การไกล่เกลี่ยข้อพิพาทคืออะไร?


การไกล่เกลี่ยข้อพิพาท

             ไกล่เกลี่ย  อาจเป็นคำที่หลายคนเคยได้เห็นหรือได้ยินจากสื่อต่างๆในกรณีที่มีการพิพาทเกิดขึ้น เช่นในกรณีการพิพาทกันระหว่างผู้ป่วยกับแพทย์/บุคลากรทางการแพทย์ หรือคดีของลิเดียกับหมอกฤษณ์ คอนเฟิร์ม การไกล่เกลี่ยข้อพิพาทเป็นแนวทางหนึ่งที่สามารถจะทำให้ข้อพิพาทระงับได้โดยคู่กรณีพึงพอใจทั้งสองฝ่าย คือ เป็นในแบบ WIN- WIN จึงขอนำเสนอเรื่องการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทเพื่อให้ได้ทำความรู้จักและมีเข้าใจในกระบวนการการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทได้ดียิ่งขึ้น

การไกล่เกลี่ยข้อพิพาท คือ

การยุติหรือระงับข้อพิพาทด้วยความตกลงยินยอมของคู่พิพาทเองโดยมี ผู้ไกล่เกลี่ยเป็นคนกลางคอยช่วยเหลือแนะนำและเสนอแนะแนวทางในการยุติข้อพิพาท

ผู้ไกล่เกลี่ย คือ

คนกลางที่ทำหน้าที่เสนอแนะแนวทางในการเจรจาเพื่อยุติปัญหาข้อพิพาทโดยสันติวิธี ซึ่งอาจจะเป็นผู้พิพากษา หรือบุคคลที่ได้รับการแต่งตั้งจากผู้พิพากษาให้เป็นผู้ประนีประนอมก็ได้

วัตถุประสงค์ในการไกล่เกลี่ย

1. คู่ความยอมความ เป็นการระงับข้อพิพาททั้งหมดเมื่อคู่ความตกลงกันได้แล้ว ก็จะทำสัญญาประนีประนอมยอมความและกระบวนพิจารณา ต่อจากนั้นศาลจะมีคำพิพากษาบังคับให้ตามข้อตกลงของคู่ความเรียกว่า มีคำพิพากษาตามยอม

            2. โจทก์ถอนฟ้อง เป็นกรณีที่ไกล่เกลี่ยแล้วคู่ความตกลงกันได้ โดยโจทก์พอใจแล้วตกลงระงับ      ข้อพิพาทด้วยการาถอนฟ้องไปเพราะไม่ติดใจเรียกร้องสิ่งใดจากจำเลยอีก

            3. คู่ความรับข้อเท็จจริง การไกล่เกลี่ยอาจทำให้คู่ความได้ทราบถึงประเด็นปัญหาข้อพิพาทที่แท้จริง แม้ไกล่เกลี่ยแล้วตกลงกันไม่ได้ทั้งหมด แต่คู่ความอาจรับข้อเท็จจริงบางประการ เป็นผลให้การดำเนินพิจารณาสืบพยานต่อไปจะกระทำเฉพาะข้อเท็จจริงที่เหลือ ซึ่งจะเป็นประเด็นปัญหาโดยแท้ของคดีเท่านั้น การรับข้อเท็จจริงนี้แม้จะไม่ทำให้ข้อพิพาทยุติลงโดยสิ้นเชิง แต่ก็มีส่วนช่วยการพิจารณาคดีสะดวกและรวดเร็วขึ้น

ข้อพิพาทที่ระงับได้ด้วยการไกล่เกลี่ย

ได้แก่ ข้อพิพาทดังต่อไปนี้

                1. ข้อพิพาททางแพ่งทุกประเภท เช่น กู้ยืม ค้ำประกัน ซื้อขาย เช่าทรัพย์ ครอบครัว มรดก ฯลฯ

                2. ข้อพิพาททางอาญาอันยอมความได้ เช่น บุกรุก ยักยอก ทำให้เสียทรัพย์ หมิ่นประมาท ฯลฯ

                3. ข้อพิพาททางแพ่งที่เกี่ยวกับคดีอาญา สามารถไกล่เกลี่ยได้เฉพาะส่วนแพ่ง เช่น กรณีขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายแก่กายหรือ จิตใจ คดีสามารถตกลงประนีประนอมยอมความได้ในส่วนของค่าเสียหาย ส่วนความผิดตามประมวลกฎหมายอาญานั้นเจ้าพนักงานตำรวจสามารถดำเนินคดีต่อไปได้

    4. ข้อพิพาทอื่นๆ ได้แก่ ข้อพิพาทแรงงาน ข้อพิพาทเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมของประชาชน เช่น        การเรียกร้องค่าจ้าง การประท้วงการก่อสร้างโรงงานไฟฟ้า โรงงานกำจัดขยะมูลฝอยเป็นต้น

ข้อดีของการไกล่เกลี่ยหรือประนอมข้อพิพาท

     1. สะดวก การไกล่เกลี่ยข้อพิพาทเป็นวิธีระงับข้อพิพาทไม่มีแบบพิธีค่อนข้างจะยืดหยุ่นและรักษาสัมพันธภาพระหว่างคู่พิพาทมากกว่าการพิจารณาคดีตามปกติของศาล

                2. รวดเร็ว การไกล่เกลี่ยใช้เวลาในการดำเนินการไม่มากนักก็สามารถที่จะทราบได้ว่าคู่พิพาทจะ   ตกลงกันได้หรือไม่อย่างไร หากตกลงกันได้จะทำให้คดีเสร็จสิ้นไปเร็วกว่ากระบวนการปกติ ถ้าไม่สามารถตกลงกันได้ก็จะส่งสำนวนคืนผู้พิพากษาเจ้าของสำนวน พร้อมแจ้งผลการไกล่เกลี่ยเพื่อพิจารณาดำเนินการตามขั้นตอนปกติต่อไป

                3. ประหยัดค่าใช้จ่าย การไกล่เกลี่ยใช้เวลาไม่มากนักทำให้ประหยัดค่าใช้จ่ายในการดำเนินการต่าง ๆ เช่น ค่าเดินทางมาศาลในแต่ละนัด ค่าป่วยการทนายความ ตลอดจนค่าดำเนินการในชั้นอุทธรณ์ ฎีกา       รวมตลอดถึงชั้นบังคับคดี นอกจากนี้การประนีประนอมยอมความหรือถอนฟ้อง หากเป็นคดีแพ่งสามัญ        ก็สามารถขอคืนค่าธรรมเนียมศาลเป็นกรณีพิเศษ ซึ่งเป็นการแบ่งเบาภาระทางคดีของคู่พิพาทอีกประการหนึ่ง

                4. รักษาสัมพันธภาพระหว่างคู่พิพาท เมื่อคู่พิพาทสามารถตกลงระงับข้อพิพาทกันได้จะทำให้ลด ข้อขัดแย้ง ข้อโต้เถียงระหว่างกัน สามารถอยู่ร่วมกัน ต่อไปซึ่งจะเป็นผลดีต่อทุกฝ่าย 

                5. สร้างความพึงพอใจให้แก่คู่ความ การไกล่เกลี่ยเป็นวิธีการที่ต้องใช้เทคนิคการเจรจาต่อรองให้     ผู้พิพาทยินยอมผ่อนปรน โอนอ่อนผ่อนตามให้แก่กันและกันโดยไม่มีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้เปรียบเสียเปรียบซึ่งกันและกัน กล่าวคือ ไม่เหมือนการพิจารณาคดีตามปกติ ไม่มีการชี้ว่าฝ่ายใดถูก ฝ่ายใดผิด ฝ่ายใดแพ้       ฝ่ายใดชนะ อันก่อให้เกิดความรู้สึกเสียศักดิ์ศรี และทำให้ที่พึงพอใจของคู่พิพาท

                6. รักษาชื่อเสียงและรักษาความลับทางธุรกิจของคู่พิพาท กระบวนการไกล่เกลี่ยดำเนินการ         เป็นความลับ พยานหลักฐาน ข้อมูลที่นำเสนอในชั้นนี้ไม่สามารถนำไปใช้เป็นพยานหลักฐานอ้างอิงในขั้นศาลได้เว้นแก่ผู้พิพาทอีกฝ่ายหนึ่งจะยินยอม

                7. สร้างความสงบสุขให้แก่ชุมชน การไกล่เกลี่ยสามารถทำให้คู่พิพาทกลับไปอยู่ร่วมกันอย่างปกติสุขตลอดจนร่วมกันพัฒนาสังคมของตนต่อไป

                8. แบ่งเบาภาระทางคดีของศาล ข้อพิพาทที่สามารถตกลงกันได้ก็สามรถตกลงกันได้ก็จะทำให้คดีไม่เข้าสู่กระบวนการพิจารณาพิพากษาคดีของศาล คดีเสร็จไปไม่ค้างการพิจารณาเป็นส่วนมาก

                9. สร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคมให้แก่ประเทศชาติ เมื่อข้อพิพาทเกิดขึ้นน้อย ปริมาณคดีที่ขึ้นสู่ศาลก็ลดลงยังให้งบประมาณในส่วนนี้ลดลง สังคมก็จะอยู่ร่วมกันอย่างปกติสุข สามารถร่วมกันพัฒนาชุมชน ไม่ก่อให้เกิดปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจ

 

วิธีการและขั้นตอนการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท

                1. กรณีการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทก่อนวันนัด

                                1.1 โจทก์อาจแสดงความประสงค์ต่อศาล เพื่อขอให้ศาลนำคดีเข้าสู่ระบบการไกล่เกลี่ย    ข้อพิพาทในศาลเมื่อโจทก์ดำเนินการยื่นฟ้องคดี หรือจำเลยเมื่อได้รับสำเนาคำฟ้องหรือหนังสือเชิญชวนเข้าสู่ระบบการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท อาจแจ้งความประสงค์มายังศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทเพื่อขอไกล่เกลี่ยข้อพิพาทกับคู่พิพาท

                                1.2 ภายหลังที่ศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทได้รับแจ้งความประสงค์ของคู่พิพาทแล้วจะประสานกับคู่พิพาทเพื่อกำหนดนัดวันไกล่เกลี่ยและแจ้งให้คู่พิพาททุกฝ่ายทราบ

                2. กรณีการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทระหว่างการพิจารณาคดีของศาล

                                2.1 คู่ความสามารถขอให้ศาลใช้ระบบการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทในเวลาใด ๆ ก็ได้ในระหว่างการพิจารณาคดีหรือศาลอาจเห็นสมควรให้ไกล่เกลี่ยคดีให้อยู่ระหว่างการพิจารณาก็ได้

                                2.2 ผู้พิพากษาส่งคดีเข้าสู่ศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทประจำศาลดำเนินการ

                                2.3 ผู้พิพากษาทำหน้าที่ไกล่เกลี่ยหรือผู้ประนีประนอมประจำศาลซึ่งเป็นบุคคลภายนอกที่ขึ้นทะเบียนไว้ดำเนินการไกล่เกลี่ย

                                2.4 ถ้าตกลงกันได้อาจมีการถอนฟ้อง ถอนคำร้องทุกข์ หรือศาลมีคำพิพากษาไปตามสัญญาประนีประนอมยอมความที่คู่ความตกลงยินยอมจัดทำขึ้น

การสิ้นสุดการไกล่เกลี่ย

                1. เมื่อมีการทำสัญญาประนีประนอมยอมความด้วยความยินยอมและพึงพอใจของคู่พิพาท

                2. เมื่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ประสงค์ที่จะดำเนินการไกล่เกลี่ยต่อไป

                3. เมื่อผู้ไกล่เกลี่ยสั่งให้ยุติการไกล่เกลี่ยเนื่องจากคู่พิพาทไม่สามารถตกลงกันได้

                ซึ่งในระบบการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทนั้น สำนักกฎหมายได้นำมาใช้ในการดำเนินคดีแก่ลูกค้าด้วย เพื่อให้คดีเสร็จไปอย่างรวดเร็วบนความพึงพอใจของทั้งสองฝ่ายโดยได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานต่างเป็นอย่างดี

                 สุดท้ายต้องขอขอบคุณนายแพทย์บรรพต พินิจจันทร์ ที่ให้โอกาสผมได้รับประสบการณ์ใหม่ๆ จากการทำหน้าที่ผู้ไกล่เกลี่ยของศาลจังหวัดชัยนาท

                        ไพโรจน์ เม่นสุวรรณ์

 

หมายเลขบันทึก: 325866เขียนเมื่อ 8 มกราคม 2010 13:38 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มิถุนายน 2012 15:56 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

เคยไปอบรมนานแล้ว จนเสื้อที่ได้มาใส่ไม่ได้แล้ว เพราะ...โตขึ้นน่ะ ก็ยังไม่ได้แสดงความสามารถเลย ดีค่ะที่น้องอ๊อดลงมาให้ได้ทบทวนกัน ขอบคุณค่ะ/By Jan

ดูแล้วมีประโยชน์มากเลยครับ เพราะบางทีดูเหมือนว่าฟ้องกันไปแล้วก็ขาดทุนทั้งคู่ ถ้าไกล่เกลี่ยได้ก็จะ WIN-WIN ทั้งคู่ / boss

เเม่เเจ้งจับเเฟนหนุค่ะ

ตอนนี้รอขึ้นศาลเเม่ยอมความได้ไหมเค้าจะให้ไกล่เกลี่ยไช่ไหมค่ะเราต้องขอเค้ารึแ่าง


พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท