ความประทับใจครั้งแรกที่ได้ไปพะเยา (ตอนที่ 3) สรุป OM ตอน 1


. . ในที่สุดก็เลยคิดว่า น่าจะลงรายละเอียดให้ครบทุกขั้นตอนเลยจะดีกว่า จะได้เป็นประโยชน์ทั้งกับผู้ที่เข้าร่วมในวันนั้น และผู้อ่านที่ต้องการทราบเรื่อง OM ด้วย . . .
            วันนี้ตั้งใจจะเล่าเรื่องงานให้ฟังบ้าง หลังจากที่ได้เกริ่นไปแล้วว่า . . .ที่มาพะเยาครั้งนี้มาทำงาน มาตามคำเชิญของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดพะเยา ที่ต้องการให้ผมมาทำความเข้าใจกับเครือข่ายที่ดำเนินการตามยุทธศาสตร์ “สุขภาพดีวิถีไทย” ให้เข้าใจเรื่อง “Outcome Mapping (OM)” เพื่อจะได้นำไปประยุกต์ใช้ "ขับเคลื่อน" งานที่รับผิดชอบอยู่ได้ โดยได้จัดการสัมมนาขึ้นที่โรงแรมเกทเวย์ ในวันที่ 24 ธันวาคม 2552 ตั้งแต่เวลา 8.30 – 17.00 น.


           ผู้ที่เข้าร่วมเรียนรู้ในวันนั้นมีจำนวนประมาณ 100 คน ประกอบด้วยทีมบริหาร ทีมสนับสนุน และทีมปฏิบัติงานในพื้นที่ที่มีการส่งเสริมการดำเนินงานชุมชนลดเสี่ยง ลดโรค โดยมุ่งเป้าไปที่ “การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม” ในกลุ่มเสี่ยง กลุ่มผู้ป่วยเบาหวาน ความดันโลหิตสูง เดิมผมตั้งใจว่าจะบรรยายเพื่อให้เข้าใจและเห็นภาพรวม (Overview) เรื่อง OM ก่อน หลังจากนั้น จึงค่อยๆ “พาทำ” ไปที่ละขั้นๆ ทั้งนี้เพื่อสร้างความมั่นใจ เมื่อกลับไปจะได้นำไปทำได้ด้วยตัวเอง


           แต่หลังจากที่ได้ทราบว่าผู้เข้าร่วมส่วนใหญ่ยังไม่รู้ว่า KM คืออะไร? ผมก็ตัดสินใจอธิบายเรื่อง KM นำไปก่อน เพราะในตอนสุดท้ายของเรื่อง OM ตอนที่พูดเรื่องการติดตามประเมินผล (M&E) ในที่สุดก็ต้องใช้ KM อยู่ดี ดังนั้นถ้ามีความเข้าใจในเรื่อง KM เป็นพื้นฐานบ้าง ก็น่าจะทำให้มีการใช้ M&E ในเชิงการเรียนรู้พัฒนา ไม่ใช่สักแต่ว่าทำไปๆ โดยไม่ได้นำไปพัฒนาอะไร สำหรับเนื้อหา OM ที่ผมพูดในวันนั้น จะขอนำเฉพาะประเด็นที่เห็นว่าสำคัญมาสรุปไว้ข้างล่าง ดังต่อไปนี้
 
(1) ผมเริ่มด้วยการพูดว่า OM เป็นทั้ง “ศาสตร์ และศิลป์ในการบริหารโครงการ” หลักการบริหารโครงการที่เราใช้ส่วนใหญ่มักจะหนักไปทางด้านศาสตร์ ไม่ค่อยได้พูดเรื่อง “Arts” พูดแต่ “Hard Side”  ไม่ได้เริ่มที่ใจ แต่มักจะใช้เหตุผลนำ ด้วยเหตุนี้การทำโครงการส่วนใหญ่ จึงมักเริ่มกันที่ “หลักการและเหตุผล” เป็นหลัก แต่ OM สอนให้เราเริ่มโครงการจากสิ่งที่อยู่ภายใน เริ่มจาก “แรงบันดาลใจ”  เริ่มจาก "ภาพที่ปรารถนา" ที่เราเรียกว่า “Vision”  “ภาพฝัน” หรือ “วิสัยทัศน์” ซึ่งก็คือขั้นตอนแรกของ OM


(2) ขั้นตอนการเขียน “วิสัยทัศน์” เป็นขั้นตอนการวาดภาพที่ปรารถนา เป็นการบอกว่า  “เราอยากเห็น . . (องค์กร ชุมชน สังคม) . . เป็นอย่างไร?” โดยให้มุ่งไปที่ “ผู้รับประโยชน์” เป็นสำคัญ . . พูดให้ชัดๆ ว่า "อยากให้เขาได้อะไร?" มีภาพที่พึงปรารถนาเกี่ยวกับเขาอย่างไร? วิสัยทัศน์ที่ดี จะต้องมี “จินตนาการ” อยู่ในนั้น จะต้องเป็น “ฝันที่เป็นไปได้” ไม่ใช่ “ฝันที่ฟุ้งกระจาย ล่องลอย” ต้องเป็นฝันที่เราต้องการทำให้มันเกิดขึ้นมา ไม่ใช่ไปฝันให้ “คนอื่น” ทำ เราเองยังต้องทำ เราเองยังต้องเป็น “แกนนำ” ในเรื่องดังกล่าว


            แรกเริ่มเดิมทีผมตั้งใจว่าจะสรุปประเด็นทั้งหมดให้ออกมาอยู่ในตอนเดียว แต่พอเขียนไปๆ ก็นึกได้อีกหลายประเด็น . . . ในที่สุดก็เลยคิดว่า น่าจะลงรายละเอียดให้ครบทุกขั้นตอนเลยจะดีกว่า จะได้เป็นประโยชน์ทั้งกับผู้ที่เข้าร่วมในวันนั้น และผู้อ่านที่ต้องการทราบเรื่อง OM ด้วย . . . ก็เลยตัดสินใจนำเสนอเป็นหลายตอน ไม่รู้ว่าจะจบก่อนสิ้นปีไหม อาจจะเป็นการบันทึกข้ามปีก็ได้ และในตอนหน้า คงต้องปรับเปลี่ยนชื่อบันทึกเพื่อสื่อให้เห็นว่าเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับ OM
 
หมายเลขบันทึก: 323892เขียนเมื่อ 29 ธันวาคม 2009 14:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 20:35 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

ติดตามอ่านมาตลอด เขียนดีครับ

พี่ใหญ่จะคอยอ่านเพื่อเรียนรู้ในตอนต่อๆไป..ขอบคุณค่ะ..

นุชนาฎ เหมวุฒิพันธ์

ติดตามอ่านเรื่องเล่าของอาจารย์มาโดยตลอดค่ะ ทำให้เข้าใจเรื่อง OM มากยิ่งๆขึ้นค่ะ จะติดตามอ่านข้ามปีให้ครบทุกตอนนะค่ะ

เวลาเดินไวค่ะ จวบจะครบปีอีกแล้ว

มานั่งทบทวนตัวเอง เรายังไม่ได้ทำอะไรบ้างค่ะ

ขอให้อ.ประพนธ์ มีความสุขค่ะ

                                      สวัสดีปีใหม่ค่ะ

สวัสดีปีใหม่ ปี 2553 ครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท