คนดูแลความทุกข์-สุขแก่เพื่อนมนุษย์ ก็ต้องมีความสุขด้วย


.....เราพาเขาไปอยู่กับตัวเอง วางมือผ่อนคลายจากงานและความเหนื่อยหนัก นั่งมองมัน แล้วก็จัดเวลา ให้ได้สร้างความสุข อยู่กับตัวเองมากๆ สัมผัสคนรอบข้างลึกๆ ชื่นชมสภาพแวดล้อมด้วยแรงบันดาลใจใหม่ๆ พาให้คนที่ดูแลทุกข์คนอื่น สร้างสุขภาพให้คนอื่น ได้รู้วิธีใช้ชีวิตของตนเอง สร้างความสุข และอบรมตนเองให้มีเครื่องมือจัดการความทุกข์ข้างใน....

      เสาร์-อาทิตย์ 17-18 มิถุนายน 2549 พาทีมไปช่วยกันจัดการสัมมนาเพื่อพัฒนาองค์กร (Organization Development :OD)  ให้กับโรงพยาบาลอำเภอพุทธมณฑล  จังหวัดนครปฐม ที่โรงแรมกรีนเวิร์ลด ทองผาภูมิ  จังหวัดกาญจนบุรี ได้ความสุขและได้แรงบันดาลใจไปด้วยมากมาย

     ทีมที่ไปช่วยกันครั้งนี้ มีทั้งทีมน้องๆนักวิจัยของสถาบันพัฒนาการสาธารณสุขอาเซียน  มหาวิทยาลัยมหิดล และทีมคนหนุ่ม-คนสาวจากมหาวิทยาลัยศิลปากร  ทั้งหมดเป็นนักกิจกรรมด้วย ประสบการณ์และภาวะผู้นำในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้อย่างมีส่วนร่วมจัดว่าดี รวมทั้งผ่านการเรียนรู้กับคนพุทธมณฑลมาพอสมควร กระบวนการต่างๆที่ร่วมกับทีมโรงพยาบาลออกแบบไว้แต่เดิม  รวมทั้งทีมกระบวนการที่จัดเตรียมไว้ ต้องเรียกว่า พร้อมสรรพทั้งสาระและภารกิจ  เนื้อหาเพรียบ

       วันใกล้จะถึงงาน  ได้ประชุมทีมร่วมกันอีกรอบ  ทุกอย่างก็ได้รับการตรวจตรา  ตระเตรียม  พอเสร็จเรียบร้อย  ก็นั่งคุย  ปรับทุกข์และแลกเปลี่ยนความรู้สุกกันแบบสบายๆ  ทว่า...ช่วงแลกเปลี่ยนแบบสบายๆนี้นั่นเอง  กลับทำให้เราเกิดฉุกคิดและปรับกระบวนการใหม่  แทนกระบวนการที่เตรียมกันมากว่าหนึ่งเดือน

       ระหว่างที่คุยกัน  เจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาล 2-3 คน ปรารภว่า "ไปครั้งนี้ ทุกคนคงมีความสุข..." เหมือนเป็นการกล่าวแบบลอยๆ แต่กลับสะดุดใจเป็นอย่างยิ่ง  หลายคนร่วมความรู้สึกเดียวกัน "คนทำงานเหนื่อยมาก  เหนื่อยหนักตลอดปี"  อีกคนเสริม

     "ไม่ใช่เฉพาะโรงพยาบาลหรอก พวก สอ-ออ (หมออนามัย) ก็หนัก ใครไม่รู้หรอก  งานทุกอย่างลงมาเต็มไปหมด  ทำกันไม่ทัน.." พยาบาลอาวุโสท่านหนึ่ง ร่วมปรารภด้วย

      ผมได้สติ  จริงด้วย  หลายที่ที่ผมไป  ไม่ว่าจะเป็นคนทำงานด้านสุขภาพหรือด้านอื่น  ที่ทำงานอยู่ในระดับพื้นที่ มักเปรยอยู่เสมอว่า  งานหลายอย่างในภาคปฏิบัตินั้น บางทีอาจจะไม่ไปกับกระแสสังคม  ที่เป็นอย่างนั้น ใช่ว่าจะไม่เห็นประเด็นสังคมหรือคนทำงานไม่มีความรู้เรื่องสภาวะแวดล้อม  แต่คนทำงานร้อยแปดพันเก้า  ไม่ทัน จริงสิ  งั้นทำไม  เราจะออกแบบกระบวนการไปทำให้เขาหนักชีวิตเพิ่มเข้าไปอีก

      ผมชวนทีมเปลี่ยนโจทย์ใหม่ ...เราพาเขาไปอยู่กับตัวเอง   วางมือผ่อนคลายจากงานและความเหนื่อยหนัก  นั่งมองมัน แล้วก็จัดเวลา  ให้ได้สร้างความสุข  อยู่กับตัวเองมากๆ  สัมผัสคนรอบข้างลึกๆ  ชื่นชมสภาพแวดล้อมด้วยแรงบันดาลใจใหม่ๆ   พาให้คนที่ดูแลทุกข์คนอื่น  สร้างสุขภาพให้คนอื่น  ได้รู้วิธีใช้ชีวิตของตนเอง  สร้างความสุข และอบรมตนเองให้มีเครื่องมือจัดการความทุกข์ข้างใน....พอหารือไปอย่างนี้  ทั้งทีมเห็นด้วยเป็นเสียงเดียว  แสดงว่าก่อนหน้านั้นอาจจะเกรงใจและให้เกียรติคนคิดกระบวนการ  ทุกอย่างเลยออกแบบใหม่หมด  โดยถือเอากลุ่มผู้ร่วมสัมมนา  57 คน ซึ่งประกอบด้วยทีมบริหาร หมอ พยาบาล เจ้าหน้าที่โรงพยาบาล เจ้าหน้าที่สาธารณสุข และหมออนามัย และการจัดกระบวนการให้ทุกคนความสุขขึ้นในตนเอง  เป็นตัวตั้ง

หมายเลขบันทึก: 35024เขียนเมื่อ 22 มิถุนายน 2006 09:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 กันยายน 2013 22:57 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

        ถ้าเป็นการทำงานด้วยใจ มากกว่าภาระหน้าที่ ที่ต้องปฏิบัติ บางครั้งก็ก่อให้เกิดความสุขได้มากกว่าที่ต้องทำไปตามกระแส แนวคิดเริ่มชี้ให้เห็นว่า ต่อไปการทำงานต้องอาศัย "ใจ"  มากกว่า "คำสั่ง" และ "กระแส" อีกทั้ง นโยบายกับแนวการปฏิบัติ ก็ต้องสอดรับกับความเป็นไปได้อย่างให้เห็นเป็นรูปธรรมกระมังคะ (ไม่ได้หมายความว่าที่ทำอยู่ในปัจจุบัน ไม่สอดคล้องนะคะ)  ขอให้ทีมงานมีความสุขกับการทำงานด้วยใจค่ะ เอาใจช่วยให้งานสาธารณสุขของไทยก้าวหน้าแล้วก็เป็นที่พึ่งพิงของชาวประชาถ้วนหน้าทั้งกายและใจค่ะ  

     เจ้ายุนี่เอง  คิดว่าใครที่ไหน  ขอบคุณมากที่เข้ามาแลกเปลี่ยน

     ตอนนี้ทำอะไรไปถึงไหนแล้ว  เป็นดอกเตอร์แล้วใช่ไหม ที่ มน ที่ยุอยู่นี่ เขามีกลุ่มที่ทำเรื่องการจัดการความรู้  มีอาจารย์บางท่านมาทางสื่อและเทคโนโลยีการศึกษาด้วย  เดาว่ายุคงไปร่วมเวที-เครือข่ายกับเขาด้วย  ที่ มน มีบรรยากาศส่งเสริมการเรียนรู้ของกลุ่มนักปฏิบัติดีจัง

เดือนก.ค  ไม่อาจารย์มี Story Telling`มาฝากบ้างเลย

อ่านบล๊อกของอาจารย์แล้วได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ  อีกมากมาย  เล่าเรื่องที่มาแพร่ให้คนแพร่อ่านบ้างคงจะดี

หรือเรื่องอื่นๆอีกก็ได้

 

สวัสดีค่ะ

  • อ่านบันทึกของอาจารย์อย่างเพลิดเพลินและได้ความรู้มากมายค่ะ..^_^..
  • ชื่นชมที่อาจารย์มีสติและปรับกระบวนการได้ทันการและเหมาะสมกับ "โจทย์" ถือเป็นทีมกระบวนกรที่มีคุณภาพอย่างยิ่ง
  • คนไม่มีรากคิดว่า...การให้ความสำคัญกับ "ความรู้สึกและจิตวิญญาณ" ของคน น่าจะเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องคำนึงถึงเป็นลำดับแรก ๆ ในทุกประเด็น
  • ชื่นชมและขอบคุณการ "กระตุกต่อมความคิด" ค่ะ สังคมและโลกต้องการคนที่กระตือรือร้นและมีความเป็นมนุษย์ที่คิด พูด และทำแง่บวกเช่นอาจารย์ค่ะ

                                   (^___^)

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท