กระบวนทัศน์ในการเลี้ยงดูเด็กแนวพุทธ -พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต)


เลี้ยงดูเด็กแนวพุทธ
นำมาจากงาน 10 ปี ทศวรรษเพื่อเด็กและภูมิปัญญาของครอบครัว กระบวนทัศน์ใหม่เพื่อพัฒนาศักยภาพเด็กไทยในทศวรรษหน้า โดยสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล

กระบวนทัศน์ในการเลี้ยงดูเด็กแนวพุทธ

พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต)
วัดญาณเวศกวัน นครปฐม

การศึกษาเริ่มต้นเมื่อคนกินอยู่เป็น

ชีวิตความเป็นอยู่ของทุกคนต้องเกี่ยวเนื่องด้วยปัจจัย 4 พระพุทธเจ้าจึงสอนให้บริโภคใช้สอยปัจจัย 4 ด้วยปัญญา ไม่บริโภคด้วยตัณหา ให้การบริโภคใช้สอยปัจจัย 4 เป็นเครื่องเกื้อหนุน ช่วยให้มีเรี่ยวแรงกำลัง ในการทำกิจ หน้าที่ ศึกษาเล่าเรียน ทำงานทำการบำเพ็ญสมณธรรม บำเพ็ญศีล สมาธิปัญญา ให้ได้ผล บริโภคเพื่อเป็นปัจจัย เป็นเครื่องเกื้อหนุน ให้เราดำเนินชีวิตที่ดี พัฒนาตนเอง และทำสิ่งที่ดีงามได้ยิ่งขึ้นไป

ข้อปฏิบัติในการฝึกหรือศึกษาเบื้องต้นที่พระพุทธเจ้าทรงเน้น คือ

  • สำรวมอินทรีย์ คือ รู้จักใช้ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ให้เป็น เช่น ดูเป็น ฟังเป็น (อินทรียสังวร)
  • รู้จักประมาณในการบริโภค รู้จักกินพอดี กินด้วยปัญญา (โภชเนมัตตัญญุตา)
  • เป็นคนที่ตื่นตัวอยู่เสมอ ไม่เห็นแก่หลับแก่นอน ใช้เวลาให้เป็นประโยชน์ในการทำกิจหน้าที่ของตน แล้วก็บำเพ็ญศีล สมาธิ ปัญญา พัฒนาตนด้วยชีวิตแห่งการเรียนรู้ ฝึกหัดให้เจริญก้าวหน้า ทำประโยชน์สุขให้สำเร็จทั้งแก่ตนเองและแก่สังคม (ชาคริยานุโยค)

เด็กๆ จะต้องฝึกในเรื่องโภชเนมัตตัญญุตา ให้มีความรู้จักประมาณในการบริโภค ซึ่งจะมีผลดีต่อชีวิตของตนเอง เป็นการฝึกในขั้นศีล คือเป็นการฝึกพฤติกรรมในการรับประทานหรือในการบริโภคแล้วก็ขยายไปถึงสิ่งอื่นๆ ที่เรากิน ใช้ บริโภคทั้งหมด เช่น เสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่ม ก็พิจารณาทำนองเดียวกัน คือ พิจารณาเหตุผลมองเห็นคุณค่าที่แท้ ความเป็นผู้เลี้ยงง่าย ก็เป็นหลักสำคัญ เด็กๆ หรือ ลูกๆ ที่บ้าน อยู่กับพ่อแม่ก็ต้องนึกคิดว่าเรายังไม่มีความพร้อมที่จะหากินด้วยตนเอง คุณพ่อคุณแม่หาเงินทอง ตั้งใจเลี้ยงดูเราให้เจริญเติบโตให้มีการศึกษา ท่านต้องเหน็ดเหนื่อยหนักทั้งกายและใจ เราจึงไม่ควรรบกวนคุณพ่อคุณแม่ให้มากนักถ้าเข้าใจวัตถุประสงค์แล้วใช้ปัญญาในการบริโภค ก็จะมีชีวิตที่พัฒนาจริง พร้อมทั้งเป็นผู้เลี้ยงง่าย และได้ชื่อว่าเป็นผู้มีน้ำใจต่อคุณพ่อคุณแม่ รักคุณพ่อคุณแม่จริง จะทำให้คุณพ่อคุณแม่ซาบซึ้งใจ และมีความสุขขึ้นเยอะเลย

การใช้ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจนั้น โดยเฉพาะเด็กๆ ถ้าปฏิบัติตามหลักการนี้ก็จะมีความภูมิใจ และมั่นใจในตนเอง เพราะเป็นการปฏิบัติที่เกิดจากปัญญา คนที่มีปัญญาทำด้วยความรู้ เมื่อทำอะไรด้วยความรู้ก็จะมีความมั่นใจในตนเองอย่างจริงจัง ไม่ใช่มั่นใจตามเสียงเขาว่าทั้งหมดนี้เป็นข้อปฏิบัติที่บูรณาการศีล สมาธิ ปัญญา ครบ มีทั้งพฤติกรรม จิตใจ และปัญญาที่ถูกต้อง ซึ่งสัมพันธ์กันเป็นระบบ คือ ระบบแห่งการดำเนินชีวิตของเรา ที่เป็นอยู่อย่างถูกต้องดีงาม ได้ทั้งประโยชน์และมีความสุขมั่นคง

วินัยเรื่องใหญ่กว่าที่คิด

วินัย เป็นการจัดสรรโอกาส ทำให้ชีวิตและสังคมมีระบบระเบียบ ดำเนินไปโดยสะดวก คล่องตัว ได้ผล มีประสิทธิภาพ และเป็นโอกาสแก่การพัฒนามนุษย์ด้วย ในระบบการฝึกคนที่เรียกว่า การศึกษา พระพุทธเจ้าจัดเป็น 3 ด้าน คือ ศีล สมาธิ ปัญญา
การฝึกในระดับต้นๆ เรียกว่า ศีล การฝึกศีล คือ ฝึกให้มีวินัย เมื่อคนปฏิบัติตามวินัยจนเกิดเป็นคุณสมบัติของเขาขึ้นมา คุณสมบัติที่เกิดขึ้นในตัวบุคคลนั้น เรียกว่า ศีล ความสำคัญของวินัยอยู่ที่การฝึกคนให้มีศีล เป็นรุ่งอรุณของการศึกษาหรือแสงเงินแสงทองของชีวิตที่ดีงาม พระพุทธเจ้าตรัสว่า เมื่อพระอาทิตย์จะอุทัย ย่อมมีแสงเงินแสงทองขึ้นมาก่อน ฉันใด ชีวิตที่ดีงามจะเกิดขึ้นโดยมีความถึงพร้อมด้วยศีลหรือความมีวินัยนี้เป็นสิ่งบ่งบอกเบื้องแรกด้วย ฉันนั้น ถ้าคนตั้งอยู่ในวินัยมีศีลแล้ว ก็มั่นใจได้ว่าชีวิตที่ดีงามจะเกิดขึ้น เท่ากับว่าพระพุทธเจ้าตรัสให้คำรับรองไว้ว่าศีล หรือความมีวินัยเป็นรุ่งอรุณของการศึกษา เป็นสัญญาณว่ามนุษย์จะมีการพัฒนาและมีชีวิตที่ดีงามต่อไป

วิธีเสริมสร้างวินัยให้กับเด็ก
• สร้างวินัยด้วยการทำให้เป็นพฤติกรรมเคยชิน หลักการนี้ใช้ได้ดีกับเด็กๆ เพราะเขาเพิ่งเข้ามาสู่โลก เราก็เริ่มให้อันที่ดีเข้าไปเสียก่อนเลย ฉะนั้นตัวแบบจึงมาจากพ่อแม่ ถ้าพ่อแม่มีวินัยดี ก็มีหวังว่าลูกจะมีวินัยดีด้วย
• ใช้วินัยที่ลงตัวแล้ว คือวัฒนธรรมมาช่วย เช่นพ่อแม่พาเด็กไปในสถานที่ที่ต้องให้บริการแก่คนจำนวนมาก พ่อแม่ไปเข้าแถวรอคิว เด็กก็ไปเข้าแถวด้วย ต่อไปเด็กก็เข้าแถวรอคิวเอง โดยไม่ต้องตั้งใจฝึก ไม่ต้องไปสอนให้ปากเปียกปากแฉะ วัฒนธรรมเข้าแถวก็มีมาเองจากการถ่ายทอดความเคยชิน นี่คือวินัยที่กลายเป็นวิถีชีวิต
• สร้างวินัยให้ได้ผลด้วยระบบสัมพันธ์ขององค์รวมที่เกี่ยวข้องมาบูรณาการกันด้วย คือ ศีล สมาธิ ปัญญา ประสานกัน สิ่งที่ฝึกนั้นก็จะกลายเป็นชีวิตจริงของเขา
• สร้างวินัยโดยใช้ปัจจัยอื่นช่วยเสริม เช่น ความเป็นกัลยาณมิตร ถ้าครูอาจารย์น่ารัก ทำให้เด็กมีความอบอุ่นสบายใจ เด็กก็อยากจะเชื่อฟัง ครูอาจารย์ที่เขารัก เคารพ และศรัทธานั้น พอพูดอะไรลูกศิษย์ก็อยากทำอยู่แล้ว และเขาก็มีความสุขที่จะทำตามด้วย วินัยก็เกิดได้ง่าย ความเป็นกัลยาณมิตร คือ เป็นต้นแบบที่ดีของพฤติกรรม (ศีล) มีความรัก ทำให้เกิดความ อบอุ่น มีความเป็นกันเองพร้อมศรัทธาและความสุข (จิตใจ) รู้เหตุรู้ผล สามารถบอกได้ว่าทำ อย่างนั้นแล้วมีผลอย่างไร ทำให้เด็กเข้าใจเหตุผลและเห็นคุณค่าในสิ่งที่ทำ (ปัญญา)

ในการสร้างวินัยต้องอาศัยองค์ประกอบสำคัญที่เกี่ยวข้องใกล้ชิดมาก คือ
1. กัลยาณมิตร เป็นผู้นำและแบบอย่าง เป็นบุคคลที่มีการฝึกฝนพัฒนาดีแล้ว

2. ฉันทะ คือ ความรักดี ใฝ่ดี ใฝ่รู้ ใฝ่สร้างสรรค์ในสิ่งที่ดีงาม

3. อัตตสัมปทา คือ การทำตนให้ถึงพร้อม ต้องการพัฒนาตนเองให้สมบูรณ์ มีจิตสำนึกในการศึกษา การปฏิบัติตามธรรมวินัย คือ ดำเนินการตามหลักการ กฎเกณฑ์ กติกา ถ้าหมู่มนุษย์ปฏิบัติอยู่ในดุลยภาพนี้สังคม ก็จะไม่เสียหลักและจะดำรงอยู่ได้ด้วยดี มีดุลยภาพ

หมายเลขบันทึก: 351873เขียนเมื่อ 16 เมษายน 2010 07:37 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 13:41 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

การเลี้ยงดูเด็กทางพุทธศาสนาเราก็มีแนวทางกำหนดไว้ที่ดีมากเลยนะครับ  แต่เราไม่ค่อยได้ศึกษากันอย่างจริงจัง ส่วนใหญ่จึงไปพึ่งทฤษฎีตะวันตก

สวัสดีค่ะ

  • การสอนโดยไม่ต้องสอนคือการเป็นแบบอย่างที่ดีมีความสำคัญมากนะคะ
  • ปัญหาเนื่องจากความเปลี่ยนแปลงทางสังคมรวดเร็วเกินไป  หากพ่อแม่ช่วยดูแลและเป็นแบบอย่างจากทางบ้าน  เมื่อไปถึงโรงเรียน จะได้ปฏิบัติสอดคล้องกับการสอนของโรงเรียน
  • แต่ปัจจุบันสถาบันครอบครัวดูอ่อนล้า  ปัญหาแทบทุกอย่างจึงต้องยกไปให้โรงเรียนจัดการ
  • มีเด็กในอุปการะ ๒ คนจะพิมพ์ออกไปให้เขาอ่านเองค่ะ
  • ตอนนี้พยายามแกะเปลือกที่เขาติดตัวมาจากพ่อแม่คือเกียจคร้านและไม่รู้จักคุณค่าของสิ่งของ ไม่รู้จักคุณค่าของเวลาค่ะ
  • ขอขอบพระคุณค่ะ

ขอบคุณสำหรับบทความดี ๆ ที่นำมาให้อ่าน และขอบคุณสำหรับกำลังใจดี ๆ ที่ส่งมานะคะ ขอบคุณค่ะ

วินัยนี่สำคัญจริงๆ ครับ ผมกำลังทำวิทยานิพนนธ์เรื่องนี้พอดี

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท