๗๑.ปัจเจกจิตสาธารณะและชุมชนเข้มแข็ง : โรงเรียนสาคลีวิทยา โรงเรียนเศรษฐกิจพอเพียง


"....สภาพดังกล่าวทำให้คนสาคลี ต้องอยู่ร้อนนอนทุกข์ ทิ้งบ้าน ทิ้งนาไร่ ขายที่ดิน บ้างก็ไปเป็นแรงงานในกรุงเทพฯและในโรงงานอุตสาหกรรมที่เริ่มขยายตัวมาถึงอยุธยา ..."

  โรงเรียนเศรษฐกิจพอเพียงที่สาคลี  

การพานักศึกษาและกลุ่มคณาจารย์ หลักสูตรบริหารการศึกษา(หลักสูตรนานาชาติ) * ไปศึกษาดูงานโรงเรียนกับการจัดการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนและโรงเรียนเศรษฐกิจพอเพียง หลังจากไปที่ โรงเรียนปิยชาติพัฒนา เขาชะโงก จังหวดนครนายก อีกแห่งหนึ่งก็คือ โรงเรียนสาคลีวิทยา อำเภอเสนา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งเป็นโรงเรียนนำร่องโครงการโรงเรียนในฝันและเป็นตัวอย่างของโรงเรียนเศรษฐกิจพอเพียง มีพัฒนาการทางด้านต่างๆมาอย่างน่าสนใจ

ชุมชนสาคลี อำเภอเสนานั้น เป็นส่วนหนึ่งของพระนครกรุงศรีอยุธยา นครหลวงเก่าและเมืองอู่ข้าวอู่น้ำที่ผ่านความรุ่งเรืองและล่มสลายสลับกันมาหลายครั้ง ส่วนชุมชนเขาชะโงกนั้น ก็มีประวัติเป็นอดีตเมืองหน้าด่านและมี ขุนด่าน เป็นวีรชนที่รวมจิตใจของผู้คนไว้ด้วยกันมาจนถึงปัจจุบัน ขณะเดียวกัน ก็มีความแตกต่างกันหลายด้าน ซึ่งก็จะสะท้อนความเป็นเหตุเป็นผลให้เห็นในมิติต่างๆในการจัดการศึกษาของโรงเรียน รวมทั้งสะท้อนให้เห็นถึงพลังของกระแสโลกาภิวัตน์ ที่โรงเรียนและชุมชนสนองตอบด้วยบริบทของท้องถิ่นทั้งที่เหมือนและแตกต่างกัน ซึ่งก็จะทำให้กลุ่มนักศึกษาได้วิธีคิดที่เชื่อมโยง นำกลับไปวิเคราะห์และบริหารจัดการการศึกษาในโรงเรียนของประเทศตนได้เป็นอย่างดี

คณะของเราเดินทางออกจากที่พักที่เขาชะโงก นครนายก และใช้เวลาเพียงประมาณ ๑ ชั่วโมง ก็ถึงชุมชนสาคลีและโรงเรียนสาคลีวิทยา  สภาพโดยทั่วไปของชุมชนเปลี่ยนแปลงไปจากเมื่อกว่า ๑๐ ปีก่อนที่ผมเคยได้ไปเยือนมาก ทว่า ลุงชาวบ้านจากละแวกนั้นที่ผ่านทางมาเจอคณะของเราและกุลีกุจอบอกทางพร้อมกับนำรถโดยสารคณะของเราให้หาที่จอดได้อย่างเหมาะสม ก็บอกให้รู้ว่าชุมชนสาคลียังมีความเป็นชุมชนชาวบ้านอยู่อย่างหนักแน่น

  โลกาภิวัตน์กับความสูญเสียปูมชีวิตและความเป็นชุมชน 

ก่อนทศวรรษ ๒๕๓๐ โรงเรียนสาคลีวิทยา ชุมชน และตลาดบ้านสาคลี ยังคงอยู่ในวิถีชีวิตของชาวชนบท ชาวบ้านเรียกชุมชนดั้งเดิมละแวกนั้นว่าตลาดบ้านท่าเกวียน มีเรือบรรทุกข้าว ท่าขึ้นข้าว และโรงสี ลักษณะบ้านเรือนเรียงรายไปตามสองฝั่งคลอง ชาวบ้านท้องถิ่นทำนากันทุกครัวเรือน อยู่เย็นเป็นสุขอยู่ในพื้นที่อันได้ชื่อว่าเป็นอู่ข้าวอู่น้ำอันอุดมสมบูรณ์ที่สุดของประเทศ อีกทั้งมีปูมชุมชนที่เก่าแก่ เป็นสภาพวิถีชีวิตชุมชนที่สะท้อนอยู่ในวรรณกรรมคลาสิคของไทยหลายเรื่อง วัด โรงเรียน ครู สถาบันครอบครัว และสถาบันผู้สูงอายุ มีบทบาทต่อการสร้างความสงบสุขให้แก่ชุมชน ศานติ พอเพียง ทำนุบำรุงศาสนาและศิลปวัฒนธรรมให้มีความเจริญงอกงามอยู่กับชีวิตของสังคมท้องถิ่น

                             Farmersolidarity 

                             ภาพที่ ๑ การลงแขกเกี่ยวข้าว : ความเป็นชุมชน การรวมกลุ่ม และการจัดวางตนเองของปัจเจกเป็นกลุ่มจัดการที่เข้มแข็ง เป็นพื้นฐานองค์กรจัดการอย่างมีส่วนร่วมที่มีอยู่ในวิถีชีวิตดั้งเดิมของสังคมไทย วาดภาพ : วิรัตน์ คำศรีจันทร์ จาก วัฒนธรรมการลงแขกเกี่ยวข้าวของชุมชนหนองบัว อำเภอหนองบัว นครสวรรค์  http://gotoknow.org/file/wiratkmsr/view/379553

  ต่อมา   ปลายทศวรรษ ๒๕๓๐ และล่วงเข้าสู่ทศวรรษ ๒๕๔๐ สภาพสังคมและเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศได้ขยายตัวอย่างมากมาย ก่อให้เกิดผลกระทบและผลสืบเนื่องที่สร้างความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงในหลายด้านให้เกิดขึ้น ที่สำคัญคือยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศได้มุ่งกระจายออกจากกรุงเทพฯและปริมณฑล ไปสู่ชนบท ซึ่งเป็นทั้งการลดความเหลื่อมล้ำของการพัฒนาที่กระจุกตัวรวมศูนย์อยู่แต่ในกรุงเทพฯ ลดความแออัดของกรุงเทพฯ และลดการย้ายถิ่นของประชาชนจากภาคชนบทเข้าสู่กรุงเทพฯ

มาตรการหนึ่งที่เกิดขึ้นก็คือ การแบ่งเขตส่งเสริมการลงทุนทางอุตสาหกรรมของประเทศออกเป็น ๓ เขต โดยเขต ๑ ได้แก่พื้นที่เศรษฐกิจศูนย์กลางของกรุงเทพฯ เขต ๒ ได้แก่พื้นที่ปริมณฑลของกรุงเทพฯ และพ้นจากเขต ๒ ก็เป็นเขต ๓

เขต ๒ และเขต ๑ นอกจากจะมีกฏหมายควบคุมขนาดและชนิดประกอบการอุตสาหกรรมแล้ว ก็จะต้องเสียภาษีและค่าใช้จ่ายมาก ซึ่งเป็นแรงกดดันทางอ้อมให้การขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการต่างๆกระจายออกไปยังชนบท

ส่วนพื้นที่ในเขต ๓ ก็จะมีมาตรการส่งเสริมการลงทุนหลายอย่างเพื่อจูงใจและดึงดูดการลงทุนของผู้ประกอบการให้กระจายออกจากกรุงเทพฯไปยังพื้นที่นอกปริมณฑลของกรุงเทพฯและชนบททั้งประเทศซึ่งเป็นเขต ๓ เช่น การลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานให้ของรัฐบาล การลดกำแพงภาษีการส่งออกให้ การลดภาษีและค่าขนส่งในการนำเข้าเครื่องจักรและวัตถุดิบจากต่างประเทศ ในขณะที่เขต ๒ และเขต ๑ ก็จะเป็นในทางตรงกันข้าม คือ ห้ามตั้งโรงงานและสถานประกอบการอุตสาหกรรม พร้อมกับเก็บภาษีและมีค่าบริการต่างๆสูงกว่าพื้นที่อื่นและด้วยเงื่อนไขที่ยุ่งยากกว่า ซึ่งทำให้การลงทุน ต้นทุนเวลาและต้นทุนการประกอบการสูงขึ้น จังหวัดอยุธยาอยู่ในพื้นที่เขต ๓ อีกทั้งอยู่ใกล้สิ่งอำนวยความสะดวกทั้งท่าเรือ สนามบิน และศูนย์กลางการขนส่งที่เชื่อมโยงไปทั่วประเทศ จึงทำให้เป็นพื้นที่ดึงดูดให้มีการซื้อขายที่ดินเพื่อตั้งโรงงานอุตสาหกรรมมากที่สุด

Farmer Buffalo

ภาพที่ ๒ การทำนาและชีวิตชุมชนเกษตรกรรม เป็นชีวิตชุมชนซึ่งมีกระบวนการเรียนรู้และสร้างภูมิปัญญาสะสมไว้ในวิถีการดำเนินชีวิตอยู่เป็นจำนวนมาก ภาพที่ ๓ ภาพวาดสีน้ำนี้เป็นรูปควายตัวหนึ่งในชุมชนสาคลี ซึ่งผมได้ไปกราบคารวะลุงคุณครูสุรินทร์ กิจนิตย์ชีว์ เมื่อประมาณปี ๒๕๓๙ และคุณลุงได้พาผมเดินดูสิ่งต่างๆทั่วชุมชนพร้อมกับเล่าถ่ายทอดเรื่องราวต่างๆให้ฟังไปด้วย คุณลุงบอกว่าควายตัวนี้เหลือเป็นตัวสุดท้าย ชาวบ้านไม่ใช้งานแล้ว ทั้งเนื่องด้วยเป็นควายแก่และเกษตรกรก็ทำนากันต่อไปไม่ไหวแล้ว ขายที่ดินไปทำอย่างอื่น ที่เหลือก็หันไปใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ จึงเหมือนเป็นการเผชิญหน้ากันที่ไม่ลงตัวของความเป็นท้องถิ่นกับกระแสโลกาภิวัตน์ ถ่ายภาพและวาดภาพโดย : วิรัตน์ คำศรีจันทร์

  ความตระหนักรู้ต่อภาวะกดดันเพื่อการเปลี่ยนแปลง 

ในช่วงเวลาดังที่กล่าวมานี้ การพัฒนาเศรษฐกิจและภาคอุตสาหกรรมของประเทศไทยก็ขยายตัวอย่างรวดเร็วและมีอัตราการเติบโตสูงที่สุดในโลกอย่างต่อเนื่อง วิถีชีวิตชุมชนและการผลิตในภาคเกษตรกรรมของคนส่วนใหญ่ในประเทศได้รับอิทธิพลต่อพัฒนาการดังกล่าวเป็นอย่างสูง ชาวนามุ่งลงทุนผลิตเพื่อขายให้ได้กำไร เช่นเดียวกับที่ชาวบ้านของชุมชนสาคลี  แต่เมื่อทำไปในวิถีดังกล่าวไประยะหนึ่ง ภาคการผลิตเกษตรกรรมของชาวบ้านก็เริ่มล่มสลาย ต้องลงทุนมากขึ้น อัดปุ๋ย ยา และต้องจ่ายค่าจ้างแรงงานมากขึ้น แต่ได้ผลผลิตและกำไรน้อยลง พร้อมกับเป็นหนี้กันมากขึ้น

ขณะเดียวกัน การบริโภคสิ่งที่ตนเองผลิตไม่ได้ก็กลับเพิ่มสูงขึ้น ชาวนาเริ่มซื้อรถและสิ่งทันสมัย ต่อมาก็วิกฤติมากยิ่งขึ้น เช่น เกิดการระบาดของหนู ตั๊กแตน และโรคพืชสารพัด ทางด้านสังคมในชุมชนก็เสื่อมโทรม รวมไปจนถึงกระทบต่อบทบาทของโรงเรียนและการศึกษาเรียนรู้ของเด็ก ปัญหาเด็กออกกลางครัน ติดยา ตั้งครรภ์ ผลสัมฤทธิ์ทางการจัดการเรียนการสอนตกต่ำ

ในอีกด้านหนึ่ง ความเฟื่องฟูทางเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมของประเทศไทยก็ทำให้การลงทุนจากทั่วโลกมุ่งมายังประเทศไทย แรงผลักที่ชาวบ้านไม่อยากทำนาและขายที่ดิน กับความต้องการลงทุนที่กระจายออกจากกรุงเทพฯจึงเอื้อประโยชน์ต่อกัน ดังนั้น ในช่วงกลาง ทศวรรษ ๒๕๓๐ กระทั่งถึง ทศวรรษ ๒๕๔๐ ชุมชนสาคลีและโดยรอบก็มีโรงงานอุตสาหกรรมเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องมากกว่า ๑๐ แห่ง จากชุมชนที่มีผู้คนอยู่ ๔๐๐-๕๐๐ ครัวเรือน ก็ขยายตัวเป็นชุมชนที่มีประชากรวัยแรงงานจากทั่วประเทศเข้ามาอยู่ในพื้นที่ หลายหมื่นคน กระแสโลกาภิวัตน์ทางเศรษฐกิจกระทบต่อวิถีความเป็นท้องถิ่น และก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ที่คนท้องถิ่นปรับตัวไม่ทัน

สภาพดังกล่าวทำให้คนสาคลี ต้องอยู่ร้อนนอนทุกข์ ทิ้งบ้าน ทิ้งนาไร่ ขายที่ดิน บ้างก็ไปเป็นแรงงานในกรุงเทพฯและในโรงงานอุตสาหกรรมที่ขยายตัวมาถึงอยุธยา สร้างความตระหนกต่อทั้งครูและผู้คนในชุมชน ลุงคุณครูสุรินทร์ กิจนิตย์ชีว์ คนชุมชนสาคลีและเป็นครูเก่าแก่ของโรงเรียนซึ่งรับรู้สิ่งที่เกิดขึ้นอย่างเป็นทุกข์กระทั่งเป็นผู้นำในการสร้างความเปลี่ยนแปลงหลายอย่างในเวลาต่อมา กล่าวถึงสิ่งที่เกิดขึ้นต่อสังคมไทยที่สะท้อนให้เห็นอยู่ในชุมชนสาคลีด้วยเช่นกันว่า เป็นความล่มสลายและสูญเสียยิ่งกว่าการเสียกรุงศรีอยุธยาในยุคสงครามกับพม่าและน่ากลัวกว่าเสียอีกเพราะไม่สามารถเห็นศัตรูที่เป็นตัวตนได้

ศัตรูในการต่อสู้ของยุคนี้ไม่เหมือนกับอดีตแล้ว เนื่องจากไม่ใช่คนแต่เป็นความยากไร้ ความทุกข์ร่วมกัน และการขาดการเรียนรู้สิ่งที่เป็นภูมิปัญญาและความเข้มแข็งของตนเอง ต้องต่อสู้ด้วยสติปัญญาและความรู้ที่อยู่บนรากฐานชีวิต ให้พึ่งตนเองได้พอเพียงและมีความทัดเทียมต่อการเรียนรู้เข้าสู่การเปลี่ยนแปลงได้อย่างเหมาะสมกว่าเดิม

  โรงเรียน : เวทีสร้างพลังปัญญาเพื่อนำการเปลี่ยนแปลงของชุมชน 

ครูกับชุมชนไม่สามารถเพิกเฉยอยู่ได้ ณ เวลานั้น ลุงคุณครูสุรินทร์ กิจนิตย์ชีว์ จึงนำครูและชาวบ้านมาหารือกัน ปัญหาที่ผุดขึ้นมาสู่ความห่วงใยก่อนก็คือ การไม่สนใจศึกษาเล่าเรียนของลูกหลาน และการไม่มีทักษะที่จะดำเนินชีวิตให้มีความสุขต่อไปได้ในชุมชน ทำให้ต้องละทิ้งบ้าน ยอมไปเป็นแรงงาน ทำให้ครอบครัวและชุมชนล่มสลาย ไม่สามารถพึ่งตนเองได้ในอนาคต และเป็นพลเมืองของส่วนรวมที่ไม่มีคุณภาพ ซึ่งการแก้ปัญหาโดยครอบครัวและชุมชนแต่เพียงลำพังก็ไม่พอ และจะให้โรงเรียนแก้ปัญหาให้แก่เด็กฝ่ายเดียวก็ไม่พอ ชุมชนกับโรงเรียนสาคลีวิทยาเมื่อเกือบ ๒๐ ปีก่อนจึงเปิดเข้าหากัน นำเอาภูมิปัญญาชุมชนและรากเหง้าของสังคมมาสู่การจัดกระบวนการเรียนรู้ โครงการเรียนรู้จากการทำไร่นาสวนผสม เป็นปฏิบัติการแรกๆของโรงเรียนกับชุมชน

                             

                             ภาพที่ ๔ ดร.ภุชงค์ วัฒายุ ผู้อำนวยการโรงเรียน ต้อนรับและบรรยายให้นักศึกษานานาชาติ วิสัยทัศน์และปรัชญาของโรงเรียนสาคลีวิทยานั้น มุ่งเป็นจัดการศึกษาเพื่อสร้างสุขภาวะชุมชนและสร้างคนให้สืบสานวิถีชีวิตของชุมชน มีความสุขทั้งระดับปัจเจกและระดับสังคม

ห้องเรียนของนักเรียนชุมชนสาคลีวิทยาจึงผสมผสานทั้งการศึกษาตามมาตรฐานของหลักสูตรส่วนกลางในห้องและการศึกษาเพื่อสร้างลูกหลานให้มีความสำนึกใหม่ต่อสังคมตามแนวคิดของโรงเรียนกับชุมชนโดยการออกไปเรียนรู้อยู่ในเรือกสวนไร่นา เด็กๆนักเรียนของสาคลีวิทยาต้องเรียนรู้จากการทำนา ไถนา ดูพืชสวนนาไร่ เกี่ยวข้าว ฝัดข้าว สีข้าวและตำข้าว แปรข้าวเปลือกเป็นข้าวขาว รวมทั้งบูรณาการสาระการเรียนรู้ต่างๆเข้าสู่การผลิตของชุมชนเกษตรกรรม ชาวบ้าน พ่อแม่ พระ และคนเฒ่าคนแก่ ในชุมชน ก็มาช่วยกันเป็นครูของเด็กๆ

ในที่สุดความเป็นชีวิตชุมชนและความเติบโตงอกงามของเด็กอย่างที่ควรจะเป็นก็เกิดขึ้น ปัญหาหลายอย่างของเด็กนักเรียนลดลง ผลสัมฤทธิ์ต่อการสำเร็จในการเรียนของเด็กและออกไปทำมาหากินเป็นพลเมืองดีของชุมชน ดีกว่าเดิมมาก สุขภาวะชุมชนดีขึ้น ชุมชนสามารถพึ่งตนเองในการเผชิญปัญหาต่างๆและระดมความร่วมมือจากแหล่งต่างๆมาช่วยกันสร้างโอกาสการพัฒนาสุขภาวะชุมชนได้มากขึ้น ผลผลิตจากการทำนาและเกษตรกรรมก็ขายราคาถูกให้ชาวบ้าน ทำให้มีทุนเพื่อพัฒนาการเรียนการสอนและช่วยเหลือเด็กที่ยากจน ชุมชนก็มีผักและอาหารที่ปลอดสารพิษบริโภค สิ่งแวดล้อมของชุมชนมีความยั่งยืนและเอื้อต่อความอยู่เย็นเป็นสุขของชาวสาคลีมากขึ้น

                             

                              ภาพที่ ๕ กลุ่มนักเรียนและคณะครูของโรงเรียนสาคลีวิทยา ร่วมรับประทานอาหารกลางวันกับคณะนักศึกษานานาชาติและคณาจารย์จากมหาวิทยาลัยมหิดล นักเรียนที่รำเสร็จแล้วคนหนึ่งถึงกับเป็นลมเพราะซ้อมหนักและตื่นเต้น เพื่อนๆและคุณครูช่วยกันเป็นพนักงานจัดเวที คุมเครื่องเสียง ถ่ายรูป บริการอาหารและน้ำดื่มให้กับแขกผู้มาเยือนอย่างขันแข็ง สองภาพมุมล่างซ้ายนั้น ภาพบนผู้ชายที่ผูกเน็คไทข้างซ้าย ดร.ภุชงค์ วัฒายุ คือ Mr.Peter ครูภาษาอังกฤษชาวฟิลิปปินส์ ซึ่งมาเป็นครูและอยู่บ้านพักกินนอนอยู่กับชุมชนข้างโรงเรียน และล่างซ้าย กลุ่มดาราและนักกีฬาฟุตบอลทีมชาติ ร่วมกับกลุ่มศิษย์เก่าของโรงเรียนสาคลี จัดกิจกรรมกับเด็กและชุมชน ทำให้โรงเรียนและชุมชนมีโอกาสปฏิสัมพันธ์กับโลกภายนอก สามารถเตรียมตนเองและเลือกสรรการเปลี่ยนแปลงได้ดีขึ้น

บทเรียนและความสำเร็จในระยะแรก เป็นพื้นฐานที่ทำให้โรงเรียนสาคลีวิทยามีโอกาสในการพัฒนาตนเองต่อมาในหลายด้าน รวมทั้งเป็นตัวอย่างการปฏิรูปการศึกษาเรียนรู้โดยยุทธศาสตร์ชุมชนเข้มแข็ง ส่งเสริมชาวบ้านให้รวมตัวกันสร้างสรรค์ความเป็นส่วนรวม และส่งเสริมการเรียนรู้รากเหง้าของชุมชน นำเอาภูมิปัญญาท้องถิ่น ประวัติศาสตร์ชุมชนและความสำนึกต่อศักดิ์ศรีของชุมชนเกษตรกรรม มาขับเคลื่อนพลังการมีส่วนร่วมของชุมชน

ลุงคุณครูสุรินทร์ กิจนิตย์ชีว์ ซึ่งเป็นครูชาวบ้านของชุมชนนั้น ต่อมาก็เกษียณแต่ก็กลับมีบทบาทในการถ่ายทอดบทเรียนไปสู่การทำงานให้กับสังคมในวงกว้างมากว่าเดิม เป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวางของสาธารณะโดยเฉพาะในแง่ของการทำงานชุมชนและการศึกษาแนวปฏิรูป เช่น ได้รับเชิญเป็นผู้แสดงปาฐกถาโกมลคีมทอง ได้รับเชิดชูเกียรติเป็นคนดีศรีแผ่นดิน ได้รับรางวัลครูแห่งชาติ ได้รับเชิญเป็นผู้แสดงปาฐกถา ดร.อุทัย ดุลยเกษม เป็นกรรมการแผนงานชุมชนสุขภาวะของสำนักงานคณะกรรมการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส) และเป็นปากเสียงในเวทีสาธารณะที่สำคัญทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับชาติในการส่งเสียงสะท้อนจากชุมชนไปสู่รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เหล่านี้เป็นต้น

ปัจจุบัน ชุมชนและโรงเรียนสาคลีวิทยา ก็ยังคงสานต่อความริเริ่มต่างๆที่เคยร่วมทำกันมา และเป็นโรงเรียนตัวอย่างการทำและเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงในโรงเรียน รวมทั้งโครงการเรียนรู้ภูมิปัญญาชุมชนท้องถิ่น และแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืน

  กระบวนการเรียนรู้และแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับผู้บริหารการศึกษานานาชาติ 

ผมขอเขียนถ่ายทอดบทเรียนและร่วมสื่อสารขยายผลสิ่งดีในสังคมให้แพร่หลาย พร้อมกับขอรำลึกถึงน้ำใจและความเหน็ดเหนื่อยของผู้คนที่อยู่เบื้องหลัง ที่ทำให้คณะนักศึกษาและคณาจารย์ของหลักสูตรหลายท่านได้ศึกษาเรียนรู้สิ่งต่างๆของชุมชนและโรงเรียนสาคลีวิทยา(ประมวญ บำรุงราษฎร์) ในครั้งนี้ไปด้วย ผมเจาะจงออกแบบกระบวนการศึกษาดูงานและเลือกโรงเรียนปิยชาติพัฒนากับโรงเรียนสาคลีวิทยา เพื่อมุ่งให้เป็นโอกาสเรียนรู้ที่ดีที่สุดภายในระยะเวลาและทรัพยากรอันจำกัด ทั้งสำหรับกลุ่มนักศึกษานานาชาติและสำหรับกลุ่มอาจารย์ด้วยกัน

  การเรียนรู้ที่คำนึงถึงบริบทของประเทศที่ใกล้เคียงกัน  

เมื่อได้รับมอบหมายจากทีมให้ออกแบบกระบวนการและรับผิดชอบด้านกิจกรรมทางวิชาการ ผมก็ขอเปลี่ยนแปลงแหล่งที่จะไปศึกษาดูงานจากการไปดูมหาวิทยาลัยที่มีการจัดการศึกษาสาขาศึกษาศาสตร์และบริหารการศึกษาแถวหน้าของประเทศ รวมทั้งจากการไปดูตัวอย่างโรงเรียนทางเลือกดีๆของลูกหลานจากครอบครัวคนชั้นกลางของประเทศ ไปสู่การไปดูการจัดการเรียนการสอนของโรงเรียนปิยชาติพัฒนาและโรงเรียนชุมชนสาคลีวิทยา ทั้งนี้ ก็เนื่องจากสองแห่งนี้ จะมีภาพสะท้อนผสมผสานกันของกระแสโลกาภิวัตน์กับความเป็นท้องถิ่นที่ชัดเจนที่สุด และบทบาทของภาคการศึกษาโดยสถานศึกษาในท้องถิ่นก็สนองตอบได้อย่างพอดี ลงตัว ปัญหาทางการศึกษา สังคม สิ่งแวดล้อม ที่สะท้อนอยู่ในการวิเคราะห์และวางแผนทางการศึกษา ก็มีบริบทที่ใกล้เคียงกับสภาพสังคมในประเทศของพวกเขามากที่สุด (ศรีลังกา เกาหลี จีน จีนทิเบต ภูฏาน กัมพูชา มัลดีฟ)

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง นอกจากนักศึกษาทั้งหมดเป็นคนเอเชียแล้ว ประเทศของนักศึกษากลุ่มใหญ่ ทั้งศรีลังกา ภูฏาน กัมพูชา และมัลดีฟนั้น ก็มีโครงสร้างการปกครองและระบบสังคมคล้ายกับสังคมไทย ผมจึงอยากให้เขาได้เห็นบทบาทเชิงบวกของระบบอุปถัมภ์จากความเป็นจริงของสังคมซึ่งอาจจะมีแง่มุมหลากหลายออกจากสังคมที่พื้นฐานแตกต่างกันออกไป รวมทั้งเห็นความเป็นสากลของพื้นฐานชีวิตชุมชนเพื่อเข้าถึงกระบวนทรรศน์การพัฒนาใหม่ๆ ที่ต้องอาศัยความเกื้อหนุนส่งเสริมกันของความเป็นท้องถิ่นกับโลกาภิวัตน์ ให้การสร้างสุขภาวะในชุมชนระดับต่างๆมีดุลยภาพ พอเพียง และมีความยั่งยืนในการพัฒนามากกว่าในอดีต

หากมีบางด้านที่ก้าวหน้ากว่าไปบ้าง ก็เป็นภาพสะท้อนอนาคตของสังคมโลกที่จะกระทบต่อสังคมของเขาอยู่ไม่ไกล หากไปดูจากแหล่งอื่นที่ก้าวหน้ามาก ก็จะได้เห็นแต่เพียงความตื่นตาตื่นใจแต่นำประสบการณ์กลับไปใช้ในการทำงานไม่ได้ แน่นอนว่าระยะเวลาแม้สั้นมาก จะทำให้มีประสบการณ์ที่เข้มข้นมากก็คงไม่พอ แต่ก็เชื่อว่าจะเป็นการทำให้มีโอกาสได้สัมผัสและลิ้มลอง เพื่อเป็นความประทับใจและเห็นภาพได้เมื่อนึกถึงแล้วนำไปศึกษาค้นคว้าให้ลึกซึ้งต่อไปเองเมื่อมีโอกาส ซึ่งก็จะดีกว่าเรียนแต่ทฤษฎีในห้องและคิดเอาจากตำรา

ในส่วนของคณะอาจารย์ ผมก็ถือว่าเป็นหน้าที่ไปด้วยว่า นอกเหนือจากที่ผมก็ต้องเรียนรู้หลายอย่างจากประสบการณ์อันแตกต่างของคนอื่นๆนั้น กระบวนการดังกล่าวนี้จะทำให้ทุกท่านมีประสบการณ์กับสังคมและสามารถสะท้อนความเป็นจริงของสังคมไปสู่การวิจัย บริการวิชาการและสอนหนังสือ ได้มากยิ่งๆขึ้น เรียกว่าทำให้เป็นกระบวนการสร้างทีมนักวิชาการในกระบวนทรรศน์ใหม่ๆไปด้วยในตัว ทุกคนเห็นด้วย และออกปากว่าเป็นการทำงานที่หนักหน่วงหามรุ่งหามค่ำอย่างไม่เคยเจอมาก่อน แต่ก็สะท้อนว่าได้สิ่งต่างๆมากมายทั้งทางวิชาการและความประทับใจ ทั้งกลุ่มอาจารย์และนักศึกษา

                             

                             ภาพที่ ๖ กลุ่มนักเรียนและคณะครูของโรงเรียนสาคลีวิทยา นำเอาทรัพยากรการเรียนรู้ที่มาจากภูมิปัญญาท้องถิ่น และเป็นสื่อการเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงที่ได้ทำจริงอยู่ในโรงเรียน มาจัดเป็นฐานการเรียนรู้ให้กับกลุ่มผู้ศึกษาดูงานนานาชาติ Mr.Muslimine ผู้อำนวยการโรงเรียนแห่งหนึ่งของศรีลังกาและเป็นลูกชาวนา แลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมโดยสาธิตวิธีการฝัดข้าวด้วยกระด้งของชาวนาในประเทศของตน ดร.ภัทรียา กิจเจริญ ดร.อริสรา เล็กสรรเสริญ และ ดร.สุมาลี นาคประดา นั่งให้นักเรียนในกลุ่มสนใจแพทย์แผนไทยและอนุรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่นสาธิตการนวดน้ำมัน และด้านในสุด ตู้อบสมุนไพร ซึ่งทำขึ้นด้วยครูและนักเรียน

ดร.ภุชงค์ วัฒายุ ผู้อำนวยการโรงเรียน คณะครูและนักเรียน ช่วยกันรวบรวมประสบการณ์และทรัพยากรการเรียนรู้ของตน ออกมาจัดวางให้ทั้งโรงเรียนกลายเป็นมหาวิทยาลัยการศึกษานานาชาติได้อย่างน่าทึ่ง ผู้อำนวยการ ผู้นำองค์กรท้องถิ่น และคณะครู ช่วยกันเป็นผู้บรรยายและร่วมสันถวะกลุ่มนักศึกษาและคณาจารย์อย่างเป็นธรรมชาติของตัวเอง ได้ยินภาษาของความจริงใจและตั้งใจ ไม่ต้องปรุงแต่งให้ดีเลิศเกินความเป็นจริง ปัจจุบันโรงเรียนสาคลีวิทยามีนักเรียนอยู่เพียง ๔๐๐ กว่าคนใน ๑๑ ห้องเรียนจาก ม.๑-ม.๖ การประเมินมาตรฐานและคุณภาพทางด้านต่างๆ โดย สมศ.และจากวิธีการต่างๆ โดยรวมแล้วก็อยู่ในมาตรฐาน ยกเว้นทางด้านภาษาอังกฤษ ต่ำกว่ามาตรฐาน และทางด้านสังคม การมีส่วนร่วมของชุมชน การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม คูคลอง สุขภาพอนามัย ประวัติศาสตร์ ภูมิปัญญาและศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น เหล่านี้ สูงกว่ามาตรฐาน ที่สำคัญคือ เด็กๆของโรงเรียน ครู และชุมชน มีทักษะในการเรียนรู้จากของจริงร่วมกันเป็นอย่างดี

  สรุปบทเรียนและความทรงจำ 

บทเรียนของโรงเรียนสาคลีวิทยาและเครือข่ายชุมชน ให้อนุสติได้เป็นอย่างดีว่า การที่จะระดมพลังจิตสาธารณะของปัจเจกและระดมพลังการมีส่วนร่วมของชุมชน มาสู่การพัฒนาการจัดการเรียนการสอนและพัฒนาโรงเรียนเพื่อสนองตอบต่อปัญหาต่างๆนั้น ต้องไม่วิเคราะห์ปัญหาของโรงเรียนแยกเอกเทศจากความเป็นท้องถิ่นและความเชื่อมโยงกับกระแสโลกาภิวัตน์ เพราะปัญหาทางการศึกษาและปัจจัยที่จะส่งผลต่อการจัดการศึกษาเรียนรู้ให้แก่เด็กของโรงเรียน รวมทั้งต่อมิติต่างๆของการบริหารจัดการโรงเรียนในชุมชนนั้น มีความเป็นจริงเชิงระบบอันซับซ้อน สืบเนื่อง และพึ่งพิงอิงกันอยู่หลายด้าน จึงต้องแก้ปัญหาและมีการเรียนรู้ไปด้วยกันของหลายฝ่าย 

                              

                               ภาพที่ ๗ กลุ่มนักศึกษานานาชาติเดินเรียนรู้กิจกรรมการเรียนรู้ของโรงเรียนเศรษฐกิจพอเพียงจากฐานการเรียนรู้ของเด็กๆ จากนั้น ก็สร้างความรำลึกให้กับตนเองโดยร่วมกันปลูกต้นไม้ มอบเป็นสิ่งแวดล้อมให้แก่โรงเรียน

รูปแบบของโรงเรียนสาคลีวิทยา(ประมวญ บำรุงราษฎร์) ในการนำการเปลี่ยนแปลงโดยพลังจิตสาธารณะของปัจเจก นับแต่ครูและคนในชุมชนจำนวนหนึ่งที่ตื่นตัวขึ้นมาทุ่มเทการทำงานด้วยกัน และอีกทางหนึ่งก็ส่งเสริมชุมชนเข้มแข็ง โดยขับเคลื่อนด้วยกระบวนการเรียนรู้ทั้งประวัติศาสตร์และภูมิปัญญาท้องถิ่น การรวมกลุ่มทำงานสร้างสรรค์สังคมและเรียนรู้อย่างมีส่วนร่วมจากการลงมือทำงานเชิงสังคมในวิถีประชาคมเพื่อสร้างพลังเปลี่ยนแปลงออกจากภายในตนเอง ทำให้โรงเรียนและชุมชนต่างก็เป็นความเข้มแข็งให้กัน ก่อให้เกิดสุขภาวะทั้งของโรงเรียนกับชุมชน จึงนับว่าเป็นแนวทางหนึ่งที่เหมาะสมและพอเพียงสำหรับโรงเรียนในชนบท

ก่อนอำลากัน ครูและเด็กๆ ให้กลุ่มนักศึกษาและคณะอาจารย์ได้สร้างของระลึกด้วยตนเองด้วยกันโดยการปลูกต้นไม้มอบเป็นสิ่งแวดล้อมให้โรงเรียน มีป้ายบอกชื่อและธงชาติของแต่ละประเทศ ปักตามต้นไม้ที่ปลูกด้วยกัน.

--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

* ปัจจุบัน ได้ปรับปรุงหลักสูตรและเปลี่ยนชื่อ จาก ศึกษาศาสตรมหาบัณฑิต, ศษ.ม. สาขาการบริหารการศึกษา เป็น ศึกษาศาสตรมหาบัณฑิต, ศษ.ม. สาขาการจัดการการศึกษา และจะใช้ชื่อดังกล่าวโดยเริ่มในรุ่นปีการศึกษา ๒๕๕๓

หมายเลขบันทึก: 338517เขียนเมื่อ 20 กุมภาพันธ์ 2010 15:46 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 22:28 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (23)
พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)
  • โรงเรียนสาคลีวิทยาและครูสุรินทร์ กิจนิตย์ชีว์ชื่อนี้ได้ยินและรับรู้มาไม่น้อยกว่ายี่สิบปี
  • เป็นชุมชนที่ได้รับผลกระจากการพัฒนาที่เกือบเอาตัวไม่รอดในลำดับต้น ๆ ของประเทศ และก็ฟื้นตัวได้ก่อนชุมชนอื่นเพราะคนในชุมชนร่วมมือกันแก้ปัญหานี่เอง

กราบนมัสการพระคุณเจ้า พระมหาแลครับ

  • เวลาเห็นลุงคุณครูสุรินทร์ กิจนิตย์ชีว์แล้ว ก็มักจะนึกถึงคุณครูเก่าแก่ของหนองบัวอย่างครูนุช เจริญสุข ไปด้วยเหมือนกันครับ ท่านมีความเป็นชาวบ้านและคนที่ดำเนินชีวิตแบบสังคมไทยดั้งเดิม คือ มีเรื่องราวที่จารึกและเก็บเกี่ยวมาจากรายทางของชีวิต มีคติและหลักคิด เวลานั่งฟังท่านคุยแล้วก็จะรู้สึกว่าชีวิตเป็นการเรียนรู้และความสูงวัยก็เป็นการสะสมพลังปรีชาญาณที่กอปรด้วยเมตตามาจากคืนวันในชีวิตที่ผ่านไปอย่างมีความหมาย
  • พระคุณเจ้าให้บทสรุปความเป็นชุมชนสาคลีได้สั้นและเห็นจุดเด่นจะแจ้งดีจังเลยครับ
  • ผมเลยได้ใช้รูปวาดจากบล๊อกของคนหนองบัว มาร่วมสร้างเนื้อหากับเรื่องราวของชุมชนอื่นๆไปด้วยเลยครับ

การทำนาของนักเรียนและชุมชน โรงเรียนสาคลีวิทยา :
วิชาชีวิตและวิถีเกษตรเศรษฐกิจพอเพียง

                            

                            ภาพที่ ๑ คณะนักศึกษา หลักสูตร Educational Management (International Programme) มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกันปลูกต้นไม้เป็นที่ระลึกและเป็นสิ่งแวดล้อมธรรมชาติ ให้กับโรงเรียนสาคลีวิทยา หลังจากเดินดูนาข้าวและสวนผักของนักเรียน

                           

                            ภาพที่ ๒ คณะนักศึกษา คณาจารย์มหาวิทยาลัยมหิดล และคณาจารย์ของโรงเรียนสาคลีวิทยา ถ่ายภาพร่วมกันบนคูดินของแปลงนานักเรียนโรงเรียนสาคลีวิทยา

ที่โรงเรียนสาคลีวิทยา อำเภอเสนา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา นักเรียนกับชุมชนทำนาเพื่อเรียนรู้จากการปฏิบัติในชีวิตจริงและใช้ความรู้เพื่อแก้ปัญหาได้จริง การออกแบบกระบนการเรียนรู้และการจัดแหล่งประสบการณ์มีการทำทั้งในโรงเรียนและชุมชน มีแปลงนา สวนผัก สวนป่าทั้งผลไม้ ไม้ดอก และไม้ยืนต้นอย่างยางนา มีห้องจัดแสดงอุปกรณ์ เครื่องมือ และเทคโนโลยีการผลิตที่มาจากภูมิปัญญาของชุมชนเกษตรกรรม มีการจัดกระบวนวิชาที่ต่อเนื่องกัน เช่น การทำธุรกิจขายและจัดการผลผลิตเพื่อให้ได้ประโยชน์ทั้งต่อโรงเรียนและชุมชน การพัฒนาวัตถุดิบไปสู่ผลิตภัณฑ์สุขภาพ การดูแลสุขภาพตนเอง สมุนไพรและแพทย์แผนไทย

วิธีคิดและการจัดกระบวนการเรียนรู้อย่างบูรณาการ-ผสมผสานอย่างนี้ ทำให้นักเรียนได้ประสบการณ์ในการเรียนรู้ไปถึงขั้นสูงสุดถึงการปฏิบัติได้และสามารถประเมินคุณค่าในระดับที่ได้ใช้ความลุ่มลึกในชีวิต

อาจารย์ค่ะอยากทราบเกี่ยวกับ วาทกรรมการพัฒนา ในแนวความคิดของมิเชล ฟูโก กับการบริหารเปรียบเทียบรัฐกิจของไทย

มันจะเป็นประมาณไหนดีค่ะ

ตามมาอ่านก่อนนะครับไม่ได้พบลุงสุรินทร์นานมากๆๆ ภาพวาดสวยมากเลยครับ...

สวัสดีครับอาจารย์ขจิตครับ ลุงสุรินทร์ยังคงเป็นผู้ใหญ่ชาวบ้านที่ให้ความอุ่นใจของสังคมอยู่เหมือนเดิม เมื่อเดือนก่อนผมเชิญคุณลุงมาคุยกับคนมหิดล พร้อมกับอาจารย์หมอวิจารณ์ ดร.อุทัย ดุลยเกษม ดร.เพิ่มศักดิ์ ศูนย์สันติวิถี และคุณอดิสรณ์ เจ้าของแบรนด์แตงโม ลุงก็เจียดเวลามาคุยอย่างคนที่เอากำลังใจและพลังชีวิตมาฝากกัน

อาทิตย์นี้ผมอาจจะได้เจอคุณลุงครับ เพราะอาทิตย์ที่ ๒๗ กพ.นี้ ทางเครือข่ายนักศึกษาปริญญาเอกที่เป็นลูกศิษย์ของ ดร.อุทัย ดุลยเกษม จะจัดปาฐกถา โดยเชิญ ครูวิเชียร ไชยบัง จากโรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา บุรีรัมย์ มาเป็นผู้แสดงปาฐกถา เรื่อง ปฏิรูปการเรียนรู้ เพื่อเสริมพลังชุมชน ที่มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช

ชวนเชิญอาจารย์และบอกกล่าวท่านที่สนใจทุกท่านไปด้วยเลยนะครับ ผมเองก็ว่าจะไป และปรกติแล้วคุณลุงสุรินทร์ท่านก็จะมา เมื่อปีก่อน คุณลุงเดินถือซอมาเล่นนำรายการให้แก่เวทีด้วย แต่คุณลุงถืออุปกรณ์อย่างอื่นไปหานักดนตรีสมทบเอาข้างหน้า พอถึงเวลาเล่นคุณลุงก็เรียกเอาผมขึ้นไปช่วย ลุงให้ผมดึงเอาฉิ่งมาตีเคาะจังหวะให้หน่อย ก็ยังนึกขำดีครับ แต่ก็เป็นดนตรีที่ไพเราะจากหัวใจ เล่นจากความเคารพและให้ใจกัน

สวัสดีครับ คุณปลายปากกาครับ

ผมเคยศึกษางานของฟูโกอยู่บ้าง แต่ศึกษาแบบอยากรู้และนำเอาเอามาเป็นแนวศึกษางานอื่นๆ รวมทั้งเป็นการศึกษาแบบเป็นความต่อเนื่องทำให้ต้องไปศึกษาอย่างไม่ได้ตั้งใจ เนื่องจากผมอยากศึกษางานวิพากษ์ทางศิลปะกับวิธีวิเคราะห์ทางวรรณกรรมของจิตร ภูมิศักดิ์ เพื่อนำมาทำงานวิจัยชุมชนแนวประชาคม พอจะคลำทางได้ก็เลยตามไปอ่านงานของตอลสตอย เลยไปถึงงานของฟูโก แต่ก็กว่า ๑๐ ปีแล้วครับ หลังจากนั้นมาก็เลยทำให้รูจักหาอ่านจากงานเขียนในพากษ์ไทยไทย รวมทั้งงานแปล แต่ก็เป็นแนวอื่นๆซึ่งผมก็อ่านพอได้ทราบความเคลื่อนไหว ไม่ได้ศึกษาลึกซึ้งอะไรเลยครับ งานแนวนี้ (ของฟูโกด้วย) หากสนใจอย่างลึกซึ้งอยากให้ไปอ่านขุมทางปัญญาทั้งไทยและเทศที่ไปสุมอยู่ในงานของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนนะครับ ผมเองแค่ใช้พึ่งตนเองได้ หากคุยก็คงคุยพอผุดประเด็นที่อาจจะมีความน่าสนใจ เพื่อแลกเปลี่ยนแบ่งปันกันได้บ้างหรอกนะครับ พอได้หลักให้รู้วิธีเดินไปเข้าใจในแนวนี้ได้บ้าง

แต่ก่อนอื่น อยากแนะนำว่าคุณปลายปากกาต้องวางคำว่า วาทกรรมของการพัฒนา ลงไปก่อนนะครับ เพราะตามที่ผมทราบและเข้าใจนั้น การเคลื่อนไหวเพื่อให้ความหมายใหม่เรื่องการพัฒนา(ในยุคหนึ่งและในบางแง่มมุมหนึ่ง)นั้น เป็นเพียงการนำเอาวิธีการแบบฟูโกมาใช้เคลื่อนไหวทางสังคมและเคลื่อนไหวทางความคิดเท่านั้นละครับ เช่นเดียวกับงานของจิตร ภูมิศักดิ์เช่นกันครับ พอนำมาศึกษาให้มากเข้า ก็จะพบว่ามีข้อจำกัดที่พยายามนำมาใช้ผลักดันและขับเคลื่อนวิธีมองโลกของสรรพสิ่งตามที่ตนเองมีแนวโน้มที่จะตัดสินใจแล้ว 

ทว่า ในทางระเบียบวิธีนั้นสุดยอดเหมือนกันครับ ผมว่า (อาจจะมองอย่างอคติและคับแคบไปหน่อย) หากเทียบชั้นของวิธีสร้างความรู้แนวทฤษฎีวิพากษ์ ความีพลังฉายโชนทางปัญญาและความมีพลังต่อการก่อให้เกิดความตื่นรู้ของผู้คนแล้วละก็ ผมว่าศึกษาจากวิธีของจิตร ภูมิศักดิ์ ชัด มีพลัง และเป็นวิชาการที่หนักแน่นมากกว่าเสียอีกครับ

ก่อนจะมาถึง วาทกรรม ซึ่งเป็นหนึ่งในเครื่องมือและวิธีการแสดงออกหรือการแสดงผลนั้น ทรรศนะพื้นฐานที่สำคัญของฟูโกอยู่ที่ 'คุณค่า ความหมายและความเป็นจริงตามบริบททางสังคมวัฒนธรรม และยุคสมัยหนึ่ง' เพราะวิถีทรศนะของฟูโกนั้น ร่วมแนวทางกับกระบวนทรรศน์ทางความรู้ของกลุ่ม Social Learning Theory และ Critical Theory นะครับ ซึ่งเรื่องนี้เข้าใจได้ง่าย เพราะในพรมแดนของศาสตร์ต่างๆนั้น  ปรากฏการณ์ทั้งปวงนั้นจำแนกพื้นฐานออกเป็น ๒ เท่านั้น คือ ปรากฏการณ์ธรรมชาติ กับปรากฏการณ์ทางสังคม อย่างแรกไม่มีคน ธรรมชาติเขาก็เป็นของเขาอย่างที่ควรจะเป็น ส่วนปรากฏการณ์ทางสังคมนั้น บางส่วนก็มีมิติที่เป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติ ทว่า มีคนกับสังคมของมนุษย์ และความเป็นมนุษย์เข้าไปมีส่วนให้ความหมายและเป็นตัวแปร  ให้เกิดความหลากหลาย

ตรงนี้แหละครับเป็นฐานในการเชื่อมออกมาสู่ทรรศนะอย่างงานของฟูโก คือ เมื่อมีคนและสังคมมนุษย์เป็นปัจจัยแล้วละก็ ทรรศนะสำคัญของฟูโกก็พอจะกล่าวสรุปได้ว่า ความจริงในบริบทและยุคสมัยหนึ่งๆของสังคมและของสรรพสิ่งนั้น เป็นความจริงที่ถูกสร้างขึ้นและถูกเรียนรู้เพื่อแปรไปสู่การปฏิบัติ ครับ....

แนวทางของฟูโกมีทรรศนะพื้นฐานของระเบียบวิธีเพื่อสร้างความรู้เชิงวิพากษ์ที่สำคัญอยู่อย่างนี้ ส่วนการลากออกมากล่าวถึง การผลิต วาทกรรม นั้น ในการรับรู้ของผม ก็คิดว่าเป็นผลสืบเนื่องและการใช้ประโยชน์จากทรรศนะและระเบียบวิธีการวิพากษ์(ทางวาทกรรม) เท่านั้น อยากย้ำว่าเท่านั้นนะครับ เพราะผมเห็นงานแนวที่กล่าวถึงวาทกรรมในบ้านเราเยอะแยะที่ดูแล้วก็ไม่น่าจะเป็นเรื่องที่เป็นวิธีวิพากษ์เชิงวาทกรรม 

สาระสำคัญของทรรศนะที่กล่าวว่า ความจริงในบริบทและยุคสมัยหนึ่งๆของสังคมและสรรพสิ่งนั้น เป็นความจริงที่ถูกสร้างขึ้นและถูกเรียนรู้แปรไปสู่การปฏิบัติ นั้น ก็มีนัยยะว่า ความจริงของสังคมและที่ผู้คนสร้างขึ้นนั้น เป็นความจริงแบบมีเงื่อนไข เป็นวาทกรรมที่ซ้อนขึ้นมาด้วยในตัวถึงการให้ความหมายใหม่เกี่ยวกับวิถีความรู้และกระบวนการสร้างความจริง โดยมีนัยยะว่า ความจริงและความรู้ที่สร้างขึ้นด้วยมนุษย์นั้น หลุดออกจากการมีความเป็นมนุษย์เข้าไปเป็นตัวแปรไม่ได้ จึงสามารถมีหลายชุดและหลายจุดยืน หลายบริบท อีกทั้งเรียนรู้ พัฒนาการ และเปลี่ยนแปลงได้อย่างเป็นพลวัตร (อันที่จริงใกล้กับวิธีคิดแบบอิทัปปัจยตาและปฏิจสมุปบาท มากจนแทบจะเป็นทฤษฎีเดียวกันได้เลยครับ) จะสถาปนาว่าตนเองราวกับเป็นพระเจ้าแล้วทำให้ความจริง-ความรู้มีอยู่อย่างเดียว ก็คงจะทำให้ผู้คนอยู่ด้วยกันไม่ได้

คล้ายกับจะบอกว่า เมื่อโลกเข้าถึงยุคข้อมูลข่าวสารและสังคมเคลื่อนเข้าสู่สังคมความรู้นั้น เราต้องพัฒนาระบบสังคมให้ทัดเทียมกับธรรมชาติของความรู้ ความจริง และข่าวสารต่างๆที่มนุษย์ใช้แลกเปลี่ยนสื่อสารเกี่ยวกับจริง อย่าติดยึดและใช้เป็นสิ่งที่ทำร้ายกันจนเกินเลย หากแนวคิดนี้นำมาใช้อย่างสร้างสรรค์ละก็ ก็จะนำไปสู่การคุยและปรึกษาหารือกันด้วยความเป็นเหตุเป็นผลจากความจริงและเงื่อนไขของกันและกัน ใช้วาทกรรมและวิถีแห่งปัญญา ความรู้ และการคุยกันให้รู้ความคิดจิตใจกัน

รวมทั้งสามารถสร้างความหมายร่วมกันขึ้นมาใหม่ที่ทำให้ความเป็นขั้วความแตกต่างทางความคิดสลายไปหรือยกระดับให้ครอบคลุมความแยกย่อยอยู่ด้วยกันอย่างลงตัว วิธีการต้องฝึกพูดและฟังกันใหม่ด้วยหัวใจ อย่างการทำ  Dialogue สุนทรียสนทนา ก็มีที่มาที่ต้องการแก้ปัญหาที่ไม่รุนแรง สอดคล้องกับแนวทางนี้เช่นกันครับ

ความสำคัญและความหมายก็คือ เป็นหนทางแก้ปัญหาการใช้ความรุนแรงในทุกรูปแบบ และทุกกลุ่มสังคมจึงสามารถนำมาใช้ได้ด้วยครับ เช่น คนภาครัฐก็สามารถผลิตวาทกรรมให้ความหมายการต่อสู้ของภาคประชาชนเป็นอย่างอื่นที่ผิดไปจากเจตนารมย์ของผู้เริ่มต้นก็ได้ วาทกรรมการพัฒนา ก็เป็นการผลิตวาทกรรมที่มุ่งให้ความหมายใหม่ของสิ่งที่เรียกว่าการพัฒนา ซึ่งเมื่อมองไปไกลๆจนสุดพรมแดนแล้วก็คือ ต้องการให้ความหมาย ลดบทบาท และทำให้รัฐแบบดั้งเดิม ไม่เป็นแบบเดิมๆน่ะครับ เป็นการต่อสู้กันด้วยการเมืองของความรู้และพลังอำนาจของความรู้อย่างหนึ่ง

โดยพื้นฐานแล้วเป็นเรื่องที่สร้างสรรค์ครับ ทว่า ต้องมองลงไปในวิถีทรรศนะของงานแนวนี้ด้วยครับ เพราะจิตใจและเจตจำนงค์ภายใต้การผลิตวาทกรรมมาสู้กันอย่างที่เรามักเห็นนั้น (ซึ่งในความเป็นจริงแล้วไม่ควรจัดว่าเป็นการเคลื่อนไหวทางสังคมแนวการสร้างวาทกรรม) มักเป็นคนละชุดกับวิธีคิดของงานแนวฟูโกนะครับ เราจึงเห็นวิธีสร้างวาทกรรมที่เต็มไปด้วยความรุนแรงและเป็นการทำสงครามที่โหดร้ายต่อกันของมนุษย์ที่ทำเป็นเลี่ยงไม่ใช้อาวุธที่เปิดเผยเท่านั้น เป็นวาทกรรมแบบเซียงเมี่ยงน่ะครับ

ในมุมมองผม กรณีอย่างสังคมไทยนั้น ใช้แนวทฤษฎีต่างๆมาเข้าใจและอธิบายให้ทั่วได้ยากครับ จึงไม่ควรไปกังวลมากครับ เรายังเป็นสังคมที่มีพัฒนาการน้อยมาก ลักลั่น ผสมปนเป ไม่มีความเป็นชนชั้นและกลุ่มทางสังคมที่แยกกันได้เด็ดขาด พอสร้างวาทกรรมที่ระบุไปยังกลุ่มทางสังคมและภาคส่วนสังคม ก็เหมือนกับจินตนาการที่ไม่เป็นจริง เพราะสิ่งที่ถูกกล่าวถึงเพื่อให้ความหมายใหม่ด้วยวาทกรรมชุดต่างๆนั้น ก็สร้างขึ้นมาจากทุกคนด้วยเหมือนกัน

ดังนั้น ต้องแยกเอากรณีต่างๆออกมากล่าวถึงทีละชุดจะได้ประโยชน์กว่าครับ อย่างภาครัฐและรัฐกิจนั้น บางกรณีและบางเงื่อนไข ก็มีบทบาทที่ดีและเหมาะสม สร้างสรรค์กว่าภาคส่วนอื่นๆ ทำนองเดียวกันภาคส่วนทางสังคมอื่นๆ บางทีจะไปให้เป็นอย่างที่คิดเอาในเชิงทฤษฎีเพะๆก็ไม่ได้หรอกครับ 

จึงน่าจะเป็นประมาณว่า พัฒนากรอบในการคลี่คลายออกมาเป็นวิถีทรรศนะหลายๆกรอบ หลายๆชุด อย่างในวิธีการของจิตร ภูมิศักดิ์นั้น เขาใช้ผสมผสานหลักๆก็ ๓ กรอบ คือหลักฐานและวิธีการแบบประวัติศาสตร์ศิลปะกับโบราณคดี | โครงสร้างทางสังคมตามแนววิภาษวิธีซึ่งเน้นการวิเคราะห์คลี่คลายออกจากการต่อสู้กันทางชนชั้น ความรู้ของชนชั้นไหนก็มีแนวโน้มว่าจะช่วยรับรองและสนับสนุนการผลิตซ้ำสิ่งที่เป็นผลดีต่อชนชั้นนั้น | และวิธีการแบบนิรุกติศาสตร์ แต่นี่ก็เป็นวิธีสรุปของผมเองหรอกนะครับ  แต่ละกรอบ วิถีและวิธีคิด ตลอดจนความหมาย วาทกรรม และความรู้ในกรอบวิธีคิดชุดนั้น ก็เชื่อว่ามันมีเหตุผลในเงื่อนไขจำเพาะของตัวมันเอง ยิ่งพิจารณาได้หลายแง่มุม เราก็จะเห็นและได้ความรู้-ความเข้าใจที่สะท้อนจิตใจและมุมมองที่เปิดกว้างน่ะครับ

อย่าง วาทกรรมการพัฒนา นั้น มองก่อนยุคทหาร มาสู่ยุครัฐบาลประชาธิปไตยกึ่งทหารและอำมาตย์ รัฐบาลนักธุรกิจ จนถึงรัฐบาลแบบพลเรือน กระทั่งถึงยุครัฐบาลกับกลุ่มการเมืองแบบมีแม่ยกในยุคนี้นั้น สำหรับผมแล้ว ต้องหาวิธีมองใหม่ๆอีกเยอะเลยครับ หลายชุดวาทกรรมต่อวาทกรรมการพัฒนาก็เช่นกันครับ มองด้วยทรรศนะใหม่ๆก็คงจะได้แนวคิดที่ดีๆอีกเยอะครับ

(ดูเหมือนว่า ฟูโก จะถือเอาปากกาเป็นสัญลักษณ์ในการต่อสู้ของเขาเหมือนเป็นแบรนด์ของเขาอย่างคุณปลายปากกาเลยครับ)

สวัสดีค่ะอาจารย์

เห็นการทำนาของเด็กๆแล้วคิดถึงตอนเด็กๆ

ปีหนึ่ง พ่อสอนลูกทำนา เลยพาลูกๆไปดำนากันใหญ่

รุ่งเช้า ข้าวลอยฟ่องเต็มนาเลย

เลยเป็นปีเดียวที่ได้ดำนาค่ะ

สนุกดี

สวัสดีครับคุณณัฐรดาครับ เด็กๆหัดดำนานั้น ผู้ใหญ่ต้องเดินเก็บเอากอข้าวมาดำใหม่เพราะมันลอยฟ่องไปหมดอย่างที่คุณณัฐรดาว่านี้เลยละครับ พอกลัวจะลอย ก็เอานิ้วกดดินเสียแน่นปั่ก พ่อแม่และผู้ใหญ่ก็ต้องเดินตรวจการบ้านในท้องนา ดึงออกมาดำใหมอยู่เรื่อยอยู่ดี กว่าจะดำนากันเป็นนี่ก็เล่นเอาเหนื่อยเหมือนกันครับ แต่จำอารมณ์การได้ทำนาได้อย่างหนึ่งว่า ผู้ใหญ่และพ่อแม่จะพยายามให้เด็กๆได้ดำและทำนาให้ได้สักมุมหนึ่งหรืองานหนึ่ง เพื่อที่ตอนข้าวออกรวงและเตรียมเกี่ยว ก็จะพูดได้ว่าตรงไหนใครดำ ซึ่งมันทำให้อยากตื่นนอนและไปดูต้นข้าวที่เราปักดำ เหมือนกับมีสายรกติดกันไปเลย คุณครูสุรินทร์ ชาวโรงเรียนสาคลีวิทยา และชุมชนสาคลี คงทราบถึงสำนึกและจิตวิญญาณอันลึกซึ้งของการเรียนรู้อย่างนี้ ถึงได้ให้ลูกหลานเรียนจากการทำนาด้วย

สวัสดีครับพี่นงนาทครับ เห็นรูปโรงเรียนข้างหลังแล้วทำให้นึกถึงการศึกษาของเด็กๆ เลยนะครับ ได้บรรยากาศในการคุยถึงโรงเรียนกับชุมชนสาคลีพอดีอีกด้วย

น่าศึกษาเรียนรู้นะครับ

เชิญเยี่ยมชม ศึกษาเรียนรู้ หรือนั่งหาแนวคิดดีๆตามอัธยาศัยครับ

ตอนนี้อยู่ระหว่างเก็บเงินเรียนอยู่....ถ้าจะเรียนสมัครได้ไหนครับ

  • หากเป็นโรงเรียนสาคลีวิทยา ก็อยู่ที่อำเภอเสนา จังหวัดพระนครศรีอยุธยาครับ
  • หากเป็นหลักสูตร Educational Management (International Programme) ก็อยู่ที่ภาควิชาศึกษาศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐมครับ ลองใช้คำหลักเป็นชื่อของโรงเรียนและหลักสูตรค้นหาที่อยู่และเบอร์โทรศัพท์ติดต่อดูก็ได้ครับ

สวัสดีค่ะอาจารย์

  • อยากให้ประเทศไทยแต่ละชุมชนมีคนดีที่แข้มแข็งชุมชนละคนสองคน
  • และแต่ละโรงเรียนมีผู้นำที่เข้มแข็ง  มีความกล้าที่จะลงพัฒนาอย่างจริงจัง  เพราะมีสองอย่างนี้การพัฒนามีความเป็นไปได้สูงค่ะ
  • เดิมนั้นอยากให้มีครูคนเก่ง คนดีโรงเรียนละคนสองคนเป็นแบบอย่าง  แต่เป็นไปได้ยากเพราะครูดีมักจะถูกระบบเล่นงานค่ะ
  • กลับขึ้นไปอ่านอีกครั้งเพื่อให้เข้าใจดี  จึงขขออนุญาติคัดลอกนำไปติดไว้ที่ห้องวิชาการโรงเรียนค่ะ
  • อ่านผ่าน ๆ ก็ยังได้รู้จักว่าใครเป็นใคร  สำคัญอย่างไร
  • การจัดการศึกษา...น่าจะเหมาะสมมากกว่าการบริการการศึกษานะคะ  เห็นด้วยค่ะ  ขอเป็นกำลังใจให้นักศึกษา (การจัดการศึกษา)รุ่นแรกค่ะ
  • ขอขอบพระคุณค่ะอาจารย์

สวัสดีครับคุณครูคิมครับ

  • กลายเป็นสวัสดีย้อนหลังเลยครับ
  • ไม่รู้ว่าเล็ดรอดไปไม่ได้ตอบตรงที่คุณครูคิมเข้ามาคุยนี้ได้อย่างไร
  • ตอนนี้นักศึกษาจบการศึกษากันไปแล้วและรุ่นใหม่ก็กำลังจะเปิดอาทิตย์หน้านี้อีกรุ่นหนึ่งแล้วครับ
  • คุณครูคิมมีความสุข มีกำลังใจ และมีพลังสร้างสรรค์เสมอนะครับ
นางสาวเจนจิรา เพ็งจันทร์

สวัสดีค่ะ อาจารย์ วิรัตน์ คำศรีจันทร์

หนูเป็นนักศึกษาวิชาชีพครูค่ะ

เลยอยากจะขอข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องของ การศึกษาเพื่อพัฒนาชุมชน หน่อยค่ะ

ขอบคุณค่ะ

ดีแล้วครับ ต้องกล้าที่จะแสวงหาข้อมูลและเรียนรู้วิธีเข้าถึงแหล่งประสบการณ์ต่างๆด้วยตัวเราเองอยู่เสมอๆอย่างนี้แหละนะครับ แต่ความที่เรายังไม่มีประสบการณ์มาก ก็อาจจะทำให้ไม่รู้จักวิธีตั้งคำถามที่เจาะจง และไม่รู้วิธีตั้งกรอบเพื่อเข้าสู่เรื่องที่สนใจให้รัดกุมได้มากนัก แต่เรื่องอย่างนี้ค่อยๆฝึกฝนและพัฒนาตนเองไปได้อีกเรื่อยๆนะครับ

การขอข้อมูลอย่างที่คุณเจนจิราขอผมมานี้มันกว้างไปครับ ลองไปศึกษาเพื่อทำความเข้าใจทั่วๆไปก่อนสักหน่อยดีไหมครับ แล้วค่อยขอข้อมูลหรือขอคำแนะนำในบางเรื่องที่เราอยากลงลึกมากขึ้น ผมอาจจะให้แนวสำหรับไปอ่านและศึกษาค้นค้วาด้วยตนเองก่อนได้บ้าง คือ

-ไปศึกษาแนวคิดและทฤษฎีการพัฒนาชุมชน ที่สำคัญและควรทำความรู้จักก่อน คือ การพัฒนาแบบแนวดิ่งโดยภาครัฐ การพัฒนาแบบสะท้อนจากล่างสู่บน การพัฒนาแบบผสมผสาน การพัฒนาแบบเสริมพลัง การพัฒนาแบบมีส่วนร่วม -บทบาทขององค์กรพัฒนาเอกชนและภาคประชาสังคมกับการพัฒนาชุมชนและแนวการทำงานเชิงสังคมในระดับชุมชน -แนวคิดและกลวิธีทำงานพัฒนาชุมชนในแนวทางใหม่ๆ เช่น แนวการพัฒนาชุมชนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง การประสานความร่วมมือหุ้นส่วนการพัฒนา การพัฒนาความร่วมมือเครือข่ายโครงการพัฒนาความรับผิดชอบทางสังคมในชุมชนของภาคธุรกิจเอกชน เหล่านี้เป็นต้น

-จากนั้น ค่อยศึกษาในมิติการศึกษากับการพัฒนาชุมชน ตามกรอบที่สำคัญบนแนวคิดและทฤษฎีต่างๆที่สำคัญ เช่น หากสนใจที่วิธีปฏิบัติ ก็ต้องศึกษาเกี่ยวกับระเบียบวิธีให้ครบถ้วนทุกมิติ เช่น วิธีวิเคราะห์ความจำเป็นและสร้างความครอบคลุมทางการศึกษา วิธีระบุกลุ่มเป้าหมาย วิธีระบุเป้าหมายและวัตถุประสงค์หลักทางการศึกษา วิธีสร้างแนวคิดและออกแบบกระบวนการทางการศึกษาเพื่อบรรลุจุดหมาย หลักและวิธีจัดหา

-จัดเตรียมทรัพยากรและปัจจัยที่จำเป็น การวางภารกิจและกำหนดกิจกรรมการดำเนินการ การพัฒนาทีมปฏิบัติการและจัดระบบปฏิบัติการ การดำเนินการ การวัดและประเมินผลแบบต่างๆ เหล่านี้เป็นต้น -เทคโนโลยีและนวัตกรรมทางการศึกษาเพื่อการพัฒนาชุมชน

- องค์กรท้องถิ่นกับการพัฒนาการเรียนรู้ของพลเมืองในชุมชน

- กระบวนการทางการศึกษาในโครงการพัฒนาทางด้านต่างๆที่ดำเนินการในระดับชุมชน

ลองยกตัวอย่างให้ดูน่ะครับ มันกว้างไป แต่ก็เชื่อว่าพอจะทำให้มีกรอบสำหรับคิดตั้งต้นได้ดีขึ้นกว่าเดิมนะครับ ขอให้สนุกกับการศึกษาค้นคว้านะครับ หากมีประเด็นจากความเข้าใจได้ดีขึ้นแล้วค่้อยเข้ามาคุยกันอีกนะครับ แต่ถ้าหากสนใจบทบาทของสถานศึกษากับการพัฒนาชุมชนสาคลีและโรงเรียนปิยชาติพัฒนา นครนายก ก็ขอแนะนำให้ติดต่อไปที่โรงเรียนสาคลีวิทยาและโรงเรียนปิยชาติพัฒนาเลยนะครับ

ขอบคุณอาจารย์สำหรับคำแนะนำมากๆค่ะ

หนูขอรบกวนอาจารย์ โดยหนูขออนุญาติขอเนื้อหาของ(บทบาทของการศึกษากับการพัฒนาชุมชน) ได้ไหมค่ะ

รบกสนอาจารย์ช่วยแนะนำหน่อยน่ะค่ะ

ขอบคุณค่ะ

  • ลองไปดูทางด้านการศึกษาเพื่อพัฒนาศักยภาพปัจเจก และศักยภาพการจัดการเพื่อสุขภาวะทางด้านต่างๆของชุมชนไหมครับ
  • ลองไปดูจากหนังสือและงานเขียนของผมกับคณะ ที่มหาวิทยาลัยมหิดล กับที่มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชนะครับ แต่ผมจำไม่ค่อยได้ว่าชื่ออะไรและอยู่ในเล่มไหนบ้าง
  • ตัวอย่างข้อมูลการค้นหาที่นี่นะครับ http://www.li.mahidol.ac.th/branch/cl_dec.php?lang=tha
  • และอีกที่หนึ่ง ที่เว็บบล๊อกของเวทีคนหนองบัวใน gotoknow นี้เอง จะเยอะมากเลยนะครับ เข้าไปดูตามนี้เลยนะครับ http://www.gotoknow.org/blogs/books/63203/toc

ขอบคุณอาจารย์สำหรับข้อมูลดีน่ะค่ะ

ผมมีข้อแนะนำเพิ่มเติมให้อีกสักเล็กน้อยนะครับ เผื่อจะเป็นประโยชน์

  • หากสนใจศึกษางานทางด้านสร้างคน พัฒนาการศึกษา พัฒนาการเรียนรู้ หรือสร้างความเป็นครู เหล่านี้ ไม่ควรศึกษาในฐานะที่เป็น 'วิชาชีพครู' นะครับ หากได้ลองนั่งคิดใคร่ครวญ ศึกษาค้นคว้า เรียนรู้ความเป็นครู และให้ความเป็นครูแก่ตนเอง แก่คนรอบข้าง แก่คนรุ่นหลัง รวมทั้งแก่สังคม และเป็นครูเพื่อทำหน้าที่ของชีวิต ยกระดับชีวิตและจิตวิญญาณของตนเองและผู้อื่น เหล่านี้ จะรู้ว่า 'การศึกษาวิชาชีพครู' กับ 'การมุ่งเป็นครูด้วยจิตวิญญาณและเป็นมรรควิถีแห่งชีวิต' นั้น ไม่เหมือนกันเลยนะครับ
  • หากเราเป็นครู รวมทั้งตลอดเส้นทางการดำเนินไปของชีวิตนั้น ทุกคนก็ต้องมีบทบาทได้แลกเปลี่ยนสิ่งต่างๆกับผู้อื่นอยู่เสมอด้วยสำนึกและ คุณธรรมความเป็นครูชีวิต เป็นสภาพแวดล้อมการเรียนรู้ให้กับผู้อื่นเพื่อกล่อมเกลาซึ่งกันและกันด้วย ภาวะของความเป็นผู้ให้สติปัญญาและความดีงามแก่กัน ให้ผู้คนสร้างสังคมสุขภาวะร่วมกันได้ อีกทั้งหากสนใจบทบาทของการศึกษากับการพัฒนาชุมชน เหล่านี้แล้ว ก็ควรให้ความสำคัญการเรียนรู้เพื่อทำให้ผู้เรียนรวมทั้งคนอื่นๆ ให้สามารถอยู่ร่วมกันและจัดความสัมพันธ์กันในเงื่อนไขแวดล้อมต่างๆที่ดีและ สอดคล้องกับสภาพความเป็นชุมชนที่ได้เปลี่ยนแปลงไปจากอดีตมากแล้ว ได้อย่างเหมาะสมนะครับ สังคมทั่วโลกโลกมีระบบการศึกษาและวิธีพัฒนาการเรียนรู้เพื่อให้คนแข่งขันเอา ตัวรอดและมีธรรมชาติที่เบียดทั้งตนเองกับธรรมชาติมากแล้วครับ หากมุ่งเติมความสุดโต่งไปด้านเดียวก็จะเสียสมดุล ดังนั้น ความเป็นชุมชนในเงื่อนไขแวดล้อมใหม่จึงมีความจำเป็นและต้องมุ่งไปในอีกทาง หนึ่งครับ
  • สังคมขยายตัวมาก และในห้วงระยะเวลาหนึ่งที่ผ่านมา ก็ได้เปลี่ยนผ่านให้ผู้คนอยู่ด้วยกันผ่านกลไกสื่อกลางมากพอสมควร แล้ว เช่น เรียนรู้ข้อมูลแบบลดทอนผ่านหนังสือและห้องเรียน เรียนรู้แบบนำเข้าปัญญาและความรู้ของคนอื่นอย่างฉาบฉวย เห็นสังคมและโลกรอบข้างผ่านสื่อ แทนการมีชีวิตและมีประสบการณ์ทางสังคมที่เป็นจริง ถึงยุคนี้ก็ผ่านระบบสื่อที่เชื่อมโยงกับได้ทั่วโลกมากขึ้นแต่เข้าถึงจิตใจ กันได้น้อยลง มิติคุณค่าและความหมายของชีวิตลดลง เข้าถึงการบริโภคและบริการผ่านการใช้เงินซื้อและสังคมตลาด สามารถได้วัตถุมาบริโภคทันใจแต่ขาดมิติความสัมพันธ์กับมนุษย์และขาดความอิ่ม ทางจิตวิญญาณ ย่อมเห็นโลกของวัตถุโดดเด่นกว่ามนุษย์ เหล่านี้เป็นต้น
  • กระบวนการอย่างนี้ ย่อมทำให้ภาวะกดดันต่างๆนานาในสังคม ขาดทางออกที่จะใช้ปัจจัยมนุษย์และปัจจัยการพึ่งการปฏิบัติของตนเองของปัจเจก ให้เป็นที่ปัจจัยหลักในการแก้ปัญหาต่างๆมากยิ่งๆขึ้น  ปัจเจก ชุมชน และสังคมสุขภาวะของมนุษย์ จะอ่อนแอมากกว่าระบบทางวัตถุและกลไกที่ไม่มีชีวิต ซึ่งก็ย่อมจะเป็นโจทย์สำคัญของครูและคนทำงานทางด้านการศึกษา ในอันที่จะคิดแก้ไขและพัฒนาศักยภาพเพื่อความจำเป็นใหม่ๆให้กับสังคม
  • ดังนั้น การศึกษาและการพัฒนาการเรียนรู้เพื่อทำให้คนรู้จักเดินเข้าหากัน เรียนรู้กับคนอื่น ใช้ชีวิต ทำการงาน สร้างสรรค์เศรษฐกิจสังคมและอื่นๆกับผู้อื่น เหล่านี้ ย่อมเป็นการศึกษาที่จะสร้างเสริมปัจจัยความเป็นชุมชนและพัฒนาทักษะการรวมตัว ทักษะการเป็นหมู่คณะและสร้างพลังความเป็นส่วนรวมกับคนอื่น ทักษะชีวิตในการจัดการภาวะภายในตนเองและจัดความสัมพันธ์กับสรรพสิ่งรอบข้าง 
  • รวมไปจนถึงวิธีคิดออกแบบกระบวนการเรียนรู้ สร้างเงื่อนไขแวดล้อมทางการเรียนรู้และปกป้องสิ่งบั่นทอนความเจริญงอกงามของผู้เรียน ให้ความเป็นพ่อแม่และครูแห่งชีวิต สร้างสภาพแวดล้อมให้ผู้คนเข้าสู่สถานการณ์ที่อุดมด้วยพลังการเรียนรู้ สร้างกิจกรรมและแหล่งประสบการณ์ที่ทำให้ปัจเจกสามารถมีประสบการณ์ที่ดีร่วมกับผู้อื่น การลดสื่อกลางและสร้างปฏิสัมพันธ์กับสังคมให้พลังปัจเจกเข้าถึงความเป็น ชุมชนและมีส่วนร่วมต่อการสร้างสรรค์สังคมส่วนรวมได้ในทุกมิติบนพื้นฐานชีวิตของตนเอง เหล่านี้ น่าจะเป็นเนื้อหาสาระของคำว่า 'บทบาทของการศึกษากับการพัฒนาชุมชน' ในโลกสมัยใหม่ทั้งในปัจจุบันและในอนาคตนะครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท