ศูนย์ข่าวพลเมือง ฅนคอน
ศูนย์ข่าวพลเมือง ฅนคอน เกาะติดชุมชน สิทธิชุมชน สิทธิพลเมือง

ถามหา คนรับผิดชอบอุตสาหกรรมเถื่อนทุ่งปรังสิชล ลักไก่สร้างก่อนอนุญาต


“มันตอกเสาเข็ม โครม โครม ฉันเจ็บหน้าอกหมด บ้านฉันห่างจากพื้นที่ก่อสร้าง ๕๐๐ เมตรเห็นจะได้ ถ้าโรงงานนี้สร้างต่อไปตายแน่ๆเลย แม่ที่บ้านก็ไม่ค่อยสบาย ตอนนี้ถนนทางเข้าเป็นหลุมเป็นบ่อหมดแล้ว มันวิ่งทั้งกลางวันและกลางคืน เป็นห่วงว่า กลางปีนี้น้ำท่วมตายหมดพวกเรา เพราะโรงงานถมดินขวางทางน้ำสูงนับ ๑๐ เมตร”

ถามหา คนรับผิดชอบ

อุตสาหกรรมเถื่อนทุ่งปรังสิชล ลักไก่สร้างก่อนอนุญาต

เรื่อง/ภาพ : สายธารธรรม
ที่มา ศูนย์ข่าวพลเมืองฅนคอน ปีที่ 1 ฉบับที่ 2  15 มกราคม – 15 กุมภาพันธ์  53

 

  อยู่ๆเหมือนฟ้าผ่า กลางใจของคน ต.ทุ่งปรัง พื้นที่ที่มีการต่อสู้เรียกร้อง และคัดค้านอุตสาหกรรมมาโดยตลอด เมื่ออยู่ๆโรงงานในพื้นที่ ลงมือถมดิน ตอกเสาเข็ม สร้างอาคาร โดยชาวบ้านรับทราบเพียงว่าเป็นโรงงานปาล์มน้ำมัน แต่เมื่อรับฟังความเห็นของบริษัท เมื่อวันที่ ๙ ธันวาคม ๕๒ โรงงานนี้แถมพ่วงโรงงานไฟฟ้าชีวมวล เข้าไปในระบบด้วย อีกทั้งพื้นที่ก่อสร้างยังเป็นพื้นที่แก้มลิง สร้างก่อนได้รับอนุญาต จนชาวบ้านขนานนามว่า “โรงงานเถื่อน”
   “มันตอกเสาเข็ม โครม โครม ฉันเจ็บหน้าอกหมด บ้านฉันห่างจากพื้นที่ก่อสร้าง ๕๐๐ เมตรเห็นจะได้ ถ้าโรงงานนี้สร้างต่อไปตายแน่ๆเลย แม่ที่บ้านก็ไม่ค่อยสบาย ตอนนี้ถนนทางเข้าเป็นหลุมเป็นบ่อหมดแล้ว มันวิ่งทั้งกลางวันและกลางคืน เป็นห่วงว่า กลางปีนี้น้ำท่วมตายหมดพวกเรา เพราะโรงงานถมดินขวางทางน้ำสูงนับ ๑๐ เมตร” พี่ชล สาธยายการก่อสร้างโรงงานให้ฟังอย่างออกรส เพราะเป็นผู้อยู่ใกล้กับปัญหามากที่สุด
    หลังจากนั้น พี่น้องในพื้นที่พยายามติดตามข้อมูลอย่างใกล้ชิด ถามหน่วยงานต่างๆ ก็อ้ำอึ้งเป็นใบ้กันไปหมด จนต้องตั้งวง ปรึกษาหารือกันมาโดยตลอด จนในที่สุด ชาวบ้านประมาณ ๒๐๐ คน บุกอุตสาหกรรมจังหวัดนครศรีธรรมเพื่อทวงถามข้อเท็จจริง จนได้ข้อมูลว่า โรงงานนี้ “เป็นโรงงานจำพวกที่ ๓ ยังไม่ได้ขออนุญาตก่อสร้างแต่อย่างใด” ซึ่งจากเหตุการณ์พอประมลได้ ดังนี้
๙    ธ.ค. ๕๓       ทีมบริษัทเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็น
๒๐ ม.ค. ๕๓      อุตสาหกรรมจังหวัดแจ้งให้หน่วยงานในพื้นที่ปิดประกาศรับฟังความเห็นประชาชน
                         และให้ยื่นคัดค้านภายใน ๑๕ วัน
๒๖ ม.ค. ๕๓       อบต.ทุ่งปรัง มีหนังสือไปยังนายอำเภอสิชลให้ปิดประกาศ
๑  ก.พ.๕๓          ประชาชน ๒๐๐ คน ไปยื่นหนังสือคัดค้านยังอุตสาหกรรมจังหวัด และ อบต.ทุ่งปรัง
                           แต่ทาง อบต.มีหนังสือแจ้งว่าอุตสาหกรรมจังหวัดรับผิดชอบ
๒ ก.พ. ๕๓         อุตสาหกรรมจังหวัดตรวจสอบพื้นที่ และชี้มูลความผิดโรงงานก่อสร้างก่อนได้รับอนุญาต
๓ ก.พ. ๕๓          นายอำเภอสิชล  เพิ่งมีคำสั่งแจ้งให้ประชาชนทราบ เหลือเวลา ๑ วัน
๑๑ ก.พ.๕๓       ตัวแทนชาวบ้านยื่นหนังสือยังผังเมืองจังหวัดและอุตสาหกรรมจังหวัดเพื่อเร่งรัดเพราะโรง
                          งานยังไม่หยุดก่อสร้าง
๑๒ ก.พ. ๕๓        อุตสาหกรรมแจ้งข้อกล่าวหาแก่ทางบริษัท และให้หยุดการก่อสร้าง
๑๗ ก.พ. ๕๓        เช้า ยื่นหนังสือให้ทางอำเภอ บังคับใช้กฎหมายและสั่งให้โรงงานหยุดก่อสร้าง
๑๗ ก.พ. ๕๓       บ่าย ยื่นหนังสือให้ทางผู้ว่าราชการจังหวัด รองผู้ว่าราชการจังหวัดรับปากว่า
                           จะสั่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสั่งระงับโครงการทันที
๑๘ ก.พ. ๕๓       อุตสาหกรรมจังหวัด ลงพื้นที่เป็นครั้งที่ ๒ และพบว่าโรงงานยังก่อสร้างเพิ่มเติม
                           และบอกให้ประชาชนเป็นผู้ฟ้อง ทั้งที่การฟ้องเป็นหน้าที่ของอุตสาหกรรมจังหวัดโยตรง
          หลังจากนั้น ได้ยื่นหนังสือไปยังอธิบดีกรมโรงงาน นายกรัฐมนตรีผ่าน สส.พิมภัทรา วิชัยกุล  และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
          ขณะนี้ผ่านมานับเดือน โรงงานยังคงก่อสร้างอย่างต่อเนื่อง และเริ่มรุกกลับในพื้นที่ ลงสร้างความเข้าใจ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ได้รับผลประโยชน์ของโครงการ ทั้งที่โครงการนี้ หาก อบต.ทุ่งปรังเข้าใจพี่น้องประชาชน และหันมาดำเนินการ ติดตาม ตรวจสอบ เรื่องนี้คงไม่ยืดเยื้อและยาวนาน
                “คนที่ได้รับประโยชน์จากโครงการนี้ พี่น้องชาวบ้านมาบอกผม ว่าเป็นผู้รับเหมา ถมที่ ก็เป็นนักการเมืองท้องถิ่นในพื้นที่ ดังนั้นเขาต้องเข้าข้างโรงงาน” ลุงวิน จินดานิล แกนนำชาวบ้าน กล่าวปราศรัยหน้าอุตสาหกรรมจังหวัด “ผมเคยถาม นายก อบต.ทุ่งปรังแล้วว่า โรงงานนี้จะกลายพันธุ์หรือไม่ รับปากว่าไม่กลายพันธุ์ แล้วยังถามต่อเรื่องปัญหาน้ำท่วม นายก อบต.บอกจะแก้ปัญหา โดยการขุดคลองอ้อมโรงงานให้ ผมยังบอกแกว่า แก้ปัญหาไม่ได้ อีกทั้งโรงงานยังสะดวกในการแอบปล่อยน้ำเสียอีก” บังเหลด อับดุลคอลิด พฤกษารัตน์ ส.อบต.หมู่ที่ ๗ เล่าเสริม
                ในพื้นที่ อ.สิชล โดยเฉพาะ ต.ทุ่งปรัง ถูกกำหนดจากรัฐบาลให้เป็นเขตจัดตั้งนิคมอุสาหกรรม ซึ่งในปัจจุบันมีการต่อสู้และขัดแย้งอย่างหนักมาตลอดเวลา ๑ ปี ในการพยายามเข้ามาในรูปแบบของโครงการต่างๆ แต่ขณะนี้ทางรัฐบาลเองยังไม่มีความชัดเจนในการสนับสนุนงบประมาณ ทั้งนี้การนิคมอุตสาหกรรมจะพยายามผลักดันมาตลอดเนื่องจากต้องหาพื้นที่รองรับการขยายตัวจากมาบตาพุด
                จากพื้นที่ ต.ทุ่งปรังนี้เอง ส่งผลให้มีบริษัทพยายามเข้ามาจัดตั้งอุตสาหกรรมขึ้นก่อน โดยจัดทำเป็นโครงการเล็กๆ เพื่อหลีกเลี่ยงทางกฎหมายในการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ดังนั้น โครงการในลักษณะนี้จะมาในลักษณะโครงการเล็กๆ อย่างต่อเนื่อง เพราะว่ารัฐบาลเองมีความพยายามผลักดันมาตั้งแต่ต้น
                ในพื้นที่ ต.ทุ่งปรัง ตามคำชี้แจงของผังเมืองจังหวัด กำหนดให้เป็น พื้นที่ชนบทและเกษตรกรรม ไม่มีผังเมืองรองรับอุตสาหกรรมข้างต้นแต่อย่างใด ซึ่งเรื่องนี้ได้รับการยืนยันชัดเจน จาก สส.ในพื้นที่ ผังเมืองจังหวัด และส่วนที่เกี่ยวข้อง ตั้งแต่ปีที่ผ่านมาอย่างชัดเจน
              การเข้ามาของบริษัท จึงเป็นการเข้ามาแบบไม่ชอบมาพากลตั้งแต่ต้น โดยประชาชนในพื้นที่รับรู้เฉพาะกลุ่มเพียงคนไม่กี่คน และมีการเปิดเวทีเพียงครั้งเดียว นอกจากนี้ยังมีการจัดซื้อที่ดินเรียบร้อยแล้ว และมีการปรับสภาพพื้นที่ล่วงหน้าไปก่อน ทั้งนี้ยังไม่มีการอนุญาตแต่อย่างใด
              บริษัท เอส.พี.โอ อะโกรอินดัสตรี้ส์ จำกัด จะมาดำเนินการในพื้นที่ประมาณ ๒๐๗ ไร่ ในพื้นที่หมู่ที่ ๔ ต.ทุ่งปรัง ประชาชนไม่กี่คนรับทราบเพียงว่า เป็นโรงงานสกัดปาล์มน้ำมัน แต่จากเอกสาร ยังมีโครงการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซชีวภาพ โรงไฟฟ้าพลังงานงานความร้อนร่วม(โรงไฟฟ้าชีวมวล)  อีกด้วย
                เนื่องด้วย กิจการโรงงานดังกล่าว พบการกระทำฝ่าฝืนกฎหมาย อีกทั้งการดำเนินการก่อสร้างโรงงานดังกล่าว ได้รับเสียงคัดค้านจากประชาชนในพื้นที่จำนวนมาก  และกระบวนการรับฟังความเห็นเป็นไปอย่างเร่งรีบและรวบรัด เป็นต้นว่า อุตสาหกรรมจังหวัดได้ขอความอนุเคราะห์หน่วยงานในพื้นที่เพื่อปิดประกาศรับฟังความคิดเห็นของประชาชน แต่หน่วยงานในพื้นที่ดำเนินการล่าช้า โดยให้ปิดประกาศตั้งแต่วันที่ ๒๐ ก.พ. ๕๓ – ๔ มี.ค. ๕๓ แต่นายอำเภอมีการเกษียณวันที่ ๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๓ เพื่อให้ปิดประกาศดังกล่าว
          หากหน่วยงานรัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ยังปล่อยปละละเลย ประสบการณ์การพื้นที่มาบตาพุด มีโรงงานเข้ามาโรงแรก คือ “โรงงานปุ๋ยแห่งชาติ” ในเนื้อที่ ประมาณ ๑๐๐ ไร่ หากพื้นที่ อ.สิชลยังถูกดำเนินการแบบนี้ต่อไปอีกไม่นาน มาบตาพุด ๒ คงเกิดขึ้นในไม่ช้า เพราะหากมีโรงงานขนาดนี้ แค่ ๕๐ โรงก้เต้มพื้นที่ ต.ทุ่งปรัง เต็มพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมที่รัฐบาลออกแบบไว้อย่างแน่นอน
                “เรื่องนี้ คงปล่อยไว้ไม่ได้ ไม่นานมันก็จะลุกลามมาที่บ้านเรา หากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังปล่อยละเลย เรื่องนี้คงต้องจบที่ศาลปกครอง หลักฐานเราถ่ายเก็บไว้ทุกวันว่าโรงงานก่อสร้างอย่างต่อเนื่อง หน่วยงานรัฐไม่ดำเนินการอะไรเลย เมื่อพึ่งใครไม่ได้ประชาชนก็ต้องพึ่งตัวเอง” บังหลาม แกนนำรุ่นหนุ่มลั่นวาจาปิดท้ายอย่างหนักแน่น

 

หมายเลขบันทึก: 355381เขียนเมื่อ 1 พฤษภาคม 2010 19:34 น. ()แก้ไขเมื่อ 31 พฤษภาคม 2012 10:32 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

เจ้าหน้าที่ของรัฐส่วนใหญ่ใน ต. ทุ่งปรังจะได้รับผลประโยชน์ทั้งทางอ้อมและทางตรง...ปัญหาต่างๆ ที่เกิดในหมู่บ้านจากการวิ่งรถดิน ทั้ง อบต. กำนันตำบลทุ่งปรัง และนายอำเภอไม่แก้ไขใดๆ เลย...ร่วมด้วยช่วยกัน...กิ.....

ขอบคุณมากครับ คุณปริมปราง

ทุ่งปรังท่าจะหนักเอาการอยู่

สวนดิฉันอยู่หน้าอำเภอสิชล....รถถมดินวิ่งตลอดวัน...ฤดูฝนรถดิฉันวิ่งเข้าบ้านไม่ได้ (ปิกอัพ)  วิ่งได้เฉพาะรถสิบล้อ ...วันนี้กลับบ้านสวนฝุ่นเขละถูบ้านเกือน 5 รอบ ร้องเรียนก็แล้ว ตอนนี้ก็เลยเขียนเล่าลงในพื้นที่ g2k แห่งนี้  คุณตามไปอ่านได้ที่ เรื่อง ทุกข์ที่เกิดจากการให้  โดยกดที่ชื่อ  ปริมปราง  แล้วกดที่สารบัญ  ด้านขวามือ  จะพบชื่อเรื่องที่เขียนเรื่องนี้

ผมเข้าไป ที่ทุ่งปรังหลายครั้ง เพื่อติดตามข่าว นิคมอุตสาหกรรม

และโรงงานปาล์ม-ไฟฟ้าชีวมวลที่หมู่ ๔

หากพี่ปริมปรางค์ ไม่ขัดข้อง ศูนย์สื่อพลเมือง ออกทุกเดือน

ยินดีลงบทความนี้ให้ครับ

หลักการของหนังสือ คือ ทำฟรี และส่งฟรีแก่ผู้สนใจทุกๆเดือน หากสนใจ

ส่งบทความมาได้ และ แจ้งความประสงค์รับหนังสือพิมพ์ได้ที่

ทรงวุฒิ เบอร์ ๐๘๓ - ๑๐๓๒๗๒๗ [email protected]

หรือ จินดา เบอร์ ๐๘๖-๙๕๒๕๒๕๘ [email protected]

หรือ เมล์สื่อ โดยตรงที่ [email protected]

หรือ มีบทความ เรื่องราวดีดี ส่งมาได้ครับ เป็นสื่อที่แจกฟรี

ในจังหวัดนครศรี และทั่วประเทศ

ยังไง เป็นกำลังใจให้คนคิดดี ทำดีครับ

ทรงวุฒิ พัฒแก้ว

บรรณาธิการ ศูนย์สื่อพลเมืองฅนคอน

สส จะช่วยอะไรได้ /ตอนนี้ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน/

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท