การสร้างงานโดยตรง
(
Direct Job Creation
)
ผลสะท้อนกลับอย่างหนึ่ง ของการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจโดยรวม ในฐานะของแนวทางแก้ปัญหาความยากจนคือ มีตัวกระตุ้นทางเศรษฐศาสตร์มากเกินไป ที่อาจก่อให้เกิดการเพิ่มขึ้นของราคาและค่าจ้างในบางภาคเศรษฐกิจ โดยปราศจากการเพิ่มขึ้นอย่างเพียงพอในจำนวนของงานที่มีเสนอให้คนยากจน การสร้างงานโดยตรงอาจหลีกเลี่ยงความเสี่ยงของภาวะเงินเฟ้อจากการกระตุ้นทางเศรษฐศาสตร์มหภาค ด้วยแนวทางนี้ งานจะถูกสร้างขึ้นโดยมีเป้าหมายอยู่ที่บุคคลที่มีรายได้ต่ำ หรือภูมิภาคที่มีอัตราความยากจนหรือการว่างงานสูง โดยทางอุดมคติแล้ว การกำหนดเป้าหมายจะหยุดเงินเฟ้อที่อาจเกิดขึ้น จากการเพิ่มขึ้นในอุปสงค์แรงงานในภาคเศรษฐกิจที่มีการจ้างเต็มที่หรือเกือบเต็มที่
การสร้างงานโดยตรงถูกนำไปใช้ โดยผ่านทางการให้เงินอุดหนุนงานในภาคเอกชน และผ่านทางการจ้างงานโดยตรงของภาครัฐ การให้เงินอุดหนุนสำหรับงานในภาคเอกชนมักกำหนดเป้าหมายไปที่แรงงานที่ว่างงานอยู่ และการอุดหนุนมักหยุดหรือลดน้อยลงหลังช่วงของการฝึกอบรม บทบาทของรัฐบาลในฐานะของผู้จ้างงานคนท้ายสุด มักเป็นโครงการการสร้างงานโดยตรงที่เสนออยู่บ่อยๆ การสร้างงานอาจเป็นเป้าหมายรองของแผนการรัฐบาลอื่นๆจำนวนมาก ตัวอย่างเช่น บางแผนการอาจไม่ได้ตั้งเป้าในขั้นแรกว่าจะสร้างงาน แต่มีผลกระทบในเชิงบวกบางอย่างที่ก่อให้เกิดการสร้างงานขึ้น และจำนวนของงานที่สร้างขึ้นก็เป็นมาตรการณ์อันหนึ่ง ที่มีผลต่อการรับรองแผนการดังกล่าว
การให้การศึกษาและฝึกอบรม
(
Education and Training
)
การให้การศึกษาและการฝึกอบรมมีจุดมุ่งหมายที่จะเพิ่มประสิทธิภาพ และส่งผลต่อรายได้ของแรงงานที่ว่างงานอยู่ หรือทำงานในงานที่จ่ายค่าจ้างต่ำ การให้การศึกษาเป็นความพยายามที่มีขอบเขตกว้างๆในการปรับปรุงประสิทธิภาพ ในขณะที่การฝึกอบรมเป็นการช่วยเหลือโดยตรง เช่นแผนการฝึกอาชีพ หรือการฝึกอบรมระหว่างทำงาน (
on-the-job training
)
การฝึกอบรม การศึกษาและการฝึกอบรมมีประโยชน์อย่างมาก ในการบรรเทาปัญหาการว่างงานทางโครงสร้าง (
structural unemployment
) ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อมีงานเสนออยู่ แต่คนว่างงานไม่สามารถที่จะมีคุณสมบัติที่เพียงพอสำหรับตำแหน่งงานที่เสนออยู่ การให้การศึกษาและการฝึกอบรมจะมีประสิทธิภาพน้อย เมื่อระบบเศรษฐกิจโดยรวมอยู่ที่ระดับต่ำกว่าการจ้างงานเต็มที่ ถ้าอุปสงค์รวมต่ำมากจนไม่มีตำแหน่งงานเพียงพอ การว่างงานจะยังคงอยู่แม้ว่าแรงงานทุกๆคนจะมีความชำนาญสูง
โครงการฝึกอบรมกำลังแรงงาน ค่อนข้างง่ายต่อการประเมินค่ากว่า โครงการแก้ไขความยากจนอื่นๆ เนื่องจากต้นทุนของโครงการมีความชัดเจน และผลประโยชน์สามารถคำนวณได้ด้วยการวัดรายได้ที่เพิ่มขึ้นของผู้จบการฝึกอบรม เมื่อเปรียบเทียบกับรายได้ของคนอื่นในกลุ่ม รายได้ในอนาคตควรนำมาประเมินเป็นมูลค่าปัจจุบัน เพื่อทำการวิเคราะห์โดยเทคนิคต้นทุน-ผลประโยชน์ จากการประเมินค่าจำนวนมากได้ข้อสรุปที่ผสมปนเปกันไป อย่างไรก็ตาม เราสามารถสรุปได้บางประเด็น คือ 1. แรงงานที่สับเปลี่ยนตำแหน่ง (displaced workers) [แรงงานที่มีประสบการณ์และมีประวัติการทำงานมาแล้ว] จะถูกจ้างงานได้ง่ายกว่าคนที่ว่างงานมานาน และเด็กหนุ่มสาวที่ไม่มีประสบการณ์2. โครงการที่ประสบความสำเร็จอย่างมาก มักยากที่จะทำซ้ำใหม่หรือเลียนแบบได้ ซึ่งก็หมายความว่าปัจจัยที่สัมผัสไม่ได้ เช่น บุคลิกภาพของผู้อบรม หรือคุณภาพของบุคคลที่เข้ารับการฝึกอบรม อาจเป็นปัจจัยที่สำคัญและผันแปร
3. บุคคลจากกลุ่มที่มีข้อเสียเปรียบมาก (ผู้หญิงและชนกลุ่มน้อย) มีสัดส่วนของต้นทุน-ผลประโยชน์สูงที่สุด
4. การฝึกอบรมในชั้นเรียนและการฝึกอบรมในระหว่างทำงานมีประสิทธิภาพเท่าเทียมกัน [1]
[1] Blair, Urban & Regional Economics, p. 289
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย PAN ใน M_ECON_RU#3
ไม่อนุญาตให้แสดงความเห็น
อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก