HA Forum 11: ตอน 5: หยั่งรากหัวใจมนุษย์ ผลิใบหัวใจแพทย์


ทั้งนี้ "หัวใจแพทย์" มาจากการเห็นอกเห็นใจในความทุกข์ของผู้อื่น หาใช่ความอหังการ์ในความรู้ความสามารถของตน การเยียวยาที่เริ่มจากใจเมตตาและกรุณา จะแตกต่างจากหัตถการที่มาจากความอยากเก่ง อยากเป็นที่รักนับถือ ซึ่งเป็นอัตตาศูนย์กลาง หาใช่จิตอาสาเป็นศูนย์กลางไม่

หยั่งรากหัวใจมนุษย์ ผลิใบหัวใจแพทย์

งาน HA Forum ครั้งนี้ พี่ต้อยดวงสมรและอาจารย์อนุวัฒน์ถามผมว่าพอจะพานักศึกษาแพทย์ ม.อ.มาแลกเปลี่ยนเล่าเรื่องในงานนี้ได้ไหม ผมก็ตอบไปในทันทีว่าได้ และขอเรียนเชิญอาจารย์สองท่านของ ม.อ.ที่รับผิดชอบเรื่องนี้โดยตรงมานับสิบปีแล้วคุมเด็ก (น่าจะเรียกว่าพี่เลี้ยงมากกว่าเนอะ) มาเองเลย คือ ผศ.นพ.อานนท์ วิทยานนท์ หัวหน้าภาควิชาจิตเวช และ รศ.พญ.จารุรินทร์ ปิตานุพงศ์ รอง หน.ภาคและผู้ช่วยคณบดีกิจการนักศึกษา ทั้งสองคนเป็นผู้ริเริ่มโครงการเพื่อนวันอาทิตย์ของคณะแพทย์ ม.อ. และรณรงค์เรื่องการสัมภาษณ์แบบ narrative รวมทั้งการดูแลคนไข้ด้านความรู้สึก การรับรู้

ผมนำข่าวดีไปเรียนอาจารย์ทั้งสองท่านว่างานนี้ นักศึกษาแพทย์เราจะได้เป็นวิทยากร (น่าจะเป็นวิทยากรที่อายุน้อยที่สุดในงาน) แต่จะว่าไป จะเรียนวิทยากรก็ไม่ตรงทีเดียว น่าจะเป็น "ชีวาจกร" คือ "คนเล่าเรื่องชีวิตและประสบการณ์" เฉยๆมากกว่า อาจารย์จารุรินทร์ (ลิลลี่) ก็ได้คัดเลือกเด็กมาอย่างรวดเร็ว เพราะมีคนใน stock ที่ดูแลอยู่แล้วจำนวนมาก ไม่ยากที่จะคัด ยากตรงเอาแค่สองสามคนตามเวลาที่กำหนดให้มากกว่า

ไหนๆเชิญกูรูมาทั้งที ผมเลยแถมโจทย์ให้ทีมนี้ว่า "ขอให้เป็นเรื่องเล่าที่แสดงความสัมพันธ์ของการใช้การรับรู้เรื่องหัวใจ ความรู้สึกของคนไข้และญาติ มาบูรณาการกับการเป็นแพทย์ ทั้งในด้านการทำงานและการสร้างความภาคภูมิใจ ความสุขในการทำงาน" แค่นั้นยังไม่พอ ผมยังขอให้แสดงถึง​ "กระบวนการ และวิธีการ" พอสังเขปว่าเราทำอย่างไร เพราะอะไร และได้ผลเช่นไรด้วย

แล้วผมก็ตั้งชื่อ session ไปเลย (ตั้งแต่ยังไม่คุยกับเจ้าตัว) บอกแม่ต้อยว่างานนี้ขอใช้ชื่อ "หยั่งรากหัวใจมนุษย์ ผลิใบหัวใจแพทย์"

จะว่าโดนกลั่นแกล้งหรือว่าเชื่อมือก็ไม่รู้ session นี้จัดมาชนกับ highlight ประจำงาน HA Forum คือปาฐากถาเดี่ยวของพี่โกมาตร ปีนี้มาในเรื่อง "สูงสุดคืนสู่สามัญ (From Complexity to Simplicity)" ที่ห้อง Grand Hall ปีนี้ก็เลยเป็นปีแรกเช่นกันที่ผมไม่ได้ไปฟังพี่โกมาตร ซึ่งปกติจะกลับมาถอดความได้อย่างน้อยสองบทความทุกที เพราะต้องมาเชียร์ลูกศิษย์แทน (ถามได้ความทีหลังว่า การจัดโปรแกรมไม่ได้พิจารณาเรื่องชนไม่ชน เพราะลำพังแค่ fill ลงไปก็ซับซ้อนมากแล้ว เพราะมีวิทยากรหลายคนที่ต้องไปเป็น moderator ที่ session อื่นๆด้วย ก็เป็นเรื่องของความบังเอิญเท่านั้น.. ผลกระทบตามมาก็คือ session ของผมวันต่อมาเรื่อง Healing Environment ก็มาชนกับของอาจารย์วรภัทร์ ภู่เจริญอีก เลยพลาดถึงสอง highlight ของงาน อดเห็นลีลาการกราบคนฟังงามๆของอาจารย์ไปเลย)

ผมชอบวิธีการเลือกนักศึกษาของอาจารย์ลิลลี่ เธอเลือกมาเป็นนักศึกษาที่มีความมั่นใจในตนเองพอควร ไม่มากถึงขนาดกร้านเวที แต่ไม่ตื่นจนพูดไม่ออก เป็นนักศึกษา "ธรรมดา" ที่น่าจะ represent นักศึกษาแพทย์ ม.อ. ที่ไม่ธรรมดาตรงที่เราจงใจให้ประสบการณ์บางด้านผ่านเข้าไปในชีวิตของเธอ/เขา ส่วนใครจะได้อะไร แค่ไหน เป็นประสบการณ์ตรงของตัวนักศึกษาเอง ส่วนพี่อานนท์ทำหน้าที่เป็นผู้สัมภาษณ์ อาจารย์ลิลลี่เป็นคนวิพากษ์

น้องๆทั้งสามคนเป็นศิษย์เก่ากลุ่มเพื่อนวันอาทิตย์ที่เราจัดโปรแกรมการพบปะกับคนไข้เป็นพิเศษ (พิเศษตรงที่คนอื่นไม่ได้มาพบ แต่กลุ่มนี้เราให้โอกาสนักศึกษาไปพูดคุย รู้จัก และมีปฏิสัมพันธ์ด้วย) ร่วมกับการเน้นวิธีการสะท้อนกลุ่ม สะท้อนตนเอง การใส่ใจในรายละเอียดด้านความรู้สึกมาผสมผสานกับด้านความคิด ทั้งของคนไข้และของเรา ไม่มีการเตรียมรายละเอียดในเรื่องที่จะเล่า และการจะเล่าว่าเล่าอย่างไร คำถามก็กว้างมากๆ เพื่อที่นักศึกษาได้ใช้ประสบการณ์ความทรงจำตรง ไม่ได้ปรุงแต่งไว้ก่อน (นัก) อย่างเต็มที่ เนื่องเพราะเราอยากจะได้ "Authenticity" หรือ "ความแท้" ของเรื่องราวมากกว่าบทประพันธ์ภาษาศาสตร์

น้องนักศึกษาเล่าเรื่องราวออกมาอย่างเรียบง่าย ตอนแรกๆแต่ละคนก็เป็นเพียงแค่วัยรุ่น teenager ที่เข้ามาในสถาบันการศึกษา แต่ด้วยสาเหตุบางประการ ไม่มีใครบ่งชี้ชัดว่าเพราะอะไร ได้เข้าไปสนทนากับผู้ป่วยโรคมะเร็งระยะ advanced ที่แม้แต่พี่ๆเพื่อนๆ ก็ไม่เข้าใจว่าจะมีอะไรสนทนามากมายนัก และจะมีประโยชน์อะไรกับการเรียน การทำงาน ปรากฏว่าแต่ละคนกลับได้มุมมอง และเรื่องราวใหม่ น้องคนหนึ่งที่ดูแลคนไข้ที่ต้องการผ่าตัดหัวใจ ที่เป็นการผ่าตัดใหญ่แต่ตั้งท้องอยู่ เธอมีลูกอยู่ก่อนแล้วหนึ่งคน หมอก็พยายามคุยกับแกว่า ถ้ายังตั้งครรภ์อยู่ จะเป็นการผ่าตัดที่เสี่ยงมาก เธอาจจะพิจารณาทำแท้ง แต่ปรากฏว่าไม่ว่ายังไงๆเธอก็ไม่ยอมทำแท้ง จนน้อง นศพ.อดไม่ได้ เลยเข้าไปคุยจนกระทั่งทราบว่าสามีคนปัจจุบันเป็นคนละคนกับที่แยกทาง และเป็นคนดีมาก ลูกคนที่ตั้งครรภ์อยู่นี้เป็นลูกของสามีคนปัจจุบัน เธอจึงอยากเก็บลูกคนนี้ไว้่เพราะมันมีความหมายที่มีความสุข ประวัติส่วนนี้ไม่มีใครทราบเลย ไม่ทราบว่าคนปัจจุบันเป็นสามีใหม่ ตั้งแต่นั้นการ approch ก็เปลี่ยนไป เพราะเราเข้าใจพฤติกรรม ความคิด ความรู้สึก และความหมายของคนไข้ดีขึ้น

ประวัติแบบนี้ในการกรอกเวชระเบียนมันดูจะไม่เข้าที่ ไม่มีทางใส่ลงไป เพราะมันนอก format ของ "norm" ที่สภาวะจิตเรารับไว้ ผนวกกับความ "ไม่ใส่ใจ" ว่ามันจะเกี่ยวอะไรกับโรค กับการรักษา เราก็ซักไปเท่านั้น ปรากฏว่าพอน้องได้ไปซักเพิ่มเติม กลับกลายเป็นว่าเราเข้าใจทันทีว่าคนไข้ตัดสินใจและคิดอย่างนี้เพราะอะไร แผนการรักษาทั้งหมดปรับเปลี่ยนไป หมอเองก็ทราบได้ถึงคุณค่า และความตั้งใจ ที่มาของความร่วมมือของคนไข้ได้ดีขึ้น

"ความเข้าใจ" ตรงนี้คือความหมายของ "หยั่งรากหัวใจมนุษย์" เพราะตรงนี้นี่เองที่จะเป็นจุดกำเนิดของ "ความกรุณา"

ความกรุณาไม่ได้เป็นเพียงเราเหนือกว่าใคร เที่ยวไปช่วยเหลือ แจกจ่ายของที่เรามีเหลือเฟือให้ เรียกว่ากรุณา แต่ความกรุณาที่แท้ ที่จะเป็นทางสานต่อไปยังมุทิตาและอุเบกขา จะต้องมาจากการที่เรา empathy เข้า "คลุก" วงใน สัมผัสถึงความทุกข์ที่แท้ของคน จนกระทั่งเราเองซาบซึ้งและเข้าใจถึงความจำเป็นที่จะออกจากห้วงทุกข์นั้นๆ เมื่อนั้น เราถึงจะทั้งเข้าใจ มองเห็น และสัมผัสถึงความหมายของงานของเรา

และตอนนั้นที่เป็นช่วง "ผลิใบหัวใจแพทย์"

ทั้งนี้ "หัวใจแพทย์" มาจากการเห็นอกเห็นใจในความทุกข์ของผู้อื่น หาใช่ความอหังการ์ในความรู้ความสามารถของตน การเยียวยาที่เริ่มจากใจเมตตาและกรุณา จะแตกต่างจากหัตถการที่มาจากความอยากเก่ง อยากเป็นที่รักนับถือ ซึ่งเป็นอัตตาศูนย์กลาง หาใช่จิตอาสาเป็นศูนย์กลางไม่

น้องๆนักศึกษาทั้งสามคน ได้เล่าเรื่อง "ผู้คน" ที่เข้ามาสัมผัสหัวใจของตนเอง ไม่เพียงแค่ปลุกวิญญาณแห่งความรู้สึกขึ้นมา แต่เริ่มทำให้ "งานมีความหมาย" นอกเหนือไปจากแค่ความรู้ ความสามารถ ความเก่งกาจของตนเอง แต่เริ่มเห็นว่าตนกำลังหล่อหลอมเพาะเลี้ยงศักยภาพ "แห่งความเป็นมนุษย์"

อีกนัยหนึ่งก็คือ อาชีพแพทย์ เป็นหลักฐานเชิงประจักษ์ของการใช้ศักยภาพที่แท้ของมนุษย์ แสดงออกโดยการทุ่มเทกำลังกาย ใจ จิตวิญญาณ เพื่อความสุขและความทุกข์แห่งเพื่อนมนุษย์

เรื่องเล่าที่น้องนักศึกษาแสวงหา "วิถี"​ของตนเองที่จะเดินในหอผู้ป่วย เลือกหนทางของตนเองว่า จะกลับหอไปอ่านหนังสือที่จะเพิ่มเกรด เพิ่มคะแนนสอบ หรือจะไปพูดคุยกับคนไข้ที่กำลังจะสูญเสียชีวิต สนทนากับญาติที่มาเฝ้าคนที่เขารักและนับถือ เป็นการต่อเติมความเข้าใจในเรื่องความสัมพันธ์ของมนุษย์ ทั้งๆที่อาจจะไม่ได้เกี่ยวข้องกับคะแนน กับเกียรตินิยม แต่เพียงเกิดความพึงพอใจใน "ชีวิต" และ "สิ่งที่ตนกำลังกระทำ" เรื่องเล่าแบบนี้ ทำให้พวกเรารู้สึก conviction ว่าสิ่งที่เรากำลังทำ เรื่องที่เรากำลังจัดเวทีให้หมอรุ่นใหม่ อาจจะเป็นหนทางที่ถูกต้องก็เป็นได้

คงต้องรออีกระยะหนึ่ง เมื่อผลจากต้นไม้ที่หล่อหลอมด้วยชีวิตและจิตวิญญาณ รดน้ำด้วยความรักและเมตตา แล้วเราจะได้น้องหมอรุ่นใหม่แบบไหน อย่างไร

คนเป็นครู ก็สามารถตื่นเต้น รอคอย แบบนี้นี่เอง...

หมายเลขบันทึก: 348196เขียนเมื่อ 30 มีนาคม 2010 10:33 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 13:24 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท