Praepattra
ผู้ช่วยศาตราจารย์ Praepattra Kiaochaoum

หลักการนั่งภาวนาพองหนอ ยุบหนอ


พระครูปลัดวีระนนท์ วีรนนฺโท : เจ้าอาวาสวัดป่าเจริญราช พระวิปัสสนาจารย์ http://www.veeranon.com/

ในที่นี้จะขอกล่าวให้กับคนที่ไม่เคยปฏิบัติ ผู้ปฏิบัติจะทำได้ง่ายขึ้น

อาการพองให้ดูที่ท้อง ดูท้องตรงไหน

 

หากใครไม่รู้ว่าท้องอยู่ที่ไหน ให้ดูที่สะดือ เป็นวิธีการง่ายๆและชัดเจน คือ  ดูที่สะดือ

 

วิธีการ คือ  นั่งหลับตา นั่งตัวตรง 

 

ดูลมหายใจเข้าออกที่สะดือ ตรงที่ท้องมันพอง  

ให้กำหนดในใจว่า 

 

พอง...(กำหนดช้าๆ)

 

พอสุดพองให้กำหนดคำว่า  หนอ...(กำหนดช้าๆ)

 

พออาการท้องมันยุบ ให้กำหนดภาวนา  ยุบหนอ 

 

ผู้ปฏิบัติสังเกตแค่นั้นก็พอไม่ต้องลากลมเข้า ตามลมออก

 

แต่บางคนลากลมเข้าลากลมออกแล้วรู้สึกเหนื่อย เวียนศีรษะ

 

วิธีปฏิบัติง่ายๆ  คือ  นั่งทำตัวเป็นหุ่นกระบอก จิตไปดูที่ท้องพอง ดูที่ท้องยุบเท่านั้นเอง

 

โดยไม่ต้องไปเร่งลม หรือถ้ายังหาพองยุบไม่เจอ ให้ลองหายใจเข้าออกยาวๆก่อนที่จะเริ่มปฏิบัติ โดยสังเกตว่าจริงหรือไม่

 

เมื่อเวลาหายใจเข้าท้องพอง หายใจออกท้องแฟบ ให้ดูอาการนั้นตามปกติ เหมือนเราเป่าลมเข้าลูกโป่ง

ร่างกายของเราก็เช่นกัน พอลมเข้าไปมันก็ย่อมพอง มันพองส่วนไหน

ก็คือ  ส่วนที่สะดือหรือส่วนท้องนั่นเอง

พอลมออกท้องก็แฟบ พอท้องแฟบ ให้กำหนดว่ายุบหนอ ไม่ใช่กำหนดอย่างอื่น

 

เมื่อท้องมันพอง ให้กำหนดพองหนอ และกำหนดยุบหนอ เมื่อท้องมันยุบ 

 

นี่คือ  หลักการง่ายๆ แค่นี้เอง

ถ้าหากยังไม่รู้ตรงไหนมันพอง ตรงไหนมันยุบก็เอามือมาจับมาคลำดูที่ท้องว่า

 

มันพองตรงไหน มันยุบตรงไหน  

 

มันพองเป็นอย่างไร มันยุบเป็นอย่างไร  

 

ให้ลองเอามือมาจับดู ถ้าหากจับนอกผ้าไม่ถูก  ก็เอามือไปจับในผ้า จับเนื้อหนังว่าท้องพองหรือยุบตรงนี้ เพื่อให้เห็นชัดเจน เมื่อเห็นชัดเจนแล้ว เราจะทำอย่างไรต่อไป เราก็กำหนดพองหนอ ยุบหนอ ดูแค่รูปพองยุบ อาการพอง อาการยุบเท่านั้น นั่นคือ  การนั่งภาวนา

 

สติ...เป็นเชือกผูกจิต

 

การนั่งภาวนานั้นวิธีการปฏิบัติง่ายๆ คือเมื่อเราจะภาวนาอะไรก็ตาม เราต้องมีจุดยืน  คือ  หลักมีเชือกผูก เชือกผูกในที่นี้ คือ สติเป็นเชือกผูกดูจิต ส่งกระแสจิตไปที่ท้องพอง ท้องยุบ  โดยพยายามนั่งให้ตัวตรง ยืดหลังเล็กน้อย ยกไหล่ขึ้นนิดหน่อย แล้วลองหายใจเข้าลึกๆ  ยาวๆ ดูว่า

 

ท้องพองหรือไม่ ถ้าท้องพอง ให้รู้ว่าท้องมันพอง  

 

พอหายใจออกดูว่า  ท้องมันยุบหรือไม่ ก็ให้มันรู้ว่ายุบ  

 

คนที่ไม่เคยปฏิบัติก็ลองทดสอบดู คนที่เคยปฏิบัติแล้วก็ฟังไว้ เพื่อคนที่ไม่เคยปฏิบัติเกิดความเข้าใจ เพราะสภาวะของแต่ละคนต่างกันไป ขึ้นอยู่กับการขยันกำหนด  ขยันภาวนา ขยันเดิน หลายๆ บัลลังก์ จนเกิดความเคยชิน เกิดความชำนาญ เมื่อเกิดความเคยชิน เกิดความชำนาญแล้ว ก็จะเริ่มมีสมาธิง่ายขึ้น แต่ผู้ปฏิบัติคนใดจะมีสมาธิง่ายหรือมีสมาธิไว จะต้องจำไว้ว่าไม่ต้องสนใจอารมณ์อื่นใดทั้งสิ้น สนใจเพียงอาการท้องพอง ท้องยุบก่อน

 

ในเบื้องต้น โดยขั้นแรกดูที่ท้องพอง ท้องยุบ อย่างเดียว ดูให้เห็น อาการท้องพอง ท้องยุบเสียก่อน

 

ถ้าเปรียบเทียบกับการขับรถ

เมื่อจะขับรถ เราต้องฝึกขึ้นนั่งรถเสียก่อน โดยนั่งท่าที่ถูกต้องหรือท่าที่ถนัดเสียก่อน หลังจากนั้นก็ลองติดเครื่องยนต์ แต่ยังไม่เข้าเกียร์ เราลองทดสอบดูวิธีการติดเครื่องยนต์  เป็นอย่างไร เมื่อเป็นแล้วก็ให้ลองถอยหลัง เดินหน้าเสียก่อน นี้คือการเปรียบเทียบให้เห็นภาพชัดเจน การดูท้องพอง ท้องยุบ ก็เช่นกัน ผู้ปฏิบัติต้องดูให้เห็นชัดเจนเสียก่อน เมื่อดูท้องพอง ท้องยุบแล้ว สภาวะทางสมาธิก็จะเกิดขึ้นง่ายและไว ทั้งนี้อยู่กับเราไม่สนใจอารมณ์ภายนอกหรืออารมณ์อื่นๆ เล็กๆน้อยๆด้วย เป็นวิธีการที่ทำให้สมาธิเกิดขึ้นง่าย

 

แต่ถ้าสมาธิเกิดขึ้นง่าย มันจะเกิดอันตรายไหม ก็ตอบว่า  อันตราย คือ  อันตรายตรงที่ขาดสติ หากเผลอสติ จะทำให้เกิดอาการง่วงนอนและหลับง่าย ตรงนี้มันอยู่บนเส้นยาแดง อยู่บนเหว บางทีลมพัดมา แล้วรู้สึกเย็นสบาย เรียกว่า  หากเผลอสติเมื่อไรตกเหวทันที นั่นคือ  ง่วงหลับ ลืมสติ ขาดสติ ที่กล่าวมาเป็นวิธีการที่ได้สมาธิเกิดง่ายและไวที่สุด ซึ่งเป็นวิธีการโดยตรงสำหรับผู้ปฏิบัติ

 

ติดตามอ่านตอนต่อไปที่นี่ค่ะ

 

อิสระแห่งจิต

http://gotoknow.org/blog/mindfreedom

 

ขอให้เจริญในธรรมทุกท่าน

 

บุญรักษา  ธรรมคุ้มครองค่ะ

หมายเลขบันทึก: 346851เขียนเมื่อ 24 มีนาคม 2010 17:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 22:08 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

อิ่มอุ่นอิ่ม เอมไอรักนักปฏิบัติ

สันติ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท