หมอทำขวัญนาค ตอนที่ 14 หมอทำขวัญเตือนใจให้นาครู้


คำสอนของคนโบราณ ยังคงมีความทันสมัย พิธีทำขวัญนาค มีคุณค่าทางจิตใจให้ข้อคิด

หมอทำขวัญนาค ตอนที่ 14

“หมอทำขวัญเตือนใจให้นาครู้”

นายชำเลือง มณีวงษ์

ผลงานดีเด่นทางวัฒนธรรมเพลงพื้นบ้าน

(พานพุ่มพนมมาลา รางวัลราชมงคลสรรเสริญ ปี 2547)

        ในตอนที่ผ่านมา 13 ตอน ผมกล่าวถึงองค์ประกอบในพิธีทำขวัญนาค บาทบาทหน้าที่ของหมอทำขวัญ ไปจนถึงความงดงามของบายศรีต้นหรือบายศรีหลักที่ใช้ประกอบพิธีทำขวัญนาค ความเป็นจริง ในเรื่องของพิธีทำขวัญนาคแต่เดิมนั้นหมอขวัญบางท่านจะเน้นคำสอนเป็นหลัก ท่านจะกล่าวถึงเรื่องอื่นๆ เพียงเล็กน้อย แต่หมอบางท่านก็จะเน้นเรื่องของบุญคุณบิดา มารดาสะกิดใจให้นาคได้คิดถึงพระคุณของผู้ที่ให้กำเนิดเป็นหลัก แต่ก็มีหมอขวัญบางท่านนำเอาสิ่งละอันพันละน้อยมาผสมผสานจนสามารถสร้างบรรยากาศในพิธีทำขวัญนาคให้ดูมีชีวิตชีวา ทั้งนี้ก็สุดแล้วแต่ท่านผู้ที่เป็นเจ้าภาพชอบแบบไหน ต้องการสาระความรู้ หรือต้องการบรรยากาศที่ซาบซึ้งใจได้ความสุขผสมผสานไปกับเรื่องราวในอดีตที่น่าจดจำ

      

       สิ่งหนึ่งที่หมอทำขวัญยกเอามากล่าวเป็นตอนสำคัญคือ ที่มาของมนุษย์ การกำเนิดเกิดมาของคนเรา คนในสมัยก่อนเล่าขานกันต่อ ๆ มาว่า คนเราจะเกิดขึ้นมาได้จะต้องมีที่มาจากฟากฟ้า มีดาวตกหรือผีพุ่งใต้ ตกลงมาเข้าท้องมารดาจึงจุติมนุษย์ในครรภ์ และยังมีเรื่องราวที่ยุ่งยากสลับซับซ้อนอีกมากมายตั้งแต่วันแรกของการกำเนิดจนพักตัวอยู่ในท้องของมารดาครบ 9 เดือนถึง 10 เดือนจึงจะถึงกำหนดคลอดออกมาจากครรภ์

      

       ต่อจากนั้นบิดา มารดายังต้องให้การเลี้ยงดูประคับประคองบุตรแต่ละคนจนกว่าจะเติบโตมาสู่วันเด็ก วัยรุ่น จนถึงวัยผู้ใหญ่ที่มีอายุ 20 ปี ได้บวชในครั้งนี้ เรื่อราวทั้งหมดเป็นเพียงตำนานที่เล่าขานกันต่อ ๆ มา ในยุคสมัยปัจจุบันนี้เป็นที่รับรู้กันว่า คนเรากำเนิดมาอย่างไร ที่มาจากอะไร ถึงแม้ว่าปัญหาที่เป็นข้อสงสัยกันมานานเสมือนกับความลี้ลับที่ถูกปกปิดกันมาเป็นเวลานาน แต่แล้วในทางวิทยาศาสตร์ก็สามารถหาคำตอบและอธิบายได้อย่างสมจริง

       ถึงวันนี้ คำสอนของคนโบราณ ยังคงมีความทันสมัย เพราะกว่าที่บิดา มารดาจะเลี้ยงดูบุตรของตนให้เติบโตขึ้นมาได้ในแต่ละคนมิใช่เรื่องง่าย ๆ เลย จะต้องใช้เวลาในการรอคอย ใช้เวลานานนับปีจนมาถึง 20 ปี วันที่ลูกชายจะได้บวชซึ่งในทางพระพุทธศาสนาถือว่าเป็นการสร้างกุศลที่ยิ่งใหญ่  การนำเอาเรื่องราวของพ่อแม่กลับมาทบทวนเล่าขอนให้ผู้ที่จะบวชซึ่งเรียกว่านาคได้รับฟังอีกครั้ง นับว่ามีประโยชน์ทั้งนาคและผู้ที่ได้รับฟังโดยเฉพาะคนที่มีหน้าที่เป็นลูกของพ่อแม่ จะได้รับรู้ถึงความลำบากยากแค้นที่ได้เลี้ยงดูลูกให้เติบโตมาในแต่ละคน

       http://www.4shared.com/file/190491992/c2f10990/12_-.html                      

       คลิกที่ลิงค์ข้างบนนี้เข้าสู่เว็บใช้ไฟล์ร่วมกัน และคลิกที่เครื่องหมายเล่น จะสามารถรับฟังบันทึกสดทำขวัญนาค ตอนแหล่ปฏิสนธิ หรือดาวโหลดได้ ครับ

       บทร้องทำขวัญนาคในตอนนี้ ชื่อตอน “ปฏิสนธิ” หรือกำเนิดของคน หมอทำขวัญจะร้องด้วยทำนองเสนาะ (ธรรมวัตร) แบบที่พระท่านเทศนา แล้วต่อด้วยทำนองแหล่กำเนิดมนุษย์ และก็มาขับเสภาตอนแม่ปวดท้องจนถึงคลอดบุตรออกมาจากครรภ์ หรืออาจจะมีเพลงไทยเดิม (ทำนองเพลงเก่า ๆ ) นำเอามาร้องผสมผสานเข้าไปด้วยเพื่อให้เกิดบรรยากาศสมจริงอย่างในอดีตที่ผ่านมา บางทีก็มีบทร้องเล่นสนุก ๆ ตามสมควรหรือตามแต่เจ้าภาพในบางงานจะขอให้ร้อง เช่น ขอให้หมอร้องเล่นนาน ๆ คลอดยาก ๆ หน่อย บางบ้านก็มีว่าคลอดเร็ว ๆ สงสารผู้ที่เป็นแม่ แต่ขอให้หมอกล่อมนาคนอนนาน ๆ อยากฟังเพลงกล่อม ยังมีอะไรที่แตกต่างออกไปอีกหลายประเด็น รับฟังตัวอย่างบทร้องทำขวัญนาคตอนปฏิสนธิได้ในบทความนี้และชมบันทึกสดพิธีทำขวัญนาคได้ในบทความนี้เช่นกันหรือที่เว็บไซต์ Youtube.com คำหลักในการค้นหา “ทำขวัญนาค ชำเลือง” ครับ 

                        

ชำเลือง  มณีวงษ์  เข็มเครื่องหมายเชิดชูเกียรติ รางวัลผู้สร้างสรรค์คุณประโยชน์

                        ต่อประชาชนโดยส่วนรวมอย่างดียิ่งของจังหวัดสุพรรณบุรี ปี 2552

หมายเลขบันทึก: 325731เขียนเมื่อ 7 มกราคม 2010 21:36 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 22:11 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

เจ็บท้องเเบบไทยเดิม บทนี้ ที่ว่า

ขอน้ำใจจากท่านผู้ฟัง โปรดหลั่งน้ำใจเป็นทาน

ขาดค่ายาหาเงินใส่พาน รักสงสารเมตตา

เขาเรียกทำนองอะไรครับเพราะมากเลยเสียงของครูฟังเเล้วน่าศัทธาเหลือเกินมีมนต์เสน่ห์มากเลยถึงว่าจึงได้รางวัล อิอิ

  • เพลงประกอบพิธีทำขวัญนาค ตอนแม่เจ็บท้อง เพลงนี้ผมเขียนเอาไว้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2519 มีคนขอเอาไปร้องกันมากแต่มักจะล่ม.. เพราะเป็นทำนอง.. ต้องห้าม
  • สำหรับอาจารย์ก็ร้องมานานกว่า 30 ปีแล้ว ชื่อทำนอง "ธรณีกรรแสง" เล่นยากหน่อย เพราะถ้าโหนเสียงไม่ถึง เพลงนี้จะไม่เหมาะกับบรรยากาศงานบวช

ผมจะพยายามร้องลายนี้ให้ได้...ฟังครั้งเเรกก่ชอบเลยไม่น่าเชื่อมีคนสนใจลายนี้เหมือนผมด้วยเเต่เสียงครูสุดยอดร้องให้ขนลุกเเล้วทำให้ผมนั่งฟังได้ทั้งวันเเต่ลายนี้ลายเดียวถือว่าไม่ธรรมดาเพราะเวลาผมฟังเพลงฟังไม่กี่ครั้งพอจับลายได้ผมก่ร้องได้เเล้วไม่ฟังเเล้วเเต่ละลายที่อาจารย์ร้องทำนอนไทยเดิมเเลเหมือนร้องธรรมาถ้าคนฟังเเบบเข้าไม่ถึงเเต่ถ้าเข้าถึงผมชื่นชมเลยว่าสะกดขนหัวลุกจริงๆๆครับ..ดีใจเหลือเกินมีครูเก่งๆคอยช่วยเหลือ..ขอบคุณอีกครั้ง

  • ทำนองไทยเดิม ในยุคก่อน ๆ นักร้องเขาเทียบเสียงกับปี่ เลยเรียกทางเพลงว่า ทางใน ทางชวา ฯลฯ
  • ต่อมานิยมร้องเพลงไทยเดิมแบบให้เสียงสูงสุดผสมกับเสียงต่ำสุด ซึ่งแบบนี้จะมีความไพเราะน่าฟัง เพียงแต่ว่าร้องยาก เพราะจะต้องผสมผสานเสียงที่มีความสูงให้สัมพันธ์กับเสียงต่ำเมื่อตอนที่นำมาต่อกัน
  • สำหรับครู ร้องเพลงไทยเดิมแบบผสมผสานปนกับความเป็นลูกทุ่ง ใส่เนื้อหาเข้าไปมากหน่อย แต่ยังคงมีเสียงเอื้อนเอ่ยอยู่บ้าง ไม่มากนัก

สวัสดีครับ อาจารย์

อยากเรียนถามว่า ทำนอง ลาวพุงดำ กับ ลาวเจ้าซู ใช่อันเดียวกันรึเปล่าครับ

ผมได้ไปฝึกร้องตามและได้มีโอกาสไปร้องส่งปี่พาทย์เค้ารับทำนองลาวเจ้าซู

ไม่รู้ว่าผมร้องเพี้ยนรึปี่พาทย์รับผิดกันแน่ครับ

ด้วยความเคารพ

สวัสดี มนัส ระยอง

  • เรื่องของทำนองเพลงไทยเดิม เราคงไม่แม่นเท่ากับนักดนตรี (ฟังเขาไว้ก่อน) แต่พอเจอหลาย ๆ วงเพลง บางครั้งเดียวกันก็เรียกชื่อทำนองไปคนละทาง
  • เอาเป็นว่า ที่ได้มาแต่เดิมเป็นอย่างนั้น ถ้าไม่ถูกต้องเราก็ปรับใหม่ แต่ที่สำคัญคือ ดนตรีรับ-ส่งเมื่อตอนเราร้องลงเพลงได้เป็นถูกต้องที่สุด (รู้จักทำนองแต่รับไม่ตรงก็เท่านั้น) เพราะทำนองเพลงไทยมีหลายร้อยทำนอง
  • ผมเคยร้องเพลงนาคแปลงกาย "ทำนองกลองโยนตัด" วงปี่พาทย์เขาบอกว่า ไม่ใช่ ผมก็ต้องเงียบไปเลย ทั้งที่เราได้มาและก็ร้องมานานกว่า 40 ปี แล้ว (ไม่ต้องวิตก)
  • อีกเพลง เป็นเพลงกล่อม ผมว่าเป็นทำนองพม่าเขว แต่นักดนตรีเขาบอกว่า เพลงที่ผมร้อง เรียกว่าทำนองพม่าเห่ ทั้งที่เราก็ร้องมานานไม่มีคนทักท้วง (ก็ต้องปล่อยวางไป)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท