เสียดาย...นำKMมาสวมในงานวันเกษตรกรไม่สำเร็จ


เราคงต้องหาเวทีกันจนได้

          ผมเคยเขียนบันทึกไว้เมื่อต้นเดือนที่แล้ว ว่าอยากนำ KM ไปสวมในงานวันเกษตรกร ซึ่งปีต่อไปก็น่าจะประมาณเดือนพฤษภาคม  2550   (ลิงค์)  ในขณะที่เขียนนั้นผมยังไม่ทราบรายละเอียดว่าในปี 2550 ในที่ประชุมของจังหวัดได้ตกลงให้สำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดเป็นแม่งาน (อย่างงชื่อนะครับหน่วยงานนี้สังกัดสำนักงานปลัดกระทรวง)

          ในช่วงนั้นผมก็เลยปรึกษากับเพื่อนๆ ว่าน่าจะทำได้ โดยใช้งานวิสาหกิจชุมชนเป็นแกนหลัก แล้วนำกลุ่มอาชีพภายใต้วิสาหกิจชุมชนนั้นๆ ได้มีโอกาสหรือเวทีจะนำความรู้ซึ่งได้จากการปฏิบัติมานำเสนอเพื่อ ลปรร.กัน  เน้นความรู้ที่มีอยู่แล้วของเกษตรกรมาเผยแพร่ ไม่เน้นความรู้จากภาคราชการหรือนักวิชาการ เพราะเราทำกันมานับสิบปีแล้วเกษตรกรก็ยังจนกันอยู่เหมือนเดิม

          แต่วันนี้ (1 มิ.ย.49) มีการประชุมคณะทำงาน ซึ่งคุณกิติกานต์ และหัวหน้ากลุ่มงานไปเข้าร่วมประชุม  ก่อนไปผมก็ได้หารือกับคุณกิติกานต์แล้วว่า   หากพอจะมีเวลาในกิจกรรมของวันงาน ผมขอเสนอให้จัดเวทีเสวนาของเกษตรกร ซึ่งขณะนี้เรากำลังทำการสร้างนักวิจัยชาวบ้าน(พืชปลอดภัย) และบางพื้นที่มีของดีที่เกษตรกรได้สร้างองค์ความรู้ขึ้นมาใช้ในการประกอบอาชีพอยู่มากมาย  เกษตรกรจะได้มา ลปรร.กับเกษตรกรด้วยกันเอง ฯลฯ ซึ่งคุณกิติกานต์ก็รับแนวคิดนี้ไป

          ช่วงเย็นผมได้รับคำตอบจากการเข้าร่วมประชุมของคุณกิติกานต์ว่า

  • ที่ประชุมไม่เห็นด้วยที่จะให้ชาวบ้านมานำเสนอผลงาน/ผลการวิจัย หรือจัดเวที ลปรร.โดยชาวบ้านหรือเกษตรกร
  • งานที่จัดต้องให้เหมือนกับงานวันเกษตรแห่งชาติ
  • ต้องจัดเวทีโดยเชิญนักวิชาการที่มีชื่อเสียงที่สุดมาร่วมบรรยาย
  • สรุปแล้วเกษตรจังหวัดรับในส่วนของการประกวดพืช
  • ส่วนการจัดเวทีที่จะเชิญนักวิชาการที่มีชื่อเสียงก็กำหนดไว้ 2 พืช คือ กล้วยไข่ และส้มเขียวหวาน
  • กล้วยไข่ ให้เชิญ ดร.เบญจมาศ และส้มเขียวหวานให้เชิญ ดร.ระวี จาก มก.
  • ฯลฯ ไม่ได้เข้าร่วมประชุม จึงขอนำเสนอเท่าที่ฟังมาครับ

          ที่อาจารย์หมอวิจารณ์ บอกว่าหากนำ Km มาสวมในวันงานเกษตรกรที่กำแพงเพชร ให้แจ้งแต่เนิ่นๆ จะได้ส่งคนไปจับภาพ คงไม่เป็นไปในแนวทางที่ว่าแล้วละครับ (เฉพาะงานวันเกษตรกรปี 50 )

          แต่นี่ไม่ใช่ปัญหาครับ    ยังมีเวลาอีกเยอะ    เราคงต้องหาเวทีกันจนได้  เพื่อที่จะได้เปิดโอกาสให้ชาวบ้านได้มา ลปรร. มานำเสนอองค์ความรู้ของชาวบ้าน  หรือจัดเวทีเพื่อให้เกิดเครือข่ายที่แท้จริงของชาวบ้านหรือของเกษตรกร  และในอนาคตต่อไป  กิจกรรมเหล่านี้ก็จะเป็นของเกษตรกรในจังหวัดกำแพงเพชร ไม่ใช่เป็นงานของข้าราชการ (จึงจะเรียกว่าการพัฒนาที่ยั่งยืน)    

          ที่บันทึกมานี้ไม่ได้มีเจตนาจะว่าใครถูกใครผิดนะครับเป็นเพียงบันทึกเรื่องเล่า  จะทำอย่างไรก็ดีทั้งนั้น   แต่ผมอยากบันทึกต่อท้ายนี้ไว้เพื่อเป็นเครื่องยืนยันไว้ว่า  งานที่เราทำนั้นส่วนใหญ่เราเราไม่ได้กำหนดเอง(กำหนดเองไม่ได้)  และพวกเราก็ไม่ได้มีมุมมองที่ว่าชาวบ้านยัง โง่  จน  เจ็บ เลย..นะจะบอกให้

บันทึกมาเพื่อการ ลปรร.

วีรยุทธ  สมป่าสัก

หมายเลขบันทึก: 32767เขียนเมื่อ 1 มิถุนายน 2006 16:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 15:05 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)

เรียนท่านสิงห์ป่าสัก

 น่าเสียดายครับ "ภูมิปัญญาชาวบ้าน"

 

        ขอบพระคุณอาจารย์หมอ JJ มากนะครับ  ปี 49 มีการนำ PAR ลงในพื้นที่ 26 จุด (หมู่บ้าน) และของดีของเดิมอีกมากมาย 
        แต่ไม่เป็นไรครับ  ต้องหาเวทีจนได้ ยังสู้ๆ ครับ
  • เอาไว้โอกาสอื่นก็ได้ครับ...
  • ขอเอาใจช่วยครับผม

น่าจะหาทางเสนอให้จัด ๒ วง คู่ขนานกันครับ    ปีหน้า (๒๕๕๑) พยายามใหม่

วิจารณ์ พานิช

เรียน อาจารย์หมอวิจารณ์ ขอกราบขอบพระคุณมากครับสำหรับคำแนะนำ จะพยายามต่อไปครับ เรียน อาจารย์หมอ JJ ยังสู้ สู้.. ครับ ขอบพระคุณมากครับ เรียน อาจารย์ขจิต ขอบพระคุณอาจารย์ขจิตมากครับสำหรับกำลังใจ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท