ประวัติวัดโตนด


วัดโตนดเป็นวัดเก่าแก่โบราณวัดหนึ่ง ค้นพบจากเพลาวัดตะเขียนบางแก้วชื่อว่า “วัดโตนดหลาย”

ประวัติวัดโตนด

     วัดโตนดเป็นวัดเก่าแก่โบราณวัดหนึ่ง ค้นพบจากเพลาวัดตะเขียนบางแก้วชื่อว่า “วัดโตนดหลาย” จากการบอกเล่าต่อๆ กันมาว่า สมัยก่อนที่ท่านพระครูชิโนวาสพิทักษ์ (เชน) หรือตอนยังเป็นพระเชน  สุวฑฺฒโน จะมาพัฒนาบูรณะสิ่งสำคัญที่เหลือเป็นหลักฐานคือเจดีย์ตอนนั้นยังมองดูออกเพราะยังมีฐานสูงประมาณ 3 เมตร ตั้งอยู่ทางทิศหรดีของวัดโตนดเดี๋ยวนี้, ชาวบ้านยังเรียกที่ตรงนั้นว่าโคกเจดีย์, สร้างด้วยอิฐดินเผาถือปูนขาว ท่านได้ขุดขนอิฐนี้มาก่อเป็นเสาอาคารเรียนถาวร แบบดับอิฐถือปูนขาวเพราะปูนซิเมนต์สมัยนั้นยังหาได้ยาก เดี๋ยวนี้ที่ดินแปลงนี้คงเป็นของวัดโตนด นอกจากเจดีย์ยังมีโบสถ์เก่าๆ ชำรุดจะพังแหล่ไม่พังแหล่ ในโบสถ์มีพระประธานและสาวกขวาซ้าย เนื้อคล้ายดินเผา ลักษณะเป็นโบสถ์โบราณ เสาก่อด้วยอิฐดินเผาถือปูนขาว รูปสี่เหลี่ยมแต่ละด้านของหน้าเสากว้างประมาณถึง 60 เซนติเมตร เสาสูงประมาณ 7 เมตร หลังคาสองชั้นค้นตามประวัติในหนังสือบางเล่ม ตั้งมาสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นเมืองหลวง แต่บางสมัยก็มีพระสงฆ์อยู่จำพรรษา  บางสมัยก็ร้างก่อนร้างครั้งสุดท้าย  พอบอกเล่ากันได้ตามลำดับดังนี้ มีพระคลิ้ง หรือที่คนทั่วไปเรียกกันว่า “ทิตคลิ้ง” อยู่ได้ไม่เท่าไรก็ทิ้งวัดให้ร้าง ต่อจากทิตคลิ้งก็มีหลวงพ่อจันทร์ หลวงพ่อจันทร์ อยู่จนมรณภาพที่วัดนี้ ต่อมามีหลวงพ่อทับ มาอยู่ได้ไม่นานจึงทิ้งวัดให้ร้างอีก หลังจากนั้นมีพระพ่อเกเกิดอยู่รวมกันกับสามเณรสีเทพ สามเณรสีเทพนุ่งผ้าขาว อยู่รวมกันได้ไม่นานทั้งพ่อเกเกิดและสารเณรศรีเทพก็หายไป ทิ้งวัดให้ร้างอยู่นาน
     พ.ศ. 2464 พระอธิการเชน สุวฑฺฒโน ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดท่ามะเดื่อ มองเห็นว่าวัดโตนดนี้อยู่ในย่านชุมชน ตั้งอยู่ในหมู่ที่ 7 ตำบลนาปะขอ อำเภอปากพะยูน จังหวัดพัทลุง น่าจะทำการพัฒนาฟื้นฟูให้เป็นวัดสมบูรณ์แบบขึ้น
     เมื่อพระอธิการเชน สุวฑฺฒโน มองเห็นความสำคัญของวัดโตนด ท่านจึงตัดสินใจย้ายออกจากวัดท่ามะเดื่อมาอยู่วัดโตนด ทำหน้าที่เป็นเจ้าอาวาส มีการบูรณะพัฒนาโดยการขอแรงชาวบ้านขุดถากถางป่า เพราะวัดร้างมานานจึงเป็นป่าละเมาะรกรุงรังต้นไม้ใหญ่ๆ ก็มี แต่ท่านเว้นต้นไม้ใหญ่ๆ ไว้ เช่น ต้นมะม่วงคัน ต้นหว้า ต้นหยีกินลูก ต้นหยีนี้เพิ่งตายเสียเมื่อ พ.ศ. 2514 พร้อมกับการพัฒนา ท่านก็ได้สร้างวัดกุฏิชั่วคราวขึ้น 1 หลัง หลังคาทรงไทยขนาด 3 ห้อง พอได้อาศัย วัดโตนดนี้เดิมเป็นวัดสังกัดของวัดมหานิกาย เมื่อท่านมาอยู่ท่านจึงแปลงไปสังกัดธรรมยุติ เนื้อที่ของวัดทั้งหมด 7 ไร่ 1 งาน 50 ตารางวา

     เมื่อท่านได้มีกุฏิพออยู่อาศัยได้แล้ว ชาวบ้านเริ่มมีความเคารพนับถือขึ้นเรื่อยๆ เพราะท่านปฏิบัติตั้งตัวเป็นผู้ใหญ่ เช่น เข้าได้กับคนทั่วไปมีการเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่กับผู้อื่น มีความเมตตากรุณาอยู่ในจิตใจของท่านเป็นปกตินิสัย ส่วนด้านบูรณะพัฒนาก็สลับกันไปกับการศึกษาอบรมสั่งสอนทั้งพระภิกษุสามเณรตลอดถึงศิษย์วัดประชาชนทั่วไป เมื่อปราบพื้นวัดเรียบพอสมควรเริ่มสร้างกุฏิ สร้างโบสถ์ สร้างศาลาการเปรียญ สร้างครัว สร้างหอระฆัง สร้างส้วม สร้างบ่อน้ำ สร้างหอไตร และสร้างอาคารเรียน ท่านสร้างทุกอย่าง อาคารบางหลังก็ได้ชำรุดหักพังไปเสียแล้วที่มีเหลือให้ได้เห็นอยู่ คือ โบสถ์ หอระฆัง บ่อน้ำ ส่วนทางด้านปฏิบัติทางพระพุทธศาสนา ท่านได้ปฏิบัติตามพระธรรมวินัยโดยเคร่งครัดเพราะ ท่านใคร่ในพระธรรมวินัย ขนบธรรมเนียมเป็นอย่างดียิ่ง  หลักสูตรนักธรรมท่านก็ได้ศึกษา แต่ไม่ได้ผ่านสนามสอบ ท่านเข้าใจปฏิบัติได้เป็นอย่างดี
     ส่วนการให้ศึกษาแก่พระภิกษุสามเณร และชาวบ้านทั่วๆ ไป นอกจากอบรมสั่งสอนตามพระธรรมวินัยแล้วยังสั่งสอนให้ความรู้ในเรื่องต้นไม้ โดยการทำงานให้งานสอนคนใครทำผิดไปท่านก็ไม่พูดให้เจ็บช้ำน้ำใจให้ขอทำแก้ตัวใหม่ก็แล้วกัน ถ้าใครพยายามทำ ผู้นั้นก็ทำได้ดีเกือบทุกคน ศึกษาสลับกันไปโดยแบ่งเวลาศึกษาธรรมะบ้าง ทำงานช่างไม้ช่างปูนบ้าง หรือจะเรียกว่า “การก่อสร้าง”  สำหรับชาวบ้านพุทธบริษัทมีการเทศนาสั่งสอนอบรมในวันพระและวันสำคัญต่างๆ พระภิกษุสามเณรที่ตั้งใจศึกษา ท่านก็หาหนทางส่งให้ไปศึกษาต่อในกรุงเทพมหานคร อย่างพระครูสัพทวิมล (เคลื่อน จันทร์เขียว) ซึ่งเป็นที่เคารพนับถือของคนในกรุงเทพมหานครพอสมควร ท่านพระครูสัพทวิมลก็ถือโอกาสสนับสนุนวัดโตนด โดยจัดหาหนังสือเรียนส่งมาให้พระศึกษาและจำพวกครุภัณฑ์ต่างๆ ตลอดถึงพระพุทธบูชา กับการที่ส่งพระภิกษุสามเณรไปศึกษาต่อในกรุงเทพมหานคร ก็ได้ติดต่อกันมาจนทุกวันนี้
     การศึกษา ให้การศึกษาเล่าเรียนกับศิษย์วัดและเด็กเริ่มเกณฑ์เข้าเรียน ทั้งผู้ชายและผู้หญิง ท่านได้ขออนุมัติเปิดโรงเรียนประชาบาลขึ้นที่วัดโตนด โดยสร้างอาคารชั่วคราวให้ก่อนจึงสร้างอาคารถาวรในเมื่อปี 2468 ขนาดกว้าง 10 เมตร ยาว 20 เมตร รูปหลังคาปั้นหยามีออกมุขด้านหน้า 2 ข้าง ที่จั่วมุขติดรูปครุฑ (หรือที่เรียกว่า พระยาครุฑ) ข้างละตัวแกะสลักจากไม้สวยงามมาก เวลานี้เก็บไว้ที่อาคารหลังใหม่ของโรงเรียนวัดโตนดกับด้านหลังทางทิศใต้มีมุขกลาง 1 มุข แกะสลักเป็นรูปราหูอมจันทร์ เก็บไว้ในอาคารหลังใหม่เช่นเดียวกัน ในการสร้างอาคารเรียนก็ดี สร้างกุฏิก็ดีรู้สึกว่าสร้างด้วยความยากลำบากเพราะจำพวกไม้ต้องขึ้นไปตัดฟันแถวอำเภอตะโหมด ต้องนำเสบียงมีข้าวสารพร้อมด้วยกับข้าวที่จำเป็น ต้องเดินไปด้วยเท้าระยะทางกว่าจะถึงที่หมายใช้เวลาเกือบ 1 วัน ได้ไม้แล้วใช้ควายชักลากจากป่าล่องลงมาตามลำคลองกว่าจะถึงที่วัดใช้เวลาถึง 3 วัน ส่วนวัสดุอื่นๆ เช่น ปูนซิเมนต์ก็ไม่มีใช้ปูนขาวแทนรู้สึกสร้างด้วยความพยายามจริงๆ เมื่ออาคารเรียนถาวรเสร็จแล้วทางการได้แต่งตั้งให้พระยาศรีธรรมราชสมุหเทศาภิบาลมณฑลนครศรีธรรมราชมาเป็นประธานในการเปิดโรงเรียนแห่งนี้ ตั้งชื่อโรงเรียนว่า โรงเรียนวัดโตนด (เชนวิทยา) พร้อมกับทางอำเภอปากพะยูน ได้นำเงินมาสมทบให้เงินสามร้อยบาท
     การฉลองโรงเรียน จัดงานครั้งนี้เป็นงานที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในขณะนั้นมีประชาชนช่วยเหลือ บำเพ็ญบุญกันมากมาย การแต่งกายของชาวบ้านผู้ชายจะแต่งกายนุ้งผ้าโจงกระเบนใช้ผ้าขาวม้ารัดสะเอวไม่ใส่เสื้อ ส่วนชายหนุ่มจะมีเสื้อใส่ด้วย ผู้หญิงแต่งงานแล้วใช้นุ่งผ้าโจงกระเบนเลยเข่าลงไปครึ่งแข้ง แล้วมีเสื้อใส่พร้อมด้วยผ้าสไบพาดเฉียง ส่วนผู้หญิงวัยสาวเขาไม่ใส่ผาสไบพาดเฉียง ใช้ผ้าสไบห้อยคอ เมื่อได้ทำเปิดอาคารหลังนี้แล้ว นักเรียนได้อาศัยเรียนอย่างสะดวกสบาย สมัยนั้นโรงเรียนวัดโตนดมีครูเพียง 4 คน บางวิชาได้ให้พระสงฆ์ช่วยสอน มีนักเรียน   4-500 คน ยังไม่มีโรงเรียนใดที่ใหญ่เท่าโรงเรียนแห่งนี้นับว่าท่านได้ทำความเจริญแก่วงการศึกษาเป็นอย่างมากในสมัยนั้นโดยเหตุนี้พระอธิการเชน สุวฑฺฒโน จึงได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตรที่พระครูชิโนวาสพิทักษ์ เมื่อ พ.ศ. 2499 ต่อมามีพระสมุหสง จัตฺตมโล เป็นเจ้าอาวาส กับพระหมุน เป็นผู้ช่วย สืบต่อมา ท่านผู้นี้ก็เอาใจใส่เจริญรอยสืบมาทุกด้าน ด้านอาคารสถานที่สร้างกุฏิจำนวน 2 หลัง
     หลังที่ 1 รื้อกุฏิหลังเก่าออกสร้างลงที่เดิม ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของศาลาการเปรียญ กว้าง 5 เมตร ยาว 9 เมตร เป็นอาคาร 2 ชั้น ครึ่งตึกครึ่งไม้นายเคล้า นางลอย จินดาจิตร เป็นผู้สร้างถวาย
     หลังที่ 2 เป็นกุฏิเรือนไม้ชั้นเดียวยกพื้น ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของเมรุ นายช่วง นางขลิบ อุปถัมภ์ สร้างถวาย นอกจากกุฏิมีการสร้างหอฉันและโรงครัวเป็นอาคารไม้ชั้นเดียวยกพื้น ขณะนี้ชำรุดรื้อออกเสียแล้ว
     นอกจากนี้ สร้างสะพาน เสา คาน พื้น กระดาน ไม้เคี่ยมใช้ข้ามหานขี้เป็ดระหว่างวัดโตนดกับวัดช่างทองความยาวประมาณ 20 เมตร สร้างศาลาป่าช้ากว้าง 8 เมตร ยาว 13 เมตร  ขณะนี้ชำรุดทรุดโทรมหมดแล้ว

     นอกจากนี้ยังมีการบูรณะเสนาสนะต่างๆ เช่น ฝาผนังโบสถ์ และกุฏิหลายหลัง

     ตอนที่พระสมุห์สง จัตฺตมโล เป็นเจ้าอาวาส ตรงกับอาคารเรียนที่ท่านพระครูชิโนวาสสร้างไว้ ได้ชำรุดทรุดโทรมลงมาก คณะครูกรรมการศึกษา คิดจะสร้างอาคารเรียนใหม่โดยการของบประมาณได้รับการอนุมัติมาจากเงินกองฉลากกินแบ่งจำนวนเงินทั้งหมด 240,000 บาท เมื่อได้เงินงบประมาณมา นายเชาว์ ธีระกุล นายอำเภอเขาชัยสนได้ขอร้องให้นายสง ไกรศิริโสภณ ครูใหญ่ เป็นผู้หาที่ดินเพราะที่เดิมตั้งอยู่ในวัดรู้สึกคับแคบจึงมีผู้อุทิศให้บ้าง ช่วยกันหาเงินซื้อบ้างได้ที่ดินมาเนื้อที่ 4 ไร่ 1 งาน ตั้งอยู่ทางทิศเหนือของวัดวัดโตนด ส่วนใหญ่เป็นที่ดินของนายปั้น ที่ชาวบ้านเรียกกันทั่วไปว่า “พ่อปั้น” นางหนูกลั่น   พัทลุง อุทิศให้โดยแลกกับที่ดินของนายหร้อม นางนวม สาระอาภรณ์ ขนาดกว้าง 6 ห้องเรียนนำนักเรียนเข้าอาศัยเมื่อวันที่ 10 เดือนกันยายน พ.ศ. 2514
     ชาวบ้าน พุทธบริษัท ศิษยานุศิษย์ไม่วายคิดถึงคุณงามความดีของท่านพระครูชิโนวาสพิทักษ์ จึงจัดหานายช่างปั้นรูปเท่าตัวจริงพร้อมด้วยหอรูปประดิษฐานไว้ที่วัดโตนดเป็นที่สักการะ บูชาของคนทั่วไป มี นายนุ่ม มูสิกโรจน์ กำนันตำบลนาปะขอ กับ นายเกลื่อม มูสิกโรจน์ ลูกชาย รับในเรื่องรูปปั้นพระหมุนรับเรื่องหอรูป กำหนดเอาวันที่ 10 เมษายน ของทุกปีเป็นวันบำเพ็ญบุญอุทิศถวายตลอดมา คณะครูกรรมการศึกษา คณะศิษย์ของท่านคิดกันว่าท่านใคร่ในเรื่องให้การศึกษามากจึงนัดประชุมขึ้น โดยพระครูอดิสัยศิลวัฒน์ เป็นประธาน พระสมุห์สงจัตฺตโล รองประธาน เพื่อตั้งทุนการศึกษา อุทิศส่วนบุญส่วนกุศลส่งไปให้ท่าน เริ่มจัดขึ้น พ.ศ. 2517 ให้ชื่อว่า “ทุนชิโนวาสพิทักษ์” ในปีแรกค่าทุน 300 บาท เป็นของนายสง ไกรศิริโสภณ ทั้งสิ้น และมีเพียงคนเดียว ในปีนั้นผู้ได้รับทุน คือ เด็กหญิงกานดา ปลอดขลิบ คัดเลือกจากนักเรียนที่เรียนดีแต่ขาดแคลนทุนทรัพย์ และคัดเฉพาะโรงเรียนวัดโตนดเท่านั้น ต่อมาขยายการสอบชิงทุน ภายในกลุ่มโรงเรียนพระบรมธาตุ และปีถัดมาขยายไปทั่วทุกโรงเรียนภายในอำเภอเขาชัยสน ค่าทุนก็เพิ่มขึ้นเป็นทุนละ 500 บาท ใช้เงินทุนปีละไม่ต่ำกว่า 4,500 บาท เงินทุนนี้ได้จากผู้บริจาคการสมทบ มีศิษย์ของท่านพระครูชิโนวาสพิทักษ์ ทั้งเป็นพระสงฆ์และฆราวาส ตกลงกันในที่ประชุมว่าเงินได้มีมากน้อยเท่าไร จะใช้จ่ายเกี่ยวกับการให้ทุนการศึกษาเท่านั้น
     ปี พ.ศ. 2530 มีผู้ศรัทธาเลื่อมใสในการให้ทุนการศึกษา ตามโครงการนี้จึงได้มีคณะเจ้าภาพในการจัดงานศพ นางแช่ม หนูฤทธิ์ โดยการนำของนายเจิม หนูฤทธิ์ ผู้เป็นสามีพร้อมด้วยบุตร-ธิดา เขย-สะใภ้ และหลานๆ ทุกคนบริจาคเงินสมทบเป็นเงินจำนวน 3,200 บาท (สามพันสองร้อยบาท) และเงินจำนวนนี้อาจารย์สง ไกรศิริโสภณ ได้นำเข้าในกองทุนทั้งหมดไว้ในบัญชีธนาคารออมสิน สาขาเขาชัยสน เรียบร้อยแล้วทุนนี้ได้ดำเนินมาตั้งแต่ พ.ศ. 2517 ติดต่อกันมาจนบัดนี้ มีเงินอยู่ในธนาคารออมสิน สาขาเขาชัยสน จำนวน 63,161.24 บาท (เงินหกหมื่นสามพันหนึ่งร้อยหกสิบเอ็ดบาทยี่สิบสี่สตางค์) มีนักเรียนที่ได้รับทุนไปแล้ว ถึงปี พ.ศ. 2534 จำนวน 56 คน และยังดำเนินการต่อไป


ที่มา : คณะพุทธบริษัท. 2535. “ประวัติวัดโตนด”, ที่ระลึกในวโรกาสพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษาวันที่ 5 ธันวาคม 2534, 1-11

หมายเหตุ :

     วัดโตนดเป็นวัดที่เป็นผมบวชสามเณร ประมาณ 1 เดือน (จบ ม.6) และบวชพระ 1 พรรษา (ทำงานแล้ว พ.ศ.2536) ซึ่งในขณะที่บวชพระผมสอบพระนวกะผ่าน (มีเพียงไม่กี่รูป ผมจำจำนวนไม่ได้ชัดนัก) และถือว่าเป็นสถานที่แรก ๆ ที่ทำให้ผมสนใจปรัชญาด้านพระพุทธศาสนาอย่างที่แตกต่างจากการศึกษาในโรงเรียนที่ผ่านมา (เพื่อเพิ่มเกรดเฉลี่ยของผลการเรียน และเป็นวิชาที่ทำเกรดได้ง่าย เพราะจำได้ก็ทำข้อสอบได้)

     ที่แห่งนี้เป็นชุมชนเดิมที่แม่ผมเกิดที่นี่ และตาเป็นภารโรงคนแรกของโรงเรียนวัดโตนด วัดแห่งนี้มีบัวบรรจุกระดูกบรรพบุรุษข้างแม่มากมาย รวมถึงตา ยาย และแม่ด้วย เมื่อถึงคราวทำบุญ ก็จะต้องได้พบกันเกือบหมด ทุกปี ญาติ ๆ กันจึงไม่ห่างเหินกันเลย ใครไม่ได้มาก็จะถูกถามหา

     สมัยผมบวชนั้น ตาหลวงกล้าย (พระอาจารย์) เป็นเจ้าอาวาส ในวัดจะมีวิทยุหรือโทรทัศน์ก็ไม่ได้ ท่านเคร่งครัดในพระธรรมวินัยมาก การทำวัตรก็เป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ ยกเว้นป่วย ขณะนี้ท่านมรณภาพแล้ว ขณะนี้ผมเข้าไปก็รู้ว่ามีทั้งวิทยุหรือโทรทัศน์ในวัด

     ผมมีประสบการณ์หนังสือเก่า ๆ ถูกยืมไปแล้วหายก็ได้พยายามพิมพ์เก็บไว้ โดยให้ลูกน้องที่ร้าน (หาดใหญ่) พิมพ์ไว้บ้าง พิมพ์เองบ้าง ด้วยเกรงว่าสิ่งเหล่านี้จะหายไปอีก และวันนี้ก็พบช่องทางที่จะนำมาเก็บ/เล่าเรื่องไว้ เผื่อสาธารณะจะได้ใช้ประโยชน์ก็จะได้ใช้ เพราะการเก็บไว้ย่อมเกิดประโยชน์น้อยกว่าการได้นำมาเผยแพร่

หมายเลขบันทึก: 3485เขียนเมื่อ 5 กันยายน 2005 23:34 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มีนาคม 2015 08:27 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

ขอขอบคุณมาเลยพี่  เก๋งจังรู้หมดเลย บ้านพี่อยู่แถวไหนหรอ บ้านน้องอยู่ไม่ไกลจากวัดโตนดไม่เท่าไรหรอ ส่วนมากวัดโตนดแม่จะไปทุกทีที่มีงาน น้องจะขับรถไปส่งทุกที แหละ แต่ ถ้าไม่เข้ามาพบ ก็ไม่รู้น่ะว่า ประวัติวัดโตนดมีใครสร้างมามั่ง รู้แต่ พ่อท่านเชน  องค์เดียว เพราะเกิดมาที่บ้านก็ไปแต่วัดโตนด ไปไห้วพ่อทานเชน และบางครั้ง ก็ไปแก้บน ส่วนมาที่บ้านจะแก้บนด้วยขนมโก  ประมาณ 500 - 1000 ลูก หรือมากว่านั้น แล้วแต่จะบนบานไว้ส่วนมากจะประสบผลสำเร็จกันหมด ก็เลยมาแก้บน  ส่วนน้องก็เคยแก่บนมาแล้ว น้องบนไว้ว่าให้เรียนจบ ป.ตรี แล้วจะมาแก้บน ขนมโก 500 ลูก อะ   แต่อีกอย่างหนึ่งที่ภูมิใจมากเลยที่ ปู่ เจิม หนูฤทธิ์ และ บุตร-ธิดา เขย-สะใภ้ และหลานๆ ได้นำเงินที่จัดงานศพ ย่าแช่ม มาเป็นทุนการศึกษาให้ลูกหลานได้เรียน ก็ดีมากเลย เมื่อก่อนถ้าใครได้ทุนนี้ จะเรียนเก่งทุกคนเลย อำเภอ 1 จะได้สักคนแต่รู้สึกว่าพี่สาวน้องก็ได้รับแล้วกัน

+++ ต้องนี้ที่วัดกำลังทอดกฐิน วันที่ 3 พฤศจิกายน 2550  นำไปเงินไปสร้างโบสถ์หลังใหม่ อยู่น่ะครับ

 

 

ลืมถามพี่ว่า พี่มีหนังสือ พ่อท่านเชน มั่งหม้าย คือว่าน้องอยากเก็บไว้สักเล่ม อะ ขอบคุณมากเลย

ผมก็แขวนเหรียญหลวงพ่อเชนอยู่ครับเดี๋ยวนี้หายากแล้วครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท