30 ส.ค. 48 ที่คณะศิลปศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ซีละและสรภัญญะ โดนใจคณบดี คณาจารย์ และนักศึกษา


สื่อพื้นบ้านซีละและสรภัญญะ ได้สร้างความประทับใจแก่คณบดี คณาจารย์ และนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อย่างถ้วนหน้า ท่านคณบดีกล่าวว่า "...การที่นักศึกษาในโครงการเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษามีโอกาสพบการแสดงวันนี้ทั้งสองแบบ ทั้งสรภัญญะ และซีละผมเชื่อมั่นว่า มันเป็นเรื่องสำคัญสำหรับการสร้างทัศนคติการพัฒนาแก่นักศึกษา …โครงการแบบนี้เป็นโครงการที่น่าจะสร้างสมานฉันท์ได้ในระดับชาวบ้าน และคงจะช่วยกันเปลี่ยนแปลงจากระดับล่างๆ ขึ้นมา..."

เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2548 สื่อพื้นบ้านซีละและสรภัญญะ ได้สร้างความประทับใจแก่คณบดี คณาจารย์ และนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อย่างถ้วนหน้า


รศ. ดร.สิทธิโชค วรานุสันติกุล คณบดีคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวเปิดงาน “โครงการ สื่อพื้นบ้านเพื่อสร้างความสมานฉันท์ในอุษาคเนย์ “ โดยโครงการเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษาร่วมกับโครงการสื่อพื้นบ้านสื่อสารสุข (โดยการสนับสนุนจาก สสส.) ความว่า


“…จากการสังเกตและอ่านเอกสาร งานนี้เป็นงานซึ่งน่าชื่นชมมากและเป็นงานที่มีความสำคัญ เนื่องจากว่าตัวผมเองเป็นนักจิตวิทยาสังคม เป็นนักจิตวิทยาอุตสาหกรรม ผมเข้าใจดีว่าการสื่อสารเป็นวิธีการสำคัญมากในการเปลี่ยนทัศนคติ เปลี่ยนความเชื่อ เปลี่ยนความคิดของผู้คน ในการทดลองจิตวิทยาทางสังคมเราพบค่อนข้างชัดเจนว่า การสื่อสารที่ได้ผลที่สุด มีอิทธิพลมากที่สุดต่อการเปลี่ยนทัศนคติความคิดความอ่านของผู้คน คือการสื่อสารที่มีสิ่งที่เรียกเป็นภาษาวิชาการ คือมี interaction มีความตรงไปตรงมาระหว่างผู้ที่ถูกเปลี่ยนความคิดกับผู้จะไปเปลี่ยนความคิดของเขาต้องเป็นการสื่อสารแบบนี้มีอิทธิพลสูงสุด เพราะฉะนั้นเป็นเรื่องน่าชื่นชมมากที่เราจะได้มีโอกาสพบท่านคณะวิทยากรทั้งฝ่ายที่มาจากสรภัญญะและฝ่ายที่มาจากซีละ ทั้งสองคณะนี้ท่านเป็นผู้มีประสบการณ์โดยตรงในการสื่อสารเพื่อเปลี่ยนแปลงความคิดความอ่าน เปลี่ยนแปลงความเชื่อซึ่งเป็นเรื่องสำคัญ ต้องขอขอบคุณโครงการเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษาโดยอาจารย์กำจรได้สร้างโครงการนี้ขึ้นมา ซึ่งผมเชื่อว่าเป็นโครงการที่ดีมากๆ โครงการหนึ่ง ในแง่มุมที่ว่านักศึกษาของเรานั้นมีโอกาสน้อยมากที่จะได้พบกับคณะวิทยากรโดยตรงโดยเฉพาะในบรรยากาศที่ท่านจะทำงานในพื้นที่ของท่าน แต่ว่าท่านจะได้พบการจำลองในห้องนี้ซึ่งผมคิดว่ามีคุณค่าสูง และผมเชื่อมั่นว่าการที่นักศึกษาในโครงการเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษามีโอกาสพบการแสดงวันนี้ทั้งสองแบบ ทั้งสรภัญญะ และซีละผมเชื่อมั่นว่า มันเป็นเรื่องสำคัญสำหรับการสร้างทัศนคติการพัฒนาแก่นักศึกษา …โครงการแบบนี้เป็นโครงการที่น่าจะสร้างสมานฉันท์ได้ในระดับชาวบ้าน และคงจะช่วยกันเปลี่ยนแปลงจากระดับล่างๆ ขึ้นมา…”


นักศึกษาหญิง 3 คน สาวสมัยใหม่ซึ่งนั่งแถวหน้า ระบุเหตุผลที่มาร่วมกิจกรรมว่า 


  “…คือว่าเรียนสื่อสารมวลชนแล้วอาจารญ์บอกเมื่อสัปดาห์ก่อนว่าวันนี้มีจัด ก็เลยสนใจอยากดูเพราะไม่เคยเห็น อยากเห็นเหมือนกันว่าเป็นอย่างไร เคยได้ยินแต่ชื่อ อยากเห็นของจริง…”


“…สนใจค่ะ เพราะเป็นเอกลักษณ์ที่แบบว่าหายาก หาดูได้ยาก แม้แต่ในโทรทัศน์ก็ไม่สามารถหาดูได้ เพราะฉะนั้นวันนี้ก็ควรมาดูไม่ให้เสียโอกาส…” 


 “…ก็เป็นอะไรที่แปลกใหม่ดี ไม่เคยดู เคยไปเที่ยวเคยได้ยินชื่อ พออาจารย์บอกว่าควรมาดูก็ลองมา..."


นักศึกษาชายที่ไปร่วมสวดสรภัญญะ กล่าวความรู้สึกออกไมโครโฟนว่า  “…พอเริ่มตั้งใจสวด ก็รับรู้ถึงความสงบอย่างมากๆ เลย…”


หลังชมการแสดงและฟังการบอกถึงคุณค่า นักศึกษาหญิงกลุ่มเดิมกล่าวว่า


 “…แปลกดีคะ ก็ได้เห็นอะไรที่ไม่เคยรู้ไม่เคยเห็นมาก่อน…” 


 “…ได้ความรู้ เพิ่งเคยเห็น แล้วก็รู้สึกว่าน่าศึกษามาก น่าศึกษาต่อไปและควรที่จะอนุรักษ์ไว้ น่าจะเกิดความสมานฉันท์เพราะเป็นการเชื่อมชุมชนให้เห็นวัฒนธรรมของกันและกัน…”

ถ้าถามคนเกือบร้อยชีวิตในห้อง 203 และ 204 คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในวันนั้น ก็น่าจะได้คำตอบที่ไม่แตกต่าง

ศิลปินเจ้าของวัฒนธรรมทุกเพศ ทุกวัย ตั้งแต่ประถมถึงรุ่นอาวุโสใกล้หกสิบ บอกว่าภูมิในในวัฒนธรรมของตน และแน่ใจว่าจะมีผู้รับสืบถอด


สื่อพื้นบ้านแสดงพลังอีกครั้ง โดยไม่เลือกระดับการศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม

ชาตรี ถอดเทป

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 3229เขียนเมื่อ 30 สิงหาคม 2005 19:22 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 13:57 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท