ไปงานรับปริญญาลูกสาว (1)


• เราเดินทางเมื่อ 0.40 น. วันที่ 7 มิถุนายน 2549 ด้วยตั๋วฟรีจากไมล์สะสม   ต้องชมการบินไทยว่าการขอรับตั๋วฟรีไม่ยุ่งยาก ไม่เหมือนของบริษัทอเมริกันที่ล้มละลายแล้วลุกขึ้นใหม่   เมื่อหลายปีที่แล้วขอยากขอเย็นจนผมโยนทิ้งและเลิกคบไปเลย
•  TG 790 กรุงเทพ - นิวยอร์ก  ใช้เวลาบิน 16 ½  ชม.  เครื่องบินแอร์บัส A340-500 เป็นประสบการณ์การบินผ่านขั้วโลกเป็นครั้งแรกของเรา    และเป็นประสบการณ์การบินยาวเช่นนี้เป็นครั้งแรก   เดิมเคยแต่บิน 11 - 12 ชั่วโมง     เราพบหมอหลายคน รวมทั้ง ศ. นพ. เทพ หิมะทองคำ ไปประชุมสมาคมเบาหวานอเมริกัน ที่วอชิงตัน ดีซี
• บริการของการบินไทยเที่ยวนี้ยอดเยี่ยมทุกด้าน    อาหารอร่อยเป็นพิเศษ
• เครื่องบินสมัยใหม่มีเทคโนโลยีที่ช่วยให้ข้อมูลกำรบิน  ตำแหน่งของเครื่องบิน  มีภาพทิวทัศน์ที่กัปตันเห็นจากหน้าเครื่องบินให้เราดูได้    มี video on demand แก่ผู้โดยสารแต่ละที่นั่ง    ใครอยากดูเรื่องอะไรก็เปิดดูตามความพอใจ    เรื่องที่ดูจะเริ่มตามที่แต่ละคนเรียกมาดู    มีเครื่องเล่นวิดีโอชนิดหิ้วให้ยืมมาดู    ผมคิดว่าคนรุ่นต่อไปจะคุ้นเคยกับความสะดวก และความเป็นส่วนตัว     จนคุณสมบัติความอดทน   รู้จักรอ   รู้จักใช้สิ่งของร่วมกับผู้อื่น ฯลฯ จะค่อยๆ ลดลงไปเรื่อยๆ    จึงเกิดคำถามว่าการเลี้ยงดูในครอบครัว และการฝึกฝนในโรงเรียน จะช่วยฝืนหรือแก้จุดอ่อนนี้อย่างไร

                      

   ถ่ายจากเครื่องบิน ตอนบินผ่าแถวขั้วโลก เห็นน้ำเป็นน้ำแข็ง

                      

ทะเลน้ำแข็ง แถวใกล้ขั้วโลก ถ่ายจากเครื่องบิน ความสูงกว่า ๑๐ กม.

                     

                       ท้องฟ้าเหนือขั้วโลกยามรุ่งอรุณ
• มาคราวนี้เป็นการมาร่วมพิธีรับปริญญาโทของลูกสาวคนที่ 3 ที่ Harvard Business School (HBS)
• เมื่อ 9 ปีที่แล้วเรามางานรับปริญญาของลูกสาวคนที่ 2  จากมหาวิทยาลัยเดียวกัน   ทางด้าน Computer Science   โดยมีป้าจิตรร่วมเดินทางมาด้วย   แต่เวลานี้ป้าจิตรไปสวรรค์แล้วเมื่อ 5 ปีก่อน    เราจึงมากันสองคน แม่และพ่อ
• การตรวจประทับตราหนังสือเดินทาง และผ่านศุลกากรสะดวกมาก    คือไม่โดนตรวจกระเป๋า   หมออมราบอกว่ารู้อย่างนี้ก็จะซื้อเนื้อเค็มมาฝากตามที่ลูกอยากกิน แต่การไปต่อเครื่องบินภายในประเทศ คือ jetBlue Airways ไปบอสตัน ที่ลูกสาวจองให้ ไม่เป็นสายการบินในกลุ่ม Star Alliance (เราบอกให้ลูกจอง low cost airline)  เราจึงต้องขนกระเป๋าจาก Terminal 4 ไป Terminal 6 เพื่อ check in กับ jetBlue ไม่ถึงกับลำบากแต่ก็ไม่สะดวกสบาย
• เรามาพบการตรวจอาวุธแบบสุดๆ ตอนจะเข้าไปยัง Gates ของ jetBlue ต้องเอา laptop, jacket, เข็มขัด, รองเท้า และทุกสิ่งที่เป็นโลหะวางราบลงในถาด  รวมทั้งกระเป๋าถือขึ้นเครื่องด้วย    ลูกสาวบอกภายหลังว่า นี่คือระบบมาตรฐานของอเมริกันในขณะนี้
• ระหว่างนั่งรอขึ้นเครื่อง jetBlue ผมสังเกตคนเดินผ่านไปมา เห็นว่า 70 - 80% เป็นคนอ้วน    นี่คือปัญหาสุขภาพของคนอเมริกัน    คนอเมริกันมีปัญหาตรงที่มีทุกอย่างเกินพอ    จึงเสพเกินพอดี    การเสพเกินพอดี ก่อทั้งปัญหาสุขภาพส่วนบุคคล และส่วนประเทศ    ยิ่งอเมริกันเป็นจ้าวโลกยิ่งก่อปัญหาให้แก่โลก    คือเป็นจ้าวโลกจอมเกเร

                      

สาวน้อยที่สนามบิน New York JFK บริเวณห้องรอขึ้นเครื่องบินสายการบิน jetBlue
• การจัดการของบริษัท jetBlue ที่ ground service ไม่ดี   ระบบ information ที่ให้ลูกค้าก็ไม่ดี  ทำให้น่ากลัวด้านการบำรุงรักษาเครื่องบิน    น่าเป็นห่วงความปลอดภัย
• JetBlue เที่ยวบินที่ 1004 เครื่องบิน Embraer 190  จุผู้โดยสารประมาณ 100 คน   ที่นั่งแถวละ 2 + 2 มีจอทีวีที่พนักพิงของคนหน้า   ระบบ  directv มีช่องให้เลือก 36 ช่อง     เครื่องบินแทกซี่ไปที่ต้นทางบินขึ้น แล้วประกาศว่าต้องรออีก 25 นาที ขอบคุณที่อดทน   เครื่องบินทะยานขึ้นเวลา 11.45 น. จากเวลาที่กำหนด 10.00 น.  จาก directv เราได้รู้ว่าที่บอสตันฝนจะตกไปอีกหลายวัน และคลื่นอากาศร้อนกำลังคลุมสหรัฐอเมริกา   ที่อริโซน่า จะร้อนถึง 115  องศาฟาเรนไฮต์    โชคดีแถวตะวันออกเฉียงเหนือไม่ร้อน
• บินประมาณ 1 ชั่วโมงก็ถึงบอสตัน    ฝนตกหนักมาก    ลูกทั้งสองคนมารับ    พาไปกินอาหารจีนที่เมืองจีนของบอสตัน    ได้กิน red lobster ที่เราชอบ

                          

                           แม่กับลูก 2 คนเล็กในจำนวน 4 คน

                                 

                                 แม่กับลูกสาวที่อพาร์ตเม้นต์


   
วิจารณ์ พานิช
๗ มิย. ๔๙ บนเครื่องบินไปนิวยอร์ก
แก้ไขเพิ่มเติม ๘ มิย. ๔๙  ที่อพาร์ตเม้นต์นักศึกษา HBS

 

 

หมายเลขบันทึก: 35032เขียนเมื่อ 22 มิถุนายน 2006 10:20 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 10:42 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ขอแสดงความยินดีกับคุณหมอวิจารณ์ด้วยคะ ที่ลูกสาวประสบความสำเร็จเป็นที่ภาคภูมิใจของพ่อแม่ :)ชอบอ่านบล็อกของคุณหมอมากคะ เรื่องทุกเรื่องที่เล่ามาเสริมความรู้ที่เราไม่ค่อยมีโอกาสประสบพบเห็น อ่านแล้วเห็นภาพดีคะ มีเป็นประโยชน์ดีมากมากคะ ขอเป็นกำลังใจให้คุณหมอเล่าเรื่องต่อไปเรื่อยๆนะคะ 

ขออนุญาตเข้ามาแสดงความคิดเห็นด้วยคนค่ะ

ขอแสดงความยินดีกับครอบครัวของท่านด้วยนะคะ อ่านบันทึกและชมภาพถ่ายของท่านแล้วรู้สึกอิ่มเอมใจไปด้วยจริงๆค่ะ   

ทั้งนี้ถ้าเยาวชนไทยจะได้มีโอกาสอ่านบันทึกสักหน้าหนึ่ง ของมหาบัณฑิต   Harvard Business School (HBS) ท่านนี้  เกี่ยวกับการเป็นนักศึกษาและการใช้ชีวิตในต่างประเทศอย่างมีคุณภาพ(เช่นนี้)  คงจะดีไม่น้อยเลยค่ะ   (เป็นภาษาอังกฤษก็ยังดีค่ะคุณหมอ)

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท