Process of Learning Design


"....ให้เขามีโอกาสนำเอาประสบการณ์วิชาการ การศึกษาระเบียบวิธีวิจัย ความรู้เชิงทฤษฎีต่างๆจากห้องเรียน ไปตรวจสอบกับของจริง ใช้หลักวิชาไปทดลองเรียนรู้และสร้างความรู้จากสถานการณ์ความเป็นจริง ซึ่งจะทำให้เกิดประสบการณ์ตรงแก่ตนเองอย่างเข้มข้น รอบด้าน ได้ตัวอย่างจากการเรียนรู้ด้วยตนเองของตนเพื่อเป็นความเชื่อมั่น กลับไปยกเป็นตัวอย่างจากบทเรียนตนเองเมื่อกลับไปเป็นผู้บริหารการศึกษาในประเทศของตน..."

ผมได้โจทย์จากคณะกรรมการบริหารหลักสูตร และคณาจารย์สหสาขา เพื่อออกแบบกระบวนการสำหรับจัดการศึกษาดูงานภาคสนามให้กับหลักสูตรการศึกษาของกลุ่มนักศึกษานานาชาติระดับปริญญาโท หลักสูตรบริหารการศึกษา(หลักสูตรนานาชาติ) ภาควิชาศึกษาศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งมีข้อจำกัดในหลายด้าน ทั้งเวลา ทรัพยากร งบประมาณ ความพร้อมของนักศึกษา และความพร้อมของสถานศึกษา หน่วยงานและสถานศึกษาในพื้นที่ ทว่า ต้องการให้ดำเนินการได้อย่างดี อีกทั้งสามารถบรรลุวัตถุประสงค์ต่างๆ ให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุดเท่าที่จะสามารถช่วยกันทำได้

วัตุประสงค์และความคาดหวังที่สำคัญ คือ (๑) ให้เป็นการสร้างประสบการณ์จากความจริงของสังคมได้อย่างดีที่สุดสำหรับนักบริหารการศึกษา ซึ่งเป็นนักศึกษาในหลักสูตรและเป็นผู้ได้ทุนการศึกษามาจากประเทศต่างๆ ประกอบด้วย ศรีลังกา เนปาล จีน ภูฏาน ไทย กับคณาจารย์และนักวิชาการผู้ประสานงานหลักสูตร รวม ๒๕ คน (๒) สะท้อนนัยสำคัญของการพัฒนาเครือข่ายผู้นำการเปลี่ยนแปลง ซึ่งจะกลับไปพัฒนาสถานศึกษาและเป็นผู้นำในการพัฒนาการศึกษาในประเทศของตน ให้บรรลุจุดหมายของท้องถิ่นและสะท้อนสำนึกร่วมในความเป็นชุมชนและสังคมนานาชาติ ข้ามพรมแดน มีบริบทร่วมกันที่กว้างขึ้น โดยเฉพาะความเป็นประชาคมอาเซียน และประชาชาติเอเชีย ASEAN and Asia Community (๓) ให้ชุมชน สถานศึกษา และหน่วยงานในท้องถิ่นของประเทศไทยที่เป็นพื้นที่การศึกษาดูงาน ได้เกิดประสบการณ์และได้พัฒนาการศึกษาเรียนรู้ของตนเองด้วย (๔) ใช้ระยะเวลาไม่เกิน ๔ วัน และไปได้ไม่ไกลเพราะงบประมาณมีจำกัด อีกทั้งต้องใช้ความรับผิดชอบต่อกลุ่มนักศึกษามาก 

หัวหน้าภาควิชา ประธานหลักสูตร และคณะกรรมการบริหารหลักสูตร เห็นผมเสนอแนวคิดหลายเรื่องที่คงจะถูกใจ เลยขอให้ผมลองทำแนวคิดและรวบรวมข้อมูล ข้อเสนอร่วมกันของที่ประชุม แปรมาสู่การพัฒนาโครงการและออกแบบกระบวนการ

ผมเลยขอตีโจทย์และจัดวางบทบาทความสำคัญของกิจกรรมการศึกษาดูงานในโครงการนี้เสียใหม่ ไม่ให้เป็นเพียงแค่กิจกรรมที่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของการศึกษาให้ครบ ทว่า นึกไปถึงโอกาสการให้ประสบการณ์แก่นักศึกษาในฐานะที่เขาเป็นผู้นำการพัฒนาด้านการศึกษาเพื่อสร้างอนาคตใหม่ๆของการพัฒนาสังคมในระดับภูมิภาคอาเซียนและชุมชนนาชาติไปด้วยเสียเลย

                         

ขณะเดียวกัน ก็ให้เขามีโอกาสนำเอาประสบการณ์วิชาการ การศึกษาระเบียบวิธีวิจัย ความรู้เชิงทฤษฎีต่างๆจากห้องเรียน ไปตรวจสอบกับของจริง ใช้หลักวิชาไปทดลองเรียนรู้และสร้างความรู้จากสถานการณ์ความเป็นจริง ซึ่งจะทำให้เกิดประสบการณ์ตรงแก่ตนเองอย่างเข้มข้น รอบด้าน ได้ตัวอย่างจากการเรียนรู้ด้วยตนเองของตนเพื่อเป็นความเชื่อมั่น กลับไปยกเป็นตัวอย่างจากบทเรียนของตนเองเมื่อกลับไปเป็นผู้บริหารการศึกษาในประเทศของตน หรือกล่าวได้ว่า ต้องเป็นกระบวนการเรียนรู้และสร้างเสริมภาวะผู้นำให้แก่นักศึกษานานาชาติซึ่งเป็นผู้บริหารด้านการศึกษา อย่างบูรณาการอยู่ในตัวเอง

เพื่อบรรลุผลตามความคาดหวังดังกล่าว ผมเลยลองผสมผสานทั้งหลักทฤษฎี ประสบการณ์การวิจัยในแนวประชาสังคม และประสบการณ์การจัดกระบวนการเรียนรู้ หลายๆอย่าง หลายๆหลักคิดเข้าด้วยกัน ที่สำคัญคือ การเรียนรู้โดยเดินเข้าไปอยู่ในสถานการณ์ความเป็นจริงของตนเองซึ่งเป็นการบูรณาการทฤษฎีการเรียนรู้สถานการณ์ (Situated Learning) การเรียนรู้ทางสังคม (Social Learning) การพัฒนากลุ่มประชาคมและชุมชนแห่งการเรียนรู้ (Mobilizing Civic Group) การสังเกตผ่านการลงมือทำและสร้างความรู้จากประสบการณ์ตรงซึ่งเป็นพื้นฐานของการวิจัยสร้างความรู้แบบ Grounded Theory Research การถอดบทเรียนแบบเสริมพลัง (Participatory Empowerment Evaluation) และการประเมินผลผ่านกระบวนการเชิงสังเคราะห์สู่การพัฒนาโครงการ (Synthesis Evaluation Through Process of Learning Design and Program Development)

ทั้งหมดสะท้อนไปสู่องค์ประกอบเชิงกระบวนการย่อยๆ คือ ต้องมีส่วนหนึ่งที่ทำให้กลุ่มผู้เรียนได้เกิดการเรียนรู้ภาพกว้างของสังคมไทยและสังคมโลก จากนั้นก็ทำให้เห็นแง่มุมที่เป็นประเด็นเชื่อมโยงกับการศึกษาและมีนัยสำคัญต่อการคิดอย่างผู้นำ คิดอย่างนักปฏิรูป ต่อการเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงและเป็นผู้นำการพัฒนาการศึกษาในขอบเขตที่ตนเองจะสามารถนำกลับไปดำเนินการได้

จากนั้น ก็ให้มีโอกาสได้ไปดูของจริงในบริบทสังคมไทยว่า ประเด็นและแง่มุมที่เห็นว่ามีนัยสำคัญเหล่านั้น สถานศึกษากับชุมชนและระบบสังคมที่เกี่ยวข้องกัน (บ้าน วัด โรงเรียน) ในสังคมท้องถิ่นไทยเขาทำกันอย่างไร สนองตอบและแปรประเด็นอนาคตเพื่อการพัฒนาร่วมกันของสังคมภูมิภาคไปสู่การปฏิบัติอย่างไร มิติการบริหารและการพัฒนาเครือข่ายผู้นำการเปลี่ยนแปลงทำกันอย่างไร ทั้งหมด คณะนักศึกษาตกผลึกบทเรียนผสมผสานกับประสบการณ์ในประเทศของตน แล้วทำให้ได้เรียนรู้และเกิดการหยั่งเห็นอย่างไรบ้าง มองเห็นโอกาสและประเด็นเชิงนโยบายเพื่อเป็นแนวเดินสู่อนาคตในทรรศนะของตนอย่างไร แล้วก็เป็นโอกาสสร้างวัฒนธรรมการเรียนรู้ของชุมชนนานาชาติไปด้วยกันได้อย่างไรบ้าง

ขณะเดียวกัน ก็อยู่ภายใต้ข้อจำกัดทั้งเวลา ระยะทาง ทรัพยากร งบประมาณ รวมๆกันแล้วก็นำมาพัฒนาเป็นแนวคิด แตกออกเป็นเป้าหมายเชิงพันธกิจเหมือนกับเล็งสายตาไปไกลๆสู่พันธกิจในอนาคตของนักศึกษาเรา ที่จะสร้างขึ้น เสร็จแล้วก็หันมาดูวัตถุประสงค์ย่อยๆที่จะทำให้ปรากฏขึ้นได้และเราคาดหมายตามหลักวิชา บวกกับประสบการณ์เท่าที่มี รวมทั้งตัวอย่างที่พอหาได้ทั้งในสังคมไทยและต่างประเทศได้ว่า จะเป็นหนทางมุ่งไปสู่อนาคตดังกล่าวนั้น 

จากนั้นก็ระบุขอบเขตเนื้อหาและกำหนดกิจกรรม หลอมรวมออกมาเป็นกระบวนการเรียนรู้และศึกษาดูงาน เพื่อนำเอาไประดมความคิดซ้ำอีกหลายๆรอบและใช้เป็นข้อมูลเบื้องต้นประสานงานและทำงานกับคนในพื้นที่ เพื่อปรับปรุงและพัฒนาเป็นโครงการเชิงปฏิบัติการเรียนรู้ไปด้วยกันอีกต่อไป : การศึกษาดูงานและหาประสบการณ์ภาคปฏิบัติของหลักสูตรบริหารการศึกษานานาชาติ

 

หมายเลขบันทึก: 325874เขียนเมื่อ 8 มกราคม 2010 13:51 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 22:11 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (18)

สวัสดีปีใหม่อีกครั้งค่ะอาจารย์

หวังว่าคงสบายดีนะคะ

อ้าว เจิมด้วยนะเนี่ย

สวัสดีครับคุณณัฐรดา เมื่อคืนวานนี้พวกผมยังพูดถึวคุณณัฐรดากันอยู่เลย ได้แวะไปที่ร้านเบิกม่าน ไปเอาพวงมาลัยดอกไม้ไปสวัสดีปีใหม่พี่ปรีชา ก้อนทอง และพี่วริชฌิตา ปลั่งสำราญ หรือพี่อ้วนของน้องๆและหมู่มิตรกัน แล้วก็ถือโอกาสเดินดงานรูปที่จัดแสดงงานศิลปะอยู่ในร้านหนังสือของพี่เขา ระหว่างนั้นก็ได้เปิดหนังสือเยี่ยมชม เห็นลายมือและลงชื่อบันทึกเยี่ยมชมในหน้าหนึ่งที่ลงชื่อกำกับว่า ณัฐรดา เลยก็ได้พูดถามไถ่ถึงกันครับ ขอบคุณที่มาเยือนและทักทายกันครับ

                        

                       

เลยขอเอารูปดอกไม้สวยๆมาฝากด้วยเลยนะครับ ให้ ๒ รูปเลย เป็นรูปดอกพวงครามที่บ้านผมเองที่สันป่าตอง เชียงใหม่ครับ และอีกรูปหนึ่งก็เป็นดอกหญ้าข้างถนนดินแดงซึ่งผมถ่ายเก็บไว้ระหว่างเดินทางออกนอกเมืองไปสวัสดีปีใหม่ครอบครัวของพี่ที่เคารพนับถือกันแถวเชิงดอยสุเทพ เชียงใหม่เช่นกันครับ ดูรูปสวยๆอย่างมีความสุข เพื่อกลับไปเขียนรูปงามๆมาให้พวกเราได้ชมเยอะๆ อีกนะครับ

สวัสดีครับอาจารย์...

ช่วงนี้ผมอยู่ดอยมูเซอ จ.ตาก หาโอกาสเข้า internet ยากเต็มที จึงมิค่อยได้เข้ามาอ่านและทักทายอาจารย์

อ่านบันทึกนี้แล้วสนใจและตื่นเต้นมากครับ

สวัสดีครับหนานเกียรติ : ตอนแรกที่นั่งพัฒนาความคิดนั้น ผมนึกถึงหนานเกียรติ ครูคิม และคณะที่ลงแรงไปหาประสบการณ์ทำค่ายเรียนรู้ด้วยกันที่พิษณุโลกเลยนะครับ 

                        

                        

                        

ผมไปได้รูปถ่าย ถ่ายเมื่อตอนกลับบ้านที่สันป่าตองมา แล้วก็รูปสุดท้ายได้จากริมคลองหน้ามหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายานี่เอง ทั้งแปลก สวยงาม และมีเรื่องราวมากมายดี เลยขอนำเอามาฝาก สวัสดีปีใหม่นะครับ ขอให้มีความสุข ร่มเย็น รื่นรมย์ มีแรงบันดาลใจ และมีพลังในกาารทำงานริเริ่มต่างๆ อยู่เสมอนะครับ

  • ข้างบนผีเสื้อหนอนใบรักธรรมดาและผีเสื้อหนอนข้าวสารลายเสือสวยมากๆๆครับ
  •  อาจารย์ครับผมยินดีช่วยอาจารย์ ประสานโรงเรียนหมู่บ้านเด็ก ประสานพ่อครูบาสุทธินันท์ ท่านรอง smallman พี่หนานเกียรติ เครือข่ายผู้บริหารและคุณครูที่มีรูปแบบการสอนแนวใหม่ครับ ถ้าอาจารย์สนใจ
  • ขอบคุณครับ

สนใจมากเลยครับ และจากงานนี้ก็ทำให้ได้ความคิดหลายอย่างขึ้นมากเลยทีเดียวครับอาจารย์ แต่เสนอมากไปก็เกรงว่าจะทำให้การทำงานที่ต้องทำด้วยกันหลายคน ทำให้คนอื่นเขาลำบาก แล้วผมก็ทำงานชุมชนทางด้านพัฒนาการศึกษาเรียนรู้เพื่อพัฒนาสุขภาพกับกสุขภาวะชุมชน ซึ่งไม่ได้คาดหมายมาก่อนว่าจะได้มาทำงานด้านการศึกษา จึงเป็นมือใหม่และต้องอยู่ในขั้นเรียนรู้ให้มากๆก่อน ทว่า เป็นโอกาสในการทำในอนาคตว่าคงจะต้องได้ทำในแนวที่สนใจอย่างนี้แหละครับ

ส่วนการไปศึกษาดูงานโรงเรียนหมู่บ้านเด็กนั้น จะมีโครงการไปอยู่ด้วยเหมือนกันครับอาจารย์ ผมจะลองหารือทีมอาจารย์ที่รับผิดชอบดูครับว่าเขาสนใจและจะประสานความร่มมือเพิ่มขึ้นอีกกันหรือไม่ ขอบพระคุณอาจารย์มากจริงๆครับ มีความสุขนะครับอาจารย์

ได้ความรู้จากอาจารย์เรื่องผีเสื้อไปด้วย ขอบคุณมากเลยครับ อย่างน้อยก็ได้เค้าเงื่อนไปค้นคว้าหาข้อมูลต่อไปอีก เมื่อวานผมเอาไปฉายให้นักศึกษาของผมดูสองกลุ่ม ยังไม่มีใครรู้จักเลย

  • ผมสนใจ
  • เลยซื้อหนังสือมาอ่านครับ
  • ต้องขอบคุณพี่ ดร ยุวนุชครับ
  • ที่ทำให้ผมสนใจชื่อผีเสื้อ
  • ผีเสื้อหนอนข้าวสารลายเสือ
  • ที่งาน ม.เกษตรศาสตร์ครับ

 

มาอีกทีค่ะ

งามจัง

ทั้งพวงครามและหญ้าดอกแดงค่ะ

โดยเฉพาะหญ้าดอกแดงนี่ บ้านเราไม่ค่อยปลูก ด้วยเห็นว่าเป็นหญ้าข้างถนน แต่เวลาเค้าขึ้นเป็นดง สวยงามมากเลยค่ะ

ยังไม่ได้ไปวาดหญ้าชนิดนี้เลยค่ะ

ตอนนี้เพิ่งวาดอัญชันเสร็จ นำมาฝากค่ะ

ขอบคุณครับอาจารย์ขจิตครับ งั้นแถมให้อีกรูปครับ คล้ายกันมากเลย

                         

ได้เห็นงานวาดรูปสีน้ำพฤกษศาสตร์ของคุณณัฐรดาทีไรก็ไม่ผิดหวัง ได้ความเพลิดเพลินใจ และมีความสุขทุกที ขอบคุณอย่างยิ่งครับ

เรียนพี่อาจารย์ดร.วิรัตน์ ครูอ้อยเล็กอยากทราบเกี่ยวกับ"การเรียนรู้แบบผสมผสาน" (Blended Learning) เขามีระบบการจัดอย่างไรคะในขอบข่ายดังหัวข้อนี้ค่ะ..

1การเรียนด้วยตนเองบนเว็บ(Self Pace  e- Learning)

2การเรียนบนเว็บแบบสด (Live e- Learning )

3การเรียนในห้องเรียน (Face to Face e- Learning )

ขอความอนุเคราะห์พี่อาจารย์ดร.วิรัตน์ช่วยแลกเปลี่ยนให้รุ่นน้องอย่างครูอ้อยเล็กได้ทราบหน่อยค่ะ...ขอบพระคุณอย่างสูงค่ะ...

ในแง่หลักการและความเข้าทั่วไป ผมขออนุญาตลิ๊งค์ให้ไปดูข้อเขียน Blened Learning ของ ดร.รุจโรจน์ แก้วอุไร ก็แล้วกันนะครับ ส่วนผมจะขอแลกเปลี่ยนด้วยในด้านที่มีมิติความเป็นชุมชนและการขับเคลื่อนการพัฒนาที่มีคนและชุมชนเป็นแกนก็แล้วกันนะครับ ซึ่งอาจจะช่วยขยายกรอบแนวคิดและทรรศนะต่อการพิจารณาเรื่องการศึกษาเรียนรู้กับการพัฒนาด้านอื่นของสังคมได้มากขึ้น

ผมไม่ค่อยได้ติดตามพัฒนาการเรื่องนี้ในด้านทางการศึกษามากนัก ทว่า ติดตามดูในเรื่องที่เป็นความเชื่อมโยงกับมิติทางสังคม วัฒนธรรม และความเป็นชุมชนในบริบทใหม่ของโลก แต่ว่าผมเคยศึกษาเรื่องนี้อย่างเจาะจงเมื่อตอนเรียนปริญญาโท คิดว่าดูได้ทั่วในระดับพื้นฐานพอสมควร เลยขอใช้ความรู้เก่าๆมาแลกเปลี่ยนก็แล้วกันครับ

การผสมผสานการเรียนรู้ Blended Learning

แนวคิดเรื่องการจัดการเรียนรู้อย่างผสมผสานนั้น วางอยู่บนฐานคิดและแนวทฤษฎีที่สำคัญ ๓ เรื่อง โดยมีแนวคิดอื่นๆมาช่วยเป็นภาคขยายในกรอบหลักจากฐานคิดนี้ คือ

(๑) การบูรณาการประสบการณ์ทางการเรียนรู้และการสร้างความเข้มข้นทางประสบการณ์ ซึ่งขอให้นึกถึงกรวยประสบการณ์ของ เอดการ์ เดล (Edgar Dale's Cone of experiences)นะครับ หรือเข้าไปดูผมพูดถึงอย่างละเอียดพอสมควรในบทความเกี่ยวกับโรงมโหรสพทางวิญญาณของสวนโมกข์นะครับ ซึ่งให้ข้อเสนอแนะหรือให้ทฤษฎีพื้นฐานเกี่ยวกับกระบวนการเรียนรู้เชิงประสบการณ์ ที่นำเอามาใช้ประยุกต์ใช้เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมการศึกษาในแนวผสมผสานและบูรณาการช่องทางกับโอกาสการเกิดประสบการณ์หลายๆทางเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการเรียนรู้อย่างสูงสุด 

(๒) การแก้ปัญหาการศึกษาและกระบวนการจัดการเรียนการสอนในระบบโรงเรียน (Schoolling and School-Based Education System ) ซึ่งมีปัจจัยที่เป็นปัญหาที่แก้ไม่ตกด้วยวิธีการที่ดีอย่างอื่น เช่น ขาดกำลังคน ขาดครูทั้งในแง่จำนวนที่พอเพียงและความสามารถของครูที่ตรงกับวิชาที่ต้องสอน เด็กและคุณลักษณะผู้เรียนมีขอจำกัด ขาดทรัพยากรทางการศึกษา ขาดงบประมาณ และอีกจิปาถะ ซึ่งทำให้ดำเนินการเรียนการสอนและจัดกระบวนการเรียนรู้อย่างเดียว ไม่เพียงพอต่อการแก้ปัญหาทางการศึกษาหลายอย่าง เช่น เด็กเรียนไม่ทัน ครูไม่พอสอน การศึกษาเพิ่มเติมเพื่อแนะแนวและเตรียมอนาคตให้เด็กไม่พอ คุณภาพการเรียนการสอนไม่พอต้องสอนซ่อมเสริมแต่ไม่มีกำลังทำ ดังนั้น เทคโนโลยีและนวัตกรรมการศึกษาที่มุ่งผสมผสานการเรียนรู้และการเรียนการสอน จึงให้ทางออกและเป็นคำตอบที่ดีอย่างหนึ่ง

(๓) การเพิ่มศักยภาพและขยายขีดความสามารถของกระบวนการทางการศึกษาให้บรรลุผลสำเร็จมากยิ่นขึ้นอย่างสูงสุดด้วยการพัฒนาด้านวิทยาการและเทคโนโลยีแล้วประยุกต์ใช้เพื่อการศึกษา (Eduational Technology for Education Reform) ซึ่งแนวทางนี้เป็นแนวทางที่ต่อยอดแนวคิด IECT : Information,Education,Communication Technology ในยุคการพัฒนาการศึกษาพื้นฐานให้ทั่วถึงเมื่อ ๕๐-๖๐ ปีก่อนของโลกการศึกษา เหมือนกับที่มีกลยุทธเรื่อง IEC Program : Information,Education, Communication Intervention Program ในด้านการพัฒนาประชากรศึกษาร่วมสมัยในยุคเดียวกันเช่นกัน

ในอดีตนั้น การจัดการเรียนรู้แบบผสมผสานและการจัดกระบวนการเรียนรู้จากสื่อประสม ก็เป็นประเด็นที่ถกเถียงกันมากว่ามีนัยะต่อความแตกต่างในเชิงระเบียบวิธีกันอย่างไรหรือไม่ระหว่างการใช้คำว่า ผสมผสาน กับ การประสม เพราะบางครั้งก็เรียกและให้นิยามปฏิบัติการกันว่า Mixed-Method Learning, Mixed-Media for Learning Development และในการออกแบบกิจกรรมตามแนวคิดกรวยประสบการณ์ของเอดการ์เดลที่นักการศึกษาและนักเทคโนโลยีการศึกษารู้จักแพร่หลายกันดีทั่วโลกนั้น เขาก็ใช้คำว่า Integration มากกว่า Mixed-Method และผมไม่เคยเห็นว่าเขาเคยใช้ว่า Blended Learning เลย หรือผมจะจำไม่ได้ก็ไม่รู้

อย่างไรก็ตาม คำว่า Integration Development และ Integration Learning for Change ในวงการอื่นที่นำเอามิติการศึกษาเข้าไปขับเคลื่อนการพัฒนาในสาขานั้นๆ ก็มีครับ ทว่า แตกต่างทั้งวิธีคิดและแตกต่างในเรื่องลักษณะของเนื้องานมากเลยทีเดียว เช่น ในสาขาวิศวกรรมนั้น คำว่าผสมผสานและบูรณาการ ก็จะหมายถึงการรวมเอาบทบาทหน้าทีเชิงระบบและกลไกให้มาทำงานผสมผสานกันโดยหลักๆเลยก็เพื่อสนองตอบวัตถุประสงค์สำคัญคือ การทำให้เกิดผลการทำงานด้วยระบบที่เชื่อมโยงกันอย่างเป็นระบบซึ่งทำให้เกิดผลผลิตสิ่งใหม่ขึ้น เช่น รถยนต์เกิดการการเชื่อมโยงผสมผสานจากหลายระบบย่อย

อีกวัตถุประสงค์หนึ่งคือ เพื่อวัตถุประสงค์การใช้สอยปัจจัยร่วมกันแต่ทำได้หลายหน้าที่ Multi-Functional delivered เช่น Integrated Amplify และ Multi-Media ในยุคต่างๆ ก็มีที่มาจากการบูรณาการวงจรการทำงาน ซึ่งทำให้ได้ระบบที่ไม่ซับซ้อนแต่ทำหน้าที่ได้หลากหลายและซับซ้อนมากขึ้น

หรือในด้านการวิจัยและการพัฒนา ก็มีการใช้ว่าการพัฒนาแนวผสมผสานบ้าง การพัฒนาอย่างบูรณาการบ้าง การวิจัยแบบบูรณาการบ้าง อีกทั้งในปัจจุบัน มีการพัฒนาระเบียบวิธีการวิจัยแบบผสมผสาน และการวิจัยแบบบูรณาการขึ้นมาเป็นระเบียบวิธีวิจัยขั้นก้าวหน้าของวงวิชาการอีกด้วย ในด้านการพัฒนาการสาธารณสุขมูลฐานซึ่งทำในประเทศไทยและทั่วโลกมากว่า ๒๐-๓๐ ปีแล้ว บางครั้งก็จะเห็นนักพัฒนานิยามว่าการพัฒนาแนวผสมผสานและการพัฒนาสุขภาพอย่างบูรณาการ

ตัวอย่างที่ผมเอ่ยมาเหล่านี้ เมื่อเห็นแล้วก็จะเข้าใจว่าน่าจะคล้ายและเหมือนกับวงการเทคโนโลยีการศึกษานะครับ ทว่า หากเข้าไปศึกษาในรายละเอียดแล้วก็จะเป็นคนละเรื่องเลย ไม่เหมือนครับ ไม่เหมือน เหตุที่ไม่เหมือนก็เพราะฐานคิดในเชิงทฤษฎีไม่เหมือนกันและมองกันคนละระดับ หรือมีบริบทและหน่วยในการวิเคราะห์ไม่เท่ากันนั่นเองครับ

อย่างการบูรณาการทางการศึกษาในสาขาประชากรศึกษาและการพัฒนาสุขภาพ รวมไปจนถึงการพัฒนาในสาขาต่างๆที่ไม่ใช่การพัฒนาการศึกษาในห้องเรียนนั้น การผสมผสานและการบูรณาการ ก็จะหมายถึงการดำเนินการที่ขยายกรอบจาก ปฏิบัติการที่เป็น Singularity Goal and Objective หรือมุ่งบรรลุผลสูงสุดต่อจุดหมายเดี่ยว เป็นการมุ่งบรรลุผลสูงสุดหลายด้านในหลายวัตถุประสงค์ Multiples-Objectives and Complicated Goals ให้บังเกิดได้ในเวลาเดียวกัน เช่น ต้องบูรณาการเพื่อมุ่งสู่ทั้งเป้าหมายทางการศึกษา สุขภาพ สิ่งแวดล้อม การพัฒนาสังคม เศรษฐกิจ การเมืองภาคทางการ การเมืองภาคประชาชน และอื่นๆ  วัตถุประสงค์ของส่วนรวม วัตถุประสงค์ของปัจเจก วัตุประสงค์เชิงนโยบายของภาครัฐ วัตถุประสงค์ของเอกชนและประชาชน เหล่านี้เป็นต้น

ในขณะที่การผสมผสานการเรียนรู้ในนิยามและทรรศนะของนักการศึกษาและนักเทคโน ที่มักใช้ว่า Blended Learning นั้น หมายถึงการลดทอนวัตถุประสงค์จำเพาะเพื่อการพัฒนาการศึกษาเรียนรู้ ทว่า มุ่งบูรณาการเชิงประสบการณ์เพื่อเพิ่มคุณภาพและประสิทธิภาพโดยมีวัตถุประสงค์เชิงเดี่ยวและไม่ซับซ้อนมากนักเป็นเกณฑ์ ดังนั้น จึงเหมาะกว่าที่จะใช้ Blended Learning มากกว่า Integration Learning อย่างวงการอื่นๆที่มีกรอบแนวคิดและให้ทรรศนะต่อมิติการศึกษาเรียนรู้กว้างกว่าการศึกษาในห้องเรียนและการศึกษาในระบบโรงเรียน

ส่วนในเรื่องการวิจัยและพัฒนานั้น ก็มีการใช้ปนกันทั้งการผสมผสาน การผสมระเบียบวิธี การวิจัยแย่างบูรณาการ แต่ถ้าหากเข้าใจหลักการแล้วก็ไม่สับสนหรอกครับ เข้าใจได้และมีแนวพิจารณาได้ชัดเจนพอสมควร โดยตรวจสอบดูในเรื่อง วัตถุประสงค์ กับระเบียบวิธีในขั้นตอนต่างๆ ที่ออกแบบกับปฏิติัการวิจัย

หากเด่นออกไปในเรื่องการขยายกรอบเกี่ยวกับจุดหมายและวัตถุประสงค์ เช่น มุ่งบรรลุผลหลายอย่างไปด้วยกัน (Area-Based Pluralitized objectives and goals and Multi-Functionals ) ทั้งในแง่การพัฒนาคน พัฒนาสังคมประชากรในพื้นที่ พัฒนาสิ่งแวดล้อม พัฒนาการศึกษาและการสื่อสารเรียนรู้ พัฒนาสุขภาพและสุขภาวะ พร้อมกับมุ่งได้คามรู้และการสร้างสิ่งใหม่ทั้งในเชิงทฤษฎี วิชาการ และนวัตกรรมทางการศึกษา อย่างนี้ก็เห็นเรียกการวิจัยและพัฒนาแนวผมผสานก็มี การวิจัยและพัฒนาแบบบูรณาการก็มี ในทรรศนะผมแล้ว เห็นว่าควรเรียกว่า Integration Research and Development ครับ

แต่ถ้าหากดำเนินการคล้ายกัน ทว่า เน้นการใช้ระเบียบวิธี(Methodology and Methods)หลายอย่าง   เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ในแง่การแก้ปัญหาและวัตถุประสงค์เพื่อการพัฒนาหลายอย่างเหมือนกัน แต่ให้ความสำคัญต่อการสร้างความรู้และบริหารจัดการด้วยระเบียบวิธีที่อิงการใช้ระเบียบวิธีทางความรู้ การใช้วิชาการ (Knowledge-Based and Promblem-Based Learning Oriented) และวิธีวิทยาในการสร้างความรู้ที่เชื่อมโยงใกล้ชิดกับภาคปฏิบัติการมากกว่า อย่างนี้ก็เห็นเรียกการวิจัยและพัฒนาแนวผมผสานก็มี การวิจัยและพัฒนาแบบบูรณาการก็มีเช่นกัน ซึ่งผมเห็นว่าควรเรียกว่า Mixed-Method ซึ่งใกล้เคียงกับ Blended Learning มากเมื่อใช้ว่า ผสมผสาน แต่ต้องมองภายใต้บริบทและกรอบทฤษฎีที่ผมกล่าวถึงในข้างต้นครับ แล้วจะเห็นว่ามันไม่ได้หมายถึงลักษณะดำเนินการที่เหมือนกัน หรือเกือบจะคนละเรื่องเลย เพราะ Blended-Learning มีวัตถุประสงค์จำเพาะเป็นตัวตั้ง แล้วมุ่งผสมผสานเชิงวิธีการและกระบวนการ เพื่อบูรณาการเชิงประสบการณ์ทางการเรียนรู้(หลายๆช่องทางของการรับประสบการณ์ แต่อิงอยู่กับจุดหมายหลักจุดหมายเดียว เท่านั้น)นั่นเอง

เรื่องนี้เป็นแง่มุมเล็กน้อย แต่ในทรรศนะผมแล้วเป็นเรื่องสำคัญมากครับ เพราะมันทำให้คนต่างวงการพูดอย่างเดียวกันแต่ไม่เข้าใจกันและทำงานแบบทวีคูณพลังแบบข้ามศาสตร์ไม่ได้ เช่น คนวงการอื่นคุยกับนักเทคโนโลยีการศึกษาไม่รู้เรื่อง และคนในวงการเทคโนโลยีการศึกษาคุยกับคนในวงการอื่นก็ไม่รู้เรื่อง ทำให้สังคมมีการพัฒนาอย่างแยกส่วนเพราะวิธีการทางความรู้กับงานทางปัญญามันแยกส่วนกันตั้งแต่วิถีคิดและวิธีการทางวิชาการนั่นแล้ว  (ขอแยกกรอบนะครับ)

 

เห็นหัวเรื่องบันทึกจึงแวะเข้ามาอ่านและรับรู้อย่างเงียบ ๆ ครับ ท่านพี่ ;)

ขอบคุณครับ

Techniques and Process of Learning and Instruction

Self-Pace e-Learning : Self-Pace e-Learning เป็นการออกแบบกระบวนการเรียนรู้ที่ต่อยอดมาจาก Auto-elucidative Learning ซึ่งใช้ทฤษฎีการเรียนรู้แบบอิงเกณฑ์ของปัจเจกและการสนองตอบความแตกต่างระหว่างบุคคล เป็นทฤษฎีและฐานความรู้ มาพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมเชิงกระบวนการ ไม่ใช่เทคโนโลยีแบบกลไก เป็นกระบวนการที่เน้นการสร้างความรับผิดชอบและการพัฒนาภาวะผู้นำของปัจเจกในกลุ่มที่มีทักษะทางสมองและมีศักยภาพการศึกษาเรียนรู้ด้วยตนเองได้ดีมากกว่ากลุ่มอื่น มีทักษะการอ่านและศึกษาค้นคว้าดีกว่าผู่อื่นอยู่เป็นพื้นฐาน

แต่เดิมนั้นก็พัฒนาเพื่อเด็กเรียนเก่งที่สามารถเลือกวิธีเรียนรู้และบริหารจัดการตนเองเพื่อได้คำตอบด้วยตนเอง โดยจะกระโดดข้ามและไม่เรียนอย่างที่คนอื่นเรียนก็สามารถทำได้ เลยเป็นวิธีการออกแบบที่เน้น Self-Pacing การนำเอาคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ตมาใช้ ก็เป็นการใช้เทคโนโลยีมาช่วยขยายขีดความสามารถที่จะเรียนรู้โดยหลักการนี้ โปรแกรม Vital ของ มสธ นั้นก็พัฒนาขึ้นมาจากหลักการนี้นะครับ ผมจำได้ดีเพราะผมศึกษาวิธีการนี้สำหรับนำมาออกแบบวิธีทำโปรแกรมและสื่อการ์ตูนเรียนรู้ให้แก่เด็ก เพื่อให้สุขศึกษาเรื่องโภชนาการเรื่องอาหารหลัก ๕ หมู่ในกลุ่มเด็กประถมวัย

Live e-Learning : ใครดูรายการเคเบิ้ลทีวีแบบ AF และรายการผสมผสานในปัจจุบันที่คน Phone-in และมีส่วนร่วมที่ของจริงและรายการสด เข้าไปผสมผสานกับกระบวนการเรียนการสอนได้ผ่านการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศช่วยก็คงจะเห็นภาพนะครับ หลักการดังกล่าวนี้ใช้เยอะในวิธีการแบบการศึกษาทางไกล (Distance Learning) เช่น การสอบวิทยานิพนธ์โดยคณะกรรมการสอบสหสาขาอยู่กันคนละประเทศ หรือการทำรายการวิทยุและรายการทีวีเพื่อการศึกษาแบบรายการสดทางอินเทอร์เน็ต ซึ่งสามารถสื่อสาร ตอบโต้ และแลกเปลี่ยนเรียนรู้ได้แบบ Real-Time ที่มหาวิทยาลัยมหิดลของผมก็มี IPTV ซึ่งหากมีรายการประชุมและเวทีเรียนรู้ต่างๆแล้ว นอกจากผู้เข้าร่วมจะสามารถเรียนรู้โดยตรงได้แล้ว ทุกคนในมหาวิทยาลัยที่กำลังทำงาน ก็สามารถติดตาม มีส่วนร่วมแบบรายการสดทางอินเทอร์เน็ตได้ในเวลาเดียวกันอีกด้วย ก่อนที่จะเก็บรวบรวมเป็นคลังความรู้แบบมัลติมีเดียต่อไป

Face to Face e-Learning : การผสมผสานอย่างนี้ผมเคยศึกษาและนำมาใช้ทำงานชุมชนในแนวประชาสังคมและการเน้นการรวมกลุ่มกลุ่มเล็กๆของปัจเจกแต่เป็นกลุ่มที่มีพลัง โดยนำเอาคอมพิวเตอร์ อินเทอร์เน็ต และเทคโนโลยีสารสนเทศ ไปจนถึงเทคโนโลยีและภูมิปัญญาของชาวบ้าน มาเป็นส่วนหนึ่งของการจัดกระบวนการเรียนการสอนในห้องเรียนหรือในเวทีเรียนรู้ ซึ่งผู้สอนและกลุ่มผู้เรียน ยังสามารถมีปฏิสัมพันธ์กันแบบสองทาง แนวคิดและทฤษฎีพื้นฐานสำหรับการออกแบบกระบวนการเรียนรูและการจัดการเรียนการสอนในเทคนิคอย่างนั้น วางอยู่บนหลายทฤษฎีเหมือนกันครับแต่ที่สำคัญคือ แนวคิดเรื่อง Restructural Learning และ Humanized Education โดยหลักการสำคัญก็คือ เชื่อว่าการขาดการปฏิสัมพันธ์แบบสองทาง (Interaction,Ineractive learning, and ๒ ways communication) นั้น จะทำให้กระบวนการเรียนรู้เป็นรากเหง้าโครงสร้างเชิงอำนาจแนวดิ่งซึ่งเป็นเงื่อนไขเบื้องต้นของการพัฒนาหลายอย่างไม่ได้ในสังคม โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงให้ปัจเจกและชุมชนระดับต่างๆเปลี่ยนวิถีผู้เรียนจาก Passived Learner เป็น Active Learner และเปลี่ยนพลเมืองจากเป็นผู้บริโภคและชอบเรียกร้องคล้อยตามอย่างไม่มีเหตุผล เป็นผู้ผลิต ผู้ให้ และผู้มีภาวะผู้นำที่เชื่อพลังอำนาจแห่งตน

อีกองค์ประกอบหนึ่งที่สำคัญและเกี่ยวข้องอย่างมากด้วยเช่นกัน คือ การเรียนรู้หลายอย่างขาดกระบวนการปฏิสัมพันธ์กันของมนุษย์และจะขาดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เพื่อสร้างความรู้ร่วมกันให้มีมิติทางสังคมเข้ามาบูรณาการไปด้วย ไม่ได้ เพราะหลายอย่างไปไกลมากกว่าการบรรลุผลการเรียนรู้ด้วยศักยภาพทาวงสมอง ทว่า มีองค์ประกอบทางสุนทรียภาพของมนุษย์และจิตใจ ตลอดจนการมีความรู้สึกสุข-ทุกข์ร้อนของมนุษย์มาเกี่ยวข้องด้วย เช่น ความรัก ความไว้วางใจ ความเอื้ออาทรผู้อื่น การจัดความสัมพันธ์เพื่ออยุ่ร่วมกันในสังคมกับผู้อื่น การเรียนรู้ทางสังคมเพื่อเข้าใจตนเองและเข้าอกเขาใจผู้อื่น เหล่านี้เป็นต้น

องค์ประกอบและมิติการเรียนรู้เหล่านี้ หากปราศจากการปฏิสัมพันธ์โดยตรงกับผู้อื่นด้วย ก็จะทำให้บรรลุจุดหมายการเรียนรู้ทางสมอง ทว่า อาจจะปรับตัวในโลกความเป็นจริงและนำเอาประสบการณ์การเรียนรู้ไปใช้นำการพัฒนาสังคมที่เป็นจริงไม่ได้ อย่างนี้เป็นต้น

การรู้หลักปฏิบัติอย่างนี้ จะทำให้มีวิธีคิดที่ชัดเจนหนักแน่น ออกแบบและจัดกระบวนการเรียนรู้ พร้อมกับนำเอาเทคโนโลยีและทรัพยากรต่างๆมาสู่กระบวนการเรียนการสอนอย่างสมเหตุผล ผมเคยแนะนำนักวิจัยในทีมผมหลายครั้ง ให้รู้จักกาลเทศะในการใช้ Mind Map ที่จัดกระบวนการโดยวาดและทำงานเป็นกลุ่มบนกระดาษฟลิปชาร์ต กับการนั่งคุยกับผู้คนแต่ก้มหน้างุดๆอยู่กับโน็ตบุ๊คเพื่อใช้โปรแกรม Mind Manager คอยป้อนข้อมูลอย่างเชื่อมโยงโดยเก็บรวบรวมมาจากผู้คนในห้องประชุม ซึ่งก็จะงงและสับสนต่อการแนะนำของผมมาก บางทีอาจจะเข้าใจว่าเราไม่ชอบเทคโนโลยีหรือต่อต้านวิธีการใหม่ๆไปเสียอีกก็ได้ เพาะเขาไม่มีหลักทฤษฎีเพื่อทำงานในระดับพัฒนาวิธีคิดและออกแบบเชิงกระบวนการ จึงใช้แต่เพียงเทคโนโลยีเพราะว่าอยากใช้ และไม่สามารถมองเห็นว่าขาดมิติสำคัญใดไปบ้าง 

หากเห็นหลักคิดและผลที่ต้องการที่มีนัยะต่อการทำให้การศึกษาเรียนรู้ นำไปสู่การสร้างเปลี่ยนแปลงและการพัฒนาอย่างผสมผสานอย่างไรแล้ว ก็ออกแบบและเลือกลูกเล่นได้หลากหลายไปตามเงื่อนไขแวล้อมของเราครับ ไม่ต้องสักแต่จำรูปแบบและเทคนิคแต่ไม่รู้เหตุผลเบื้องหลังและจุดหมายที่เชื่อมโยงออกไปอย่างกว้างขวางในพรมแดนอื่นๆที่เกี่ยวข้องกัน เช่น โยนเอกสารและสื่อการสอนเข้าไปฝากไว้ในอินเทอร์เน็ตให้หมดแล้วก็เดินไปสอนที่ไหนก็ได้ในโลกนี้โดยให้ผู้อื่เข้าถึงได้ด้วยตนเองอย่างยืดหยุ่น บางคนอยากอ่านแบบ Hard copy ก็พิมพ์ออกมาใช้เอง บางคนศึกษาล่วงหน้าได้ก็เรียนและมีส่วนร่วมแบบ Paperless อย่างนี้ได้เป็นต้น

ส่วนผู้สอน หากผู้เรียนไม่ค่อยตื่นตัวก็ลดขนาดกิจกรรมและสื่อการเรียนรู้  หากบรยากาศดีและผู้เรียนตื่นตัว มีความพร้อมมากมาย ก็โหลดสื่อและทรัพยากรการเรียนรู้ออกมาผสมผสานกับกระบวนการเรีัยบนรู้อย่างกว้างขวางในห้องเรียนได้ทันที ซึ่งผู้สอนและผู้เรียนก็ยังสามารถมีปฏิสัมพันธ์กันสองทางได้อย่วขเข้มข้น ผมใช้บ่อยครับ

อย่างไรก็ตาม กระบวนการเหล่านี้ เป็นการออกแบบเชิงเทคนิคปฏิบัติเท่านั้นครับ หากเราออกไปจากกรอบพวกนี้ไปด้วย โดยคำนึงถึงว่า ก่อนที่จะมี Self e-Pacing learning คนเขายังริเริ่มและคิดให้เราทำตามได้เลย แล้วทีมาถึงคราต้องทำในเงื่อนไขแวดล้อมทางสังคมของเราบ้าง ทำไมเราจะต้องเดินตามอย่างกับการปฏิบัติต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่คิดออกจากกรอบให้ยืดหยุ่นไปตามความต้องการในบริบทของเราไม่ได้

ขอให้คุณครูอ้อยและท่านที่สนใจได้แนวคิดและเชื่อว่าคงจะได้ความเข้าใจเพื่อนำไปดัดแปลงใช้ในการทำงานระดับออกแบบกระบวนการได้ต่อไปนะครับ (เมื่อยจริงๆ และจะขออนุญาตดึงออกไปเก็บไว้เป็นหัวข้อต่างหากอีกด้วยนะครับ ไม่ค่อยได้เขียนบ่อยน่ะครับ)

สวัสดีครับอาจารย์ wasawat Deemarn :

อันที่จริงต้องให้อาจารย์ wasawat Deemarn คุยกับน้องครูอ้อยนะครับ โดยเฉพาะในด้าน ICT strategy น่ะครับ ผมนั้นเน้นไปในทาง Humanized and Community Mobilization Approach ซึ่งเป็นมิติที่สำคัญและคงจะเป็นประโยชน์ในการนำไปเป็นฐานคิดของคนทำงานด้านพัฒนาการศึกษาเรียนรู้ก็จริง แต่จะเหมาะกับคนทำงานแนวการศึกษาทางเลือกและนอกภาคที่เป็นทางการมากกว่า มันไกลตัวจากคุณครูและคนทำงานในสถานศึกษามากไป แต่ผมก็ไม่มีความรู้ในแง่นั้น ที่คุยนี่ก็ด้วยสปิริตให้คุณครูอ้อยที่เป็นเครือข่ายกัลยาณมิตรของเวทีหนองบัว แล้วก็คุณครูอ้อยนี่ผมว่ามีพื้นฐานที่บูรณาการ Solf Science กับ Technological Management Science ซึ่งก็เป็นคนส่วนน้อยในสังคมการทำงาน เลยอยากหนุนเสริมให้มีกำลังวังชาเยอะๆ ชุมชนและสังคมจะได้มีตนไว้ใช้ดีๆเยอะๆน่ะครับ

ผมคิดว่าผมควรจะเขียนไว้เหมือนกันเพราะพอจะมีโอกาสได้ทำงานในแนวแบบข้ามวงการซึ่งใช้ความรู้แบบผสมผสานอย่างนี้โดยตรงมาตลอดอยู่บ้าง อาจารย์เชิญเลยนะครับ เสวนาทิ้งไว้ให้เป็นแหล่งที่คนอื่นจะเข้ามาศึกษาแล้วนำไปค้นค้วาต่อ ก็นับว่าจะเป็นประโยชน์ที่ช่วยกันสร้างสรรค์มากนะครับ

บิดาแห่ง blended learnning คือใครคะ

ประวัติความเป็นมาเป็นอย่างไร

  • สวัสดีครับอาจารย์ชาลีนุชครับ ผมไม่ทราบเลยครับ แต่ดูเหมือนอาจารย์จะทราบคำตอบดีแล้ว เชิญอาจารย์แบ่งปันความรู้ได้เลยนะครับ เชิญเลยครับ
  • โดยทฤษฎีพื้นฐานนั้น หลังจากทฤษฎีการวางเงื่อนไขเพื่อพัฒนาพฤติกรรมการเรียนรู้ของกลุ่มนักจิตวิทยาพฤติกรรมอย่าง ธอร์นไดค์, วัตสันต์, ศาสตราจารย์สกินเนอร์ เหล่านี้แล้ว ก็มีทฤษฎีกรวยประสบการณ์และทฤษฎีการบูรณาการทางการรับรู้ของ Edgar Dale ซึ่งให้หลักการพื้นฐานที่แปรไปสู่การออกแบบ-พัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมการศึกษาหลายอย่างตามมาอีกหลายอย่างที่มีลักษณะเป็นสื่อประสม
  • นอกจากนี้ก็มีกลุ่มที่ริเริ่มทำโปรแกรมการเรียนรู้ด้วยตนเองแบบแตกกิ่ง ซึ่งก็ทำให้สามารถออกแบบกระบวนการเรียนรู้และจัดวางแหล่งประสบการณ์รองรับผสมสานหลายชั้น อย่าง Crowder(1964), Lumsdaine(1964), Schramm(1964) แต่ไม่รู้ว่าจะสามารถเรียกว่าเป็นบิดาของ Blended Learning ได้หรือไม่นั้นก็ไม่แน่ใจครับ ในโลกการศึกษานั้นมีหลาย School of Though ครับ ต้องวางกรอบก่อนจึงจะสามารถกล่าวให้เจาะจงได้อย่างนั้นครับ อย่างกรณีของการทำ AE : Auto-elucidative Program of Self-Pace Learning นั้น ก็ผสมผสานหลายอย่าง แต่นักการศึกษาหลายสำนักคิดก็ไม่ยอมรับว่าเป็นแบบเรียนโปรแกรมครับ พอมาถึง Blended Learning สมัยใหม่ ก็คงจะมีวิธีมองหลากหลาย
  • ในแง่ความเป็นต้นฉบับทางทฤษฎีพื้นฐาน ก็อาจจะลองใช้แง่มุมเหล่านี้ช่วยค้นหาได้กระมังครับ แต่ในแง่ความเป็นตัวบุคคลและประวัติแล้วผมไม่ค่อยมีความรู้ในแง่นี้เลยครับ
  • พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
    ClassStart
    ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
    ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
    ClassStart Books
    โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท