ศูนย์ข่าวพลเมือง ฅนคอน
ศูนย์ข่าวพลเมือง ฅนคอน เกาะติดชุมชน สิทธิชุมชน สิทธิพลเมือง

อ่างเก็บน้ำคลองท่าทน บนเส้นทางต่อสู้รูปแบบใหม่


กรณีอ่างเก็บน้ำคลองท่าทน คงเป็นอีกกรณีหนึ่งที่ชาวบ้านต้องการกำหนดอนาคตตัวเอง จากการพัฒนาจากบนลงล่างของภาครัฐที่ไม่มีการประสานงาน ไม่เข้าใจการพัฒนาในพื้นที่ เพราะชาวบ้าน คือ คนที่เข้าใจปัญหามากที่สุด

อ่างเก็บน้ำคลองท่าทน  บนเส้นทางต่อสู้รูปแบบใหม่

 เรื่อง /ภาพ : สานศรัทธา
ที่มา ศูนย์ข่าวพลเมืองฅนคอน ปีที่ 1 ฉบับที่ 2  15 มกราคม – 15 กุมภาพันธ์  53

 

        อ่างเก็บน้ำคลองท่าทน ส่อเค้าจบ เมื่อ ชลประทานที่ ๑๕ หน่วยงานในพื้นที่รับปากหยุดดำเนินการใดๆ ในพื้นที่ และจะแจ้งให้หน่วยงานด้านบนทราบ ว่าประชาชนคัดค้านจำนวนมาก อ้างชลประทานก็ต้องทำตามความเห็นประชาชน
        เมื่อวันที่ ๒๑ ม.ค. ๕๓ นายไพบูลย์ เนตรรุ่ง ประธานกลุ่มอนุรักษ์คลองท่าทน พร้อมด้วยแกนนำและชาวบ้านใน อ.สิชล จ.นครศรีธรรมราช กว่า 30 คนเข้าพบกับนายบุญชัย ศุภกิจจงเจริญ ผอ.โครงการก่อสร้าง 2 สำนักชลประทานที่ 15 ต.นาพรุ อ.พระพรหม จ.นครศรีธรรมราช เพื่อแสดงการคัดค้านการก่อสร้างโครงการอ่างเก็บน้ำคลองท่าทน บ้านเผียนบน ต.เทพราช อ.สิชล จ.นครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในแผนการจัดหาแหล่งน้ำ เพื่อรองรับนิคมอุตสาหกรรมตามโครงการศึกษาความเหมาะสมของการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมเพื่อการรองรับการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้
        นายบุญชัย ศุภกิจจงเจริญ ผอ.โครงการก่อสร้าง 2 สำนักชลประทานที่ 15 ได้รับข้อเสนอของชาวบ้านและจะดำเนินการต่อตามที่ร้องขอ  “ในส่วนของอำนาจหน้าที่ที่สามารถดำเนินการยินดีที่จะดำเนินการ คือ 1. โครงการก่อสร้าง 2 สำนักชลประทานที่ 15 กรมชลประทาน ขอยกเลิกโครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำคลองท่าทน ทันที, 2.โครงการก่อสร้าง 2 สำนักชลประทานที่ 15 จะไม่มีการดำเนินการใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำคลองท่าทน ในพื้นที่ ต.เทพราช ต.ฉลอง ต.เปลี่ยน และ ต.เสาเภา อ.สิชล ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป  และ 3.โครงการก่อสร้าง 2 สำนักชลประทานที่ 15 จะทำหนังสือแจ้งไปยังกรมชลประทาน เพื่อยกเลิกโครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำคลองท่าทน ภายใน 1 เดือนและระบุว่าเป็นการรวบรวมข้อมูลของชาวบ้านที่มีประสิทธิภาพและแสดงถึงความเข้มแข็งของประชาชนที่เป็นไปตามสิทธิอันป้องกันผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นได้กับชุมชน”
        ในส่วนของชาวบ้านเอง ยังคงรุกต่อในพื้นที่เพื่อสร้างความยั่งยืนจากการพัฒนา พร้อมพัฒนาเป็นพื้นที่นำร่องการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ เพราะมีน้ำตกสวยงามอีกหลายสาย และวางแผนการจัดการน้ำครบวงจร ที่ไม่ต้องสร้างอ่างเก็บน้ำ
         “พี่พรไม่ยังวางใจเสียที่เดียว กับการรับปากของชลประทาน หลังจากนี้พี่พรจะสร้างการท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์ ในพื้นที่ และจะประสานกับ นายก อบต.สวนหลวง องอาจ หนูทองแก้ว ในการวางแผนกระบวนการจัดการน้ำครบวงจร เช่น ระบบประปาภูเขา แหล่งพักน้ำ แหล่งกระจายน้ำ ที่ชาวบ้านเขาไม่เดือดร้อน และจะประสานงานกับโครงการความร่วมมือเพื่อแก้ปัญหาความยากจนพัฒนาสังคมและสุขภาวะ ซึ่งได้คุยกับน้องเฉลิมพล บุญฉายา ไว้เบื้องต้นแล้ว จะทำระบบข้อมูลชุมชน ระบบจีไอเอส ข้อมูลของพื้นที่ทั้งหมด” พี่พร แกนนำนักสู้กล่าวทิศทางการดำเนินงานต่อไปข้างหน้า และยังบอกอีกว่า
         “ตอนนี้ ทางทีมงานจะสร้างพระหน้าตัก ๙ เมตร ในพื้นที่อ่างเก็บน้ำ และจะทำสำนักสงฆ์ไว้เพื่อปฏิบัติธรรมอีกด้วย ตอนนี้ก็ได้นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยราชภัฏเข้ามาดำเนินการในบางส่วนแล้วร่วมกับชาวบ้าน และยังมีนักศึกษาจาก ม.วลัยลักษณ์ มอ.ตรัง และ มอ.สุราษฎร์ พี่พรเชื่อว่าหลายคนเข้าใจว่าทำไมเราถึงไม่เอาอ่างเก็บน้ำ”
          กรณีอ่างเก็บน้ำคลองท่าทน คงเป็นอีกกรณีหนึ่งที่ชาวบ้านต้องการกำหนดอนาคตตัวเอง จากการพัฒนาจากบนลงล่างของภาครัฐที่ไม่มีการประสานงาน ไม่เข้าใจการพัฒนาในพื้นที่ เพราะชาวบ้าน คือ คนที่เข้าใจปัญหามากที่สุด
 
หมายเลขบันทึก: 355383เขียนเมื่อ 1 พฤษภาคม 2010 19:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 13:56 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท