หมอทำขวัญนาค ตอนที่ 13 ความงดงามของบายศรีต้น


บายศรีต้นหรือบายศรีหลักที่ใช้ประกอบพิธีในการทำขวัญนาค นิยมทำบายศรี 3-7 ชั้น ในปัจจุบันนี้มีการประดิษฐ์ตกแต่งด้วยดอกไม้สดงดงามมาก

หมอทำขวัญนาค ตอนที่ 13 

“ความงดงามของบายศรี”

นายชำเลือง มณีวงษ์

ผลงานดีเด่นทางวัฒนธรรม

(เพลงพื้นบ้าน พานพุ่มพนมมาลา ปี 2547)

          ผมได้บอกเล่าเรื่องราวที่เกี่ยวกับหมอทำขวัญนาคและในบางส่วนที่มีความเกี่ยวข้องมา 12 ตอน ในตอนนี้ เป็นตอนที่ 13 ผมขอนำเอาสิ่งที่ผมพบเห็น ใน 3 สถานที่มาบอกท่านผู้ที่อ่านบทความในตอนนี้ สิ่งนั้นคือ ความงามของบายศรี

          บายศรีต้น หรือบายศรีหลัก ที่ใช้ในพิธีทำขวัญนาคมีหลายรูปแบบ แต่แบ่งออกเป็นรูปแบบใหญ่ ๆ ได้ 2 รูปแบบคือ บายศรีแห้ง กับบายศรีสด ในบายศรีสดยังมีรูปแบบที่ปลีกย่อยออกไปอีก ได้แก่

        

         - บายศรีสดที่ทำต้นบายศรี แบบนี้ต้นบายศรีทำดั่งกับว่าเป็นต้นไม้ มีขนาดลำต้นใหญ่ ฐานล่างมีความมั่นคง และค่อย ๆ ลดหลั่นไปเป็นลำต้นและแตกแขนงออกไปเป็นกลีบบัวบัวหงาย มีเส้นสายหรือรูปสัตว์พันรอบต้นบายศรีสวยงามมาก

        

         - บายศรีสดที่ทำบัวคว่ำบังหงายจัดเป็นชั้น ๆ 5-7 ชั้น โดยมีแกนกลางขนาด 2-3 นิ้วยึดฐานบัวเอาไว้อีกส่วนหนึ่ง แบบนี้ผู้ทำจะเน้นที่บายศรีแต่ละชั้นตกแต่งด้วยดอกไม้สดจนมีความสวยงามมาก

       

        - บายศรีที่จัดพานดอกไม้และกลีบบัวคว่ำบัวหงายเอาไว้บนพานขนาดใหญ่ เรียกว่าพานโตก พานที่ตั้งบายศรีชั้นล้างสุดจะมีขนาดใหญ่แล้วค่อย ๆ ลดขนาดเล็กลงจนถึงชั้นสุดท้าย ชั้นที่ 5 หรือ ชั้นที่ 7 ที่ยอดบายศรีจะมีไข่ต้มเสียบไว้ ภายในกรวยมีข้าวขวัญ

         

         

        บายศรีบางต้นนอกจากจะมีดอกไม้หลากสีที่สวยงามแล้วยังมีรูปสัตว์ เช่น พญานาคพันรอบหลักบายศรี จากชั้นล่างไปจนถึงชั้นบน บายศรีบางต้นนอกจากจัดเป็นกลีบบัวคว่ำบัวหงาย ยังแซมด้วยดอกไม้จัดให้ดูคล้ายกับนกยูงลำแพน ผู้ชมงงไปกับความงามของบายศรีที่วิจิตรบรรจงทำอย่างน่าพิศวงศ์ 

        ความจริงที่ยอดสุดบายศรี ควรที่จะเป็นที่ปักเทียนชัย ซึ่งเป็นเทียนที่สำคัญของพิธี หมอขวัญจะจุดเทียนชัยเมื่อตอนเริ่มเบิกบายศรี และทำพิธีเวียนเทียน แต่บางครั้งสิ่งยึดเกาะไม่มั่นคง เทียนร่วงลงมาก็มี หมอขวัญบางท่านจึงปักเทียนชัยเอาไว้ในพานใส่ข้าวสาร และจุดเทียนเมื่อตอนเริ่มเบิกบายศรี และเทียนเล่มนี้จะเป็นเทียนที่ใช้สำหรับเจิมหน้านาค

                                  

        มีหลายท่านถามผมว่า รับทำบายศรีด้วยไหม ราคาเท่าไหร่ อันนี้ตอบยากเรื่องของราคา เพราะงานศิลปะอยู่ที่ความพึงพอใจของผู้ต้องและฝีมือของผู้จัดทำ ดังภาพบายศรีที่ผมนำเอามาฝาก

ชำเลือง  มณีวงษ์  ผู้มีผลงานดีเด่น รางวัลราชมงคลสรรเสริญ ปี 2547

หมายเลขบันทึก: 323888เขียนเมื่อ 29 ธันวาคม 2009 14:24 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 22:08 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท