ศูนย์ข่าวพลเมือง ฅนคอน
ศูนย์ข่าวพลเมือง ฅนคอน เกาะติดชุมชน สิทธิชุมชน สิทธิพลเมือง

เขา ป่า นา เล กรุงชิง ถึงคลองกลาย


คณะวิจัยท้องถิ่น ตำบลกลาย ที่เริ่มต้นประกอบด้วยพี่น้องจาก ๓ โซน ตามระบบนิเวศ ได้แก่ โซนทะเลเ โซนทุ่ง (ฝั่งตะวันตกถนนนครศรีฯ - สุราษฎร์ฯ) และโซนเขาซึ่งอยู่ถัดไปจากโซนทุ่งตามลักษณะระบบนิวศที่เป็นที่สูง แต่ขณะนี้ได้เชื่อมโยงความสัมพันธ์ไปถึงพี่น้องกรุงชิง ซึ่งเป็นพื้นที่ต้นน้ำคลองกลาย มาร่วมคณะด้วย รวมเป็นคณะใหญ่ ๔ โซน

เขา ป่า นา เล กรุงชิง ถึงคลองกลาย

รายงานจากหมู่บ้านพังปลิง ตำบลกลาย : เมื่อการพัฒนารุกรานเข้ามา

เรื่อง /ภาพ : คณะวิจัยท้องถิ่น  ต.กลาย
ที่มา ศูนย์ข่าวพลเมืองฅนคอน ปีที่ 1 ฉบับที่ 2  15 มกราคม – 15 กุมภาพันธ์  53

 

       เมื่อวันเสาร์ที่  ๒๐ กุมภาพนธ์  ๒๕๕๓  ณ ชายทะเล หน้าร้านน้ำชาบังดีน บ้านพังปลิง หมู่ที่ ๑ ตำบลกลาย อำเภอท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช พี่น้องบ้านพังปลิง และพี่น้องมุสลิม ที่อยู่ชายทะเล ตั้งแต่ปากน้ำปากน้ำคลองกลาย และปากน้ำคลองหิน(ปากดวด) ทั้งผู้ใหญ่ และเด็ก ประมาณ ๓๐๐ คน ได้มาร่วมกันในงานเมาลิด เพื่อเป็นการระลึกพระผู้เป็นเจ้า และขอพรพระองค์ให้นำสันติสุขมาสู่พี่น้องโดยทั่วหน้ากัน
     งานนี้จัดขึ้นโดย คณะวิจัยท้องถิ่น ตำบลกลาย ที่เริ่มต้นประกอบด้วยพี่น้องจาก ๓ โซน ตามระบบนิเวศ ได้แก่ โซนทะเลเ โซนทุ่ง (ฝั่งตะวันตกถนนนครศรีฯ - สุราษฎร์ฯ) และโซนเขาซึ่งอยู่ถัดไปจากโซนทุ่งตามลักษณะระบบนิวศที่เป็นที่สูง แต่ขณะนี้ได้เชื่อมโยงความสัมพันธ์ไปถึงพี่น้องกรุงชิง ซึ่งเป็นพื้นที่ต้นน้ำคลองกลาย มาร่วมคณะด้วย รวมเป็นคณะใหญ่ ๔ โซน
    ในงานได้บอกเล่าและสะท้อนวิถีชีวิตและวัฒนธรรม
    แผนที่ชุมชน ที่แสดงถึงฐานทรัพยากร ทั้งที่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติ และที่ถูกสร้างขึ้น ซึ่งเปรียบเสมือนเป็นทุนของชุมชน เช่น ทะเล ห้วย หนอง คลอง บึง ปลัก ป่าไม้ ภูเขา ถ้ำ เขื่อน คูระบายน้ำ ถนนหนทาง ตลอดจนสถานที่สาธารณะต่าง ๆ  จุดนี้จะเห็นว่าชุมชนตำบลกลาย มีต้นทุนชีวิตที่สูง มิยิ่งหย่อนกว่าที่ใด
    ผังเครือญาติ ที่แสดงถึงสายสัมพันธ์ของคนภายในสายสกุลที่เชื่อมโยงสายสัมพันธ์ของคนในชุมชนครอบครัวต่าง ๆ  ซึ่งจะเห็นความเชื่อมโยง ความเป็นพี่เป็นน้อง
    ข้อมูลพื้นฐานของชุมชน ตั้งแต่ คน การทำมาหากิน ทรัพยากร วัฒนธรรมประเพณี ซึ่งมีอยู่อย่างกลมกลืนกับวิถีชีวิต และธรรมชาติ
   แสดงภาพการทำกิจกรรมต่าง ๆ ของคณะวิจัย เช่น การทำเคยกลาย การกวนทุเรียนแลกเคยของเกลอเขาเกลอเล การทำศาลาดินถวายพ่อท่านผอม วัดเขาดิน  การถ่ายทอดเรื่องราวอาชีพของคนชายทะเลแก่เยาวชน ณ โรงเรียนท่าศาลาประสิทธิ์ ฯลฯ
    การแสดงพันธ์ข้าวสังข์หยด ที่เพิ่งเก็บเกี่ยวผลผลิตในฤดูกาลนี้ และยังคงทำการผลิตและขยายพันธุ์อยู่ในโซนทุ่ง ที่มีน้าจิตร  แก้ว ลุงดี และลุงเรือง เป็นแกนหลักในคณะวิจัยฯ
    การนำเสนอข้อมูลโดยวิทยากร มีดังนี้
   โต๊ะอิหม่ามยะหยา เจ๊ะยะนาย หนึ่งในผู้นำศาสนา ได้บอกเล่าถึง หลักธรรมคำสอนของพระเจ้า ที่ให้มนุษย์เอาใจใส่ และให้ความเคารพต่อทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งในคำสอนได้ล่วงรู้ถึงความเป็นไปของและมนุษย์ไว้อย่างครบถ้วน
    “หลวงปี้” นายพรพิทักษ์  บุญเหลือ อดีตข้าราชการครู  ผู้รู้เรื่องราวของท้องถิ่น มาเล่าถึงประวัติศาสตร์ชุมชน ให้คนมาร่วมงานได้รับรู้ ตั้งแต่ความเป็นมาของตำบลกลาย ที่ในอดีตเคยเป็นอำเภอกลายมาก่อน เล่าถึงต้นน้ำกลาย ที่เกิดจากรูหินเป็นสายน้ำเล็ก ๆ ที่ไหลเปลี่ยนทิศ เปลี่ยนทาง จนมาลงสู่อ่าวไทยที่ปากน้ำคลองกลาย และพูดถึงบ้านพังปลิง ที่บรรพบุรุษซึ่งนับถือศาสนาอิสลามอพยพมาจากเมืองไทรบุรีและกลันตัน ประเทศมาเลเซีย ตั้งแต่ตอนต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ได้มาตั้งถิ่นฐานในทำเลที่เหมาะสมระหว่างปากน้ำสองสาย คือ ปากน้ำคลองกลาย และปากน้ำคลองหิน(ปากดวด)  จนถึงปัจจุบันประมาณ ๓-๔ ช่วงคน
     ดร.เลิศชาย  ศิริชัย อาจารย์จากมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ผู้ประสานงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น จังหวัดนครศรีธรรมราช มาพูดคุยให้แง่คิดกับพี่น้องได้ใคร่ครวญพิจารณาถึงสภาพการณ์ และการที่จะอยู่อย่างเท่าทันกับการเปลี่ยนแปลงของหมู่บ้านที่ถูกผนวกเข้ากับระบบโลกนั้น จำเป็นจะต้องทำการศึกษาเรื่องราวในการรู้จักตัวเอง หมู่บ้านของตนเอง โดยคณะของชาวบ้านเองเป็นสำคัญ ดังที่คณะวิจัยฯได้นำเสนอเป็นนิทรรศการให้พี่น้องได้ดูกันในงานนั่นแหละ และการศึกษาเหล่านี้ของคณะวิจัยชาวบ้าน ก็เป็นสิ่งที่ถูกต้อง ชอบธรรม ไม่ใช่ทำในลักษณะองค์กรเถื่อน เพราะเป็นการสนับสนุนจากภาครัฐ โดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) วิจัยเพื่อท้องถิ่น ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มุ่งสร้างฐานปัญญาจากท้องถิ่นเป็นสำคัญ ไม่ได้มุ่งที่จะไปต่อต้านใคร (ไม่ว่าจะเป็น เชฟรอนหรือนิคมอุตสาหกรรมปิโตรเคมี)
      ทั้งนี้ เพื่อที่จะทำให้เราเป็นตัวของตัวเองได้ดียิ่งขึ้น มีทางลือกที่จะอยู่ บนฐานที่เป็นจุดแข็งของตนเองไม่ลื่นไหลไปกับกระแสการเปลี่ยนแปลงที่ทำให้เราถอยห่างจากหลักธรรมคำสอนของศาสนธรรม โดยให้คำนึงถึงการที่ลูกหลานของพวกเราว่าจะอยู่กันอย่างไรเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงของการพัฒนาเข้ามา อาจมีการเวนคืน ค่าชดเชยต่าง ๆ กับฐานทรัพยากรที่เคยพึ่งพิงอาศัยมานับร้อยปีจากบรรพบุรุษ ในรูปของเงินตราที่เป็นเหมือนมายาได้มาไม่นานก็หมดไป ซึ่งถือเป็นการสูญเสียฐานชีวิต ที่ไม่สามารถเรียกคืนได้…เราจะรอให้วันนั้นมาถึงหรืออย่างไร...
      คณะวิจัยฯ โดย “บังกะหรีม” (นายกะหรีม  ดำฤทธิ์) ในฐานะหัวหน้าโครงการวิจัยฯ ได้บอกเล่าถึง โครงการวิจัยที่มีภาระกิจในการศึกษาข้อมูลเรื่องราวหลากหลายของตำบลกลาย และตำบลตลิ่งชัน ที่เชื่อมโยงกับโซนเขา โดยมีคณะวิจัยกระจายอยู่ตามโซนต่าง ๆ ที่ทำงานด้วยจิตใจอาสา และเสียสละ ที่ต้องทำงานควบคู่ไปกับงานส่วนตัวซึ่งเป็นเรื่องปากท้อง แต่งานวิจัยเป็นเรื่องส่วนรวมที่ต้องทำในช่วงที่ยังมีโอกาส เพราะหากโครงการพัฒนาขนาดใหญ่เข้ามาแล้ว โอกาสของชาวบ้านอย่างเราก็มีน้อยลง “บังกะหรีม” ยังแจ้งข่าวให้พี่น้องได้ไปร่วมการทำประชาพิจารณ์ EIA ของเชพรอน ในวันจันทร์ที่  ๘  มีนาคม  ๒๕๕๓ นี้ด้วย
      จากความสัมพันธ์ของพื้นที่วิจัยที่เชื่อมโยงไปถึงกรุงชิง “บังกะหรีม” ได้เชิญ “ไข่เล็ก” ซึ่งเป็นหนึ่งในคณะจากโซนกรุงชิง ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีประสบการณ์พิทักษ์ต้นน้ำคลองกลายร่วมกับเครือข่ายทั่วประเทศ ได้เล่าถึง สภาพของต้นน้ำกลาย ที่มีทรัพยากรอุดมสมบูรณ์ ซึ่งพวกเขาได้ศึกษาเก็บข้อมูลไว้มากมาย เขาได้พูดถึงความสัมพันธ์ของคนที่พึ่งพาอาศัยแลกเปลี่ยนทรัพยากรกันและกันระหว่าง “คนเขา” และ“คนเล” และหากเกิดโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ที่ส่งผลกระทบกับชายฝั่งทะเลที่กลาย ก็จะส่งผลกระทบไปถึงป่าต้นน้ำที่กรุงชิงด้วยอย่างแน่นอน
      บรรยากาศของงานแผ่ซ่านไปด้วยความสุข จากพิธีระลึกถึงพระเจ้า และการขอพรจากพระองค์ โดยผู้นำศาสนาอิสลาม และศาสนิกชน ทั้ง ๕ มัสยิด ทุกคนได้ลูบหน้าด้วยน้ำหอม จับมือกล่าวคำขออภัย และให้อภัยซึ่งกันและกัน จากนั้นทุกคนก็รับประทานขนมจีนร่วมกัน ในวันนั้นสันติสุขบังเกิดแก่พี่น้องทุกผู้คน เพื่อเป็นพลังสะสมไว้ในวันหน้า กับภาระกิจการปกป้องทรัพยากรของบรรพบุรุษไว้ให้ลูกหลาน ซึ่ง ณ วันนี้ ยังมีหาดทรายสวยสะอาดไว้ให้ “บังเฉม” ผู้อาวุโสหนึ่งในคณะวิจัยฯ ได้ทำละหมาด  ทำให้นึกถึงสุนทรพจน์ที่ได้บรรยาย ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์และสิ่งแวดล้อมได้น่าประทับใจของหัวหน้าชนเผ่าอินเดียนแดงในมลรัฐวอชิงตันที่ได้กล่าวตอบข้อเรียกร้องของประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่ขอซื้อดินแดนจากเผ่าอินเดียนแดง ในปี ค.ศ.๑๘๕๔ ไว้ว่า
      “ท่านต้องสอนให้ลูกหลานของท่านรู้ว่า  แผ่นดินที่เขาเหยียบอยู่ คือเถ้าถ่านของบรรพบุรุษของเรา เพื่อเขาจะได้เคารพแผ่นดินนี้ บอกลูกหลานของท่านด้วยว่าโลกนี้อุดมสมบูรณ์ไปด้วยชีวิต อันเป็นญาติพี่น้องของพวกเรา สั่งสอนลูกหลานของท่านเช่นเดียวกับที่เราสอนลูกหลานของเราเสมอว่า โลกนี้ คือ แม่ของเรา  ความวิบัติใด ๆ ที่เกิดขึ้นกับโลกก็จะเกิดขึ้นกับเราด้วย หากมนุษย์ถ่มน้ำลายรดแผ่นดิน ก็เท่ากับมนุษย์ถ่มน้ำลายรดตัวเอง   เรารู้ดีว่าโลกนี้ไม่ได้เป็นของมนุษย์  แต่มนุษย์เป็นส่วนหนึ่งของโลกนี้  ทุกสิ่งทุกอย่างล้วนมีความสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน เช่นเดียวกับสายเลือดที่สร้างความผูกพันในครอบครัว  ทุกสิ่งทุกอย่างมีส่วนผูกพันต่อกัน  ความวิบัติที่เกิดขึ้นกับโลกนี้จะเกิดขึ้นกับมนุษย์เช่นกัน   มนุษย์ไม่ได้เป็นผู้สร้างเส้นใยแห่งมวลชีวิต แต่มนุษย์เป็นเพียงเส้นใยเส้นหนึ่งเท่านั้น   หากเขาทำลายสายใยเหล่านี้ เขาก็ทำลายตัวเอง”
     หวังว่า ชะตากรรมของพี่น้องตำบลกลาย คงจะไม่เป็นเช่นเดียวกับสุนทรพจน์ที่นำมาปิดท้ายนี้นะ
 
หมายเลขบันทึก: 355382เขียนเมื่อ 1 พฤษภาคม 2010 19:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 เมษายน 2012 12:02 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท