มองอย่างไร?งานวิจัยเพื่อท้องถิ่น มุมมองคนทำงานตัวจริงเสียงจริง


กระบวนทัศน์งานวิจัยเพื่อท้องถิ่น จากมุมมองนักวิจัยในพื้นที่

 

วันนี้ผมมีโอกาสเข้าเป็นหนึ่งของผู้สัมมนา และนำเสนอ “กระบวนทัศน์งานวิจัยเพื่อท้องถิ่น” โดยผ่านประสบการณ์ตนเองเมื่อครั้งทำงานอยู่ที่แม่ฮ่องสอน แต่ก็ผ่านไปแล้วกว่าสามปี เข้าใจว่าการเคลื่อนตัวของงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น เปลี่ยนไป แม้ว่าช่วงเวลาสามปีที่ผมขาดหายไป แต่ก็ได้ติดตามข่าวคราวจากเครือข่ายเป็นระยะๆ

“ศึกษาศาสตร์เสวนา ณ มหิดล” ครั้งนี้เป็นครั้งที่ ๑  เป็นเวทีที่เปิดโอกาสให้นักวิชาการ นักวิจัย ครูอาจารย์ ตลอดจนผู้ที่สนใจ เข้าร่วมเสวนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันในเชิงประเด็น  โดยวันนี้ (๕ มีค.๕๓) เราจะคุยกันในประเด็น “กระบวนทัศน์งานวิจัย”

เพื่อให้ได้บรรยากาศของความสด และน่าสนใจ ผมจึงขอสัมภาษณ์ผ่านทางโทรศัพท์ไปยัง คุณวิสุทธิ์ เหล็กสมบูรณ์ ซึ่งเป็นกัลยาณมิตรของผมท่านหนึ่ง เพื่อฟังข้อเสนอในฐานะที่คุณวิสุทธิ์ เหล็กสมบูรณ์ทำงานในพื้นที่ เป็นตัวจริงเสียงจริง คลุกคลีกับงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นที่แม่ฮ่องสอน ซึ่งก็ไม่ผิดหวังเลยครับ คุณวิสุทธิ์ให้ความคิดเห็นที่แหลมคม เปิดมุมมองเรื่องของกระบวนทัศน์ในแว่นของคนทำงาน ผมได้เรียนรู้ร่วมด้วย และผู้ที่เข้าร่วมเสวนาก็จะได้ฟังคลิปเสียงนี้พร้อมๆกัน

เนื้อหาคร่าวๆที่ผมนั่งถอดจากคลิปเสียง จับใจความได้ดังนี้ครับ

 


 

หากเรามองงานวิจัยทางเลือก ที่เรียกว่างานวิจัยเพื่อท้องถิ่นนั้น มุมมองในมุมนักวิจัยเพื่อท้องถิ่นมองว่า งานวิจัยที่เข้าไปมีส่วนร่วมกับชุมชนอหังการใน “การรู้”  หรือ “ความรู้”  ของตัวเองโดยพยายามจัดวางความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างตนเองกับชุมชนให้มีลักษณะเสมอภาคกันมากขึ้นในนามของ “การมีส่วนร่วม”  ในขณะเดียวก็กระตุ้นให้ชาวบ้านตระหนักถึงสิทธิ หน้าที่ของตนเอง ในการพัฒนาชุมชน เพิ่มศักยภาพในการเชื่อมร้อยภาคี

มองชุมชนผ่านแนวคิดในเชิงสารัตถะนิยม มักมองชุมชนถึงอัตลักษณ์ รากเหง้าว่ามีที่มาอย่างหยุดนิ่ง เป็นสิ่งที่จะต้องรักษาอนุรักษ์จารีตดั้งเดิมไว้ ถือว่าเป็นแนวคิดที่เป็นปัญหา

การมองแนวคิดแบบคู่ตรงข้าม ประโยคที่ว่า “ชาวบ้านย่อมรู้ปัญหาตัวเองดีที่สุด” หรือ  “คำตอบอยู่ที่หมู่บ้าน” เป็นกรอบคิดแบบนักพัฒนายุคก่อนใช้ และงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นยังติดอยู่ในกรอบคิดแบบนี้ค่อนข้างมาก สะท้อนให้เห็นว่า ชาวบ้านสามารถมองปัญหาได้อย่างรอบด้านเป็นสิ่งที่มีอยู่จริง ในความเป็นจริงนั้นเป็นไปได้ยากมากเพราะว่าสังคมปัจจุบันถักทอกันอย่างซับซ้อน เชื่อมโยงกันแบบโลกาภิวัฒน์ ปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้น มีความโยงใยตั้งแต่ระดับจุลภาคไปถึงมหภาค ยากที่จะวิเคราะห์ กันเองในกลุ่มของชาวบ้านได้ จำเป็นต้องอาศัยคนนอกเข้ามาร่วมคิด ดังนั้นชาวบ้านจึงไม่ได้เป็นผู้ที่รู้ปัญหาตัวเองดีที่สุด คนนอกเองก็ไม่ได้เป็นผู้ที่จะรู้ปัญหาของชาวบ้านได้หมดเช่นกัน ดังนั้นรูปแบบการร่วมกันระหว่าง คนนอก กับ ชาวบ้าน จึงเป็นการร่วมมือกันที่เรียกว่า    “พหุวิจัย”

ชุมชนภายใต้กรอบงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น  ยูนิตของชุมชนมักจะเป็นชุมชนทางกายภาพ ในความเป็นจริงนั้นปัจจุบันความเป็นกายภาพ หรือเส้นแบ่งทางพรมแดนนั้นมันพร่าเลือนลงไปจนแทบจะไม่เหลือแล้ว อาจจะกล่าวได้ว่าชุมชนทางวัฒนธรรมต่างหากที่เป็นชุมชนมีอยู่จริง

ฐานทรัพยากรเดิมของชุมชนที่เรานิยามกันว่า “ดิน น้ำ ป่า” ปัจจุบันชุมชนมองทรัพยากรในแง่ของ “แรงงาน” รวมถึงเรื่องของ “เนื้อตัวร่างกาย” ตลอดจน “ความรู้” ที่จัดให้ทรัพยากรเป็นแหล่งเรียนรู้ หรือแม้กระทั่งจัดเป็นที่ท่องเที่ยวมากขึ้น(ถือว่าเป็นการจัดการทรัพยากรอย่างหนึ่ง)

ประชากรในชุมชนมีความเป็นพลวัตสูง มีการย้ายถิ่นเข้าออก มีการหดตัว แตกขยาย  แตกหน่อออกไปสร้างกลุ่มใหม่ๆ รวมถึงการเกิดกลุ่มวัฒนธรรมย่อย (Sub culture)ใหม่ๆในชุมชน มีหุ้นส่วนในการพัฒนาที่หลากหลายเพิ่มมากขึ้น ไม่จำกัดเฉพาะหน่วยงาน สถาบัน ต่างๆของภาครัฐเท่านั้นและปัจจุบันระบบการสื่อสารมวลชน ก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทรงพลัง

ปัญหาในการนิยามความเป็นชุมชนให้ Fit in หรือ เข้ากับกรอบของงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น จึงมีลักษณะของการ “ตัดเท้าให้เข้ากับเกือก”

ชาวบ้าน งานวิจัยเพื่อท้องถิ่นมักเข้าถึงชาวบ้านผ่านโครงสร้างอำนาจผู้นำ ซึ่งอาจเป็นนัยยะของการผลิตซ้ำความสัมพันธ์เชิงอำนาจ หรืออำนาจเชิงอุปถัมภ์เดิมในชุมชน หากมองในด้านบวก ปรากฏการณ์นี้ทำให้งานต่อยอด ขยายตัว แต่หากเรามองในด้านลบ ก็เป็นการปิดกั้นกลุ่มวัฒนธรรมย่อย กลุ่มชายขอบที่เป็นคนละพวก คนละกลุ่มอยู่ตรงข้ามผู้นำชุมชน ไม่ให้มีส่วนร่วมในการพัฒนาเป็น ผลข้างเคียง (Side effect)ที่ไม่ค่อยมีใครได้มอง

มุมมองหรือการสร้างความหมายการนิยาม  “งานวิจัยเพื่อท้องถิ่น”  จากชาวบ้าน ซึ่งน่าสนใจว่า ชาวบ้านที่หลากหลายกลุ่มและแต่ละกลุ่มก็นิยามความหมาย ของงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น รวมถึงงานวิจัยอื่นๆที่เข้ามาในชุมชน ไปในทิศทางที่แตกต่างกัน คงไม่ได้เป็นแบบวัตถุประสงค์หนึ่ง สอง สาม อย่างที่หน่วยงานวิจัยได้ตั้งไว้แน่ๆ แต่การนิยามน่าจะปรับเปลี่ยนไปตามบริบททางสังคมและวัฒนธรรม ตามช่วงเวลาต่างๆที่งานวิจัยเข้ามาสัมพันธ์กับคนกลุ่มต่างๆเหล่านี้

ชาวบ้านมองงานวิจัยในฐานะเป็นเครื่องมือที่เป็นเครื่องมือจริงๆ ในที่นี้หมายความว่าเป็นเครื่องมือที่ใช้ในการปรับตัว ต่อรอง กับการเปลี่ยนแปลง หรืออำนาจที่ถาโถมเข้ามา จากหลายด้าน ชาวบ้านที่มีหลากหลายกลุ่ม มีหลายอัตลักษณ์ ที่มีความซับซ้อนเลื่อนไหล  อาจจะเลือกจัดวางตัวเองอยู่กับงานวิจัย หรืออาจจะจัดวางตัวแบบเข้าร่วมบ้างไม่เข้าร่วมบ้าง หรือไม่ก็เพิกเฉย แต่ทั้งหมดต่างก็สะท้อนบทเรียนอะไรบางอย่าง ที่นักวิจัยในสังเวียนอย่างเราๆท่านๆ น่าจะสนใจไม่น้อยไปกว่า ผลสัมฤทธิ์แบบ Logical framework แบบงานวิจัยทั่วๆไป

โดยสรุปกระบวนทัศน์งานวิจัยผ่านนักวิจัยเพื่อท้องถิ่นงานวิจัยเป็นงานวิจัยที่มีคุณูปการมากมายแต่กำลังประสบกับปัญหาด้านกระบวนทัศน์ที่อาจจะไม่สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงที่ซับซ้อนมากขึ้นของกลุ่มวัฒนธรรมต่างๆ ความเป็นชุมชนที่มีความหลากหลาย เหลื่อมซ้อนทับกัน รวมถึงสามารถที่จะหดตัวแตกขยายออกไป เป็นพลวัตและอาจจะรวมไปถึงการไปผลิตซ้ำโครงสร้างทางอำนาจบางอย่างที่อาจจะไร้ความเป็นธรรมอีกต่อไปในปัจจุบัน  

มองว่ากระบวนทัศน์ที่มองผ่านคนทำงานทั้งหมด เป็นบทเรียนที่ งานวิจัยทางสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ หรือศึกษาศาสตร์ก็ดี คงต้องทบทวน เพื่อที่จะได้เรียนรู้มาพัฒนางานวิจัยของสังคมไทยร่วมกันต่อไป

---------------------------------------------------

ข้อเสนอแนะและมุมมองของนักวิชาการ รวมไปถึงนักวิจัยที่ทำงานในพื้นที่ เสมือนคำแนะนำปลายเปิดที่ชี้ให้เห็นถึงกระบวนทัศน์งานวิจัยเพื่อท้องถิ่นกับความจริงที่นักพัฒนาต้องเข้าใจ และรื้อวิธีคิดบางอย่าง เพื่อให้งานวิจัยเพื่อท้องถิ่นมีจุดวางที่สมดุลระหว่างความจริงกับอุดมการณ์ เป็นส่วนหนึ่งที่ต้องนำไปขบคิดเพื่อหาแนวทางการยกระดับงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นสู่ระดับโครงสร้างสังคมต่อไป

 


 

สัมภาษณ์ผ่านโทรศัพท์คุณวิสุทธิ์ เหล็กสมบูรณ์  พี่เลี้ยงนักวิจัย อ.ปางมะผ้า จ.แม่ฮ่องสอน ประกอบเวทีวิชาการ “ศึกษาศาสตร์เสวนา”  ครั้งที่ 1 วันที่ 5 มีนาคม 2553 ณ ห้องประชุมคณะสังคมศาสตร์ และมนุษยศาสตร์  มหาวิทยาลัยมหิดล : เรียบเรียงโดย จตุพร วิศิษฏ์โชติอังกูร 

 

หมายเลขบันทึก: 341935เขียนเมื่อ 5 มีนาคม 2010 08:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 22:32 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (14)

สวัสดีครับ

เห็นด้วยครับ ชาวบ้านรู้ปัญหาตัวเองดีที่สุด

บางครั้งอาจแค่ต้องการกระบวนการขับเคลื่อน

แต่ไม่ต้องการให้ผู้รู้ทั้งหลายบอกให้ทำนู่น ทำนี่

ขอบพระคุณบันทึกแห่งการเรียนรู้ครับ

เห็นด้วยเช่นกันค่ะ

กระบวนการเรียนรู้ มาจากประสบการณ์โดยตรง

ย่อมรู้ปัญหา...

ชอบตรงที่บอก ดิน น้ำ ทรัพยากรธรรม ก็เป็นแหล่งเรียน

ธรรมชาติ รวมถึงตวมนุษย์ ตัวชาวบ้านก็เป็นทรัพยากรสำคัญมากใกรเรียนรู้ค่ะ

ขอบคุณมากค่ะ

ผมเห็นด้วยมากเลยครับ และโดนใจอย่างแรงบทความนี้ ในฐานะคนทำวิจัยด้วยกัน มีพี่ท่านหนึ่งบอกผมว่า "บ้านเรารั่วเรารู้ว่าจุดไหนรั่วเราก็ไปอุดจุดนั้นเพราะเรารู้ แต่ว่าเราไปใช้คนอื่นมาอุดเขาจะรู้จุดรั่วได้อย่างไร"

ผมว่าน่าจะมีงานวิจัยของท้องถิ่นและงานวิจัยร่วมท้องถิ่นคู่กับงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นจะดีไหมครับอ.เอก

มาขอเรียนรู้ด้วยคะ สิ่งดี ๆ ที่ท้องถิ่นได้มีการดูแลที่ดี

สวัสดีครับผมน้องPhornphon

จริงๆวิธีคิดที่ว่า ชาวบ้านรู้ปัญหาดีที่สุดนั้น ก็อาจไม่จริงครับ เเละ คนนอกที่เป็นพี่เลี้ยงเข้าไปก็ไม่มีทางที่จะรู้ดีไปกว่าชาวบ้าน (บางประเด็น) ดังนั้น จึงมีภาพการร่วมมือกันเเบบ "พหุวิจัย" ดังที่คุณวิสุทธิ์ได้สัมภาษณ์บอกไว้ในบทความข้างต้น

คุณ berger0123
งานวิจัยท้องถิ่น เป็นงานวิจัย ที่ชาวบ้านเป็นนักวิจัยเอง เเละปฏิบัติ ถอดบทเรียนเอง ดังนั้นเองกระบวนการเหล่านี้ จึงเป็นกระบวนการเรียนรู้ ที่เกิดขึ้นตลอดเวลา :)

สวัสดีครับ น้องเอก เห็นด้วยครับ วิจัยเพื่อท้องถิ่น ต้องถิ่นต้องได้ประโยชน์ จากการวิจัย ได้เรียนรู้ร่วมกัน กับนักวิจัยครับ

น้อง นายหมูแดงอวกาศ
 เห็นด้วยว่า เจ้าของบ้านรู้ดีที่สุด เเละ รู้ว่าหลังคาบ้านรั่วจุดไหน ก็อุดได้ถูก...แต่หากต้องการวัสดุอุดที่ดี เเละชาวบ้านเองก็มีข้อจำกัดเเล้วละก็ นักวิชาการข้างนอก จะได้มีบทบาทตรงนี้ครับ ...โดยสรุปก็คือ การมีส่วนร่วมของภาคี จึงเป็นหัวใจของงานวิจัยทางเลือกครับ

ขอบคุณนะครับผม

สวัสดีครับพี่ สุเทพ ไชยขันธุ์
บางทีศัพท์ เราก็เรียกซ้ำๆกัน ภายใต้งานวิจัยทางเลือก (หากเรามองว่างานวิจัยหลักคือ งานวิจัยที่นักวิชาการทำกันนะครับ)

หากเราตัดคำว่า "งานวิจัย" ออกไปน่าจะดี เอาเป็นว่า เป็น "การวิจัย" ก็คงดูเข้าใจกว่า

การค้นหาคำตอบเพื่อแก้ไขปัญหาของชาวบ้าน ซึ่งเป็นเจ้าของปัญหาเอง โดยการเปิดพื้นที่การเรียนรู้ร่วมกัน บนฐานทุนเดิมของท้องถิ่น...คิดด้วยกัน ทำด้วยกัน ถอดบทเรียนร่วมกัน..

:)

ขอบคุณครับ...

ช่วงนี้ พอช. เคลื่อนยังไงบ้าง...ดูเงียบๆไปนะครับผม

ขอบคุณ คุณพี่ ประกาย~natachoei ที่~natadee   เเละ pa_daeng  ครับ

สวัสดีครับ บัง วอญ่า-ผู้เฒ่า-natachoei--
สิ่งที่ยั่งยืน ต่อเนื่องไปนั้น ผมมองว่า อยู่ที่กระบวนการเรียนรู้ ตรงนี้เองเป็นการติดอาวุธทางปัญญาให้กับคนทำงานครับ

 

ขอบคุณครับผม

เห็นตัวเองในบล็อกคนอื่นรู้สึกเขินนะครับ

  • ผมก็แค่คนธรรมดาๆที่มีโอกาสมากกว่าคนอื่นในหลายๆด้าน
  • สิ่งที่ผมคิดก็ยังต้องการข้อพิสูจน์เพิ่มเติมอีกมากมาย
  • แค่เป็นกระจกเงาบานเล็กๆที่ริจะสะท้อนแสงดวงอาทิตย์สะกิดให้เกิดการสาดกระจายแสงสู่การตั้งคำถามอย่างต่อเนื่อง
  • ขอบคุณเอกที่มาช่วยเติมชีวิตวันนี้ของผมให้มีคุณค่ามากขึ้น และมีแรงใจที่จะเขียนบล็อกต่อไปครับ
  • ขอบคุณทุกคำติชมครับ

 

อยากให้น้องเอก ย่อย/อธิบาย พี่อ่านยังไม่เข้าใจแจ่มแจ้ง คือ

อยากเรียนรู้ว่า การวิจัยหรือ งานวิจัยทางเลือกเพื่อท้องถิ่น ถ้าเป็นรูปธรรม เข้าใจง่าย ๆ เช่นอะไร..

ถามแบบอยากรู้ จะว่าไม่มีทุนเลย ก็ยอมรับค่ะ

ประยุกต์หรือเสริมให้เกิดผล ท้องถิ่นแข็งแรง ท้องถิ่นอิสระ ท้องถิ่นมีความรู้ ความสุข สาธารณสุขมูลฐาน... หรือ มีผลกระทบต่อการเมืองการปกครองได้หรือเปล่า

ขอบคุณล่วงหน้า

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท