ปราบเด็กดื้อ


มาช่วยกันปราบเด็กดื้อ

ปัญหาในห้องเรียน – นอกห้องเรียน

จากหัวข้อที่กล่าวมาเป็นปัญหาที่สามารถพบได้ทุกโรงเรียนไม่ว่าจะโรงเรียนรัฐบาล หรือโรงเรียนเอกชน ไม่ว่าจะเป็นโรงเรียนในเมืองหรือโรงเรียนในชนบท ปัญหาสามารถเกิดขึ้นได้ทั้งในและนอกห้องเรียน ดังนั้นขอกล่าวถึงปัญหาที่ประสบมากับตัวเองในอาชีพครู ซึ่งเด็กที่อยู่ในความดูแลเป็นเด็กประถมต้นสาเหตุของปัญหาส่วนใหญ่แล้วจะไม่รุนแรงเหมือนเด็กโต ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาที่เกิดจากพัฒนาการทางด้านการเรียนรู้ของเด็กเอง

 

เมื่อเด็กก้าวเข้าสู่โลกที่โรงเรียนพร้อมกับอาการของ โรคสมาธิสั้น สามารถสังเกตเห็นปัญหาที่เกิดขึ้นตามมาได้ไม่ยากถ้าเข้าใจโรคและถ้าให้ความสนใจที่จะสังเกตมากพอ เราสามารถแบ่งสถานที่ที่จะเกิดปัญหาได้ 2 ที่ คือ ในห้องเรียนและนอกห้องเรียน 

ปัญหาในห้องเรียน

1. สมาธิสั้น

คุณครูจะเป็นคนแรกที่มองเห็นสมาธิสั้นในตัวเด็กในห้องเรียน เมื่อใช้การเปรียบเทียบกับสมาธิของเด็กคนอื่นภายในห้อง ร่วมกับประสบการณ์ที่เคยสอนเด็กมาก ทำให้มองเห็นว่ามีปัญหาโดยไม่ยาก โดยเด็กกลุ่มนี้จะสนใจในตอนแรกของการสอนเท่านั้น จะอยู่ไม่นิ่ง หากครูเห็นพฤติกรรมแล้วว่ากล่าวตักเตือนก็จะฟังเท่าที่ครูพูดเท่านั้น หลังจากนั้นก็จะกลับไปแสดงพฤติกรรมเดิม และจะเป็นแบบนี้ซ้ำๆ ทุกวันโดยไม่มีการพัฒนาตนเอง หรือเกิดความรู้สึกว่าตนเองกำลังทำผิดอยู่  การแก้ปัญหา คือ แยกเด็กกลุ่มนี้ออกจากเพื่อน เพื่อที่จะได้ใช้การสอนในรูปแบบหรือวิธีการที่เด็กกลุ่มนี้สนใจ เน้นกิจกรรมมากกว่าทักษะการทำงาน โดยกิจกรรมที่จัดให้นั้นจะต้องเป็นที่สนใจของเด็กจริงๆ คือ ก่อนที่จะเลือกกิจกรรมครูเองจะต้องพูดคุยกับคนรอบข้างของเด็ก ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนสนิท เพื่อนบ้าน คนในครอบครัว เพื่อให้ทราบถึงความสนใจของเด็กและจะได้จัดกิจกรรมได้ถูกต้องตามความสนใจของเด็ก เช่น ถ้าเด็กสนใจในเรื่องการ์ตูน ครูสามารถจัดกิจกรรมที่นำตัวการ์ตูนที่เด็กชอบมาจัดกิจกรรมในแบบบูรณาการ คือ ให้วาดภาพตัวการ์ตูนแล้วระบายสีให้สวยงามพร้อมทั้งอธิบายหรือแต่งนิทานจากภาพที่เด็กวาดเพื่อพัฒนาการวาด การระบายสี การเขียน และสามารถอธิบายภาพได้ เป็นต้น

2.ทักษะการเรียนรู้

รายละเอียดของการเรียน เป็นเรื่องที่คุณครูต้องใช้สังเกตเป็นรายบุคคล เช่น ความสามารถในการอ่านหนังสือการสามารถในการเขียนหนังสือด้วยตัวเองหรือความเร็วในการเขียนตามแบบที่กำหนด ความเข้าใจในการพื้นฐานการคำนวณ ความเรียบร้อยของงาน ผลงานที่ผลิตด้วยตัวเองเป็นต้น กว่าที่คุณครูจะรู้จัก และเข้าใจรายละเอียด หรือคุณครูบางท่านสามารถพัฒนาเทคนิคเฉพาะที่ส่งเสริมการเรียนของเด็กไปต่อได้แล้ว พอดีหมดเทอมเปลี่ยนขึ้นชั้นใหม่ พบคุณครูคนใหม่ที่กว่าจะเข้าใจลักษณะของเด็กทำให้ไม่สามารถพัฒนาการเรียนการสอนต่อไปได้ การแก้ปัญหา คือ การทำสมุดรายงานประจำตัวที่ลงรายละเอียดความสามารถด้านทักษะที่สำคัญ เช่น การอ่านหนังสือ การเขียนหนังสือ การคำนวณ ร่วมกับความสามารถรอบด้านที่ต้องพัฒนาและ ผลคะแนนในการสอบ รวมทั้งเทคนิควิธีการที่ใช้ในการส่งเสริมการเรียนให้ได้ผล จะเป็นตัวช่วยทำให้การส่งต่อการทำงานของคุณครูชัดเจน เห็นแนวทางที่จะส่งเสริมต่อไปได้เร็วและประเมินผลการทำงานได้ รวมทั้งอาจทำสมุดรายงานประจำเพื่อรายงานพฤติกรรมรายวัน และบันทึกการบ้านในแต่ละวัน เพื่อแจ้งให้ผู้ปกครองทราบว่าเด็กมีพฤติกรรมอย่างไรบ้างในแต่ละวัน รวมทั้งผู้ปกครองจะได้ทราบว่าวันนี้เด็กมีการบ้านอะไรบ้างจะได้แบ่งเวลาเพื่อสอนและจะได้รู้ว่าทำการบ้านแล้วหรือยัง

 3. พฤติกรรมในห้อง

พฤติกรรมที่พบเจอนอกจากเหม่อ ไม่สนใจเรียน สมาธิสั้น แล้วยังสามารถพบพฤติกรรมต่างๆตั้งแต่แยกตัว ซึมเศร้า ร้องไห้เก่ง ไม่มั่นใจในตัวเอง ไปจนถึงพูดมาก ลุกเดิน รบกวนสมาธิของเพื่อนในห้อง แกล้งเพื่อน ส่งเสียงดัง ไม่อยู่ในระเบียบ เป็นต้น  มีรายงานศึกษาปัญหาในห้องเรียนที่มีเด็กสมาธิสั้นอยู่ในห้อง พบว่าคุณครูใช้ความพยายามควบคุมเด็กเพิ่มขึ้น เพ่งเล็งและตำหนิเพิ่มขึ้น ส่งผลทำให้เกิดความสัมพันธ์ไม่ดีระหว่างเด็กกับคุณครู และเพื่อนในห้องเรียนจะได้รับการสั่งสอน ดุว่า ตักเตือนจากคุณครูมากกว่าห้องเรียนอื่นที่ไม่มีเด็กที่เป็นโรคสมาธิสั้นชัดเจน การแก้ปัญหา คือ ปรับกิจกรรมให้เหมาะกับความสนใจของเด็กเพื่อที่เด็กจะมีความสุขในการทำงานและเขาจะได้ภูมิใจว่าตนเองก็สามารถทำงานได้ มีงานส่งเหมือนเพื่อนคนอื่น การพูดต้องค่อยๆ พูด ทำให้เด็กไม่รู้สึกว่าตนเองกำลังถูกดุ หรือถูกตักเตือน ให้เด็กมีส่วนร่วมในกิจกรรมในห้องเรียน เช่น เวลาให้ทำใบงาน ลองให้เด็กกลุ่มนี้เป็นคนแจกใบงานให้เพื่อนๆ เขาจะได้มีความรู้สึกว่าเองก็มีส่วนร่วมเหมือนกัน

ปัญหานอกห้องเรียน

1.คุณภาพการเล่น   น่าเสียดายที่ผู้ใหญ่มองไม่เห็นคุณค่าในการเล่นของเด็ก หรือมองการเล่นของเด็กในด้านลบ เลยทำให้ละเลย ขาดการกระตุ้น ฝึกสอนให้เหมาะสม จนทำให้เด็กมีทักษะการเล่นที่เพิ่มขึ้น ปัญหาของการเล่นที่พบบ่อยในเด็กสมาธิสั้น คือ เล่นไม่เป็น เล่นไม่เก่ง เล่นได้ไม่กี่อย่าง เล่นไม่เป็นไปตามกติกา เล่นรุนแรง เล่นเลยเถิด ไม่เล่นกับใครเลยเพราะกลัวเพื่อนหัวเราะเยาะ หรือในด้านตรงข้ามคือเพื่อนไม่ยอมให้เล่นด้วย การแก้ปัญหา คือ จัดมุมที่เหมาะสมกับเด็กกลุ่มนี้ คอยดูแลเวลาเด็กกำลังเล่น ให้ความสนใจ หรือสอนเด็กให้รู้จักวิธีการเล่นที่ถูกต้อง ของเล่นที่จัดให้ไม่มีความซับซ้อนจนเกินความสามารถของเด็ก หากครูมีเวลาอาจจะเล่นกับเด็กเองเพื่อสร้างความคุ้นเคยกับเด็ก เวลาเด็กมีปัญหา เด็กจะสามารถคุยกับครูได้โดยไม่กลัว

2.สภาพทางร่างกาย   โรคสมาธิสั้นส่วนใหญ่เด็กจะมีสภาพร่างกายอยู่ในเกณฑ์ปกติ แต่ถ้าสังเกตรายละเอียดจะพบว่ามีความสับสนทิศทาง ซ้ายขวา การเบรกตัวเอง การฟังคำสั่ง ความไม่เข้าใจภาษาเมื่อเทียบกับเด็กวัยเดียวกัน งุ่มง่าม ใช้มือไม่คล่อง กะระยะไม่ค่อยถูก บางรายลงไปเตะบอลกับเพื่อนเตะไปเตะมาไปเตะเข้าประตูด้านตัวเอง โดนเพื่อนด่าไปอีกนาน การแก้ปัญหา คือ จัดมุมและกิจกรรม หรือ ของเล่นที่เหมาะสมกับพัฒนาการของเด็กเพื่อจะได้ไม่มีปัญหาทั้งกับตัวเด็กเอง และกับเพื่อนๆ ที่สามารถเล่นได้ตามปกติ ครูควรฝึกทักษะการใช้กล้ามเนื้อ และทักษะการเคลื่อนไหวของเด็กเพื่อพัฒนาการทางด้านร่างกายจะได้ดีขึ้น

3.สัมพันธภาพกับเพื่อน   คนทุกคนอยากมีเพื่อน การที่ไม่มีเพื่อนเป็นความเจ็บปวดสูงสุดในชีวิตเด็ก หลายคนที่ใช้เวลาว่างหลังจากเรียนไปหมกตัวอยู่ในห้องสมุด เพื่อเป็นเหตุผลที่ดีในการตอบคำถามที่ว่าทำไมไม่ไปเล่นกับเพื่อน บางคนเดินดูเพื่อนเล่นอยู่รอบๆ บ้างก็ไปเล่นคนเดียวก็ได้หรืออาจรวมกลุ่มที่มีปัญหาคล้ายๆ กันไปทำอะไรแผลงๆ เนื่องจากเล่นด้วยวิธีการปกติไม่เป็น บางคนต้องการให้เพื่อนยอมรับโดยทำตัวเป็นตัวตลกในห้องเรียน หลายคนเพื่อนๆ รังเกียจ และอีกหลายคนก็แก้แค้นที่เพื่อนไม่ยอมรับด้วยการกลั่นแกล้งเพื่อน หรือทะเลาะวิวาทรุนแรง ชกต่อย ก้าวร้าว การแก้ปัญหา คือ จำเป็นต้องเข้าไปช่วยค้นหาสาเหตุเพื่อป้องกันปัญหาโดยครูอาจซักถามจากผู้ปกครอง หรือเพื่อรอบข้างถึงพฤติกรรมที่เด็กแสดงออกว่าเพราะอะไร หรืออาจมอบหมายให้เพื่อนที่มีพฤติกรรมปกติในวัยเดียวกันเป็นบัดดี้เพื่อคอยดูแล คอยให้คำปรึกษา หรือสอนทำกิจกรรมต่างๆ เพื่อเด็กจะได้มีความรู้สึกว่าไม่ถูกทอดทิ้ง ได้รับการยอมรับจากเพื่อน

4.พื้นฐานทางอารมณ์  คนอารมณ์ดีใครๆก็อยากเข้าใกล้ คนอารมณ์ร้ายหรืออารมณ์ไม่แน่นอนคาดเดาไม่ได้ยิ่งไม่ค่อยมีใครอยากเข้าใกล้ เวลาดูอารมณ์พื้นฐานว่าเป็นเด็กร่าเริง แจ่มใส อารมณ์ดี หงุดหงิดง่าย โกรธง่ายในเรื่องที่ไม่มีเหตุผล โกรธนาน เจ้าคิดเจ้าแค้น โศกเศร้า เสียใจ ขี้อิจฉา ฯลฯ คุณครู สามารถดูได้ทั้งในห้องเรียนและนอกห้องเรียน พื้นฐานอารมณ์ที่คุณครูสังเกตุเห็นอาจแตกต่างกับพื้นฐานอารมณ์ที่บ้านได้ เด็กที่มีความสามารถในด้านต่างๆเท่าเทียมกับเพื่อน โดยไม่จำเป็นต้องเรียนเก่ง ก็สามารถมีความสุข สร้างพื้นฐานทางอารมณ์ที่ดีได้ไม่ยาก ในเด็กที่มีความบกพร่องในทักษะและการยับยั้งตนเอง จึงมีโอกาสทำเรื่องผิดพลาดและทำสิ่งต่างๆแตกต่างจากเด็กอื่น จะเห็นอารมณ์หวั่นไหว กังวล โกรธ เจ็บใจ หงุดหงิด เศร้าใจ น้อยใจ ได้บ่อย ถ้าปล่อยทิ้งไว้นานๆโดยไม่ได้รับความช่วยเหลือจะส่งผลกระทบต่อการพัฒนาบุคลิกภาพได้อย่างกว้างขวาง การแก้ปัญหา คือ ศึกษาสภาพแวดล้อมทางครอบครัวของเด็กก่อน โดยการใช้ระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน เยี่ยมบ้านนักเรียน เพื่อที่จะได้พบปะ พูดคุยกับพ่อ แม่ ผู้ปกครอง จะได้ทราบสภาพแวดล้อมของเด็กว่าครอบครัวมีสถานะอย่างไร และสภาพดังกล่าวส่งผลต่อพฤติกรรมของเด็กหรือไม่ เช่น มีเด็กอยู่คนหนึ่งเรียนอยู่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 เป็นเด็กที่ไม่ได้อยู่กับพ่อ แม่ แต่อยู่กับป้า ซึ่งป้าเป็นคนที่ชอบพูดจาโวยวายไม่มีเหตุผล ขอให้ได้เสียงดังไว้ก่อน และไม่ชอบให้เด็กมาโรงเรียนพอมีคนถามจะตอบว่าเด็กมันรู้หมดแล้ว ไม่ต้องไปโรงเรียนก็ได้ เพราะลูกสาวของแกเองซึ่งเรียนจบแค่ชั้น ม.3 แต่ไปทำงานที่พัทยาจนได้แฟนเป็นฝรั่ง ทำให้เกิดความคิดที่ว่าไม่จำเป็นต้องเรียนสูงก็สามารถมีเงินใช้จ่ายได้อย่างสบาย และคนในครอบครัวของป้าก็จะเป็นนักพนันกันทุกคน ถ้าในหมู่บ้าน หรือหมู่บ้านใกล้ๆ มีงาน ก็จะให้เด็กขาดเรียนเพื่อไปงานด้วย เพราะจะไปกันทั้งครอบครัวและจะกลับบ้านดึกหรือไม่กลับเลย จึงต้องนำเด็กไปด้วย เพราะไม่อยากปล่อยให้อยู่ที่บ้านคนเดียว และถ้าลูกสาวที่ได้สามีฝรั่งกลับมาเยี่ยมบ้านก็จะต้องให้เด็กขาดเรียนเพื่อรับที่สนามบิน ไปเที่ยว และไปส่งที่สนามบินอีก เด็กจะต้องขาดเรียนติดต่อกันเป็น อาทิตย์ จากตัวอย่างดังกล่าว จะเห็นได้ว่าความจริงแล้วพฤติกรรมของเด็กถูกปลูกฝังมาจากบ้านและผู้ปกครองบางคนยังส่งเสริมพฤติกรรมดังกล่าว ทำให้เด็กยิ่งมีพฤติกรรมที่แย่ลงไปอีก ดังนั้นครูจำเป็นต้องหาทางแก้ปัญหาโดยการพูดคุยปรึกษา กับผู้ปกครองเป็นการส่วนตัวเพื่อเก็บข้อมูลและร่วมกันแก้ปัญหาต่อไป

หมายเลขบันทึก: 340082เขียนเมื่อ 26 กุมภาพันธ์ 2010 10:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 18:42 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท