การจัดกิจกรรมการเรียนการสอนเพื่อส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ ชาญชัย เก็บมาเล่าจาก webboard สพฐ


การเรียนการสอนเพื่อส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์

จาก webbord สพฐ นายหนหวย โดย สุจินต์ 2472102934 จากการสังเคราะห์คำอธิบาย แนวคิดและทฤษฎีต่างๆ ความหมายของความคิดสร้างสรรค์มีจุดเน้นลักษณะเฉพาะตรงกัน 3 ลักษณะคือ
1. ความคิดสร้างสรรค์เป็นความคิดที่ใหม่ แปลกแตกต่างจากเดิม หรืออาจเกิดจากคิดปรับปรุงเปลี่ยนแปลง
2. เป็นความคิดมุ่งแก้ปัญหา ที่เกิดจากความต้องการของบุคคลหรือความจำเป็นจากสิ่งแวดล้อม
3. เป็นความคิดที่มีคุณค่า เป็นประโยชน์มิใช่คิดฟุ้งซ่านให้แปลกแตกต่าง แต่ไร้สาระ
กล่าวโดยรวม ความหมายของความคิดสร้างสรรค์ คือ ความคิดที่มุ่งแก้ปัญหาหรือประดิษฐ์คิดค้นในแนวทางที่แปลกใหม่แตกต่างจากเดิมและมีคุณค่าเป็นประโยชน์
หลักพื้นฐานในการพิจารณาความคิดสร้างสรรค์
1. คนทุกคนมีความสามารถที่จะคิดสร้างสรรค์ได้
2. ความคิดสร้างสรรค์เป็นความสามารถที่จะแสวงหาวิธีการใช้ประโยชน์จากสิ่งที่มีอยู่แล้วให้ดียิ่งขึ้น
3. ความคิดสร้างสรรค์จะต้องใช้ทั้งการคิดวิเคราะห์ การคิดเชื่อมโยงจัดระบบ การคิดจินตนาการและการคิดนำสู่การปฏิบัติ
4. ความคิดสร้างสรรค์ต้องรู้จักใช้ประโยชน์จากข้อมูล
5. การคิดจินตนาการและการอุปมาอุปไมย เป็นเชื้อไฟสำหรับความคิดสร้างสรรค์
6. ความคิดสร้างสรรค์เป็นความคิดในมุมบวก มุ่งมองหาสิ่งดีงามและความเป็นไปได้ในสภาพปัญหาที่ยากและท้าทาย
7. ความคิดสร้างสรรค์ต้องใช้ทั้งจิตสำนึกและจิตใต้สำนึกคู่กันไป
8. ความคิดสร้างสรรค์มุ่งสร้างงานที่มีคุณค่าและเป็นประโยชน์ต่อทุกฝ่าย
การจัดการเรียนการสอนเพื่อพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ ครูจะต้องส่งเสริมนักเรียนและให้ความสำคัญในเรื่องนี้ว่า ความคิดสร้างสรรค์เป็นพรสวรรค์ที่พัฒนาได้ เพราะนักเรียนจะมีความสามารถที่มีอยู่ตามธรรมชาติ ครูมีส่วนช่วยในการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ของนักเรียน และมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมหรือเป็นอุปสรรคต่อความคิดสร้างสรรค์ ครูจำเป็นต้องมีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบ วิธีการสอน ตลอดจนบรรยากาศในการเรียนการสอนเป็นอย่างมาก ดังเช่น
1. ครูควรตระหนักว่า การพัฒนาความคิดสร้างสรรค์สามารถบูรณาการเป็นส่วนหนึ่งของโปรแกรมการเรียนการสอนโดยปกติของโรงเรียน
2. ครูต้องเข้าใจและยอมรับว่า การเรียนการสอนเพื่อความคิดสร้างสรรค์ ครูต้องมีความสามารถใช้กลวิธีการสอนที่หลากหลาย โดยเฉพาะการสอนที่ใช้ความคิดอเนกนัย ความคิดเชื่อมโยง การคิดอุปมาอุปไมยใช้จินตนาการ การคิดระดมสมองและมีการสร้างเสริมบรรยากาศการเรียนการสอนที่เหมาะสม
3. ผู้บริหารเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมให้ครูมีความคิดสร้างสรรค์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระบบโรงเรียน ผู้บริหารต้องเปิดโอกาสให้ครูได้วางแผนการพัฒนาตนเอง ได้มีโอกาสรับความรู้และประสบการณ์วิชาชีพเพิ่มเติม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์จากการระดมสมอง กระบวนการกลุ่ม
รูปแบบการสอนเพื่อพัฒนาความคิดสร้างสรรค์
1. สอนให้เด็กใช้การสังเกต การเปรีบยเทียบอุปมาอุปไมย
2. สอนให้คิดจินตนาการ โดยมีกลวิธีการสอนที่กระตุ้นให้เด็กแสดงความคิดอย่างอิสระไม่ต้องคำนึงถึงความเป็นจริงหรือความถูกต้องมากนัก ทำให้เด็กสนุกสนานกับการคิดหาคำตอบที่แปลกแตกต่างไปจากธรรมดา
3. สอนโดยใช้วิธีระดมสมอง มีการยอมรับความคิดเห็นของทุกคน แล้วจึงช่วยกันประมวลความคิดที่พิจารณาแล้วว่าเหมาะสมที่สุด วิธีนี้ทำให้เด็กกล้าแสดงความคิดใหม่ๆออกมาและยังอาศัยความคิดของเพื่อนต่อเติมเสริมแต่งความคิดของตนต่อไปได้อีก
4. การใช้คำถามและปัญหาต่างๆกระตุ้นยั่วยุให้คิดและหาคำตอบได้หลายทิศทาง คือ ได้พัฒนาความคิดอเนกนัย
5. การสอนใช้บรรยากาศอบอุ่นเป็นกันเอง เด็กรู้สึกเป็นอิสระในการแสดงความคิด มีการยอมรับ ให้กำลังใจ ไม่วิพากษ์ วิจารณ์หรือจับผิด ทำให้เด็กสบายใจ ผ่อนคลายไม่วิตกกังวลว่าจะถูกประเมินหรือถูกลงโทษ

หมายเลขบันทึก: 34153เขียนเมื่อ 14 มิถุนายน 2006 16:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 มิถุนายน 2012 23:28 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท