มหาวิทยาลัยเพื่อพัฒนาท้องถิ่น : ๒. ยุทธศาสตร์การสร้างคน



          นี่คือยุทธศาสตร์การสร้างการเปลี่ยนแปลงในระดับวัฒนธรรมองค์กร (corporate culture)   ซึ่งต้องทำหลายๆ อย่างไปพร้อมๆ กัน   แต่ผมมีความเห็นว่าไม่มีอะไรสำคัญเท่าการสร้างคน   มหาวิทยาลัยเพื่อพัฒนาท้องถิ่นจะต้องมีอาจารย์และบุคลากรสายสนับสนุนที่มีจิตวิญญาณของมหาวิทยาลัยเพื่อพัฒนาท้องถิ่น   มีความภาคภูมิใจในความเป็นมหาวิทยาลัยเพื่อพัฒนาท้องถิ่น   และมีทักษะเพื่อทำงานสร้างความเป็นมหาวิทยาลัยเพื่อพัฒนาท้องถิ่น

          คือคนของมหาวิทยาลัยเพื่อพัฒนาท้องถิ่นต้องมี head, heart, hand เพื่อทำงานสร้างสรรค์มหาวิทยาลัยเพื่อพัฒนาท้องถิ่น 

Head : มีสมอง ปัญญา ที่เหมาะสมสอดคล้อง
Heart : มีใจ  มีความภูมิใจ  เห็นคุณค่า  และมีใจที่จะทำ ไม่ใช่แค่คิด
Hand : มีทักษะในการลงมือทำ
3H รวมเป็นหนึ่งเดียว คือ M – Man ที่แปลว่าคน ไม่ใช่แปลว่าผู้ชาย

          มหาวิทยาลัยเพื่อพัฒนาท้องถิ่นต้องมียุทธศาสตร์การสร้างคน หรือพัฒนาคน   ทั้งคนที่มีอยู่แล้ว และคนที่จะเข้ามาเป็นสมาชิกใหม่   คนเก่าเราเลือกไม่ได้ ต้องเปิดช่องและสนับสนุนให้เขาพัฒนาตัวเอง   เน้นพัฒนาด้วยการทำงาน ทำงานเพื่อสร้างมหาวิทยาลัยเพื่อพัฒนาท้องถิ่น  

          แต่คนใหม่เราเลือกได้   ต้องเลือกคนที่มีจริตรักที่จะทำงานเพื่อท้องถิ่น มี 3H เพื่อท้องถิ่นอยู่บ้างแล้ว   เอามารับทุนศึกษาต่อระดับปริญญาเอก และฝึกอบรมหลังปริญญาเอกเพื่อเตรียมมาทำหน้าที่อาจารย์ในมหาวิทยาลัยเพื่อพัฒนาท้องถิ่น   ให้มี 3H ที่ทรงพลังในการทำหน้าที่อาจารย์ในมหาวิทยาลัยเพื่อพัฒนาท้องถิ่น  

          ขบวนการ อาจารย์ในมหาวิทยาลัยเพื่อพัฒนาท้องถิ่นจำสำเร็จหรือล้มเหลวอยู่ที่การวางแผนสร้างคนเป็นหลักใหญ่    น้ำหนักหนึ่งในสามอยู่ที่คนที่มีอยู่แล้ว   น้ำหนักสองในสามอยู่ที่การสร้างคนใหม่  

          นั่นคือ ต้องมี คปก. เพื่อสร้างอาจารย์ในมหาวิทยาลัยเพื่อพัฒนาท้องถิ่น   ขึ้นใน คปก. ของ สกว.   ตั้งงบประมาณพิเศษขึ้นมาให้ คปก. ดำเนินการสร้างอาจารย์ในมหาวิทยาลัยเพื่อพัฒนาท้องถิ่น   เพื่อให้ได้คนสมองดี + จิตใจดี + มีทักษะเหมาะสม มาเป็นอาจารย์รุ่นใหม่ ในมหาวิทยาลัยเพื่อพัฒนาท้องถิ่น   ให้เป็นอาจารย์ที่มาจากคนมีสติปัญญาดี มีแรงบันดาลใจ เห็นคุณค่าของการเป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัยเพื่อพัฒนาท้องถิ่น   รู้สึกว่าเป็นเกี่ยรติที่ได้มาเป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัยกลุ่มนี้   และมีปณิธานส่วนตัวตรงกันกับปณิธานของมหาวิทยาลัย   อาจารย์ใหม่เหล่านี้ต้องจบปริญญาเอกโดยการผลิตแบบที่เตรียมสำหรับมาเป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัยเพื่อท้องถิ่น   และผ่านการฝึกอบรม postdoc ในลักษณะพิเศษเพื่อมาเป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัยเพื่อท้องถิ่นโดยเฉพาะ

          สำหรับคน (โดยเฉพาะอาจารย์) ที่มีอยู่แล้ว ก็ต้องดำเนินการพัฒนาทักษะที่ต้องการ   รวมทั้งดำเนินการฝึกอบรมเพื่อเปลี่ยนแนวคิดและสร้างวัฒนธรรมองค์กรใหม่ ที่เหมาะสมต่อการเป็นมหาวิทยาลัยเพื่อท้องถิ่น  

          ต้องมีโครงการพิเศษเพื่อผลิตปริญญาเอกสำหรับเป็นอาจารย์ใหม่ของมหาวิทยาลัยกลุ่มนี้ เน้นการผลิตเองในประเทศ   อาศัยรูปแบบการบริหารจัดการของโครงการ คปก. ที่มีอยู่แล้ว   ซึ่งดีที่สุดคือให้ สกอ. ตั้งงบประมาณเงินอุดหนุนมอบให้ สกว. จัดการ    โดยมีคณะกรรมการโครงการส่วนหนึ่งจาก คปก. และตั้งเพิ่มจากมหาวิทยาลัยกลุ่มนี้อีกจำนวนหนึ่ง

 

วิจารณ์ พานิช
๒๕ ก.พ. ๕๓
       
         

หมายเลขบันทึก: 340090เขียนเมื่อ 26 กุมภาพันธ์ 2010 11:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มิถุนายน 2012 10:04 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

การสร้างคน...คงจะเป็นงานใหญ่..คนคงจะไม่ตกงาน..งานครอบครัวครัวเรือน ท้องถิ่น.บ้านเกิด.เมืองนอน..แต่อ้อนแต่ออกในท้องพ่อท้องแม่..คงเป็นมหาวิทยาลัยแห่งความอบอุ่นและความรักความใส่ใจดูแล..ปริญญาเอกที่ให้คงจะเป็นแม่..ผู้แก่กล้าวิชา..(ผู้ดูแลประสาทวิชาความรักและอบอุ่นคงจะเป็นครอบครัวที่มีจิตเปี่ยมด้วยคุณธรรมและสูงด้วยภูมิหลังและพลังใจอันสูงส่ง)..มหาวิทยาลัยนี้คงศูนย์สิ้นไปจากเมืองไทยนานแล้ว.....

เรียนท่านอาจารย์หมอที่เคารพ

          การวิจัยในระดับท้องถิ่นมันเหมือนกับการสร้างฐานคนหมู่มากในสังคมให้มั่นคง ระบบทรัพยากรที่มันเสื่อมโทรมลงจน หากไม่แก้ไขบ้านเมืองจะวิกฤต เพราะระบบเหล่านี้เชื่อมกับสังคมเมืองในรูปแบบต่างๆ อย่างเช่น การไหลของข่าวสาร วัตถุสิ่งของ อาหารต่างๆและ เงินตราต่างๆ ตลอดจนวัฒนธรรมในการแลกเปลี่ยนที่ดีงาม หากชุมชนไม่เข้มแข็งและอยู่ในภาวะเสื่อมโทรม ความเข้มแข็งเหล่านี้จะหดหายไป เป็นที่กังวลกันว่าอนาคต 10-20 ปีนี้จะอยู่ยังไง หากสภาวะธรรมชาติแปรปรวนเช่นนี้และเรายังนั่งเสวยสุขกันอยู่กับความมืดมนของอนาคตลูกหลานและสังคม กระผมจะทำตามกำลังที่กระผมทำได้

กระผมคิดว่าคนที่ทำงานวิจัยเชิงท้องถิ่นต้องมีความหลากหลายเชิงความรู้เพื่อแก้ปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้น ต้องมีฐานทางวิชาการที่ดี เพื่อที่จะเชื่อมโยงระบบความคิดได้อย่างหลากหลายศาสตร์ เพื่อจัดการแหล่งทรัพยากรต่างๆ ดิน น้ำ ป่าไม้ ทรัพยากรจุลินทรีย์ต่างๆ และทรัพยากรที่เป็นสัตว์เล็กสัตว์น้อยและสัตว์ใหญ่ ความหลากหลายของพันธุ์พืช ที่มีคุณสมบัติดีเด่นในด้านต่างๆ ซึ่งมีทั้งคุณค่าต่อระบบนิเวศน์และต่อมนุษย์ และรู้วิธีเข้ากับผู้คน

กระผมมองว่าโครงสร้างทรัพยากรต้องเข้มแข็ง และมีระบบการจัดการด้วยความรู้ และปัญญา ที่ถูกต้องเหมาะสม  กระผมเห็นการสูญเสียของทรัพยากรแล้วอดใจหายไม่ได้ เราก็กำลังนั่งเสวยสุขกับความเสื่อมโทรมโดยไม่คิดจะทำให้มันสมดุล การสุดโต่งไปทางสูบทรัพยากรมากๆเป็นห่วงว่า สักวันสิ่งที่เราเคยมั่งคั่งกำลัง จะหายไปด้วยการบริโภคแบบไม่ลืมหูลืมตา ติดกับความเคยชินจนไม่เห็นคุณค่าและมักง่าย

       กระผมเห็นคุณค่านี้เพราะครอบครัว กระผมเคยอยู่ในภาวะขาดแคลน ไม่มีข้าวจะกินนานพอสมควร เรียกได้ว่าจนมากๆ บางครั้งตอนเดินกลับจากที่นา (ที่นาดอนที่แห้งแล้ง) หลวงตาให้ข้าวสารจากวัด ก็เอามาต้มใส่เกลือกิน เพื่อให้มีรสไม่จืดจางและอร่อยขึ้นบ้าง  และมีระบบเครือญาติช่วยประคับประคองไว้บ้าง ตอนรับทุน คปก.ให้ไปเมืองนอก กระผมก็ไปเรียนแบบหัวใจอยู่กับความจนของบ้านและหาทางประคับประคองสุดชีวิต กระผมคิดถึงแต่พ่อแม่ท่านจะกินอยู่อย่างไร น้องสาวจะเอาเงินที่ไหนเรียน และเจ้าหนี้ พ่อค้าคนกลางจะให้ใช้หนี้อย่างไร ท้ายสุดแล้ว กระผมต้องขายที่นาไป 1 ผืน จากนั้นก็ขายวัว ควาย จนหมดและเหลือที่นาดอน เป็นที่สุดท้าย แหล่งทดสอบปัญญาว่าปริญญาเอกที่เรียนว่าจะทำได้แค่ไหน ซึ่งเป็นนาเกือบ 20 ไร่รวมที่ติดทางรถไฟ บางปีได้ข้าว ไม่ถึงครึ่งถุงปุ๋ย (ทั้งที่แค่นี้ปีนั้น แม่กระผม ก็ขาย พอแก้ขัดค่าไฟฟ้าไปก่อน ซึ่งขายได้ 98 บาท) 

    ชีวิตกระผมก็ค่อยฟื้นตัวที่ละเล็กละน้อย แต่หลังจากจบ  ปริญญาเอกแต่ก็ลุ่มดอนๆอยู่ ตอนปีแรกกระผมไปทำปุ๋ยอินทรีย์ที่ใช้ความรู้เรียนปริญญาเอกมา จากนั้นบวกกับความรู้กับประสบการณ์พลิกฟื้นไร่นาไปด้วย ในระหว่างตอนเรียนปริญญาเอกกระผมก็ลงทำปรับที่ดินและปลูกพืชช่วยทางบ้านอีกแรง พอจบมาก็สานต่อการทำสวนเกษตรและทำปุ๋ยทดสอบในไร่นาพบว่าได้ผล พอสมควร และกระผมเป็นคนแบกปุ๋ยและทำปุ๋ยเองใส่รถอีแต๋นที่จ้างเขามาขับ ขายให้ชาวบ้านที่อยากได้ เพราะเงินไม่ค่อยมี  จนเป็นที่เล่าขานว่า ดอกเตอร์หมดทางไป สวนที่นาดอน ก็ถูกท้าทายด้านปัญญาและความอึดในเรื่องการจัดการดิน การจัดการน้ำ การจัดการทรัพยากร จนปีนี้กระผมเริ่มเห็นทางออกชีวิตแล้ว

กระผมนั่งสรุปบทเรียนชีวิต ที่ผ่านมากระผมผ่านมาได้ กระผมขอบพระคุณอาจารย์ทุกท่านที่สอนกระผมมา ไม่ว่าจะสอนอย่างไรสุข ทุกข์ เบื่อหน่าย หรือเกิดอะไรขึ้นในใจ กระผมมองว่าสิ่งนั้นคือการเรียนรู้เพื่อสรุปบทเรียนชีวิตกระผม  กล่าวขอบคุณท่านอาจารย์ที่สอนในระดับปริญญาเอกด้วยความเคารพคือ ท่านอาจารย์วิริยะ อาจารย์ที่ปรึกษาทุน คปก. อาจารย์ริชาร์ด เบลล์ จากออสเตรเลีย และพิเศษสุดท่านอาจารย์ แสวง รวยสูงเนิน ที่เป็นการจุดประกายการเรียนรู้ด้วยความศรัทธา และกระผมขอบคุณชาวบ้าน เกษตรกรและปราชญ์ทุกท่านที่กระผมได้พบ ได้เห็น ได้เชื่อมต่อความคิด ทุกๆท่านคือครูของกระผม กระผมได้เรียนรู้จากท่าน เป็นการเรียนรู้ที่เปลี่ยนกระบวนทัศน์กระผม ไปอย่างสิ้นเชิงจากที่เคยรับรู้มา

ด้วยความเคารพครับผม

นิสิต

เรียนท่านอาจารย์หมอที่เคารพ

การวิจัยในระดับท้องถิ่นมันเหมือนกับการสร้างฐานคนหมู่มากในสังคมให้มั่นคง ระบบทรัพยากรที่มันเสื่อมโทรมลงจน หากไม่แก้ไขบ้านเมืองจะวิกฤต เพราะระบบเหล่านี้เชื่อมกับสังคมเมืองในรูปแบบต่างๆ อย่างเช่น การไหลของข่าวสาร วัตถุสิ่งของ อาหารต่างๆและ เงินตราต่างๆ ตลอดจนวัฒนธรรมในการแลกเปลี่ยนที่ดีงาม หากชุมชนไม่เข้มแข็งและอยู่ในภาวะเสื่อมโทรม ความเข้มแข็งเหล่านี้จะหดหายไป เป็นที่กังวลกันว่าอนาคต 10-20 ปีนี้จะอยู่ยังไง หากสภาวะธรรมชาติแปรปรวนเช่นนี้และเรายังนั่งเสวยสุขกันอยู่กับความมืดมนของอนาคตลูกหลานและสังคม กระผมจะทำตามกำลังที่กระผมทำได้

กระผมคิดว่าคนที่ทำงานวิจัยเชิงท้องถิ่นต้องมีความหลากหลายเชิงความรู้เพื่อแก้ปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้น ต้องมีฐานทางวิชาการที่ดี เพื่อที่จะเชื่อมโยงระบบความคิดได้อย่างหลากหลายศาสตร์ เพื่อจัดการแหล่งทรัพยากรต่างๆ ดิน น้ำ ป่าไม้ ทรัพยากรจุลินทรีย์ต่างๆ และทรัพยากรที่เป็นสัตว์เล็กสัตว์น้อยและสัตว์ใหญ่ ความหลากหลายของพันธุ์พืช ที่มีคุณสมบัติดีเด่นในด้านต่างๆ ซึ่งมีทั้งคุณค่าต่อระบบนิเวศน์และต่อมนุษย์ และรู้วิธีเข้ากับผู้คน

กระผมมองว่าโครงสร้างทรัพยากรต้องเข้มแข็ง และมีระบบการจัดการด้วยความรู้ และปัญญา ที่ถูกต้องเหมาะสม  กระผมเห็นการสูญเสียของทรัพยากรแล้วอดใจหายไม่ได้ เราก็กำลังนั่งเสวยสุขกับความเสื่อมโทรมโดยไม่คิดจะทำให้มันสมดุล การสุดโต่งไปทางสูบทรัพยากรมากๆเป็นห่วงว่า สักวันสิ่งที่เราเคยมั่งคั่งกำลัง จะหายไปด้วยการบริโภคแบบไม่ลืมหูลืมตา ติดกับความเคยชินจนไม่เห็นคุณค่าและมักง่าย

กระผมเห็นคุณค่านี้เพราะครอบครัว กระผมเคยอยู่ในภาวะขาดแคลน ไม่มีข้าวจะกินนานพอสมควร เรียกได้ว่าจนมากๆ บางครั้งตอนเดินกลับจากที่นา (ที่นาดอนที่แห้งแล้ง) หลวงตาให้ข้าวสารจากวัด ก็เอามาต้มใส่เกลือกิน เพื่อให้มีรสไม่จืดจางและอร่อยขึ้นบ้าง  และมีระบบเครือญาติช่วยประคับประคองไว้บ้าง ตอนรับทุน คปก.ให้ไปเมืองนอก กระผมก็ไปเรียนแบบหัวใจอยู่กับความจนของบ้านและหาทางประคับประคองสุดชีวิต กระผมคิดถึงแต่พ่อแม่ท่านจะกินอยู่อย่างไร น้องสาวจะเอาเงินที่ไหนเรียน และเจ้าหนี้ พ่อค้าคนกลางจะให้ใช้หนี้อย่างไร ท้ายสุดแล้ว กระผมต้องขายที่นาไป 1 ผืน จากนั้นก็ขายวัว ควาย จนหมดและเหลือที่นาดอน เป็นที่สุดท้าย แหล่งทดสอบปัญญาว่าปริญญาเอกที่เรียนว่าจะทำได้แค่ไหน ซึ่งเป็นนาเกือบ 20 ไร่รวมที่ติดทางรถไฟ บางปีได้ข้าว ไม่ถึงครึ่งถุงปุ๋ย (ทั้งที่มีน้อยมากๆแต่ปีนั้น แม่กระผมก็ขาย พอแก้ขัดค่าไฟฟ้าไปก่อน ซึ่งขายได้ 98 บาท) 

ชีวิตกระผมก็ค่อยฟื้นตัวที่ละเล็กละน้อย หลังจากจบ แต่หลังจากจบ ปริญญาเอกมา แต่ชีวิตนั้นก็ลุ่มดอนๆอยู่ ตอนปีแรกกระผมไปทำปุ๋ยอินทรีย์ที่ใช้ความรู้เรียนปริญญาเอกมา จากนั้นบวกกับความรู้ประสบการณ์ที่พบเห็นมา พลิกฟื้นไร่นาไปด้วย ซึ่งในระหว่างตอนเรียนปริญญาเอกกระผมก็เดินทางกลับบ้าน ลงไปทำการปรับที่ดินและปลูกพืชช่วยทางบ้าน พอจบมาก็สานต่อการทำสวนเกษตรและทำปุ๋ยทดสอบในไร่นาพบว่าได้ผล พอสมควร และกระผมเป็นคนแบกปุ๋ยและทำปุ๋ยเองใส่รถอีแต๋นที่จ้างเขามา ขายให้ชาวบ้านที่อยากได้ เพราะเงินไม่ค่อยมี  จนเป็นที่เล่าขานว่า ดอกเตอร์หมดทางไป สวนที่นาดอน ก็ถูกท้าทายด้านปัญญาและความอึดในเรื่องการจัดการดิน การจัดการน้ำ การจัดการทรัพยากร จนปีนี้กระผมเริ่มเห็นทางออกชีวิตแล้ว

กระผมนั่งสรุปบทเรียนชีวิต ที่ผ่านมากระผมผ่านมาได้ กระผมขอบพระคุณอาจารย์ทุกท่านที่สอนกระผมมา ไม่ว่าจะสอนอย่างไรสุข ทุกข์ เบื่อหน่าย หรือเกิดอะไรขึ้นในใจ กระผมมองว่าสิ่งนั้นคือการเรียนรู้เพื่อสรุปบทเรียนชีวิตกระผม  กล่าวขอบคุณท่านอาจารย์ที่สอนในระดับปริญญาเอกด้วยความเคารพคือ ท่านอาจารย์วิริยะ อาจารย์ที่ปรึกษาทุน คปก. อาจารย์ริชาร์ด เบลล์ จากออสเตรเลีย และพิเศษสุดท่านอาจารย์ แสวง รวยสูงเนิน ที่เป็นการจุดประกายการเรียนรู้ด้วยความศรัทธา และกระผมขอบคุณชาวบ้าน เกษตรกรและปราชญ์ทุกท่านที่กระผมได้พบ ได้เห็น ได้เชื่อมต่อความคิด ทุกๆท่านคือครูของกระผม กระผมได้เรียนรู้จากท่าน เป็นการเรียนรู้ที่เปลี่ยนกระบวนทัศน์กระผม ไปอย่างสิ้นเชิงจากที่เคยรับรู้มา

ด้วยความเคารพครับผม

นิสิต (ฉบับแก้ไข)

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท