HA Forum 11: ตอน 4: ภาวนาแทนที่พัฒนา


ภาวนาแทนที่พัฒนา

เรื่องราวของคุณภาพเป็นเรื่องสำคัญ และดึงดูดผู้คน (บางทีก็มีผลักไสบ้าง ตาม dualism) ยุคนี้เป็นยุคของพัฒนา มี how to มาให้เล่นเยอะแยะ ใครที่มาเป็นผู้บริหารแล้วค้นพบว่าสนุก (ซึ่งไม่ใช่ทุกคน) ก็จะพบว่ามีของเล่นจำนวนมากให้เลือก ให้ได้ลอง ดังนั้นใน session ที่ สรพ.เชิญคณบดีคณะแพทยศาสตร์หลายคณะมาแลกเปลี่ยนในประเด็น theme หลักของงาน คือการพัฒนาที่ยืดหยุ่นและยั่งยืน เราก็จะได้ยินได้ฟังทั้งภาคทฤษฏี ปฏิบัติ เรื่องเล่าตัวอย่างที่น่าสนใจ ใน scale ใหญ่ เพราะอย่างศิริราชก็ระดับกว่าหมื่นคน รองๆลงมาก็มีทั้งเหยียบหมื่น กว่าห้าพัน หรือหลายพันคน

คำว่า "ยืดหยุ่น ยั่งยืน" เป็น anti-thesis กับบรรดาตัวเลขทั้งหลายแหล่โดยธรรมชาติ เนื่องมาจาก "1" มันก็ต้องเป็นหนึ่งนั่นแหละ จะเป็นหนึ่งกว่าๆหรือหย่อนหน่อยๆนั้นไม่ได้ คณบดีแต่ละท่านก็หยิบยกตัวอย่างและเครื่องมือที่ท่านเลือกมาใช้มาเล่าให้ฟัง

ตัวอย่างของโรงพยาบาลศิริราชนั้นจะเน้นที่ Knowledge Management โดยกระบวนการที่เรียกว่า R-2-R-2-R หรือ routine-to-research-to-routine มีทีมงานที่อุทิศตนเพื่อผลัก หล่อเลี้ยง หล่อหลอม และผลิตผลงานด้านนี้โดยเฉพาะมาตั้งแต่ระดับนโยบาย คือ รองคณบดี ลงมาถึงทีมงานรากหญ้า และใช้ข้อมูล ข้อเท็จจริงที่มี backup คือทฤษฎีที่หนักแน่น ไม่ว่าจะเป็นการผลิต CPG (clinical practice guidelines) ก็จะมีที่มา ที่จะสอดคล้องกับทิศทางของวิสัยทัศน์และพัฒนกิจ ผู้ทำงานก็ทราบได้ชัดเจนว่าทำไม CPG นี้ถึงเกิดขึ้น เพราะมันทำให้งานที่ตนเอง หรือหน่วยงานของตนเองทำอยู่นั้น ดีขึ้น คือคนไข้ปลอดภัยมากขึ้น คนไข้ได้รับบริการเร็วขึ้น รอน้อยลง มีความสุขมีความพึงพอใจมากขึ้น เวลาที่ผู้ทำงานจะทำอะไร ก็เพราะว่าทราบและเข้าใจจริงๆ ไม่ใช่แค่ท่องศัพท์ได้ อ่าน slide ออก แต่มีความซาบซึ้ง รู้ลึก ภาคภูมิใจในสิ่งที่กำลังทำอยู่จริง

เราได้ฟังตัวอย่างการบูรณาการเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ในการบริหาร จากทั้งเชียงใหม่และสงขลานครินทร์ ระบบ IT เริ่มมีบทบาทชัดเจนยิ่งขึ้น ข้อสำคัญคือการมี awareness ถึงสิ่งที่ IT มาทดแทน เพื่อที่เราจะได้มีสติ ระมัดระวังต่อสิ่งดีๆที่อาจจะหายหกตกหล่นไปจากระบบ digital เหล่านี้ ได้แก่ human relationship, human touch

พระอาจารย์ครรชิต พูดถึงการมีสติ รับรู้เรื่องราวอย่างลึกซึ้ง ที่มีคนพูดถึงคำว่่า "โยนิโสมนสิการ" หรือการครุ่นคิดใคร่ครวญอย่างลึกซึ้ง จนกระทั่งเห็นเหตุที่มา และผลที่ไป มองเห็นความเกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงของเหตุปัจจัยและทุกข์ เพื่อบังเกิดหนทางการแก้ไข บำบัดทุกข์ ห่างทุกข์ หรืออยู่กับทุกข์อย่่างทุกข์น้อยลงหรือไม่ทุกข์ ด้วยว่า "ทุกข์ นั้นก็คือ สภาวะพร่อง (Suffering is a sense/stage of LACK)" นั่นเอง

ในการที่เราต้องครองสติให้ดี ก็เป็นเพราะว่ายิ่งเรายิ่งอยู่ห่าง (physical distance) จากสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นเท่าไหร่ ปัญญาที่เกิดยิ่งเป็น secondary, tertiary wisdom มากขึ้น คือห่างไกลจากจุดกำเนิด และตัวกลางที่มาแทรก มาแทนที่ (หรือเชื่อมโยง) ก็จะเป็น set ของภาษา ของ surrogate parameters หรือเป็นอะไรที่มานับแทน มาเป็นตัวแทนของสิ่งที่เราอยากได้แทน จนบางครั้งถ้าเราไม่ระมัดระวัง เราอาจจะสูญเสียความหมายดั้งเดิมที่ต้องการไปโดยไม่รู้ตัว

วิธีการที่เราจะป้องกันไม่ให้เรา "หลุด" จากแหล่งพลังต้นกำเนิดที่แท้จริง คือ "การภาวนา"

การภาวนาในที่นี้ไม่ได้จำเป็นต้องคือการหลับตานั่งภาวนา แต่เป็นการรวบรวมสติเพื่อที่จะมองเห็น ได้ยิน รับรู้ อย่างลึกซึ้ง กว้้างขวาง ละเอียดอ่อน ไม่ได้ติดอยู่เพียงแค่ตัวเลขพื้่นผิว ตาราง chart หรือ graph ที่แสดงผล แต่เห็นซึ้งถึงชีวิตเบื้องหลังตัวเลขต่างๆเหล่านี้ หน่วงช้าลงและห้อยแขวน นานเพียงพอที่จะได้สังเกตและรับรู้ถึงความรู้สึก ความคิด จินตนาการของผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ว่าเรื่องราวนี้มีความหมายเช่นไร ต่อใครบ้าง

การพัฒนาทีขาดการภาวนาก็จะไม่ยั่งยืน เพราะขาดความต่อเนื่อง และไม่ทำให้เราเข้าใจในความเกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงระหว่างสิ่งที่เกิดขึ้นกับสิ่งที่ทำให้เกิด หรือเข้าใจผิดคิดเป็นเพียงสมการเชิงเดี่ยว มองไม่เห็น "ความสัมพันธ์" ที่เกิดขึ้นอย่างละเอียดอ่อนพอ การพัฒนาแบบนี้จะเป็นการพัฒนาที่ฉาบฉวย ผิวเผิน ไม่มีอะไรลงลึกไปถึงตัวตนคนปฏิบัติหรือคนทำงานอย่างแท้จริง

ตรงกันข้ามกับการพัฒนาที่มาจากการภาวนา ที่ผลแห่งการพัฒนากลมกลืนเข้าไปในเนื้อตัวของผู้คน ที่ผู้คนเหล่านี้ก็จะเพิ่มประสบการณ์ รับรู้เรื่องราวต่างๆเพ่ิมมากขึ้นในอนาคต จิตวิวัฒน์ที่เกิดขึ้นจะรับรู้หยดน้ำแห่งปรากฏการณ์และบูรณาการเป็นจิตใหม่ เป็นจิตใหญ่ต่อไป

นี่คือการพัฒนา/ภาวนา ที่ยืดหยุ่นและยั่งยืน

หมายเลขบันทึก: 344504เขียนเมื่อ 15 มีนาคม 2010 13:51 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 เมษายน 2012 02:55 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ขอบคุณบันทึกดีๆที่ทำให้เห็นความมีสติ ระลึกได้ นั่นก็คือการภาวนา

การพัฒนาทีขาดการภาวนาก็จะไม่ยั่งยืน เพราะขาดความต่อเนื่อง จึงเป็นการพัฒนาที่ล้มทั้งยืนค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท