ตัววัดคุณภาพของสาระทางการวิจัย (KPI of Thai Research)


บันทึกนี้ขออนุญาตต่อยอดความคิดจากท่าน Prof. Vicharn Panich 
 จากบันทึกเรื่อง การเมืองเรื่องงบประมาณวิจัยของประเทศ

เมื่อได้อ่านบันทึกดังกล่าวข้างต้นคำแรกในใจของผมก็ฉุกคิดและเกิดคำถามขึ้นมาแล้ว แล้วใครจะกล้าไปบอกว่างานวิจัยของคุณหรือของใคร “ไร้คุณภาพ”

แต่ถ้าจะพูดเรื่องนี้กันไปก็จะถกเถียงกันไม่รู้จบ ถ้าหากเราใช้คนเป็นผู้ตัดสิน เพราะว่าคนนั้นก็มีประสบการณ์ มีความคิด คนนี้ก็คิดอย่างหนึ่ง อีกคนหนึ่งก็คิดอีกอย่างหนึ่ง อ่านแล้วถูกใจก็ว่าดี อ่านแล้วไม่ถูกใจก็ว่าไม่ดี ที่ดีก็ว่ามีคุณภาพ ที่ไม่ดีก็ว่าไร้คุณภาพก็จะทำให้ถกเถียงกันไปอย่างไม่รู้จบว่าคนที่อ่านนั้นเล่ามีคุณภาพสักแค่ไหน

ตอนนี้ผมขออนุญาตพูดถึงสิ่งที่จะพอทำได้เป็นเบื้องต้นง่าย ๆ ก่อน (เป็นความคิดเห็นส่วนนะครับ ซึ่งอาจจะผิด) ผมขออนุญาตแบ่งงานวิจัยออกเป็น 3 กลุ่มหลัก ๆ คือ
กลุ่มที่ 1 เป็นงานวิจัยที่ทำเสร็จแล้ว ปิดโครงการแล้ว คนทำวิจัยก็ไปไหนต่อไหนแล้ว อันนี้กลุ่มหนึ่ง
กลุ่มที่ 2 เป็นงานวิจัยระหว่างทำ ซึ่งไม่ว่าจะอยู่ในขั้นใด จุดสำคัญของโครงการวิจัยนี้ก็คือ เรายังสามารถมี “อำนาจ” เข้าไปควบคุมคุณภาพเขาได้ ตราบใดที่เขายังไม่ส่งงานหรือเรายังไม่โอนงบก้อนสุดท้ายให้เขาไป
กลุ่มที่ 3 เป็นงานวิจัยที่กำลังรอพิจารณา หรือเป็นหัวข้อวิจัยที่อยู่ในหัวของผู้ที่ต้องการที่จะทำวิจัย ซึ่งงานวิจัยกลุ่มที่ 3 นี้น่าจะเป็นความหวังที่เราจะ “หาสาระ” ได้มากที่สุด

รายละเอียดของงานวิจัยกลุ่มที่ 1 คือ งานวิจัยที่ทำเสร็จไปเรียบร้อยแล้ว ถ้าจะสามารถใช้มาตรฐานใดมาคัดแยกโดยให้คนทั่วไปที่เข้าไปเจอ เข้าไปอ่านนั้นทราบว่างานวิจัยนั้นมีสาระหรือ “ไร้สาระ”

ประเด็นที่ 1 ได้ตีพิมพ์ในวารสารหรือไม่...?
แต่เดิมเราอาจจะใช้มาตรฐานจากการได้ตีพิมพ์ลงในวารสารวิชาการที่ได้มาตรฐานในระดับต่าง ๆ
ถ้าหากวิจัยเล่มใดสามารถถอดออกมาแล้วเขียนเป็นบทความตีพิมพ์ลงในวารสารที่ได้รับการยอมรับในระดับสากลได้ก็ถือว่าวิจัยเล่มนั้น “มีสาระ”
ซึ่งระดับชั้นของสาระก็แบ่งได้ไม่ยากนัก คือ แบ่งตามเกรดของวารสารที่วิจัยเล่มนั้นได้คัดเลือกเอาไปลง นับตั้งแต่วารสารระดับโลก ระดับภูมิภาค ระดับประเทศ แต่ปัญหามาตรฐานก็จะเริ่มยากตรงที่วารสารภายในประเทศว่า การคัดเลือกบทความหรืองานวิจัยเพื่อจัดทำวารสารของหน่วยงานต่าง ๆ นั้นได้มาตรฐานหรือมีมาตรฐานเดียวกันหรือไม่

เพราะบางครั้งในบางมหาวิทยาลัย ก็เน้นการสร้าง KPI โดยที่เกลี่ย หรือเฉลี่ยให้บุคลากรทุก ๆ คนได้มีโอกาสอัพเกรดงานวิจัยของตนเองบ้าง หรือบางครั้งถึงเวลางานที่จะต้องจัดพิมพ์วารสารก็จะต้องไปงอนง้อขอต้นฉบับจากอาจารย์บ้าง เพราะในสถาบันการศึกษาแห่งนั้นแทบจะไม่มีใครส่งต้นฉบับมาให้เลย

ดังนั้นเมื่ออุปทาน (Supply) มีไม่เพียงพอต่ออุปสงค์ (Demand) แล้ว ผู้จัดทำวารสารจึงไม่สามารถใช้ความสามารถในการวิพากษ์ วิจารณ์หรือแม้แต่จะส่งต้นฉบับกลับไปให้ผู้เขียนแก้เหมือนกับวารสารวิชาการในระดับโลกที่บางครั้งนักวิจัยจะต้องแก้ต้นฉบับกันเป็นสิบ ๆ รอบ แต่ผลงานที่จะตีพิมพ์ลงในวารสารบ้านเรา บางครั้งก็ได้ต้นฉบับเอาวินาทีสุดท้ายก่อนที่จะเข้าโรงพิมพ์

ยิ่งตอนนี้หลาย ๆ มหาวิทยาลัยตื่นตัวในการจัดทำวารสารมาก ดังนั้น ถ้าหากมีใครสามารถจัดเกรด จัดระดับมาตรฐานของวารสารในเมืองไทยได้ ก็จะสามารถเป็นเครื่องการันตีได้อีกทางหนึ่งว่าผลงานวิจัยที่ได้ไปลงนั้นมีสาระหรือไร้สาระ

ประเด็นที่ 2 แล้วผลงานวิจัยที่ไม่ได้ตีพิมพ์ในวารสารเป็นงานวิจัยที่ไร้สาระอย่างนั้นหรือ...?

ประเด็นนี้ก็เป็นเรื่องแปลก ที่นักวิชาการส่วนใหญ่เป็นบุคคลที่ “สมถะ” คือเรียบง่ายสบาย ๆ คนที่เรียบ ๆ ง่าย ๆ ก็จะไม่ค่อยไปสนใจกับอะไรต่ออะไรที่เป็นทางการของวิชาการมากนั้น อย่างเช่นการส่งบทความตีพิมพ์ในวารสาร ซึ่งแตกต่างจากวัฒนธรรมทางวิชาการของต่างประเทศ เพราะต่างประเทศนั้นการได้ตีพิมพ์ผลงานลงในวารสารถือว่าเป็นเครื่องกาตันตีคุณภาพของตนเอง ซึ่งจะตามมาด้วยงบประมาณของโครงการวิจัยในระดับที่ดีขึ้นหรือสูงขึ้น

แต่เมืองไทยนั้น การได้ตีพิมพ์หรือไม่ได้ตีพิมพ์นั้นไม่ได้สร้างแตกต่างให้กับชีวิตนักวิชาการมากนัก ได้ตีพิมพ์ก็ดี ไม่ได้ตีพิมพ์ก็ไม่เป็นไร นักวิชาการไทยก็มีอยู่มีกิน เพราะแค่งานสอนกับงานเป็น Adviser ก็แทบจะแย่กันแล้ว ซึ่งจะกระตือรือร้นกันทีก็ตอนที่จะต้องขอตำแหน่ง ขอผลงาน หรือรักษาตำแหน่งทางวิชาการในระดับต่าง ๆ

ประเด็นที่ 3 แหล่งทุนที่จัดสรรทุนวิจัยให้นั้นสามารถเป็นเครื่องการันตี “สาระ” ของงานวิจัยเล่มนั้นได้หรือไม่...?


เมื่อก่อนตอนที่ผมทำงานอยู่ หน่วยงานที่หินที่สุดในขณะนั้นที่ของบประมาณการวิจัยยากที่สุดก็คือ “สกว. (สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย)” ที่ว่าขอยากที่สุดนั้น ก็เพราะว่าต้องแก้แล้ว แก้อีก บางครั้งมหาวิทยาลัยจะต้องจัดห้องประชุมให้ผู้ที่จะขอทุน สกว. มาร่วมเขียนโครงร่างฯ เพื่อของบกันเป็นวัน ๆ เลย แต่มิใช่จะมาร่วมกันถกเถียงเพื่อสร้างคุณภาพของงานวิจัยแต่ละคน แต่มาเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้เรื่อง “แบบฟอร์ม” ของโครงร่างฯ ที่จะต้องเขียนให้ถูกต้อง


เพราะที่ปรึกษาของเราในตอนนั้นเน้นให้พวกเราสร้างคุณภาพของแบบฟอร์มมาเป็นลำดับหนึ่ง (ขออนุญาตพูดตามตรงจากประสบการณ์ ซึ่งอาจจะเจอมาไม่ดีนัก) เพราะถ้าแบบฟอร์มผิดโดยเฉพาะการลงหมวดหมู่ของงบประมาณที่จะต้องจัดค่าใช้จ่ายให้ถูกต้องตามหลักตามเกณฑ์ที่ สกว. กำหนด มิฉะนั้นจะถูกคัดทิ้งเป็นลำดับแรก โดยผู้อ่านจะไม่สนใจเลยถึงแม้นว่าโครงการฯนั้นจะดีสักแค่ไหน (ขอเน้นอีกครั้งว่าเป็นประสบการณ์ส่วนตัวที่) ตอนนั้นผมเลยต้องไปนั่งงงและทุ่มเทพลังอยู่กับรูปแบบและเรียนรู้เรื่องการจัดงบอยู่ทั้งวัน ทั้งคืน

หรืองบของ สกอ. (สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา) ที่มีโครงการหนึ่งที่ผมได้รับมา ซึ่งตอนนั้นถูก “ปัด” จากอาจารย์ผู้ใหญ่มามากมายหลายท่าน เพราะว่าแค่รู้ว่าต้องทำงาน PAR (Participatory action research) ทุกคนก็ปฏิเสธจะรับเงินวิจัยก้อนนี้กันหมด จนกระทั่งสุดท้ายโครงการนี้ก็ตกมาอยู่ในมือของผม ซึ่งขณะนั้นเองเพิ่งจะมาทำงานได้แค่ปีกว่า ๆ แล้วอายุก็แค่ 25-26 ตอนนั้นจึงเป็นหัวหน้าโครงการย่อยในชุดโครงการใหญ่ที่อายุน้อยที่สุด หรือในอีกหลายๆ  โครงการที่ผมได้เห็น (กับตา) ก็เป็นเหมือนกับการแจกจ่ายแบบเกลี่ย ๆ กัน ขอร้องให้ช่วยกันหน่อย ช่วยกันใส่ชื่อหน่อย ช่วยกันรับหน่วย ผู้รับก็ไม่เต็มใจที่จะรับ ถูกผู้บริหารของร้องแกมบังคับบ้าง เมื่อรับมาก็ทำไปอย่างนั้น ๆ ที่เล่ามาทั้งหมดนี้ก็เพื่อที่จะยกตัวอย่างประกอบการพิจารณาว่า ถ้าหากเราใช้เกณฑ์ของแหล่งทุนนั้น จะสามารถใช้เกณฑ์นี้เป็นมาตรฐานในการพิจารณาว่าวิจัยเล่มนั้นมีสาระหรือไร้สาระ

ซึ่งในที่นี้ยังไม่ได้กล่าวถึงงบประมาณที่ได้จากแหล่งทุนภายใน ซึ่งมีการจัดสรรภายในองค์กรเพื่อกระตุ้นและสร้างโอกาสให้ทุก ๆ คนได้ทำงานวิจัยกัน ซึ่งอาจจะเป็นงบประมาณน้อย ๆ ไม่มากเท่าใดนัก ซึ่งประเด็นนี้ก็จะขอพูดรายละเอียดในประเด็นที่ 3

ประเด็นที่ 3 งบประมาณการวิจัยที่ได้รับ บ่งบอกถึงความมีสาระของงานวิจัยเล่มนั้นได้หรือไม่


สืบเนื่องจากประเด็นก่อน (ประเด็นที่ 2) ที่ผมได้พูดถึงการที่นักวิจัยได้รับงบประมาณสนับสนุนจากภายในองค์กร หรือในมหาวิทยาลัยเพื่อกระตุ้นและสร้างโอกาสให้ได้ทำการวิจัยนั้น บางครั้งอาจจะเป็นงานวิจัยที่ได้รับงบประมาณในหลักพันหรือหลักหมื่น ซึ่งตัวเลขของงบประมาณนี้เราจะใช้ชี้ได้หรือว่า งานวิจัยงบน้อย ๆ “ไม่มีสาระ”

เพราะบางครั้งอาจารย์ใหม่ ๆ ไฟแรง มีเวลามากเพราะยังไม่มีครอบครัวบ้าง หรือบางครั้งความเหนียวแน่นในความเป็น “เพื่อน” ของอาจารย์ใหม่ ๆ นั้นยังมีความรักกันอย่างเข้มแข็ง
เหมือนกับตอนที่ผมเข้าไปทำงานใหม่ ๆ เพื่อน ๆ ของผมที่เข้าไปทำงานพร้อม ๆ กันเราสนิทสนมกันมาก เรากินข้าวด้วยกัน ไปเที่ยวด้วยกัน ทำงานด้วยกัน มีงานวิจัยก็ร่วมหัวจมท้ายด้วยกัน เราทำงานด้วยกันทั้งวัน ทั้งคืน เพราะตอนนั้นต่างคนก็ต่างมีเวลามากเพราะยังไม่มีครอบครัว แต่ช่วงหลังนี้อยู่นานเข้า อายุมากเข้า เพื่อน ๆ ผมก็ต่างห่างเหินกันออกไป ไปมีครอบครัวบ้าง หรือต้องรับผิดชอบงานในตำแหน่งบริหารบ้าง ดังนั้นเวลาที่จะทุ่มเทร่วมกันเป็น “ทีม” ทำงานนั้นก็เริ่มน้อยลง

ด้วยเหตุนี้ในบางครั้ง เราอาจจะมีความเชื่อว่างานวิจัยในระดับล้านเป็นงานวิจัยที่มีคุณภาพ หลักแสนรองลงมา หลักหมื่นหรือหลักพันไม่ได้เรื่อง และโดยเฉพาะงานวิจัยที่ไม่ได้รับการพิจารณางบประมาณก็ยิ่งไม่ได้เรื่องหรือ “ไร้สาระ” กันไปใหญ่

ในความเป็นจริงนั้นถ้าใช้มาตรฐานนี้วัดความเป็นสาระหรือไร้สาระของงานวิจัย จากประสบการณ์ (Tacit Knowledge) ของผมก็สามารถบอกได้เลยว่า งานวิจัยของมหาวิทยาลัยราชภัฏกว่าร้อยละ 90 นั้นเป็นงานวิจัยที่ได้งบประมาณจากหน่วยงานภายนอกไม่ถึงหนึ่งล้านบาทแทบทั้งสิ้น
เพราะนักวิจัยชาวราชภัฏจะรู้ได้ว่า การทำโครงการเสนองบประมาณจากหน่วยงานภายนอกนั้นหลักแสนนี้ก็แทบแย่หรือเลือดตาแทบกระเด็นแล้ว ก็อาจจะเพราะด้วยความไม่เชื่อมั่นของแหล่งทุนว่า พวกเราจะมีคุณภาพทำงานในโครงการใหญ่ ๆ ได้ ซึ่งจะแตกต่างกับมหาวิทยาลัยใหญ่ ๆ ของรัฐ ที่บางครั้งเราจะเห็นว่า (ผมก็เคยเห็น) ในชื่อเรื่องเดียวกัน ขอบเขตการวิจัยใกล้เคียงกัน หรือบางครั้งกลุ่มตัวอย่างน้อยกว่า แต่มหาวิทยาลัยของรัฐซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยปิดได้งบประมาณในระดับล้าน แต่งานวิจัยของอาจารย์ราชภัฏได้รับงบประมาณในหลักหมื่นหรือแค่ระดับแสน ซึ่งสิ่งนี้จะเชื่อมโยงไปถึงประเด็นที่ 4 ที่ว่าด้วยเรื่องของชื่อเสียงของมหาวิทยาลัย

ประเด็นที่ 4 ชื่อและเสียงของมหาวิทยาลัยสามารถบ่งบอกงานวิจัยว่ามีสาระได้หรือไม่...?

การแบ่งเกรด หรือแบ่งชั้นของมหาวิทยาลัย ถ้าแบ่งกันตามที่ผมเคยได้ยิน (ซึ่งอาจจะผิด) มหาวิทยาลัยราชภัฏนั้นจะถูกจัดว่าเป็นมหาวิทยาลัยชั้นสาม ซึ่งดูแย่กว่ามหาวิทยาลัยเอกชนใหญ่ ๆ ในกรุงเทพฯซึ่งจัดเป็นมหาวิทยาลัยชั้นสอง โดยที่มหาวิทยาลัยปิดต่าง ๆ ของรัฐถือได้ว่าเป็นมหาวิทยาลัยชั้นหนึ่งหรือมหาวิทยาลัยเกรดเอ

ดังนั้นถ้าหากจัดความมีสาระหรือตามชื่อและเสียงของมหาวิทยาลัยนั้น มหาวิทยาลัยระดับเอก็มีสาระหมด มหาวิทยาลัยชั้นสามก็ไร้สาระทั้งหมด การจัดแบบนี้จะยุติธรรมหรือไม่ คนที่อยู่ในมหาวิทยาลัยของรัฐมีคุณภาพทั้งหมดหรือ และคนที่อยู่ในมหาวิทยาลัยชั้นสามไม่มีคุณภาพและจะทำงานวิจัยแบบไร้สาระทั้งหมดหรือ...?

ประเด็นที่ 5 ตำแหน่งทางวิชาการของหัวหน้าโครงการหรือนักวิจัย


บางครั้งหรือหลาย ๆ ครั้งเราหยิบนักสือหรือตำราขึ้นมาสักเล่มหนึ่ง เพียงแค่เราดูชื่อผู้แต่งถ้าเรารู้จัก นับถือ หรือ “ศรัทธา” เราก็ตัดสินว่าหนังสือหรือตำราเล่มนี้ดี “มีสาระ” แต่หากเราไม่รู้จักผู้แต่งคนนั้นหรือนักวิจัยคนนั้น เราก็ต้องดูเพิ่มเติมไปอีกว่า เขาเรียนจบอะไรมา มี ดร. นำหน้าไหม มีตำแหน่ง ผศ. รศ. หรือ ศ. นำหน้าไหม ถ้ามีก็ถือว่ามีสาระ ถ้าไม่มีก็ถือว่า ไม่มีสาระ

หรืออาจจะยกตัวอย่างให้ใกล้ตัวขึ้นมาอีกนิด ใน G2K แห่งนี้ ก่อนที่เราจะเปิดเข้าไปอ่านบันทึกของใคร หลาย ๆ ครั้ง หลาย ๆ คนก็ตัดสินใจความมีสาระของบันทึกนั้นด้วย ชื่อและคำนำหน้าชื่อของผู้เขียนหรือเจ้าของบล็อค ซึ่งหลาย ๆ ครั้งนั้นเอง ถ้าผู้เขียนเป็นคน No name ไม่มียศ ไม่มีตำแหน่ง ไม่มีคำนำหน้า เราก็ตัดสินบันทึกของเขาว่า “ไม่มีสาระ”

ประเด็นที่ 6 รูปแบบของการวิจัย


ในปัจจุบันนักวิชาการหลาย ๆ คนเรา แอนตี้หรือมีอคติ (Bias) กับงานวิจัยเชิงปริมาณโดยเฉพาะการวิจัยเชิงสำรวจที่ทำอยู่กันอย่างมากมายว่าเป็นการวิจัยที่ไม่ได้มาตรฐาน ไม่ควรทำ ดังนั้นนักศึกษาในระดับบัณฑิตศึกษาคือตั้งแต่ปริญญาโทขึ้นไป โดยเฉพาะปริญญาเอก จะถูกบังคับกราย ๆ ว่าถ้าหากอยู่ในสายสังคมศาสตร์จะต้องทำงานเชิงคุณภาพเท่านั้น และถ้าอยู่ในสายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีก็จะต้องทำการวิจัยเชิงทดลองเท่านั้น ไม่ควรทำการวิจัยเชิงสำรวจ แต่การวิจัยของสายวิทยาศาสตร์ก็จะถูกแยกย่อยไปอีกว่า Pure Science ดีและ Apply สายไม่ดี หรือถ้าเป็นในสายสังคมศาสตร์ก็จะต้องเน้นกระบวนการการมีส่วนร่วมซึ่งไม่ว่าจะเป็น PRA (Participatory rural appraisals) โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเป็น PAR (Participatory Action Research) ขี้หมู ขี้หมาก็ถือว่าดี...

ประเด็นที่ 7 การวิจัยทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเท่านั้นที่ประเทศไทยต้องการ


แนวทางของการพัฒนาประเทศที่เน้นไปทางด้านการสร้างความเป็น “อารยะ” นั้น ผู้บริหารประเทศก็จะมองว่า ความจำเป็นหรือความต้องการเร่งด่วนของการพัฒนาประเทศในขณะนี้นั้นควรจะเป็นความรู้หรืองานวิจัยทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

มุมมองต่อการพัฒนาประเทศแบบนี้จะทำให้ หน่วยงานที่สนับสนุนการวิจัยมุ่งเน้นเพื่อให้งบประมาณการวิจัยในสายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นหลัก ซึ่งเมื่อรัฐบาลหรือประเทศมีความต้องการมาก ผู้จัดงบประมาณหรือผู้เสนอของบประมาณก็จะสามารถที่จะเล่นตัวเลขในแต่ละโครงการได้เป็นอย่างมาก ซึ่งการทำงานใดที่ตอบสนองนโบบาย งานนั้นย่อมมีความผิดพลาดหรือเข้าตัวน้อย ดังนั้นหลาย ๆ คนจึงมองว่า ประเทศเรานั้นจำเป็นต้องได้รับการพัฒนาทางด้านเทคโนโลยีและขาดแคลนงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ ดังนั้นการวิจัยทั้งสองสาขาดังกล่าวจึงเป็นงานวิจัยที่มีสาระ “เท่านั้น...”

ดังนั้น การที่จะได้เกณฑ์มาตรฐานใดมาจัดแบ่งความมีสาระหรือไม่มีสาระนั้น คงจะต้องว่ากันโดยละเอียด หรือจะให้เกิดความยุติธรรมตามประเด็นที่กล่าวมาคร่าว ๆ ข้างต้นนั้นคงจะเป็นเรื่องยากที่จะทำให้ได้มาตรฐานอย่างแท้จริง หรือถ้าหากเราจะใช้วิธีการดิบ ๆ ก็คือ ตั้งคณะกรรมการเข้าไปอ่าน เข้าไปศึกษางานวิจัยทั้งหมดที่คนไทยได้ทำเสร็จไปแล้วทุกเล่ม ทุกหน้านั้นแล้วตัดสินว่าเล่มไหน “ดี” มีสาระ หรือว่าเล่มไหน “ไม่ดี” ไม่มีสาระนั้น ก็อาจจะต้องใช้เวลานับสิบปีหรือเป็นร้อยปีเลยทีเดียว

ซึ่งในที่นี้ผมขออนุญาตเพิ่มเติมข้อมูลจากประสบการณ์เผื่อที่ว่า ใครสักคนหนึ่งอาจจะเห็นช่องนำเสนอโครงการเพื่อตั้งคณะกรรมการ “อ่าน” และศึกษาผลงานวิจัยของคนไทยทั้งประเทศเพื่อหาความเป็นสาระและความไม่เป็นสาระว่า

ในการเขียนรายงานการวิจัยที่เขียน ๆ ส่งกันนั้น เราถูกบีบด้วยกรอบมาตรฐานหรือแบบฟอร์มทางการวิจัยมาก บางครั้งนักวิจัยอยากจะนำเสนอเทคนิควิธีการใหม่ ๆ ที่เหมาะสมกับบริบทของเมืองไทยก็ไม่สามารถทำได้ เนื่องด้วยเพราะว่าเราไม่มีตาเป็นสีน้ำข้าว หรือบางครั้งก็ยังเด็กเกินไป ไม่มีคำนำหน้าชื่อ คำหน้านามอะไร แต่จะว่าไปเท่าที่เห็นมาในงานวิจัยการอ้างอิงทฤษฎีที่เป็น Research Methodology ยังไม่มีเห็นใครอ้างอิงของคนไทยจริง ๆ เป็นงานเป็นการเลยสักคน เพราะแม้นนักวิชาการที่เคยเป็นหนุ่ม ตอนนี้อายุถึงจะมากแล้วหรือมีคำนำหน้าชื่อแล้ว ก็ยังไม่สามารถสร้าง Research methodology ให้นักวิชาการไทยรุ่นใหม่นำไปอ้างอิงได้ ซึ่งเรื่องการปิดกั้นกันเองของคนไทยนี้เป็นการปิดกั้นความคิดสร้างสรรค์ทางวิชาการเป็นอย่างมาก คนทำก็ได้แต่ทำ ๆ ตามกันไป ทำตามที่ผู้ตรวจ ผู้ให้ทุนชอบหรือพอใจว่าใช้ทฤษฎีของใครแล้วได้มาตรฐานก็พึงที่จะใช้ทฤษฎีหรืออ้างอิงคนนั้น อย่าไปแตกเหล่า แตกกอ ดังนั้นตั้งแต่หนุ่มจนแก่ก็ต้องตามน้ำกันไปเรื่อย

หรืออาจจะยกตัวอย่างในรายละเอียดของบทที่ 4 นักวิจัยสามารถเขียนได้แต่ก็เฉพาะเนื้อ ซึ่งเป็นผลการวิจัยที่ไม่สามารถสอดแทรกอะไรลงไปได้ ซึ่งบางครั้งเนื้อหาย่อย ๆ ที่เป็นเป็นเสมือนน้ำจิ้มที่ทำให้วิจัยมีรสมีชาดนั้น ก็ถูก Research Format บีงบังคับว่า “ห้ามเขียน” ห้ามใส่ เดี๋ยวจะถูกมองว่า “ไม่เป็นวิชาการ”
แต่ทางออกก็จะมีบ้างในบทที่ 5 ซึ่งอยู่ในส่วนการอภิปรายผลและข้อเสนอแนะต่าง ๆ ก็เขียนได้จริงอยู่ แต่ก็ถูกบีบด้วยคำว่า “รูปแบบ” อีกเช่นเดิม จะเขียนมาก อภิปรายมากก็ไม่ได้ จะใช้คำที่ไม่เป็นวิชาการก็ไม่ได้ บางครั้งก็ต้องเขียนแล้วให้ผู้อ่านต้องแปลไทยเป็นไทยอีกรอบ

งานวิจัยที่คนเราทำกันในช่วงที่ผ่านมานั้นถูกบีบด้วยกรอบมาก บางคนโดยเฉพาะนักวิจัยใหม่ ๆ ถูกบีบจนหน้าเขียว เพราะต้องถูกบีบทั้งจากทฤษฎีที่แทบจะกระดิกกระเดี้ยวตัวไม่ได้ ต้องทำไปตามนั้น ทำตามจึงจะถือว่าถูก ออกทางเมื่อไหร่ก็ผิดเมื่อนั้น (ทั้ง ๆ ที่ถนนเมืองไทยกับเมืองนอกก็ขับกันคนละเลน) พร้อมกับถูกแรงบีบจากอาจารย์ที่ปรึกษาที่ลุ่มหลงทฤษฎีสากลต่าง ๆ เหล่านั้นด้วย

ดังนั้น ถ้าหากผู้บริหารวงการการศึกษาไทยมีใจเปิดกว้าง ให้อิสระแก่นักวิจัยรุ่นใหม่หรือนักวิจัยรุ่นเก่าที่ยังมีหัวใจที่ยังสดใส สามารถกล้าสู้ กล้าคิด กล้าเสนอทฤษฎีหรือหลักการการวิจัยใหม่ ๆ ผมก็เชื่อมั่นว่าคุณภาพของงานวิจัยไทยก็ไม่ “ไร้สาระ” เหมือนเช่นเคย...

หมายเลขบันทึก: 344813เขียนเมื่อ 16 มีนาคม 2010 17:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 22:36 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

เป็นมุมมองที่น่าคิดมากครับ

การกำหนดกรอบความเป็นสาระของการวิจัยให้ชัดเจนนั้น จะทำให้นักวิจัยหรือผู้ที่ต้องการใช้ผลงานวิจัยนั้นสามารถตัดสินใจรู้ได้ด้วยตนเองว่าวิจัยเล่มใดนั้นมีสาระหรือ "ไร้สาระ"

การกำหนดกรอบนี้จะทำให้เรา (ผู้มีอำนาจ) ต้องเสี่ยงหรือเปลืองตัวลงไปชี้ว่าวิจัยเล่มใดหรือของใครเป็นอย่างไร

การบอกว่าวิจัยเล่มใด ของใครดีหรือไม่ดีนั้น ย่อมขึ้นอยู่กับองค์ประกอบหรือปัจจัยเป็นจำนวนมากทั้งเวลา กรอบแนวคิด โดยเฉพาะความพอใจ หรือความต้องการของผู้ใช้ซึ่งเราไม่สามารถกำหนดความชอบหรือความต้องการของผู้ใช้ได้ทุกคน

ในบางครั้งเราบอกว่าวิจัยเล่มนี้ไม่ได้เรื่อง แต่เป็นสิ่งที่บางคนจำเป็นจะต้องใช้ เขาก็ต้องใช้ประโยชน์จากความไม่ได้เรื่องนั้น

แต่ถ้าหากเราบอกถึงหลักการได้ว่า เราควรใช้หลักเกณฑ์หรือสิ่งใดตัดสินตามองค์ประกอบ ตามบริบทที่แตกต่างกันได้นั้นจะทำให้ผู้ใช้ผลงานวิจัยสามารถตัดสินใจได้ถูกต้องอย่างแท้จริง...

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท