ชีวิตที่พอเพียง : 36. เข้ามหาวิทยาลัย


• เมื่อสอบ ม. ๘ เสร็จเราก็เตรียมสอบเข้ามหาวิทยาลัย   ผมไปกวดวิชาเข้ามหาวิทยาลัยเหมือนคนอื่น   และสอบเข้า ๒ มหาวิทยาลัย   คือเข้าคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ    กับคณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ของมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์   มีการปล่อยข่าวว่าถ้าไปเข้าคณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ของอาจารย์สตางค์จะข้ามฟากไปเรียนแพทย์ได้เลยโดยไม่ต้องสอบข้ามฟากแต่ถ้าเรียนที่คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ ๒ ปี ก็ต้องสอบข้ามฟาก 
• ตอนนั้นในวงการนักเรียนผมดังมาก   เพราะผลสอบเข้ามหาวิทยาลัยทั้งสองแห่งผมก็สอบได้ที่ ๑ อีก    แต่ที่คณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้ที่ ๑ สองคน   อีกคนหนึ่งคือนายย้ง แซ่ล้อ   ผมไปสอบสัมภาษณ์ที่จุฬาฯที่เดียวเพื่อหลีกทางให้คนอื่นได้เข้าที่คณะวิทยาศาสตร์การแพทย์    มีเพื่อนมาเล่าว่าอาจารย์ ดร. สตางค์ มงคลสุข เดินเข้าเดินออกห้องสัมภาษณ์ ถามว่าวิจารณ์มาหรือยัง   อาจารย์สตางค์ท่านคอยจับตัวเด็กเรียนเก่งส่งไปทำปริญญาเอกต่างประเทศเพื่อกลับมาเป็นอาจารย์ที่คณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ซึ่งต่อมาเปลี่ยนเป็นคณะวิทยาศาสตร์ของมหาวิทยาลัยมหิดล   เพื่อนรุ่นผมได้ไปเรียนโดยอาจารย์สตางค์ส่งไปหลายคน เช่น ศ. ดร. ยงยุทธ ยุทธวงศ์   ศ. ดร. วิสุทธิ์ ใบไม้
• ผมไม่ไปสอบชิงทุนไปเรียนต่างประเทศ เพราะไม่มีทุนเรียนแพทย์ ตอนนั้นผมหายใจเข้าออกเป็นเรียนแพทย์ เพราะพ่อแม่อยากให้เรียนหมอมาก   สอบปลายปี ๑ คณะวิทย์ จุฬาฯ ผมสอบได้ที่ ๑ ได้เหรียญทองแดง   อาจารย์ป๋วย ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยจัดให้มีทุนธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นปีแรก   เขามาตามตัวผมไปสอบสัมภาษณ์   ผมโง่มากไม่รู้ว่าวิชาเศรษฐศาสตร์ที่เขาจะให้เรียนคืออะไร   ผมไปบอกคนสัมภาษณ์ว่าถ้าให้ไปเรียนแพทย์ผมไป   เขาหัวเราะ   คนที่ได้ไปเรียนทุนธนาคารชาติรุ่นแรกมี ๓ คน   คือ ประทีป (ช่วงปี ๒๕๑๖ สมัยรัฐบาลสัญญา เป็นผู้ช่วยผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย และโฆษกรัฐบาล   ประทีปเสียชีวิตหลังจากนั้นไม่นานด้วยโรคตับอักเสบ)   วิจิตร สุพินิจ (อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย)   และไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
• อยู่ปี ๒ จุฬา ผมเริ่มใจแตก   เริ่มเข้าสังคม   และเริ่มอ่านหนังสือสารคดีและนวนิยายคลาสสิคของไทย เช่นผู้ชนะสิบทิศ   หนังสือกำลังใจ มันสมอง ฯลฯ แต่งโดยหลวงวิจิตรวาทการ   หนังสือที่แต่งโดย มรว. คึกฤทธิ์ ปราโมช   เรื่องสั้น   ฯลฯ มากมาย   ผมเดินขึ้นเดินลงไปยืมหนังสือสารคดีที่ห้องสมุดจุฬาฯ ซึ่งตอนนั้นอยู่ที่ตึกคณะอักษรศาสตร์ปีกด้านเหนือ   ปรากฏว่าสอบมิดเยียร์ ปี ๒ ผมสอบตกหนึ่งวิชา    คืออินทรีย์เคมี ที่อาจารย์ นารา บุญ-หลง สอน   เพื่อนๆ เฮกันใหญ่   เพราะนิสิตสอบวิชานี้ตกค่อนห้อง    เพื่อนๆ บอกว่าไม่เป็นไร ปลายปีต้องสอบได้ เพราะขนาดวิจารณ์ยังตก แสดงว่าข้อสอบยากเกินไป    ผมมาเข้าใจทีหลังว่าวิชานี้เน้นความเข้าใจอะตอมและอณูในลักษณะทิศทางสามมิติ   สมองผมบอดในเรื่องรูปร่างทิศทาง ผมจำ isomer, tautomer ไม่ได้ ก็สอบตกไปตามระเบียบ   แต่เป็นการตกสอบซ้อมนะครับ พอสอบจริงปลายปีก็สอบได้แต่คะแนนไม่ดี   ปลายปี ๒ ที่จุฬาผมสอบได้ที่ ๒   คนที่ได้ที่ ๑ คือ นส. ฤทัย สกุลแรมรุ่ง   ซึ่งไปเรียนแพทย์ที่จุฬาฯ และสอบได้ที่ ๑ ของรุ่น   ได้รับพระราชทานทุนอานันทมหิดลไปศึกษาปริญญาเอกด้านจุลชีววิทยา   กลับมาทำงานเป็นอาจารย์ที่คณะแพทยศาสตร์จุฬาฯ ได้ไม่นานก็เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็ง    น่าเสียดายที่คนดีและเก่งเช่นนี้อายุสั้น   ฤทัยเรียนหนังสือห้องเดียวกับผมถึง ๔ ปี คือที่โรงเรียนเตรียม ๒ ปี และที่คณะวิทยาศาสตร์จุฬาฯ อีก ๒ ปี 

วิจารณ์ พานิช
๒๗ พค. ๔๙

 

หมายเลขบันทึก: 33512เขียนเมื่อ 10 มิถุนายน 2006 10:34 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 มิถุนายน 2012 14:41 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

เรื่องชุดนี้ของอาจารย์มีโครงการจะรวมเป็นเล่มไหมคะ อยากได้เก็บไว้อ่านเองและเผยแพร่ให้คนอื่นๆด้วยค่ะ

ผมก็รอเช่นเดียวกันกับคุณโอ๋-อโณครับ
  • รออ่านรวมเล่มชุดใหญ่เลยครับพี่โอ๋

ลองเขียนไปเรื่อยๆ ถ้ามีคนเห็นประโยชน์เขาคงดำเนินการกันเอง    ผมคงจะไม่รวมเล่มเองครับ  

วิจารณ์

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท