คนรุ่นใหม่กับ End of life care


เราน่าจะให้โอกาสคนรุ่นใหม่ได้ฝึกใช้ "ความเป็นมนุษย์" ในขณะเรียนด้วยเพื่อได้ใช้ "ความเป็นมนุษย์" เมื่อจบออกไป

  วันนี้ฉันได้รับ email จากลูกศิษย์ ที่เป็น Extern ไปปฎิบัติงานในชุมชน ซึ่งจะมี assignment จากคณาจารย์ภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน (ที่เชียงใหม่ขณะนี้่ fammed กับ commed แยกจากกัน) ซึ่งทำให้ฉันเห็นประกายความหวังของ Palliative care กับแพทย์รุ่นใหม่ เมื่อน้องนักศึกษาผู้นี้ไม่เพียงแต่สนใจทำวิจัยเกี่ยวกับ End of life care ในกลุ่มผู้ป่วย HIV แต่มุมมองของเขา ก็ทำให้ฉันทึ่ง..(ข้อความต่อไปนี้ ไม่ได้ตัดแต่งเพิ่มเติมแต่อย่างไร บางประโยคต้องขออภัยหากทำให้คุณครูภาษาไทยต้องกระแอม) 

"...หลักการและเหตุผลก้อคือ ในการดูแลผู้ที่ป่วยด้วยโรคเรื้อรังนั้น จำเป็นที่จะต้องมองคนไข้ให้ครบทั้งตัวและมองรอบๆตัวของคนไข้ด้วย เพราะเหล่านี้ต่างมีการส่งผลกระทบซึ่งกันและกัน ตัวอย่างการดูแลผู้ป่วยเรื้อรังในประเทศไทย เช่น แผนงานการดูแลผู้ป่วยด้วยโรคมะเร็งต่างๆ ซึ่งในกลุ่มผู้ป่วยเหล่านี้จะมีแนวโน้มของอาการที่แย่ลงเรื่อยๆ ซึ่งก็มักจะพบปัญหาของคนไข้ที่เกิดขึ้นมาเรื่อยๆอย่างชัดเจน จึงทำให้แพทย์ต้องตื่นตัวในการดูแลตลอด จึงเกิดการรักษาแบบที่ต้องดูแลต่อเนื่อง ทั้งด้านกาย ร่วมไปกับจิตใจที่ย่ำแย่ลงไปพร้อมๆกับกายที่ป่วยนั้น รวมถึงมีการเตรียมผู้ป่วยเมื่อต้องเข้าสู่วาระสุดท้ายของชีวิต ให้มีการตายดี หรือ good deaths 
   ในส่วนของปัญหาสุขภาพของโรคติดต่อ ก็มีหลายโรคที่จัดอยู่ในกลุ่มโรคเรื้อรัง โรคเอดส์และผู้ติดเชื้อเอชไอวีก็เป็นหนึ่งในนั้น ปัญหาเรื่องผู้ป่วยผู้ติดเชื้อเอชไอวีในไทยยังมีอยู่เรื่อยๆ แม้ตอนนี้จะมียาต้านไวรัสที่เข้ามามีบทบาทในการรักษาโรค และช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตให้แก่กลุ่มเหล่านี้ จนทำให้บางครั้งแพทย์เองก็ปล่อยปะละเลยในการดูแลผู้ป่วยเหล่านี้แบบครอบคลุม เน้นเฉพาะเรื่องการทานยาต้านไวรัส ดูแลเรื่องการติดเชื้อเมื่อภูมิคุ้มกันลดต่ำลง ไม่ได้มองเข้าสู่มิติที่ลึกมากขึ้นถึงความต้องการด้านที่ไม่ใช่สุขภาพกาย ทั้งที่จริงๆแล้ว โรคนี้ก็จะต้องเข้าสู่ระยะสุดท้ายในวันใดวันหนึ่งอยู่ดีี
   ซึ่งตัวผู้ป่วยและผู้ที่แวดล้อมผู้ป่วยนั้น ก็จะได้รับความทุกข์ทรมานทั้งจากตัวโรค และความทุกข์ทรมานด้านจิตใจ ไม่ต่างจากกลุ่มผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้ายเหมือนกัน แต่แทนที่กลุ่มนี้จะได้รับการเตรียมตัวก่อนเข้า end stage เพื่อเผชิญหน้ากับปัญหาต่างๆที่จะเกิดขึ้น กลับถูกละเลยที่จะมองไปทางด้านสังคม จิตใจ และจิตวิญญาณ เนื่องจากผู้รักษาไปให้ความสำคัญกับการกินยา และตัวผู้ป่วยกับญาติก็คิดว่า เมื่อกินยาอย่างสม่ำเสมอแล้วนั้น ผู้ป่วยจะดูปกติดี ผู้ป่วยจึงไม่ได้สนใจที่จะเตรียมตัวเรื่องการป่วยในอนาคต ส่วนคนแวดล้อมก็ไม่ได้สนใจความรู้สึกนึกคิดหรือความทุกข์ที่เกิดขึ้น
ดังนั้นจุดประสงค์ของงานวิจัยของหนู คือ
  
   1. ศึกษาระบบงานและโครงสร้างของคลินิกเอชไอวีในโรงพยาบาล.... (เนื่องจาก สถานการณ์โรคเอดส์ในปัจจุบันของพื้นที่อำเภอนี้ ค่อนข้างมีแนวโน้มที่จะมีจำนวนคนติดเชื้อที่มากขึ้น - เดี๋ยวจะหาข้อมูล Epidemiology อีกทีค่ะ - ในบทบาทของแพทย์ มีหน้าที่ที่จะต้องรักษากลุ่มผู้ติดเชื้อ, ป้องกันการถ่ายทอดเชื้อ, รวมไปถึงการดูแลให้ผู้ป่วยสามารถใช้ชีวิตร่วมกับคนในสังคมได้ ซึ่งงานเหล่านี้ แพทย์ไม่สามารถที่จะทำได้เอง แต่ต้องร่วมมือกับสหสาขาอาชีพ ดังนั้นการได้เรียนรู้ระบบการจัดการดูแลผู้ป่วยซึ่งเหมือนจะดูซับซ้อน จะทำให้เห็นความเชื่อมโยงของงานเครือข่ายการช่วยเหลือผู้ป่วย เริ่มจากตัวผู้ป่วย ญาติพี่น้อง  แพทย์ พยาบาล เภสัช และผู้เกี่ยวข้องอื่นๆ, มองเห็นจุดที่เป็นอุปสรรคทำให้การรักษาไม่ตรงตามเป้าหมายได้ชัดมากขึ้น ทั้งจากบุคลากร ผป และญาติ รวมไปถึงสามารถแก้ปัญหาได้ตรงจุดด้วย )

 2. พัฒนาระบบการดูแลผู้ป่วยที่ตอบสนองความต้องการอย่างแท้จริงของผู้ป่วย เน้นการดูแลแบบ Humanized health care หรือการแพทย์ที่มีหัวใจของความเป็นมนุษย์ คือ มองตัว มองคน มองใจ โดยใช้ผู้ป่วยเป็นศูนย์กลางในการกำหนดทิศทางการทำงานของกลุ่มสหวิชาชีพ - คือ การใช้แบบสอบถามเชิงลึกเพื่อถามความเห็น ความรู้สึกนึกคิด และความต้องการ ก่อนจะเอามาสรุปเพื่อวิเคราะห์ เพื่อสร้างแนวทางในการดูแลผู้ป่วยแบบครบทั้งตัว และเป็นมาตรฐานในการดูแลที่เท่าเทียมกัน ซึ่งโดยหลักสำคัญมี สามข้อ คือ ระบบต้องเห็นองค์รวมของคนไข้ ไม่มองแยกเป็น organs หรือ functions, ระบบต้องมองเห็นความเป็นมนุษย์ ซึ่งมีความรู้สึกนึกคิด มีจิตใจ, และระบบต้องมองเห็นความทุกข์ ความเดือดเนื้อร้อนใจของผู้ป่วย - คำนี้เค้าว่า เป็นศัพท์บัญญัติใหม่ เหมือนจะเอามาแทนที่ Holistic care ค่ะ เพราะเค้าคิดกันว่า แม้จะบอกว่าดูแลคนไข้แบบองค์รวม แต่ในทางปฏิบัติ คนโดยมากยังไม่เข้าใจศัพท์นี้นัก ว่าองค์รวมคืออะไร จึงบัญญัติศัพท์นี้เพื่อให้เห็นภาพการดูแลคนไข้ที่ชัดเจนขึ้น -แอบแนบไฟล์มาให้อ.ดูด้วยค่ะ

จริงๆแล้ว คลินิกเอชไอวีที่นี่ เค้าก้อมีพวกแบบประเมินทั่วๆไปเกี่ยวกับสภาพจิตค่ะ คือ ก็พยายามเน้นการดูแลแบบองค์รวม แต่ไม่ได้ทำครบทุกคนทุกครั้งที่มารพ. เนื่องจาก คนไข้เยอะขึ้นมาก ไม่เปนสัดส่วนกับพยาบาลและแพทย์ที่ดูแล, บางคนยังกินยาไม่ดี ควบคุมโรคยังไม่ดี ก็จะต้องมาตรวจกับแพทย์บนรพ. แต่คนไหนที่กินยาดี มีวินัยแล้ว ก็จะส่งมาที่คลินิกค่ะ ทำให้คนที่มาที่คลินิกก้อมักจะเจอพี่พยาบาลจิตเวชที่อาจมาตรวจสอบด้านปัญหาจิตใจต่างๆ แต่คนที่ไปพบแพทย์จะไม่ได้รับการดูแลในจุดๆนี้ค่ะ)
จุดประสงค์ของหนูจะเป็นประมาณนี้ค่ะอาจารย์ขออาจารย์ชี้แนะข้อบกพร่องต่างๆด้วยค่ะ

  ส่วนคำถามของอาจารย์ หนูว่าจะแอบเอาใส่ไปในแบบสอบถามด้วยค่ะ (เพราะจะได้เปนแนวทางในการหา good deaths ที่เหมาะสมกับผู้ป่วยลักษณะนี้)
ด้วยความเคารพค่ะ "...

   สิ่งหนึ่งที่น้องนักศึกษาได้ช่วยสะกิดใจฉัน คือ Holistic แบบแยกส่วน..ในการนำเสนอปัญหาครอบครัวหน้าชั้น  เด็กนักศึกษา ต้องพยายาม"แยก"เป็นปัญหาทาง Bio,Psycho,Social, Spiritual ตามแบบฟอร์มที่อาจารย์กำหนด  แยกเสร็จก็ไม่รู้ว่าจะไปประกอบให้ผู้ป่วยมีความสุขขึ้นได้อย่างไร..บางครั้งก็นำไปสู่การสรุปที่ตื้นเขิน เพราะไม่เข้าใจว่าจะเอาไปเชื่อมโยงกับเวชปฎิบัติอย่างไร ยกตัวอย่าง การที่ผู้ป่วยไม่ค่อยไปวัด ไม่สวดมนต์ แปลว่า spiritual health ไม่ดี..จบ? บางทีเราน่าจะให้โอกาสคนรุ่นใหม่ได้ฝึกใช้ "ความเป็นมนุษย์" ในขณะเรียนด้วยเพื่อได้ใช้ "ความเป็นมนุษย์" เมื่อจบออกไป 

หมายเลขบันทึก: 325729เขียนเมื่อ 7 มกราคม 2010 21:20 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 มิถุนายน 2012 22:54 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (10)

ชื่นใจด้วยคนครับ

ความคุ้นชินเก่าที่แยกส่วนเรียน แยกส่วนทำงาน มาจาก routine หรือสิ่งที่เห็นประจำ เราแยกคนเป็นแผนกๆ หัว หู ตา จมูก ปาก คอ อก นม แขน หลัง ขา เท้า ไต ตับ ไส้ ริดสีดวงทวาร พอจะมาถึงเรียน Ethics ครั้งนึง เราก็เคยเห็นการแบ่งบทเรียนออกเป็น 4 คาบ คือ วันนี้เรียน autonomy ต่อไปเรียน beneficence ต่อไปเรียน non-maleficence ต่อไปเรียน justice เอามันเป็นท่อนๆ เพราะตอนเรียนศึกษาศาสตร์ แพทยศาสตรศึกษา เขาบอกว่าให้มีความ "ชัดเจน" ของ learning objectives พอจะหมดชั่วโมงยังไม่ได้โน่้น ไม่ได้นี่ อาจารย์ก็เริ่มกังวลใจ

การกำหนด holistic ออกเป็น physical psychosocial spiritual ก็เหมือนกัน ตามความคุ้นชิน ขอให้ได้แบ่ง ได้ categorize เถอะ จะสบายใจ บางทีคนไข้บางคนกังวลเรื่องค่ารักษา เราก็จะซักให้ได้ว่าเข้าวัดกี่ครั้ง สวดมนต์บ้างไหม (เพราะมันเป็นอะไรที่ติ๊กได้ว่าซักเรื่องจิตวิญญาณด้วยแล้ว) การสัมภาษณ์เชิง narrative นั้น ถ้าจิตเราไม่ได้อยู่กับคนไข้ แต่ไปอยู่กับ mission ของเราที่จะต้อง accomplish คนที่จะได้ทำ holistic care สงสัยจะไม่ใช่เรา แต่เป็นคนไข้ทำ holistic care ให้หมอ ให้หมอรู้สึกมี psychosocial ดี มี spiritual ดี สัมภาษณ์เสร็จหมอสบายใจ ตัวเบา

งานของน้องเขาน่าสนใจ เพราะเป็นงานเริ่มจากสิ่งรอบตัว คือ routine to research ทำเพราะมีคนต้องการ และมีคน (อื่น) ได้ประโยชน์ ดังนั้นเป็นงานที่มีพลังจากจิตอาสา คือ คิดแบบไร้อัตตา ขอเพียงอย่าลืมตัวต้องเอาให้ได้ เช่น หาให้เจอว่า good death คืออะไร จะให้นิยามให้ได้ อันนั้นอาจจะกลายเป็นกับดักไป

เอาใจช่วย โบกธงให้ครับผม

สวัสดีปีใหม่

มีหลายคนที่พยายามจะดิ้นออกนอกกรอบ..แต่ก็ยังมีกับดักการชี้วัดและประเมินภายในกรอบของการทำงาน ได้มีโอกาสฟังอาจารย์อ.วรภัทร์ ภู่เจริญ บรรยายไว้ว่า เราใช้ฐานกายในการรับความรู้สึก(Sense) น้อยลง ส่วนใหญ่มุ่งเน้นไปที่กรอบแนวคิดมากไป

อ่านแล้วน่าสนใจในแง่วิธีคิดของเด็กสมัยนี้ที่รู้จักเห็นต่าง+สร้างสรรค์ (แต่ต้องเป็นเรื่องที่เขาสนใจ) การเป็นอาจารย์ไม่ง่ายเลยนะครับ

พี่ดีใจที่น้องแต้ส่องประกายความเป็นครูที่เก่งและดี....อยากแถมให้มีความสุขด้วยนะครับ....เราได้มีอาจารย์ fammed ที่เก่งเพิมขึ้นอีกคน

ขอบคุณคะ ก็ได้อาจารย์สกลและพี่โรจน์เป็น role model ของครูแพทย์เช่นกันคะ

เด็กสมัยนี้ มีศักยภาพสูง เพียงแต่เขาจะ เอาใจใส่หรือเปล่าเท่านั้น

เห็นด้วยกับคุณหมอสีอิฐ เมื่อถาม นศพ.ถึง criteria ในการวินิจฉัยมักจะตอบได้ แต่คำถาม รู้สึกกับคนไข้รายนี้อย่างไร..ไม่มีคำตอบ

น่าสนใจ มาเรียนรู้ด้วยคนค่ะ

สวัสดีครับ

  • ผมมาเยี่ยม มาทักทาย
  • ผมมาเรียนรู้สิ่งดีๆมีประโยชน์เกี่ยวกับเด็กๆ
  • สามารถนำไปประยุกต์ใช้กับการเรียนการสอนได้ดีเยี่ยมครับ
  • ขอบคุณสำหรับเรื่องราวดีๆนี้
แวะมาทักทายเจ้าของบล็อค CMUpal น่าชื่นชมกับเด็ก ปัจจุบันนะครับที่มีความคิดดีๆ และอยากให้เด็กไทยเป็นแบบนี้เยอะๆ รับรองประเทศเราพัฒนาแน่นอนครับ

Dsc07949

แวะมาทักทายวันอาทิตย์ ขอให้มีความสุขนะคะ

เพิ่งสอน extern ไปเมื่อวานว่า

ได้ข้อมูลมาตั้งเยอะแยะแล้วไม่ได้เอาไปใช้วางแผนการรักษาเพื่อช่วยคนไข้ เหนื่อยเปล่าทั้งคนไข้ทั้งเรา

อย่างซักประวัติผังเครือญาติอย่างเอาเป็นเอาตาย สุดท้ายไม่เอามาใช้วางแผนอะไรเลย ก็ไม่ผิดอะไรกับ เจ้าหน้าที่สำมะโนประชากร

การถามคนไข้ตามรายการหรือรูปแบบ เป็นสิ่งที่สกลกับผมเน้นย้ำกับน้องๆทุกครั้งครับ

สวัสดีครับ

อ่านแล้วมีความสุขมากครับ

น้องหมอทุกท่านที่จะเป็นอนาคตให้กับโลกของเราครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท