ที่ฉันกล่าวอ้างเช่นนี้ ไม่ใช่อะไรหรอกนะ ด้วยความที่ในระยะนี้ ข้าวขวัญได้มีโอกาสรับใช้ และสร้างความคุ้นเคยกับบุคลากรของ บ. ปูนซีเมนต์ไทย แก่งคอย ในการจัดกระบวนการการเรียนรู้เรื่อง การใช้ KM กับโรงเรียนชาวนา เพื่อเชื่อมโยงเข้าสู่ธุรกิจปูนซีเมนต์ โดยมีทีม Facilitater ผู้เปี่ยมด้วยพลัง ไม่ว่าจะเป็นพี่ทวีสิน พี่เรวัติ พี่ชำนาญ ( พี่น้อง ) พี่หนุ่ย หรือ ป๊อบ ผู้มาใหม่ ที่เป็นผู้นำชาวปูนมาสัมผัสในวิถีของคนผู้คนอีกมุมมองหนึ่งที่แตกต่าง ในครั้งแรกที่ได้รับการติดต่อจากทีม Fa ของปูนนี้ พวกเราชาวข้าวขวัญ ก็คิดกันอยู่หลายตลบว่าเราจะไหวเหรอ เพราะแค่เพียงเนื้องานหลักที่ต้องทำกับเกษตรกรแทบทุกวัน ก็จวนเจียนจะสลบเหมือดกันถ้วนหน้า ไหนจะหน้าที่ในการขับเคลื่อนกับเครือข่ายเกษตรกรรมทั่วประเทศ ที่ต้องการให้เราช่วยเผยแพร่องค์ความรู้เรื่องการทำนา และก็ไม่ได้เป็นมืออาชีพทางงานฝึกอบรม แต่ด้วยความที่เราเห็นความมุ่งมั่น ของทีมผู้นำของปูน ก็ต้องกลับมาคิดทบทวนว่า ถ้าสิ่งนี้มันคืออีกชิ้นงานหนึ่งที่เราต้องทำ เพราะถูกเลือกแล้ว มันก็ไม่ใช่เรื่องที่จะต้องปฏิเสธ เพราะการเรียนรู้ที่จะมีประสิทธิภาพที่สุด คือ การเรียนรู้โดยการแบ่งปันให้ผู้ที่เห็นความสำคัญของมัน เพื่อการปรับไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อ งานชิ้นหนักของพวกเราจึงเกิดขึ้น เมื่อข้าวขวัญถูกคาดหวังว่า จะสามารถช่วยจัดกระบวนการการเรียนรู้เพื่อนำไปสู่การพัฒนาศักยภาพขององค์กรใหญ่อย่าง บ.ปูนซีเมนต์ ( หรือถึงเวลาที่หนูจะช่วยราชสีห์ ) เมื่อราชสีห์ผู้ยิ่งใหญ่ไว้วางใจในหนูตัวจ้อย สรรพกำลังของทรัพยากรเท่าที่ข้าวขวัญมีอยู่ก็ถูกระดมในการวางแผนเพื่อจัดกระบวนการให้สมกับที่เค้าไว้วางใจ ทั้งที่ต่างฝ่ายก็ต่างไม่รู้จักกันมากพอ แต่ฉันและทีมงานก็มั่นใจว่า ประสบการณ์ที่สั่งสมจากการทำงานกับชาวบ้านหรือการเป็นผู้นำทางการเปลี่ยนแปลงแนวคิดให้กับองค์กรต่างๆที่ผ่านมา ก็น่าจะเป็นเครื่องมือที่พอจะแบ่งปัน ราชสีห์อย่างบรรดาบุคลากรที่แข็งแกร่งของปูนซีเมนต์ได้ รูปแบบกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้จึงเกิดขึ้นจากการอาศัยประสบการณ์เดิมที่เคยมีอยู่ โดยไม่ลืมจะสอดแทรกวัฒนธรรมขององค์กร เพื่อเชิดชูให้ผู้มาเยือนได้เห็นว่า “แค่คุณคิดว่าอยากจะรู้ คุณจะได้รู้มากกว่าที่คุณอยาก” ดังนั้น ในบทความวันนี้ ฉันจึงขอพื้นที่ในการแบ่งปันกระบวนการที่ได้บังเกิดขึ้นกับเหล่าราชสีห์ ที่เราจะใช้เวลาทำกิจกรรมร่วมกัน 3 วัน โดยมีฉันและทีมงานเป็นทีมวิทยากรกระบวนการ จัดสรรหน้าที่ตามศักยภาพของตนเอง นั่นก็คือ
วันแรก
ช่วงเช้า
1.รู้เขารู้เรา โดยการแนะนำตัวเจ้าของถิ่นอย่างกัลยาณมิตร พูดคุยและทำข้อตกลงร่วมกันว่า จะอยู่และเรียนรู้อย่างไรให้เกิดสันติสุขในระยะเวลา 3 วัน ต่อด้วยกิจกรรมละลายกำแพง และถอดหมวกแห่งอำนาจออกจากแต่ละคน เพื่อให้ทุกคนรู้สึกถึงความเท่าเทียมกัน
2. ละลายพฤติกรรม ด้วยกิจกรรมแนะนำตัวผู้เข้าร่วมที่สนุกและสร้างสรรค์ มีเกมส์ นำเข้าสู่การแบ่งกลุ่มเพื่อการเรียนรู้ร่วมกัน เป็น 3 กลุ่ม ( คละกันไป ) แต่ละกลุ่มมีชื่อ และช่วยกันคิดสัญลักษณ์รวมพลังประจำกลุ่มของตัวเอง
3.กิจกรรมต้นไม้ความหวัง หรือระดมความคาดหวังจากผู้เข้าร่วมโดยอิสระ จนกระทั่งได้เห็นว่าความคาดหวังที่ออกมา ส่วนใหญ่ จะอยู่ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับ ความรู้ใหม่ที่อยากได้ ทักษะที่ต้องการฝึกฝน และวิธีการที่อยากเห็น
ช่วงบ่าย
4.รับฟังแนวคิดกระบวนการจัดการความรู้ในโรงเรียนชาวนา ผ่าน VCD และภาพประกอบคำบรรยาย ก่อนซักถามแลกเปลี่ยน ประเด็นที่สนใจ
5.สัมผัสบรรยากาศและปรับสมดุลเข้าสู่วิถีธรรมชาติ อย่างมีสติเพื่อค้นหาตัวตน
ภาคค่ำ
6.ขุดคุ้ยขุมความรู้ ด้วยกิจกรรม “ค้นหาตัวตน”
7.แบ่งปันและเรียนรู้ อย่างกัลยาณมิตร
วันที่สอง
ภาคเช้า
8.เรียนรู้จากการปฏิบัติจริง จากฐานการเรียนรู้กิจกรรมโรงเรียนชาวนา 3 ฐาน 3 พื้นที่
- การจัดการศัตรูพืชโดยชีววิธี อ.เมือง
-การปรับปรุงบำรุงดิน อ.บางปลาม้า
-การพัฒนาพันธุ์ข้าว อ.อู่ทอง
ภายใต้ประเด็นที่ต้องหยิบยกมาแบ่งปันเพื่อน เช่น องค์ความรู้ที่เกิดขึ้น กระบวนการที่ใช้ บทบาทของคุณกิจและคุณอำนวย เป็นต้น
ภาคบ่าย
9.ถอดบทเรียน และออกแบบการนำเสนออย่างอิสระและสร้างสรรค์ ( เป็นทีม )
ภาคค่ำ
10.นำเสนอบทเรียน Show & Share
วันที่สาม
ภาคเช้า
11.เกมส์การแก้ไขปัญหา การวางแผน และการทำงานเป็นทีม
12.นวตกรรมการเรียนรู้ จากโรงเรียนชาวนาสู่ธุรกิจปูนซีเมนต์ โดยแบ่งตามฝ่ายงาน
13.นำเสนอแผนงานของแต่ละฝ่าย แบ่งปันเพื่อนร่วมวิเคราะห์ความเป็นไปได้
ภาคบ่าย
14.กิจกรรม Share & Learn ( สรุปขุมพลัง/คลังความรู้ ของบุคลากรปูน )
15.โมเดลปลาทู กับการจัดการความรู้
16.ประเมินผลต้นไม้ความหวัง ( ตามความคาดหวัง / เกินความคาดหวัง / ไม่ได้ตามหวัง )
17.ประเมินผลกระบวนการฝึกอบรม
18.กิจกรรมถ่ายเทพลังใจสู่องค์กร
19.กิจกรรมอำลา
นี่คือ กระบวนการที่ข้าวขวัญได้ใช้กับการจัดกระบวนการการเรียนรู้สู่ บ.ปูน 2 รุ่นมาแล้ว และแน่นอนว่ารายละเอียดหรือรูปแบบของกระบวนการก็ต้องมีการปรับเปลี่ยนตามความเหมาะสม และตามกลุ่มการเรียนรู้ แน่นอนว่าไม่มีอะไรที่สมบูรณ์แบบ จบจากงานฝึกอบรมทีมงานก็กลับมานั่งสรุปงานกันต่อ หลายอย่างที่เราต้องปรับกระบวนยุทธ์ พระราชสีห์แต่ละตัวก็ชั้นเซียนกันทั้งนั้น สิ่งที่เรารับรู้จากความรู้สึก คือ แน่นอนว่า ทั้งเหนื่อย ล้า อดทน อดกลั้น ต่อสายตาของผู้เข้าร่วมกิจกรรมกับพวกเรา ซึ่งฉันเข้าใจว่า แต่ละคนเมื่อเห็นเรา เค้าย่อมต้องมีความคิดทั้งเชิงลบ และเชิงบวกอยู่แล้ว แต่ผลจากกิจกรรมนี้ ทำให้เราได้ค้นพบศักยภาพของตัวเองและพลังที่มันยังมีล้นเหลือ ใครจะไปคิดว่า ราชสีห์ทั้งหลายจะยอมลดตัวเองลงมาหาหนู โนเนม อย่างเต็มใจขนาดนี้ ฉันว่ากระบวนการการเรียนรู้สำเร็จได้ ก็ต้องขอบคุณความเอื้ออาทร เปิดเผย จริงใจ เชื่อใจและไว้วางใจที่มีต่อพวกเรา....แล้ววันหนึ่ง หนูจะขอโอกาสไปเยือนถ้ำราชสีห์บ้าง คงทำให้เราได้รู้จักตัวตนของกันและกันมากขึ้น
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย ข้าวขวัญ ใน มูลนิธิข้าวขวัญ (KhaoKwan Foundation)