หนานเกียรติ
เกียรติศักดิ์ หนานเกียรติ ม่วงมิตร

ถอดบทเรียน เด็กไทยกินผัก ตอน ๒


         ในบันทึก “ถอดบทเรียน เด็กกินผัก” ที่แล้ว ผมเล่าเรื่องที่ไปที่มาของ “โครงการประกวดแผนส่งเสริมโภชนาการดีอย่างยั่งยืนในโรงเรียน” ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างกรมอนามัย และ บริษัทไฮคิวผลิตภัณฑ์อาหารจำกัด เพื่อรณรงค์ให้เด็กไทยมีพฤติกรรมการบริโภคอาหารให้ถูกหลักโภชนาการ โดยการกระตุ้นและผลักดันให้โรงเรียนเอาใจใส่ในการดูแลเรื่องการกินของเด็กนักเรียนให้ถูกต้องเหมาะสมตามหลักโภชนาการอย่างจริงจัง รวมทั้งเกริ่นถึงการถอดบทเรียนโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการดังกล่าว แต่ยังมิได้เล่าว่าผมมาเกี่ยวข้องกับงานนี้ได้อย่างไร

         ผมได้รับการเชื้อเชิญจากคุณเอก – จตุพร วิศิษฏ์โชติอังกูร ให้มาร่วมเป็นทีมงานถอดบทเรียน โดยยกเอาเหตุผลไม่กี่ข้อมาเอ่ยว่าต้องการให้ผมไปร่วมด้วย กระทั่งไปร่วมงานมาจนสิ้นสุดการจัดเวทีถอดบทเรียนแล้ว ผมก็ยังให้เหตุผลตัวเองไม่ได้เลยว่าเพราะอะไรผมจึงไปอยู่ที่เวทีถอดบทเรียน ทั้งที่ห่างออกไปหลายร้อยกิโลยังมีอีกงานหนึ่งรออยู่ และกำหนดไว้แล้วล่วงหน้า

         การถอดบทเรียนคราวนี้ มีโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการฯ ที่เข้าร่วมถอดบทเรียนราว ๒๐ โรงเรียน ในเขต ๓ จังหวัดภาคอีสานตอนบน ได้แก่ หนองคาย อุดรธานี และขอนแก่น ผู้เข้าร่วมเป็นครูที่รับผิดชอบโครงการในแต่ละโรงเรียน แห่งละ ๑ – ๒ คน ทั้งนี้มีเพียงโรงเรียนเดียวที่ผู้บริหารโรงเรียนมาร่วมด้วย

         การดำเนินการ แบ่งผู้เข้าร่วมออกเป็น ๓ กลุ่ม แยกตามจังหวัด ทีมวิทยากรกระบวนการมีทั้งสิ้น ๖ คน ทั้งหมดเป็นบล็อคเกอร์ G2K ไล่ไปตั้งแต่ผม คุณเอก – จตุพร วิศิษฏ์โชติอังกูร, ศิลา ,

แบ่งกันกลุ่มละ ๒ คน ผมอยู่กลุ่มเดียวกับคุณเอกซึ่งรับผิดชอบกลุ่มที่มาจาก จ.ขอนแก่น คุณเอกเป้นวิทยากรกระบวนการ ผมได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่จดบันทึก เรียกโก้ ๆ ว่า “Note Taker”

         ผมเริ่มเรียนรู้หลังจากการเข้าร่วมกิจกรรมแล้วว่า โครงการนี้เป็นกิจกรรมเพื่อสังคม (CSR) ของบริษัทไฮคิวผลิตภัณฑ์อาหารจำกัด แต่ก็มิได้ดำเนินการเองทั้งหมด กิจกรรมต่าง ๆ ที่ดำเนินกับโรงเรียนทั้งหลายถูกประสานงานผ่านอีกบริษัทหนึ่งที่เข้ามารับงานอีกทอด ทั้งสองบริษัทเอกชนกับกรมอนามัยทำงานสอดประสานกันค่อนข้างดีทีเดียว

         เวทีถอดบทเรียนคราวนี้ไม่มีพิธีรีตองอะไรมากมาย มี อ.สง่า ดามาพงษ์ ที่ปรึกษากิตติอม และ มาร่วมงาน และพูดจาเพียงเล็กน้อยในช่วงต้น จากนั้นก็มีกิจกรรมสันทนาการนิดหน่อย

         การแยกกลุ่มเพื่อถอดบทเรียนเริ่มต้นก่อนเที่ยวราวชั่วโมงเศษ สำหรับกลุ่ม จ.ขอนแก่นในภาคเช้าเป็นการพูดคุยเกี่ยวกับภูมิหลังของโรงเรียนก่อนเข้าร่วมโครงการฯ และหลังจากนั้นในภาคบ่ายเป็นการพูดคุยเกี่ยวกับกระบวนการดำเนินงานตามแผน

         การทำหน้าที่ของผมในเวทีถอดบทเรียนกลุ่มย่อยของ จ.ขอนแก่น ผมนั่งฟัง จดและบันทึกเสียง มีซักถามบ้างเล้กน้อย ในประเด็นที่สนใจ และในช่วงพักเที่ยงผมแอบไปสัมภาษณ์ผู้บริหารโรงเรียนซึ่งมีเพียงท่านเดียวที่มาร่วมถอดบทเรียน เพื่อเรียนรู้กระบวนการทำงานของโรงเรียน

         บันทึกนี้ผมจะเล่ารวม ๆ ว่า ตลอดทั้งวันนี้ผมได้เรียนรู้อะไรบ้าง ซึ่งประเด็นที่ผมจะเล่านี้เกือบทั้งหมดมาจากการนำเสนอของผมในช่วงท้ายของการประชุม ในฐานะตัวแทนของวิทยากรกระบวนการกลุ่มย่อย

         บทเรียนแรก ผมพบว่า “งานส่งเสริมโภชนาการ” นั้น แม้มิใช่งานหลักของโรงเรียน แต่โรงเรียนก็เห็นความสำคัญไม่น้อย ทุกโรงเรียนได้ดำเนินงานเรื่องนี้มาก่อนเข้าร่วมโครงการนี้มาพักใหญ่แล้ว กิจกรรมที่ดำเนินงานที่เพื่อนครูนำมาบอกเล่าในวงได้แก่ การควบคุม/ยกเลิก มิให้มีการจำหน่ายน้ำอัดลมและขนมกรุปกรอบในโรงเรียน การปรับปรุงคุณภาพอาหารกลางวันที่เน้นคุณค่าทางโภชนาการมากขึ้น รวมทั้งการผลิตวัตถุดิบที่สะอาดและปลอดภัยมาใช้เองในการจัดทำอาหารสำหรับนักเรียน

         บทเรียนประการถัดมา เป็นประเด็นเกี่ยวกับปัญหาโภชนาการของเด็กนักเรียน ผมค้นพบ ๔ ประเด็น

         ประเด็นแรก จากการนำเสนอของคุณครูทำให้ผมมั่นใจว่าปัญหาโภชนาการของเด็กนักเรียนในเมืองไทยกำลังจะสวิงไปอีกด้านหนึ่งของปัญหา คือ เปลี่ยนจาก “ภาวะทุพโภชนาการ” ไปสู่ “ภาวะโภชนาการเกิน” พูดง่าย ๆ คือ ไม่ค่อยจะมีเด็กอดอยากแร้นแค้นสักเท่าไร แม้ว่าครอบครัวเด็กจำนวนมากจะข้นแค้นแต่โรงเรียนก็สามารถจัดหาอาหารให้นักเรียนรับประทานได้แม้เพียง ๑ มื้อใน ๑ วัน ทำให้ปัญหานั้นบรรเทาเบาบางลงไป แต่ปัญหาที่โรงเรียนทั้งหลายกำลังประสบคือ ภาวะโภชนาการเกินจากการกินของเด็กนักเรียน

         ประเด็นที่สอง ต่อจากประเด็นก่อน ปัญหาโภชนาการเกินแม้ไม่เลือกดีมีจน แต่จากข้อมูลพบว่าเด็กที่อยู่ในครอบครัวที่เพียบพร้อม มีทางเลือกมาก จะพบเด็กที่มีปัญหามากกว่าเด็กที่อยู่ในฐานะปานกลางหรือค่อนไปทางต่ำ และยิ่งเด็ก ๆ ที่มีพ่อแม่ผู้ปกครองเอาอกเอาใจมาก ลูกต้องการสิ่งใดก็จัดหาให้โดยมิขัดข้อง เด็กคนนั้นก็มีโอกาสสูงที่จะประสบปัญหาภาวะโภชนาการเกิน ผมเรียกพ่อแม่ประเภทนี้ว่า “พ่อแม่รังแกฉัน”

         ประเด็นที่สาม ปัญหา “ภาวะโภชนาการเกิน” ที่เกิดมาจากการ “กินไม่เป็น” ของเด็ก มิใช่มาจากความไม่รู้ของทั้งเด็กและผู้ปกครอง แต่ปัญหานี้มีรากฝังลึกมากว่าความรู้ความเข้าใจ เด็กนักเรียนรวมทั้งพ่อแม่ต่างรู้ดีว่าการกินที่ดี มีประโยชน์เป็นอย่างไร รู้ว่าการกินที่ส่งผลดีต่อสุขภาพเป็นอย่างไร แต่พฤติกรรมตามใจปากที่ติดตัวมาอย่างยาวนานจนฝังเป็นรากลึกนั่นต่างหากที่เป็นปัญหา การให้ความรู้จึงมิเพียงพอต่อการแก้ปัญหา

         ประเด็นที่สี่ ปัญหาทั้งหลายทั้งปวงโรงเรียนมิใช่เป็นต้นทางของปัญหา แม้ว่าเด็กจะใช้ชีวิตส่วนใหญ่อยู่ในโรงเรียน จากการแลกเปลี่ยน พบว่าต้นทางของปัญหามาจากครอบครัวและชุมชน ในหลายครอบครัวที่รักลูกไม่ถูกทางได้สร้างพฤติกรรมการกินที่ไม่เหมาะสมให้กับลูกจนสายเกินแก้ ชุมชนเองก็มิตระหนักว่าเรื่องนี้เป็นปัญหา เราจึงเห็นเด็ก ๆ จับจ่ายซื้อของที่เป็นพิษภัยต่อร่างกายอย่างหน้าตาเฉย

         บทเรียนที่สาม แม้ว่าปัญหาเรื่องนี้จะมีอยู่จริง แต่ในขณะเดียวกันสำหรับการแก้ปัญหาเรื่องนี้ของโรงเรียน ผมก็มองเห็นโอกาสทำงานอีกหลายช่องทาง

         ประการแรก จากการแลกเปลี่ยนของคุณครู รวมทั้งประสบการณ์ส่วนตัวของผม พบว่า ปัญหาภาวะโภชนาการเกินในกลุ่มเด็กและเยาวชน เป็นปัยหาที่ถูกหยิบยกมาพูดคุยมากขึ้นเรื่อย ๆ สื่อมวลชนนำเสนอเรื่องนี้บ่อยครั้งขึ้น คนใกล้ชิดกับเด้กและเยาวชน ทั้งพ่อแม่ญาติผู้ปกครอง ครูอาจารย์ กระทั่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้างเริ่มตระหนักถึงปัญหานี้ การทำงานเพื่อจัดการกับปัญหาเหล่านี้จึงไม่โดดเดี่ยว มีภาคีเครือข่ายที่จะร่วมทางไปด้วย ผมบอกในที่ประชุมว่า “ตอนนี้เริ่มเห็นโลงศพ และหลั่งน้ำตากันบ้างแล้ว”

         ประการที่สอง โรงเรียนมีเงื่อนไขที่เอื้อมาก ๆ ต่อการพัฒนาโภชนาการในโรงเรียนคือการจัดทำอาหารกลางวันสำหรับนักเรียนในโรงเรียน ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาคุณค่าทางโภชนาการในอาหารโดยโรงเรียนเอง การใช้เป็นพื้นที่/เวทีการเรียนรู้ในแง่มุมต่าง ๆ ของเด็ก เช่น การตรวจสอบคุณภาพอาหาร การสำรวจคุณค่าของอาหาร การฝึกทักษะการทำอาหาร กระทั่งการผลิตวัตถุดิบที่สะอาดปลอดภัยสำหรับการจัดทำอาหารแก่นักเรียน ฯลฯ

         ประการที่สาม ภารกิจหลักของโรงเรียนคือการจัดการเรียนการสอน ในปัจจุบันโรงเรียนมีกลุ่มสาระวิชา ๘ กลุ่ม จากการแลกเปลี่ยนในเวทีพบว่า เรื่อง “การกินเป็น” สามารถบูรณาการเข้าสู่รายวิชาต่าง ๆ ได้ทั้งหมดอย่างแนบเนียน

 

สงสัยว่าจะยาวเกินไปแล้วครับ ไว้เล่าต่อตอนหน้าแล้วกันครับ

 

หมายเลขบันทึก: 334450เขียนเมื่อ 6 กุมภาพันธ์ 2010 22:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 26 พฤษภาคม 2012 12:27 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (12)

จองก่อนค่ะ.. น่าสนใจมากค่ะ.. จองๆๆ

อ้าวกำลังอ่านเพลินๆ รออ่านต่อฉบับหน้าซะแล้ว...กำลังมาฟังเด็กไทยกินผัก...ที่บ้านกินผักแต่ก็ผลักไสไล่ส่งผักบ้างชนิด...สงสัยต้องไม่มีให้เลือกกินซะให้เข็ดนะป้าเหมียวว่าจะได้ไม่เลือกกิน...วันนี้ดึกแล้วป้าเหมียวไปนอนก่อนดีกว่า แล้วค่อยมาอ่านต่อภาค 2 ค่ะ...ฝากความคิดถึง น้องเฌวา คนดีด้วยค่ะ  หาว หาว ไปดีกว่า...

เหมาะสมกับตำแหน่ง เอ็นที มากๆ ค่ะท่านหนานฯ ละเอียดยิบ น่าสนใจค่ะ

เห็นด้วยยิ่งค่ะ ปัญหาโภชนาการลึกๆ ไม่ได้มาจากการขาด แต่เป็นเรื่องของการเลือก และเกินจำเป็น ... เด็กๆ ได้เงินไปโรงเรียนซื้อขนม จุ๊บจิ๊บ ยิ่งโรงเรียนในเมือง ร้านขนมมารอแล้ว ตั้งแต่บ่ายสอง ราคาไม่ต้องพูดถึง เด็กกลุ่มเป้าหมาย ขายง่าย ขายคล่อง ;)

ขอบคุณมากครับ ในการเป็นส่วนหนึ่งของทีมงาน ที่เราเน้นคุณภาพของงานที่ทำ รวมไปถึงการทำงานเป็นทีมที่เข้าใจกันดี

วันนี้ผมก็เหนื่อยมากพอสมควร ตอนดึกเเล้วคืนนี้ ผมมานั่งเขียนบทความเพื่อ ให้สื่อมวลชนที่มาในวันพรุ่งนี้ รวมไปถึงการขึ้นเวทีใหญ่ร่วมกับ อาจารย์สง่า ดามาพงษ์ ด้วย ถือว่าภารกิจน่าจะเสร็จพรุ่งนี้

ช่วงบ่ายๆ หลังจากเก็บงานที่เวทีใหญ่ อยากนั่งคุยงานกับน้องเดย์ เรื่องของปกหนังสือที่เราจะคุยกับ บ.อมรินทร์พริ้นติ้ง ในเร็วๆนี้ครับคงหาที่พักหลบมุมร้านกาแฟดีๆที่สักแห่ง ก่อนขึ้นเครื่อง ๒ ทุ่ม

เย็นนี้ส่งคุณศิลาขึ้นเครื่องกลับ กทม. หลังจากที่พาทีมงานไปอิ่มหนำ "สารพัดตำ" ที่ร้านเก่าแก่มีชื่อของอุดร ทุกคนบ่นคิดถึงด้วยนะครับ

ขอบคุณสำหรับการทำงานอีกที่น่าประทับใจครั้งครับ...ทางกรมอนามัย และ บ.ไฮคิว รวมถึง บ.เลมอนเรย์ ชื่นชมงานที่เราสรุปในวันนี้มากครับ

ขอบคุณค่ะคุณหนานเกียรติที่นำเรื่อง ปัญหาโภชนาการของเด็ก ตอนนี้เด็กโรงเรียนครูนกพบว่า มีเด็กที่น้ำหนักเกินเกณฑ์เพิ่มขึ้น และมีบางรายงานพยาบาลให้รายงานตัวเพื่อเข้าคอร์สลดน้ำหนักก็หนีค่ะ...พี่พยาบาลโรงเรียนคงต้องเหนื่อยเพิ่มขึ้นอีกงานนี้

สวัสดีค่ะ คุณหนานเกียรติ

  • มาเยี่ยมด้วยความซาบซึ้งใจ
  • ถึงยโสธรอย่างปลอดภัยแล้วนะคะ
  • ขอบคุณ เวทีการเรียนรู้ที่มีคุณค่ามากมาย

ขอบคุณ ขอบคุณ ขอบคุณ

ขอบคุณค่ะ...^_^

ชื่นชมกระบวนการ และทีมงานคุณภาพ  และมิตรภาพที่งดงามของบล็อกเกอร์..นะครับ
ผมเองค้นหาเวลาว่างพอที่จะไปโน่นไปนี่อย่างอิสระไม่ได้  เพราะวันเวลาเกือบทั้งหมดผูกติดไว้กับภารกิจเฉพาะหน้าในมหาวิทยาลัยอย่างแน่นหนัก...

ส่งใจมา..และชื่นชม...พร้อมศรัทธาต่อวิถีที่ขับเคลื่อน นะครับ

พี่คะ ...พอลล่าโอนเงินไม่ได้ค่ะ ตั้งแต่วันเสาร์ แล้วค่ะ รบกวนพี่ด้วยนะเจ้าคะ

ช่วยกันผลักดันให้หน่วยงานต่างๆได้เห็นความสำคัญของภาวะโภชนาการที่กำลังเกินมีแต่เด็กอ้วน..แต่ไม่แข็งแรง..อย่างนี้ต้องกินอยู่อย่างไทย แบบพอเพียง โตขึ้นจะได้ไม่มีพุงโย้นะคะ

สวัสดีค่ะคุณหนานเกียรติ

•มาเป็นกำลังใจให้...เห็นด้วย...แล้ว จะรออ่านต่อค่ะ

•ขอบคุณค่ะ

หนานเกียรติ คนหมั่น สวัสดีเจ้า...

        มาอ่านเพื่อจะได้แนวปฏิบัติให้เด็กกินผักบ้าง  สุดจะต้านไม่ได้แล้วเจ้า เด็ก ๆ เกิดภาวะโภชนาเกินกัน จนเป็นสัญลักษณ์แล้วว่า มาจากโรงเรียนไหนนี่ โรงเรียน....ใช่ไหม มิน่าหุ่นเงี๊ยะ ...    อีกอย่างก็จะได้นำไปปฏิบัติแก่ตัวเองตวยเจ้า...

ระลึกถึง...ปี้เหมียว

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท