู้รับโอนและสามารถได้รับเงินเร็วขึ้น ทั้งนี้ เนื่องจากเป็นการสร้างกฎเกณฑ์หรือกรอบกฎหมายที่ชัดเจน เมื่อมีกฎหมายที่ชัดเจนอันเป็นหลักสากล ก็ทำให้ผู้ส่งออกสามารถโอนสิทธิเรียกร้องไปยังผู้รับโอนได้เร็วขึ้น

2)  เพื่อให้ประเทศไทยได้ประโยชน์สูงสุด เห็นควรพัฒนากฎหมายให้มีความเป็นสากลมากขึ้นโดยให้เป็นไปในแนวทางที่สอดคล้องกับแนวปฏิบัติของประเทศไทย อันจะเป็นประโยชน์ ในการปรับปรุง หรือยกร่างกฎหมายของประเทศไทยในอนาคตให้ทันสมัยและสอดคล้องกับสภาพการณ์ในปัจจุบัน เพื่อเกิดความคล่องตัวในการทำการค้าและการทำธุรกรรมระหว่างประเทศ  ด้วยวิธีการอนุวัติกฎหมายเป็นการเฉพาะมารองรับให้สอดคล้องกับอนุสัญญา ทั้งนี้เพื่อให้ครอบคลุมทุกด้าน ทั้งกฎหมายอันเกี่ยวกับธุรกรรมทางการเงินธุรกิจทางการค้าและบริการ โดยทำการศึกษาว่า มีธุรกรรม หรือหนี้ทางการค้าใดบ้างที่อยู่ในขอบเขตของอนุสัญญาฯ ที่ต้องอาศัยการโอนสิทธิเรียกร้องระหว่างประเทศมารวบรวมและกำหนดลงไปในกฎหมายเฉพาะว่า ธุรกรรมต่าง ๆ ที่   รวบรวมได้ ให้เป็นไปตามหลักการโอนสิทธิเรียกร้องตามกฎหมายเฉพาะนี้ โดยกฎหมายดังกล่าว ควรกำหนดหลักเกณฑ์ สิทธิ พันธะหน้าที่ของทุกฝ่ายให้ชัดเจน โดยมีแนวทางดังนี้

(1)  ออกกฎหมายมาในลักษณะค่อย ๆ เป็นค่อย ๆ ไป โดยการแยกประเภทธุรกรรมที่จำเป็นออกมาก่อนเป็นเอกเทศสัญญาต่างหาก 

ตัวอย่างเช่น การนำวิธีการโอนสิทธิเรียกร้องที่แตกต่างจากประมวล-กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ไปร่างเป็นสัญญาแฟคเตอริ่ง หรือการนำวิธีการโอนสิทธิเรียกร้องไปใส่เพิ่มเติมไว้ในพระราชกำหนดการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน หรือ

(2)  ออกกฎหมายมาในลักษณะรวมธุรกรรมต่าง ๆ ที่มีการทำกันอยู่ในภาคการเงินการธนาคารมารวมที่มีลักษณะธุรกรรมในทำนองเดียวกันไว้ฉบับหนึ่ง โดยการกำหนดลงไปในกฎหมายว่า ให้มีธุรกรรมใดบ้างที่บังคับใช้กับกฎหมายดังกล่าวนี้

    ทั้งนี้ อาจนำหลักการของอนุสัญญามาเป็นต้นแบบในการร่างกฎหมายดังกล่าว ในลักษณะดังนี้

หมวดที่ 1 นิยามการโอนสิทธิเรียกร้อง โดยให้นิยามทั้งในลักษณะที่ใช้บังคับในประเทศ และการโอนสิทธิเรียกร้องระหว่างประเทศ โดยควรให้นิยามคำที่เกี่ยวข้องกับการโอนสิทธิเรียกร้อง เช่น โดยควรให้คำนิยามต่อไปนี้ให้ชัดเจน คือ สัญญาเดิม สิทธิเรียกร้องทางการเงินที่มีอยู่ ลายลักษณ์อักษรหนังสือ การบอกกล่าวถึงการโอนสิทธิเรียกร้อง สิทธิที่ดีกว่า สิทธิเรียกร้องในอนาคต และการโอนต่อ

หมวดที่ 2 ขอบเขตของการบังคับใช้ โดยควรกำหนดว่าการโอนสิทธิเรียกร้องควรใช้กับธุรกรรมใดบ้าง และควรยกเว้นในธุรกรรมใดบ้าง และให้บังคับใช้กับการ โอนต่อเนื่องกันไป หากการโอนก่อนหน้านั้นอยู่ภายใต้บังคับของกฎหมายฉบับนี้

หมวดที่ 3 ผลของการโอน โดยแบ่งย่อยออกเป็น ผลบังคับใช้ของการโอน ข้อจำกัดทางสัญญาว่าด้วยการโอน การโอนสิทธิในประกัน

หมวดที่ 4 สิทธิ หน้าที่ และข้อต่อสู้ โดยแบ่งย่อยออกไปเป็นสิทธิและหน้าที่ของผู้โอน และผู้รับโอนว่ามีไรบ้าง อาจมี สิทธิจะแจ้งลูกหนี้ สิทธิที่จะชำระหนี้ และคำรับรองของผู้โอน

หมวดที่ 5 หลักการคุ้มครองลูกหนี้ โดยควรกำหนดหลักการดังนี้ การบอกกล่าวลูกหนี้ การหลุดพ้นของลูกหนี้โดยการชำระหนี้ ข้อต่อสู้และสิทธิในการหักกลบลบหนี้ของลูกหนี้ ข้อตกลงไม่ยกข้อต่อสู้หรือสิทธิในการหักกลบลบหนี้ การแก้ไขสัญญาเดิมและการเรียกคืนเงินที่ชำระไปแล้ว

นอกจากนี้ก็ควรกำหนดถึง แบบของสัญญาว่าด้วยการโอน ข้อที่ใช้บังคับกับสิทธิและหน้าที่ร่วมของผู้โอนและผู้รับโอน  ข้อใช้บังคับกับสิทธิและหน้าที่ของผู้รับโอนและลูกหนี้ โดยนำข้อดีของอนุสัญญามาประยุกต์ปรับใช้ โดยกำหนดกฎหมายให้เหมาะสมและครอบคลุมในทุก ๆ ประเด็น โดยเฉพาะประเด็นเรื่องสิทธิและหน้าที่ของคู่สัญญา ทุกฝ่าย การโต้แย้งสิทธิระหว่างผู้ที่เกี่ยวข้องกับสิทธิเรียกร้องทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นลูกหนี้ ผู้โอน ผู้รับโอน รวมทั้งหลักในการพิจารณาผู้มีสิทธิดีกว่า

แต่อย่างไรก็ดี ควรหาแนวทางหรือมาตรการทางกฎหมายในการป้องกันการ ไหลเวียนของเงินทุนที่จะเข้ามาเร็วจนควบคุมไม่ได้ด้วยเพราะอนุสัญญานี้จะส่งผลต่อการไหลเวียนของเงินทุนเป็นอย่างมาก โดยอาจจะกำหนดถึงลักษณะของธุรกรรม ทางการเงินว่ามีธุรกรรมใดบ้างที่ต้องอยู่ภายใต้การจดทะเบียนควบคุมกำกับดูแล โดยอาจระบุหน่วยงานที่ควบคุมธุรกรรมนั้นลงไปให้อยู่ในหมวดการกำกับดูแลการดำเนินธุรกรรมนั้นว่า ขึ้นอยู่กับหน่วยงานใด อาจจะเป็นกระทรวงการคลัง หรือธนาคารแห่ง-ประเทศไทย หรือสถาบันการเงินของรัฐ ซึ่งขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของธุรกรรมนั้น ๆ แล้วแต่กรณีไป โดยควรกำหนดลงไปว่า ลักษณะของธุรกรรมที่จะทำหรือประกอบการนั้นควรตรวจสอบการไหลเวียนเข้าออกของเงินทุนในทุกรอบไตรมาสหรือทุกรอบเดือนแล้วให้รายงานแก่หน่วยงานที่กำกับทราบ ทั้งนี้เพื่อให้ง่ายต่อการควบคุมและตรวจสอบ และหากเจ้าของธุรกรรมหรือผู้ประกอบการรวมทั้งทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องประมาทหรือละเลย ไม่ดำเนินการจดทะเบียนตามกฎหมายหรือไม่ปฏิบัติตรวจสอบให้เป็นไปตามกฎหมายที่กำหนดไว้ ควรกำหนดโทษลงไป อาจจะเป็นโทษในทางอาญา หรือโทษในการชดใช้  ค่าเสียหาย แล้วแต่ความเหมาะสมของธุรกรรมนั้น ๆ

อีกทั้งหากมองกลับกันแล้วภายใต้อนุสัญญาฉบับนี้อาจเกิดข้อขัดข้องบางประการ สำหรับธุรกรรมการโอนสิทธิบางประเภทตามข้อ 41 ของอนุสัญญาว่าด้วยการโอนสิทธิเรียกร้องทางการเงินในการค้าระหว่างประเทศยังไม่มีความชัดเจนมากเพียงพอ สมควรพิจารณาในประเด็นนี้ให้เป็นที่แน่นอนชัดเจนเสียก่อนว่า จะเอาธุรกรรมอะไรมาโอนหรือกำหนดคร่าว ๆ หรือนิยามขึ้นมาเอง และประการสุดท้ายอาจมีการสนับสนุนให้เกิดการเก็งกำไรในตลาดทุน (Capital Market) และตลาดเงินได้ (Money Market) 

ด้วยเหตุข้างต้นนี้ จึงควรจะได้ทำการศึกษาทำความเข้าใจรายละเอียดและผลกระทบของการเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาฯ ไว้ตั้งแต่เนิ่น แม้หลักเกณฑ์ส่วนใหญ่จะให้ผลใกล้เคียงกับการใช้กฎหมายไทยบังคับแก่กรณีที่มีข้อแตกต่างที่เราควรจะได้นำมาวิเคราะห์วิจารณ์กันอยู่หลายกรณี อาทิเช่น กรณีที่เกี่ยวกับการโอนสิทธิเรียกร้องในอนาคต ประเด็น เกี่ยวกับการโอนสิทธิเรียกร้องต่างราย ข้อ 17.3 ที่กำหนดเกี่ยวกับการชำระหนี้ของลูกหนี้ในกรณีที่ลูกหนี้ได้รับคำสั่งให้ชำระเงินมากกว่าหนึ่งครั้งในการโอนเพียงครั้งเดียว ทำให้ผู้รับโอนมีการเปลี่ยนแปลงคำสั่ง ข้อ 17.5 ที่กำหนดเกี่ยวกับการชำระหนี้ของลูกในกรณีที่มีการโอนหนี้เดียวกันนั้นหลายทอด ข้อ 17.7 ที่ให้สิทธิแก่ลูกหนี้ที่จะขอให้ผู้รับโอนแสดงข้อพิสูจน์ว่าเป็นผู้รับโอนที่แท้จริง ข้อ 20 ที่กำหนดเกี่ยวกับผลของการแก้ไขสัญญาเดิมระหว่างลูกหนี้และผู้โอน ข้อ 9 ของอนุสัญญาฯ ที่ยืนยันหลักความเป็นอิสระของคู่สัญญาที่จะตกลงกันเป็นอย่างอื่นจากบทบัญญัติของอนุสัญญาฯข้อ 41 ของอนุสัญญา รวมทั้งเรื่องผลการโอนสิทธิเรียกร้องที่มีข้อจำกัดการโอน โดยประเด็น เหล่านี้ควรจะได้มีการศึกษาเปรียบเทียบกับกฎหมายไทยโดยละเอียด เพราะจะเป็นเรื่องที่มีผลต่อประโยชน์ได้เสียของคู่สัญญาอย่างยิ่งหาประเทศไทยจะต้องเข้าเป็นภาคีภายในอนาคตข้างหน้า

 ***สำหรับบทสรุปและเสนอแนะนี้ผู้เขียนขอขอบพระคุณพี่จันทิมา เพียรเวช เป็นอย่างยิ่ง (เป็นหนึ่งในคณะทำงานย่อยที่ได้สรุปไว้เป็นอย่างดีในคณะทำงานและเมตตาผู้เขียนให้ปรึกษาตอนเป็นคณะทำงานจนทำวิทยานิพนธ์นี้ได้) ฝ่ายกฎหมาย สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศ-ไทย***,


[1]จันทิมา  เพียรเวช, รายงานสรุปการศึกษาเรื่อง สาระสำคัญอนุสัญญาการโอนสิทธิเรียกร้องทางการเงินในทางการค้าระหว่างประเทศ 2001 (กรุงเทพมหานคร: ฝ่ายกฎหมาย สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศ-ไทย, 2547), หน้า 7.

[2]โปรดดูรายละเอียดในบทวิเคราะห์ว่าด้วย ข้อยืดหยุ่นของอนุสัญญาว่าด้วยการโอนสิทธิเรียกร้องทางการเงินในทางการค้าระหว่างประเทศ



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท