ถอดบทเรียน "โครงการพัฒนาทีมสุขภาพภาคประชาชน"


ศูนย์สุขภาพชุมชนบ้านลำกะเองก็ได้ทราบอยู่แต่ยังไม่เข้าใจกระบวนการเชื่อมโยงให้เกิดขึ้นได้ แต่ก็ได้ตระหนักถึงความสำคัญ และความจำเป็นของการพัฒนาทีมสุขภาพภาคประชาชนให้เข้มแข็งและมีศักยภาพในการดูแลสุขภาพของประชาชนในพื้นที่และตรงกับปัญหาของตนเองในแต่ละพื้นที่ รวมทั้งหากสามารถร่วมกับเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในการวิเคราะห์ปัญหาสาธารณสุขในพื้นที่ได้ เพื่อนำมาใช้ในการจัดทำแผนปฏิบัติการเพื่อแก้ปัญหาสาธารณสุขในพื้นที่ก็จะทำให้ประชาชนมีภาวะสุขภาพที่ดีด้วยการพึ่งตนเองได้จริง และเชื่อว่าจะเกิดความยั่งยืนได้ด้วย

โครงการพัฒนาทีมสุขภาพภาคประชาชน
ศูนย์สุขภาพชุมชนบ้านลำกะ  ตำบลชุมพล กิ่งอำเภอศรีนครินทร์  จังหวัดพัทลุง

ถอดบทเรียน (ระยะที่ 1) จากคุณนันทา  ด้วงวงศ์  นักวิชาการสาธารณสุข 5 ผู้รับผิดชอบโครงการ
โดยอนุชา  หนูนุ่น  นักวิชาการสาธารณสุข 5 พี่เลี้ยงโครงการ พีซียูในฝัน จังหวัดพัทลุง
2 กันยายน 2548 เวลา 17.00 – 19.00 น.

สาเหตุที่เริ่มพัฒนาโครงการ มีความเป็นมาอย่างไร
     ศูนย์สุขภาพชุมชน เป็นหน่วยบริการปฐมภูมิทางการแพทย์และสาธารณสุข มีหน้าที่และความรับผิดชอบในการจัดบริการตอบสนองต่อความจำเป็นทางด้านสุขภาพของประชาชนขั้นพื้นฐาน มีความเชื่อมโยงต่อเนื่องของกิจกรรมด้านสุขภาพในลักษณะองค์รวมผสมผสาน ประชาชนเข้าถึงบริการได้อย่างสะดวก และมีระบบการให้คำปรึกษาและส่งต่อ ซึ่งภาระกิจหลักในการปฏิบัติการบริการ มี 4 กิจกรรม คือ การส่งเสริมสุขภาพ การควบคุมป้องกันโรค การวินิจฉัยและการรักษาพยาบาล และการฟื้นฟูสมรรถภาพ
     ในปี 2547 จากการประเมินมาตรฐานศูนย์สุขภาพชุมชนประจำปี โดยคณะกรรมการระดับจังหวัดตามเกณฑ์มาตรฐาน PCU พบว่าเกณฑ์ที่ศูนย์สุขภาพชุมชนบ้านลำกะได้คะแนนต่ำคือกิจกรรมสาธารณสุขที่ประชาชนมีส่วนร่วมในการวางแผน/ทำกิจกรรมสาธารณสุขในชุมชนเอง
     ทั้งนี้ในข้อเท็จจริงดังกล่าว ศูนย์สุขภาพชุมชนบ้านลำกะเองก็ได้ทราบอยู่แต่ยังไม่เข้าใจกระบวนการเชื่อมโยงให้เกิดขึ้นได้ แต่ก็ได้ตระหนักถึงความสำคัญ และความจำเป็นของการพัฒนาทีมสุขภาพภาคประชาชนให้เข้มแข็งและมีศักยภาพในการดูแลสุขภาพของประชาชนในพื้นที่และตรงกับปัญหาของตนเองในแต่ละพื้นที่ รวมทั้งหากสามารถร่วมกับเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในการวิเคราะห์ปัญหาสาธารณสุขในพื้นที่ได้  เพื่อนำมาใช้ในการจัดทำแผนปฏิบัติการเพื่อแก้ปัญหาสาธารณสุขในพื้นที่ก็จะทำให้ประชาชนมีภาวะสุขภาพที่ดีด้วยการพึ่งตนเองได้จริง และเชื่อว่าจะเกิดความยั่งยืนได้ด้วย  เมื่อมีโอกาสได้พัฒนาโครงการแก้ปัญหาและเพื่อพัฒนาคุณภาพบริการ โดยสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติจะสนับสนุนงบประมาณให้ ก็ไม่ได้ละเลยต่อโอกาสนั้น ซึ่งก็ได้รับการสนับสนุนฯ ในวงเงิน 50,000 บาท และได้นำมาใช้เพื่อจัดการให้สิ่งที่คาดหวังเป็นสิ่งที่สมหวังดังที่จะได้กล่าวต่อไป

สิ่งที่คาดหวังว่าจะได้มีอะไรบ้าง
     1. เพื่อพัฒนาทีมสุขภาพภาคประชาชนให้มีความรู้และเข้าใจในการส่งเสริมสุขภาพ
     2. เพื่อให้ทีมสุขภาพมีความรู้เรื่องและการส่งเสริมสุขภาพแบบองค์รวม ต่อเนื่อง ผสมผสาน  และสามารถเป็นแกนนำในการดูแลสุขภาพได้ 
     3. เพื่อให้ทีมสุขภาพค้นหาปัญหาสาธารณสุขในพื้นที่ร่วมกับเจ้าหน้าที่สาธารณสุขและองค์กรส่วนท้องถิ่นในการจัดทำแผนเพื่อแก้ไขปัญหาสาธารณสุขได้

กระบวนการเพื่อบรรลุสิ่งที่คาดหวังว่าจะได้ (เพื่อให้สมหวัง) ตั้งไว้อย่างไรบ้าง
     1. จัดอบรมให้ความรู้แก่ทีมสุขภาพ  จำนวน 1 ครั้ง เวลา 1 วัน โดยมีกลุ่มเป้าหมาย ประกอบด้วยผู้นำชุมชน ,สมาชิก อบต. ตัวแทนกลุ่มต่างๆ และ อสม. หมู่บ้านละ 10 คน จำนวน 7 หมู่บ้าน รวม 70 คน
     2. จัดเวทีสุขภาพ จำนวน 1 ครั้ง  ใช้เวลา 1 วัน โดยกลุ่มเป้าหมายจัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้และจัดทีมสุขภาพที่เข้มแข็ง  พร้อมทั้งทบทวนปัญหาและร่วมกันวางแผนหาแนวทางแก้ไขปัญหาสาธารณสุขในพื้นที่
     3. จัดทำโครงการแก้ไขปัญหาสาธารณสุขในพื้นที่ จำนวน 7 โครงการ
     4. ดำเนินการแก้ไขปัญหาสาธารณสุขในพื้นที่  จำนวน 7 โครงการ
     5. ประเมินผลและติดตามความก้าวหน้า/ปัญหาอุปสรรคในการดำเนินงาน เดือนละ 1 ครั้ง
     6. รายงานความก้าวหน้าและสรุปผลการดำเนินงานตามโครงการ แก่ พี่เลี้ยงฯ และ สปสช. เป็นระยะ ทุก 3 เดือน

ทุนของชุมชน และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่มีอยู่แล้วเท่าที่วิเคราะห์ได้
     ตำบลชุมพล  กิ่งอำเภอศรีนครินทร์  จังหวัดพัทลุง  มีพื้นที่ 72.85  ตารางกิโลเมตร แบ่งเขตการปกครอง 14 หมู่บ้าน  มีสถานบริการสาธารณสุข  2 แห่ง คือ สถานีอนามัยบ้านขัน รับผิดชอบ 7 หมู่บ้าน และศูนย์สุขภาพชุมชนบ้านลำกะ  รับผิดชอบ 7 หมู่บ้าน คือ หมู่ที่ 1,3,5,6,7,10 และหมู่ที่  11 
     ในแต่ละหมู่บ้านนั้นมีทุนเดิมอยู่แล้ว คือชุมชนมีการรวมตัวกันอย่างเข้มแข็ง การจัดทำแผนแม่บทชุมชนของตำบลก็มีการดำเนินการอยู่แล้ว  แต่ที่ผ่านมาเป็นแผนที่เน้นในเรื่องของโครงสร้างพื้นฐาน  เช่น ถนน  ไฟฟ้า ประปา  ฯลฯ  เรื่องของการสร้างสุขภาพหรือปัญหาสาธารณสุขจะมีการพูดถึงน้อยมาก  ประชาชนเองก็ไม่ได้ตระหนักถึงปัญหาสุขภาพที่จะนำเสนอและบรรจุไว้ในแผนแม่บทชุมชน ขาดการมีส่วนร่วมในการร่วมคิด ร่วมวางแผน  ร่วมทำและร่วมกันแก้ไขปัญหาสาธารณสุข 
     ศูนย์สุขภาพชุมชนบ้านลำกะ เล็งเห็นความสำคัญของการสร้างทีมสุขภาพเพื่อขยายผลให้ประชาชนทุกหมู่บ้านตระหนักถึงปัญหาสาธารณสุขที่เป็นปัญหาของชุมชนเอง โดยผ่านกระบวนการการมีส่วนร่วมของประชาชนในการร่วมคิด ร่วมวางแผน ร่วมทำ และร่วมประเมินผลในเรื่องสุขภาพของชุมชนเอง  จึงได้จัดทำโครงการนี้ขึ้น  ซึ่งสอดคล้องกับการพัฒนามาตรฐานศูนย์สุขภาพชุมชนหมวดที่ 1 ข้อที่ 1 มาตรฐานด้านกิจกรรมในชุมชน เน้นให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการวางแผน/ทำกิจกรรมสาธารณสุขในชุมชนของตนเอง  และสนับสนุนการจัดกิจกรรมสุขภาพที่ริเริ่มจากองค์กรชุชน/ท้องถิ่น  และร่วมดำเนินงานกับหน่วยราชการ/องค์กรที่เกี่ยวข้อง เพื่อจัดกิจกรรมส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันโรค สร้างความเข้มแข็งให้ชุมชน โดยจัดสร้างทีมสุขภาพ หมู่บ้านละ 10 คน  ประกอบด้วย ผู้นำชุมชน ,สมาชิก อบต. ตัวแทนกลุ่มต่างๆ และ อสม. เพื่อให้ทีมสุขภาพเป็นแกนนำในการค้นหาปัญหาสาธารณสุขของชุมชนและให้ประชาชนตระหนักถึงปัญหาสาธารณสุขของเขาเอง

กิจกรรมที่ดำเนินการแล้ว
     การจัดอบรมทีมสุขภาพ ในวันที่  10  สิงหาคม  2548  ณ ศูนย์สุขภาพชุมชนบ้านลำกะ  หมู่บ้านละ 10 คน รวม 70 คน ได้รับความร่วมมือและสนใจจากทีมสุขภาพเป็นอย่างดี  แม้ว่าในวันดังกล่าวมีกิจกรรมตรงกันหลายกิจกรรม คือ งานวันกำนันผู้ใหญ่บ้าน ซึ่งผู้นำชุมชนจะต้องไปทำพิธีและร่วมงานที่กิ่งอำเภอศรีนครินทร์  แต่ทุกคนจะแวะเวียนมาร่วมกิจกรรมทันที่ที่เสร็จจากภาระกิจที่กิ่งอำเภอ 
     การอบรมได้เชิญวิทยากรกระบวนการ คือ คุณอรุณ  ศรีสุวรรณ์  ตัวแทนโครงการพัฒนาชุมชนเป็นสุขที่ภาคใต้  คุณอนุกูล  ทองมี หัวหน้าศูนย์สุขภาพชุมชนบ้านเกาะเรียน อำเภอตะโหมด  และคุณวิลาศ  คงประพันธ์ ซึ่งกระบวนการจะเป็นการพูดคุยกับผู้เข้ารับการอบรมเรื่องต่างๆที่ทุกคนสนใจ  ให้ทุกคนมีส่วนร่วมในการเสนอความคิดเห็น โดยที่ผู้เข้ารับการอบรมไม่รู้สึกว่าเป็นการอบรม แต่จะรู้สึกเหมือนการพูดคุยแลกเปลี่ยนความรู้ ปัญหา และเรื่องต่างๆ ซึ่งกันและกัน ในขณะเดียวกัน คุณอนุชา  หนูนุ่น นักวิชาการสาธารณสุข 5 สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดพัทลุง ได้นำเจ้าหน้าที่จากศูนย์สุขภาพชุมชน และสถานีอนามัยต่างๆ ที่สมัครเข้าร่วมโครงการฯ จำนวน 15 คน มาร่วมสังเกตการณ์ในครั้งนี้ด้วย
     ตอนเที่ยงพักรับประทานอาหารเที่ยงร่วมกัน อาหารจัดแบบตักเอาเอง (บุฟเฟ่) ชาวบ้านภาคใต้  มีแกงส้มหมูย่าง (ผักรวม+สะตอ)  ผัดผัก ปลาเค็ม และที่ขาดไม่ได้คือ น้ำพริก ตามด้วยผลไม้ ทุกคนกินอย่างถูกปากและอิ่มหนำสำราญ  พักผ่อนกันตามสมควร เมื่อได้เวลา 13.00  น. วิทยากรดำเนินการต่อไปตามกระบวนการ 
     อีกเวทีจะเป็นการพูดคุยแลกเปลี่ยนประเด็นระหว่างพี่เลี้ยงระดับจังหวัดและผู้สังเกตการณ์ ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ เล่าประสบการณ์/ปัญหาอุปสรรค ในการทำงานของแต่ละที่ 

บทสรุปของวันนั้น (10  สิงหาคม  2548) อยากจะบอกเล่าอะไรบ้าง
     บทสรุปของวันนั้น ทีมสุขภาพส่วนใหญ่ให้ความสนใจ และตั้งใจที่จะเรียนรู้จากกระบวนการดังกล่าว ทีมวิทยาการสรุปให้ฟังว่ากระบวนการวันนี้ เป็นเหตุการณ์สมมติที่ทีมสุขภาพจะนำไปใช้ในกระบวนการจริงๆ ในชุมชนในการจัดทำเวทีประชาคม ซึ่งถ้าไปทำจริงจะทำแบบนี้  ทีมสุขภาพของศูนย์สุขภาพชุมชนบ้านลำกะ จะทำได้หรือไม่  ส่วนใหญ่บอกว่าทำได้ แต่อยากให้จัดอบรม หรือฝึกทักษะอีกครั้ง เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนจะลงไปทำเวทีประชาคมในหมู่บ้าน ทีมสุขภาพนัดเวทีครั้งต่อไปที่ศูนย์สุขภาพชุมชนบ้านลำกะ ในวันเสาร์ที่ 3 สิงหาคม 2548 เวลา 13.30 น.  เพราะถ้าตรงเสาร์-อาทิตย์ ทีมสุขภาพส่วนใหญ่จะว่าง ทีมวิทยากรก็แสนดี รับปากจะมาช่วยทุกครั้งที่มีโอกาส
     ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นต่อกลุ่มเป้าหมาย คือกลุ่มเป้าหมายสนใจกระบวนการเรียนรู้ ซึ่งสร้างความเป็นกันเอง ความกลมกลืนของวิทยากรและทีมสุขภาพที่เข้าร่วมกิจกรรม จากการพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นซึ่งกันและกัน และผลที่สะท้อนออกมา คือ ปัญหาของชาวบ้านไม่ได้เคยได้รับการตอบสนองต่อความต้องการ หรือที่เป็นปัญหาของชุมชนจริง ๆ ในอดีตนั้น ชาวบ้านเริ่มมั่นใจมากขึ้นว่าจะเข้ามาจัดการเองได้ และประเด็นนี้จึงเป็นประเด็นที่เกิดผล หรือเกิดการเปลี่ยนแปลงต่อกลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจนที่สุด สำหรับประเด็นอื่น ๆ อาจจะต้องใช้ระยะเวลาในการประเมิน เช่นความภาคภูมิใจที่เกิดขึ้นที่ได้ช่วยกันแก้ปัญหาตนเองได้ เป็นต้น

บทเรียนและสิ่งเรียนรู้จากโครงการ PCU ในฝัน
     กระบวนการทำงานของโครงการพัฒนาทีมสุขภาพภาคประชาชนในครั้งนี้ แตกต่างจากจากการทำงานปกติคือ การได้เป็นส่วนร่วมของประชาชน หรือชุมชน หรือองค์กรที่หลากหลาย โดยใช้วิชาการมาช่วยจัดการให้เป็นระบบทำให้ได้แนวคิด หลักการ หรือเหตุผลที่เป็นมหภาค  หลากหลายความคิด ประชาชนมีอิสระในการคิดแต่ขาดการสนับสนุนอย่างแท้จริงจากภาครัฐหรือองค์กรส่วนท้องถิ่น ในความเป็นจริงการตอบสนองจะเป็นไปตามนโยบาย หรือเหตุผลทางการเมืองมากกว่าการตอบสนองปัญหาที่กระทบกับสุขภาพของประชาชนอย่างแท้จริง
     สำหรับบทเรียนที่สำคัญที่จะนำไปใช้ประโยชน์ในอนาคตได้ คือ การมีส่วนร่วมของประชาชน จะต้องให้เขารู้สึกได้ถึงความจริงใจ ความสนใจใคร่รู้ในความเป็นอยู่จริงๆของประชาชนที่ภาครัฐหรือองค์กรส่วนท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องควรจะสนใจมากกว่าประเด็นทางการเมืองหรือนโยบาย  และอีกประเด็นที่น่าสนใจมาก ทีมสุขภาพกลัวว่าทำไปแล้ว แค่อบรมเสร็จก็เสร็จกันไปเหมือนที่หลายหน่วยงานทำกัน สิ้นสุดจากวันอบรม ไม่มีการสานต่อให้เกิดผลในระยะยาว ดังที่ได้กล่าวไว้ในขณะประชุมเมื่อพี่เลี้ยงโครงการฯ ได้ถามขึ้นในช่วงเวลาบ่ายโมง (13.15 น. โดยประมาณ) ว่า 
          พี่เลี้ยงฯ  : “วันนี้ใครคิดว่าจะได้อะไรบ้างจากการประชุม” 
          ตัวแทนภาคประชาชนจากหมู่ที่ 11 : “ผมว่าก็เหมือนเดิม เหมือนทุกครั้งที่ราชการจัดประชุม จบแล้วก็เบิกเงินค่าใช้จ่าย แล้วแยกย้ายกันกลับ บ้านใครบ้านมัน ต่างคนต่างอยู่ คอยดูผมว่าอย่างนั้นจริง ๆ”
          บรรยากาศ : ที่ประชุมเริ่มหัวเราะกันอย่างสนุกสนาน และส่วนใหญ่ช่วยกันอภิปรายว่าเห็นด้วย และมักจะเป็นอย่างนั้นจริง ๆ
          พี่เลี้ยงฯ  : “งั้นฝากถามวิทยากร ต้องรับผิดชอบนะครับ ช่วยทำให้แกผิดหวังด้วย” 
          บรรยากาศ : ที่ประชุมหัวเราะกัน และมองไปที่ทีมวิทยากรอย่างกัลยามิตร
          พี่เลี้ยงฯ  : “พี่ช่วยบันทึกเรื่องนี้ไว้ด้วย แล้วผมจะมาติดตาม หรืออาจจะไปถามพี่ที่บ้าน เพราะวันนี้ผมต้องนำทีมสังเกตการณ์กลับก่อน เพื่อไปถอดบทเรียนที่ได้วันนี้ และขอขอบคุณพี่มากที่ได้มอบคำถามเพื่อการประเมินผลที่ดีแก่ผม” 
          ซึ่งพอช่วงเลิกการประชุม ที่ประชุมได้สรุปใหม่ว่า “ไม่คาดคิด และไม่ค่อยได้เจอวิธีการอบรมเหมือนวันนี้”

สำหรับบทเรียนด้านลบที่ไม่ควรทำ คือ ผลสะท้อนจากทีมสุขภาพที่เคยชินกับการสั่งการกับประชาชนหรือกลุ่ม/องค์กรต่าง ๆ ที่สั่งการอย่างเร่งรีบและเอารายงานหรือข้อมูลด่วนถึงด่วนที่สุด  โดยไม่ได้คำนึงถึงคุณภาพ หรือข้อเท็จจริง เป็นต้น

ทีมวิทยากรถอดบทเรียนฝากมาให้ (จากมุมมองและข้อสรุปในเวทีของวิทยากร)
     สุขภาวะ เป็นโจทย์เริ่มต้นของการค้นหาความหมายที่ชุมชนต้องค้นหาจากการถอดองค์ความรู้ ในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับตัวแทนของชุมชน
สุขภาวะหรือภาวะที่ทำให้คนมีความสุขในการดำรงชีวิตอย่างปกติและสิ่งที่ส่งผลต่อความมีสุขภาวะนั้นประกอบด้วย
     1. ภาวะเศรษฐกิจ สะท้อนด้วยรายรับ-รายจ่ายของครอบครัวที่ไม่สมดุล การมีหนี้สิน การไม่พึ่งตนเองในการเพื่อลดการจับจ่ายใช้สอยในชีวิติประจำวัน
     2. สังคม ได้ให้น้ำหนักในเรื่องความสามัคคีของผู้คนในชุมชน ความเอื้ออาทรที่ลดน้อยลง สังคมชุมชนไม่อยู่ในลักษณะการพึ่งพาอาศัยกัน มีปัญหาอบายมุข อาทิ บุหรี่ เหล้า การพนัน  สิ่งรำคาญอื่นๆ เช่น รถซิ่ง ปัญหาเยาวชนติดยาเสพติด
     3. สิ่งแวดล้อม กลุ่มแกนนำได้มองเรื่องที่อยู่อาศัย บ้านเรือน แหล่งน้ำธรรมชาติที่กำลังเปลี่ยนไปในทางที่เสื่อมโทรม เพราะผู้คนในชุมชนขาดความสำนึกการดูแลที่สาธารณะ ปัญหาการกำจัดขยะที่ไม่มีระบบของท้องถิ่นและขบวนการของชุมชนเข้ามาจัดการ
     4. วัฒนธรรมท้องถิ่นหลักความเชื่อ ซึ่งมีผลต่อพฤติกรรม อารมณ์ ทัศนคติ แนวคิด การละทิ้งและไม่ยอมรับภูมิปัญญาท้องถิ่น ขาดองค์ความรู้ในเรื่องที่คิดที่ทำ
     ในสี่องค์ประกอบที่กล่าวมา เป็นสิ่งที่มีอิทธิพลต่อชีวิติประจำวันของชุมชนที่สถานีอนามัยบ้านลำกะดูแลอยู่ การมีสุขภาวะของชุมชนนี้ทุกคนเห็นตรงกันว่าจะต้องมีการดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่างและหลายฝ่ายเข้ามาแก้ไขปัญหาเช่น ท้องถิ่น อบต. สถานบริการสาธารณสุข โดยเฉพาะชุมชนที่พร้อมจะพัฒนาและเห็นปัญหาร่วมกัน
     สภาวะที่เป็นปัญหาต่อสุขภาพของผู้คนในชุมชนที่สะท้อนโดยตัวแทนชุมชน
     1. พฤติกรรมการกิน
           - ดื่มกินของมึนเมา 
           - บริโภคพืช ผัก อาหารสดจำพวกเนื้อ ปลา ที่มีสารพิษปนเปื้อน
           - ซื้ออาหารปรุงสำเร็จจากตลาดมาบริโภคและไม่แน่ใจคุณค่าทางอาหารและความสะอาด
     2. พฤติกรรมการออกกำลังกายและการพักผ่อน
           - ผู้หญิงจะออกกำลังกายมากกว่าผู้ชาย เช่น การเต้นแอโรบิค
           - การออกกำลังกายที่เหมาะสมกับวัยและเพศ
           - การพักผ่อนไม่เพียงพอเนื่องจากการประกอบอาชีพ(กรีดยาง)
     3. สิ่งแวดล้อมไม่เหมาะสม
           - การใช้สารเคมี ประเภท ยาฆ่าหญ้า ยาฆ่าแมลงในพืชผักและการปล่อยน้ำทิ้งจากการผลิตยางแผ่นของแต่ละครัวเรือนและของโรงงานลงสู่แหล่งน้ำสาธารณะ
           - กลิ่นเหม็นจากฟาร์มเลี้ยงหมู
           - ฝุ่นละอองจากถนน
           - น้ำดื่ม น้ำใช้ จากระบบประปาหมู่บ้านที่ไม่ได้รับการปรับปรงคุณภาพน้ำ
           - ปัญหาขยะเกิดจากการกำจัดแบบบ้านใครบ้านมัน และนำไปทิ้งในที่สาธารณะ
  4. ภาวะเศรษฐกิจในครอบครัว
           - รายรับน้อยกว่ารายจ่าย
           - ภาวะการมีหนี้สิน
           - คนจนขาดการให้โอกาสจากสังคม
     สภาวะที่ตัวแทนชุมชนได้สะท้อนคือปัญหาที่ชุมชนกำลังประสบอยู่และได้เสนอแนวทางการเริ่มต้นในการแก้ไข โดยเสนอแนวคิดร่วมกัน คือ
          เริ่มจากตนเอง     ครอบครัว     ชุมชน    และพันธมิตร
          ภายใต้ขบวนการ    ร่วมคิด    ร่วมทำ   ร่วมแก้  และต่อเนื่อง

กลวิธีที่จะนำมาใช้
        - รวมกลุ่มแกนนำ
        - สร้างกระแสการตอบรับการเห็นพ้องร่วมกันให้กับชุมชน
        - ค้นหาข้อมูลปัญหาและปัจจัยที่เกี่ยวข้อง
        - ค้นหาข้อมูลที่เป็นศักยภาพเพื่อเป็นทุน คือ คน ความรู้ สิ่งที่มีอยู่ หรือทุนทางสังคม
        - วิเคราะห์ข้อมูลและร่วมเรียนรู้กันทั้งชุมชน
        - กำหนดทิศทางการแก้ปัญหาหรือการพัฒนาต่อยอดภายใต้ความหลากหลายและความต่างของพื้นที่
แนวทางที่จะพบกันอีก
        - นั่งแหลงร่วมสุมหัวออกความคิด
        - แยกกลุ่มย่อยคุย
        - ปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง
        - แสวงหาแนวร่วมเพิ่มพันธมิตร

หมายเหตุ : ผู้รับผิดชอบโครงการฯ นางสาวนันทา  ด้วงวงศ์  ตำแหน่ง นักวิชาการสาธารณสุข 5
      ประจำศูนย์สุขภาพชุมชนบ้านลำกะ กิ่งอำเภอศรีนครินทร์  จังหวัดพัทลุง
                 โทรศัพท์ที่ทำงาน  0-7463-5414   มือถือ  06-7477828 
                  E-mail :  [email protected]

          เพิ่มเติมปกเอกสารที่ไปนำเสนอที่การประชุม PCU ในฝันที่หาดใหญ่ (ผมออกแบบเอง ชอบมาก)

 

หมายเลขบันทึก: 3403เขียนเมื่อ 3 กันยายน 2005 14:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มีนาคม 2015 08:30 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

ก่อนปิดประชุม ควรเร้าใจ เร้าพลังชุมฃน โดยให้ทดลองริเริ่มเปลี่ยนแปลง ชีวิต ในด้านบวก ด้วยกัน หลายๆคน   แล้วนัดกัน มาเล่าประสบการณ์ด้านดี และ ด้านทำได้ยาก   พร้อมทั้งนัดวันประชุมพบปะคราวหน้า  ไม่นานเกิน ไม่ใกล้เกิน ( ให้ผิดคาดเลยว่า จะมาพบกันอีก โดยไม่มีงบราชการ แต่ใช้จากพลังชุมชน  )  และขอช่วยใครเป็นให้เป็นทีมคุณ กิจ ไปลงมือกระทำอย่างสมัครใจ แล้ว มาเล่า แลกเรียนรู้กัน  ทีมสุขภาพจึงต้องรุ้แม่น แผนผังคนดีในชุมชน ( ควรดึงและ เสริม พลังด้านบวกของพลเมืองหลายๆคน  ) แล้วชักชวนให้แสดงพลังกลุ่มคนแรงดี ใจดี ริเริ่มสิ่งดี เช่น ไม่มีสุรา ในงานบุญ งานศพ  แต่มี              น้ำสมุนไพรใจเป็นสุข บริการแทน   ภูมิปัญญาสมุนไพร จะค่อยๆถูกสนใจ และฟื้นฟูผ่านวิถีชีวิตชุมชน แล้วค่อยๆหันมาปลูกกัน แล้วเสริมรายได้ลดรายจ่ายชุมชนในระยะยาว

     ขอบคุณสำหรับการเติมเต็มจากคุณ วีรพัฒน์ นะครับ เมื่อวานวันที่ 3 (3 กันยนยน 2548) ได้ดำเนินการครั้งที่ 2 แล้ว ซึ่งเกิดจากการนัดเองของชุมชนและใช้วันที่ไม่ใช่ราชการ และไม่ใช้งบราชการครับ สำหรับผมไม่ได้อยู่ร่วมด้วย

     และจะได้ถ่ายทอดเมื่อถอดบทเรียนแล้ว (จะถอดจากผู้รับผิดชอบโครงการและแกนนำฯ ซึ่งเป็นสมาชิกในโครงการวิจัยไตรภาคร่วมพัฒนาสุขภาพชุมชนด้วย) ในวันนี้เย็น (4 กันยายน 2548) และขณะนี้กำลังเดินทางมาเข้าร่วมประชุมโครงการพีซียูในฝัน ระดับภาค (5-6 กันยายน 2548) ที่หาดใหญ่ครับ (ผมมาคอยอยู่ก่อนแล้ว)

ดิฉันขอชื่นชมกับความสามารถและความสำเร็จของคุณนันทา ที่สามารถดึงภาคประชาชนเข้ามาทำงานร่วมกับทีมสุขภาพได้ และต้องขอบคุณน้องบ่าวที่นำเรื่องดีๆเหล่านี้มาเล่าให้ฟัง ครูพยาบาลชุมชนอย่างดิฉันต้องหาโอกาสเชิญทั้งคู่ไปเล่าให้นักศึกษาพยาบาลที่วลัยลักษณ์ฟังบ้างคงไม่รังเกียจนะคะ

พี่สาวครับ (ครูพยาบาลชุมชน)

     ครับผม เท่าที่ผ่านมา ก็ได้พยายามเพาะเมล็ดพันธ์ไว้ตามที่ต่าง ๆ งอกบ้างไม่งอกบ้าง พอจะงอกก็โดนถอนเสียบ้าง ที่เจริญเติบโตจริง ๆ ก็เยอะครับ หากพี่สาวจะประสาน ก็จะได้เลือกสรรให้อีกครั้งนะครับ ยังไงก็ได้เพื่อขยายผล ยินดีครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท