ต้านลมหนาวถามข่าวคราวชาวบ้าน (๓) : ว่าด้วยการแสวงหาพื้นที่และการขอบคุณพื้นที่แห่งการเรียนนอกฤดู


กิจกรรมการเรียนรู้นอกฤดูของผม จึงเป็นเพียงการเตรียมความพร้อมให้นิสิตได้ตระหนักถึงบทบาทและสถานะของตัวเองที่จะต้องเติบโตไปรับผิดชอบต่อสังคมในภายภาคหน้า

ก่อนการเดินทางกลับไปเยือนบ้านหนองบัวแปะ
ต.ขามเรียน อ.ยางสีสุราช จ.มหาสารคาม  ผมไม่ลืมที่จะชวนให้ทีมงาน  หรือแม้แต่นิสิตที่เป็น “ลูกฮัก”  และนิสิตกลุ่มใหม่ที่จะร่วมสัญจรไปสู่ชะตากรรมเดียวกันมานั่งทบทวนผลแห่งการเรียนรู้ในหลายรอบเดือนที่ผ่านมา  และนั่นก็หมายถึงการ “ถอดบทเรียน”  ตามแบบฉบับของผมเอง

 

ยิ่งเจ้าหน้าที่นั้น  ผมไม่ลืมที่จะฝากย้ำว่า พวกเขาต้องลงแรงเป็นส่วนหนึ่งกับนิสิต  เฉกเช่นแนวคิด หรือแนวทางที่ผมเคยสอนงานสร้างทีมไว้ว่า “พูดให้ฟัง-ทำให้ดู-อยู่เป็นเพื่อน”  
 


การจัดเตรียมเวที โดยใช้รถสิบล้อเป็นเวทีและฉาก


มุมนิทรรศการสื่อการเรียนรู้ที่นิสิตจัดทำขึ้นแบบเรียบง่าย

 

สำหรับก่อนหน้านี้ในรอบหลายๆ เดือน  นิสิตกลุ่ม “ลูกฮัก”  เคยได้สัญจรกลับไปยังหมู่บ้านเป็นระยะๆ  มีงานบุญในหมู่บ้านเมื่อไหร่  เรียกได้ว่าพวกเขาก็จะเดินทางไปช่วยพ่อฮักและแม่ฮักอยู่เนืองๆ  บางคนก็กลับไปช่วยชาวบ้านเกี่ยวข้าวในแปลงนาด้วยก็บ่อย 


และก่อนหน้าการเก็บเกี่ยวผลผลิตในแปลงนา  พวกเขาทั้งต่างก็ทยอยกันกลับไปสร้าง “เชิงเทียน” ให้กับชาวบ้าน  โดยนิสิตได้ลงแรงและลงงบประมาณไปจำนวนหนึ่ง  ซึ่งเชิงเทียนที่ว่านี้  ก็เป็นประหนึ่งอนุสรณ์แห่งการเรียนรู้ร่วมกันระหว่าง “นิสิตกับชาวบ้าน”  และเป็นสัญลักษณ์ทางใจอันหมายถึงความผูกพันของ ลูกฮักกับพ่อฮัก”  ไปในตัว 

  
เชิงเทียนและหนังสือใบลานที่ทำความสะอาดและจัดเก็บเป็นที่เรียบร้อย

การได้มาซึ่งเชิงเทียนนั้น  เป็นผลพวงของการร่วมคิดของนิสิตกับชาวบ้าน หรือหากจะเรียกว่า
เป็นความปรารถนาของชาวบ้านล้วนๆ ก็คงไม่ผิดนัก  เพราะเชิงเทียนเดิมที่มีอยู่นั้น ก็อยู่ในสภาพ
ผุโทรมอย่างเห็นได้ชัด โชคดีหน่อยเราสามารถสร้างเชิงเทียนได้แล้วเสร็จก่อนเทศกาลออกพรรษาพอดี  จึงพลอยให้ได้ใช้งานในวิถีวัฒนธรรมของชุมชนอย่างน่าชื่นใจ
 

หากแต่คราวนี้  การขบคิดของนิสิตนั้น  ได้หยิบเอาข้อมูลอันเกิดจากผลการเรียนรู้ชุมชนมาเป็นตัวตั้งอีกครั้ง โดยประสานเข้ากับความต้องการด้านการให้บริการของชาวบ้าน  จึงสรุปโดยรวมได้ว่า  การกลับไปเยี่ยมยามถามข่าวในครั้งนี้  นิสิตจะจัดกิจกรรมใดบ้าง...
 

ด้วยเหตุนี้  การจัดกิจกรรม “ต้านลมหนาวถามข่าวคราวชาวบ้าน”  ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ ๑๖ มกราคม ๒๕๕๓  ณ บ้านหนองบัวแปะ  จึงเกิดขึ้นภายใต้รูปแบบกิจกรรมง่ายๆ ที่ไม่ซับซ้อนนัก  โดยยึดหลักกิจกรรมที่เคยจัดขึ้นที่จังหวัดกาฬสินธุ์เป็นตัวขับเคลื่อนหลัก  แตกต่างกันก็ตรงที่ว่า ครั้งนี้, มีกิจกรรมทางภูมิปัญญาเข้ามาเติมเต็มอย่างชัดเจน

 

 

กิจกรรมในทางภูมิปัญญาที่ว่านั้น  เราใช้ “วัด” เป็นห้องเรียนนอกฤดูแบบเสร็จสรรพ  ประกอบไปด้วยการสอนเด็กและเยาวชนให้ตระหนักถึงงานศิลปะหัตกรรมพื้นบ้าน  โดยการจักสานใบลานเป็นของเล่นชนิดต่างๆ  รวมถึงการให้ความรู้เกี่ยวกับการดูแลรักษา “หนังสือใบลาน” (หนังสือผูก) ที่มีอยู่ในวัดให้ถูกสุขลักษณะ  พร้อมๆ กับการคัดแยกเรื่องราวของใบลานออกเป็นหมวดหมู่  เพื่อเตรียมเข้าสู่การสอนการอ่านในชุมชนต่อไป  ซึ่งผมและทีมงานตั้งใจว่าจะมาสานต่อกระบวนการนี้อีกครั้ง
 

นี่เป็นเพียงสองกิจกรรมเล็กๆ ที่ทีมงานได้หยิบยกขึ้นมาสานสร้างขึ้นในเวลาอันจำกัด 
อันเป็นผลพวงการเรียนรู้ในหลายรอบเดือนที่ผ่านมา  แต่มีนัยสำคัญที่เรารู้ดีว่า สิ่งเหล่านี้ คือ กิจกรรมที่เราจะลงพื้นที่อีกรอบ  เพื่อจัดกิจกรรมให้ต่อเนื่องและเป็นรูปธรรมอย่างจริงจัง  รอเพียงให้ชุมชนพร้อมเท่านั้นเอง  แต่นั่นก็ยังไม่รวมถึงกิจกรรมการจัดตั้งวงดนตรีลูกทุ่งให้กับเยาวชนในหมู่บ้าน  ซึ่งเป็นการพัฒนาศักยภาพของเยาวชนในหมู่บ้าน  โดยเชื่อว่า นั่นคือกระบวนการหนึ่งของการกล่อมเกลาให้เยาวชนตระหนักในคุณค่าของตัวเอง และสังคม ฯลฯ...

 

สำหรับกิจกรรมในครั้งนี้  เป็นที่น่ายินดีว่า รองอธิการบดีฝ่ายพัฒนานิสิต (ผศ.ดร.สุจิน
บุตรดีสุวรรณ)
  ได้เดินทางลงพื้นที่กับพวกเราด้วย  ทั้งผมและชาวบ้านจึงถือโอกาสนำท่านเข้าเยี่ยมชมศักยภาพ หรือวิถีชีวิตของชาวบ้าน ด้วยการเดินเท้าไปสู่แหล่งเรียนรู้อย่างหลากหลาย  โดยเฉพาะการพาท่านไปดูชมไร่นาสวนผสมในแบบเศรษฐกิจพอเพียง  ซึ่งเป็นการการันตีว่า ทั้งผมและทีมงานเลือกพื้นที่ให้นิสิตมาเรียนรู้อย่างไม่ผิดเพี้ยน
 


ละครไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ฯ


บ้านหนองบัวแปะ เป็นหมู่บ้านที่มีการรวมกลุ่มกันอย่างเข้มแข็งและเป็นปึกแผ่น   เป็นอีกชุมชนหนึ่งที่กำลังขับเคลื่อนเรื่อง “คุณธรรมนำชีวิต เศรษฐกิจพอเพียง” ได้อย่างเป็นรูปธรรม  มีแผนแม่บทพัฒนาชุมชนเพื่อความเป็นอยู่ที่ดีอย่างน่าสนใจ  เป็นต้นว่า มีการรวมกลุ่มจัดทำปุ๋ยชีวภาพ  มีกองทุนบำนาญชาวนา มีสหกรณ์ชุมชน  มีการรวมกลุ่มสาขาอาชีพต่างๆ  มีการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างน่าเคารพ  อาทิ ไม่ใช้สารเคมี  ปลูกผักปลอดสารพิษ  ซึ่งทั้งปวงนั้น เป็นแนวทางการขับเคลื่อนในภาคชุมชนด้วยแนวคิด “เจ้าของปัญหา คือผู้แก้ปัญหาที่ดีที่สุด”  ส่วนหน่วยงานภายนอกก็เป็นเพียงผู้ “ส่งเสริมสนับสนุน” หรือ “เอื้ออำนวย”  กระบวนการอื่นๆ เท่านั้น

 

โดยส่วนตัวนั้น  ผมชื่นชมกระบวนการขับเคลื่อนชุมชนของชาวบ้านหนองบัวแปะมาก  โดยเฉพาะการขับเคลื่อนด้วยการเรียนรู้จากการลงมือทำ  พร้อมๆ กับการตั้งโจทย์ปัญหาร่วมกัน เสร็จแล้วก็ลงมือพิสูจน์อย่างไม่ย่อท้อ  

ซึ่งกระบวนการต่างๆ มีทั้งการทำแบบแยกส่วน และทำแบบรวมกลุ่ม แต่ทั้งปวงนั้น ก็ไม่ละเลยที่จะมาถอดบทเรียนร่วมกันอยู่วันยังค่ำ  ก็ด้วยกระบวนการเช่นนี้แหละ  ผมถึงไม่เคยลังเลที่จะส่งนิสิตเข้ามาฝากตัวเป็นลูกฮัก เพื่อร่วมเรียนรู้กับชาวบ้าน  และผูกโจทย์การเรียนรู้นั้น เป็นการบริการสังคมจากมหาวิทยาลัยถึงชุมชนไปในตัว โดยมีนิสิตเป็นคนเชื่อมโยงตามแบบฉบับที่ผมเรียกมันว่า “เรียนนอกฤดู” 



มุมสอยดาว และเสื้อผ้าที่นำมามอบให้กับชาวบ้าน

 

แน่นอนครับ  นิสิตอาจไม่ใช่นักวิชาการ หรือนักพัฒนาชุมชนที่ชำนาญการในเรื่องของการพัฒนาและกระตุ้นกระบวนการเรียนรู้ชุมชน  แต่เพราะพวกเขายังอยู่ในฐานะของการเรียนรู้  ยังไม่ใช่คนที่มีบทบาทและสถานะที่จะต้องแบกรับเรื่องเหล่านั้นทั้งหมด  กิจกรรมการเรียนรู้นอกฤดูของผม  จึงเป็นเพียงการเตรียมความพร้อมให้นิสิตได้ตระหนักถึงบทบาทและสถานะของตัวเองที่จะต้องเติบโตไปรับผิดชอบต่อสังคมในภายภาคหน้า  แต่หากจะมีนิสิตสักคนที่ค้นพบและตระหนักได้อย่างไม่ต้องใช้เวลาอันมากมายไปกว่านี้ว่าตัวเขาเอง มีหน้าที่ที่จะต้องพัฒนาตัวเอง  และมีจิตอาสาที่จะต้องแสดงตัวตนเพื่อรับผิดชอบสังคมไปพร้อมๆ กัน 
        - ผมก็ถือว่า การเรียนนอกฤดูของผม  ประสบความสำเร็จอย่างยิ่งใหญ่...และผมก็เฝ้าภาวนาอย่างเงียบๆ เช่นนั้นเสมอมา

          และหากเป็นเช่นนั้นจริง  ผมก็คงไม่มีวันที่จะรู้สึกท้อที่จะเสาะแสวงหาพื้นที่การเรียนรู้นอกฤดูให้กับนิสิตไปเรื่อยๆ  หรือแม้แต่ชวนให้นิสิตได้เลือก หรือแสวงหาพื้นที่การเรียนนอกฤดูด้วยตัวเองอย่างไม่หยุดยั้ง  โดยมีผมและทีมงาน   คอยสร้างกระบวนการเรียนรู้ต่างๆ  อยู่ใกล้ๆ 

         หรือแม้แต่คอยกระซิบเตือนให้พวกเขาไม่หลงลืมที่จะตอบแทนพื้นที่แห่งการเรียนนอกฤดูนั้นๆ บ้าง  ไม่ใช่มาตักตวงเรียนรู้ แต่ไม่เคยคืนอะไรให้กับชุมชนนั้นๆ เลย
 

...................................................

๑๖ มกราคม ๕๓
บ้านหนองบัวแปะ,ยางสีสุราช
มหาสารคาม

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 336492เขียนเมื่อ 14 กุมภาพันธ์ 2010 16:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 22:25 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (14)

สวัสดีวันแห่งความรักค่ะคุณแผ่นดิน

มาชื่นชม ยินดี กับภารกิจหน้าที่ซึ่งเปี่ยมด้วยกระไออุ่นรัก มิตรภาพ

ของนิสิตและชาวบ้านในชุมชน สองหนุ่มน้อยได้มีส่วนร่วมทุกครั้งครา น่าชื่นใจไปด้วยค่ะ

สวัสดีครับ อาจารย์แผ่นดิน

มาร่วมชื่นชมและเป็นกำลังใจให้ครับ

ภาพนี้สวยมากๆเลยครับอาจารย์ ขอบคุณครับ

น่าชื่นชม กิจกรรมที่น่าจะเรียกได้ว่า เป็น การปลูกความงามแห่งการพัฒนาในใจนิสิต

มาตามชมกิจกรรมของอาจารย์

ทำให้ได้สัมผัสกลิ่นไอของวิถีชาวบ้าน ที่เคยคุ้นเคย

  สวัสดีค่ะอาจารย์ P แผ่นดิน  

 “พูดให้ฟัง-ทำให้ดู-อยู่เป็นเพื่อน”  เป็นแนวทางการสร้างทีม ที่น่าประทับใจ คนเป็นผู้นำที่ดี  สมควรที่จะมาดูต้นแบบการทำงานของอาจารย์  มีผู้นำอีกมากที่บริหารงาน... แบบไม่เข้าท่า ใช้อำนาจการสั่งการเสียเป็นส่วนใหญ่  ซึ่งทำให้ให้การสร้างทีม การบริหารงานของผู้นำเหล่านั้นล้มเหลวโดยสิ้นเชิง  ครูใจดีไม่ได้เยินยออาจารย์แผ่นดินนะคะ  คิดเช่นนั้นจริงๆ

ตอนเป็น นักศึกษา ครูใจดี ทำงานกับกิจกรรมนักศึกษา ชุมรมอาสาพัฒนา เราออกทำกิจกรรมเพื่อสังคมที่ทุระกันดานกันเป็นแรมเดือน  ด้วยความศรัทธา มุ่งมั่น  ปัจจุบันเห็นนักศึกษารุ่นหลังๆ ทำกิจกรรมแบบนี้น้อยมาก... จึงอยากให้มีผู้ที่คิดแบบอาจารย์แผ่นดิน ให้มากขึ้น... สืบสวนสังคมวัฒนธรรม วิถีชีวิต รากเหง้าของชุมชนอย่างแท้จริง อีกทั้งยังเป็นการสรางโอกาส ให้กับเด็กๆ ที่ยากไร้  และยังช่วยพัฒนาศักยภาพ และความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ให้กับนักศึกษา ที่ทำกิจกรรมนี้ด้วย


ครูใจดีพึ่งกลับมาจากภาระกิจการทำวิจัยร่วมกับ ม. ราชภัฎอุตรดิตถ์ ขออนุญาตความส่ง ความรัก และความปรารถนาดีย้อนหลังให้อาจารย์แผ่นดิน มีความสุขมากๆค่ะ

   Happy Valentine's and Chinese New Year's Day to you and your family.

              

 

สวัสดีค่ะอาจารย์

วันนี้มาทักทายอาจารย์แต่เช้า  ว่างจากการดูแลนักเรียน ที่เข้าค่ายอบรมหุ่นยนต์ไมโครคอนโทรเลอร์ และหุ่นยนต์เคลื่อนที่ฯ ร่วมกับสถาบันเทคโนโลยีปทุมวัน  จะมาเยี่ยมอาจารย์ตั้งแต่เมื่อคืน ก็ง่วง ดึกมากแล้ว อีกอย่างเหนื่อย เพลีย และสมองล้าจากการเขียนโปรแกรม  ตอนนี้เด็กๆ ออกกำลังกาย นันทนาการเสร็จ แล้วกำลังทำภาระกิจส่วนตัว  จึงมีเวลามาเยี่ยม  เพราะค้างคาใจ...ฮา

มาส่งกาแฟยามเช้าค่ะ.... ช่วงนี้อาจารย์ นำทีมงานไปทำอะไรที่ไหนบ้างคะ รักษาสุขภาพนะคะ

ระลึกถึงค่ะ

ตามครูพี่สาวใจดีผู้โรแมนติก มาเยี่ยมเยือนหนุ่มกลางทุ่งสารคามผู้โรมันกะติก ค่ะ ;)

" คิดถึงเพลง เหนื่อยไหมคนดีมีพี่เป็นแฟนซะกระนั้น ... ชีพจรลงเท้าเข้างานที่ไหนเอ่ยคะ

  • สวัสดีค่ะ
  • แวะมาทักทายตอนเช้า บรรยากาศดี ๆ ค่ะ
  • มีความสุขกับวันทำงานนะค่ะ
  • โอ้มีหมอลำหมู่นำ เป็นตาม่วนแฮงครับอ้าย

    พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
    ClassStart
    ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
    ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
    ClassStart Books
    โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท