GotoKnow

ที่ปรึกษากลุ่มผู้เลี้ยงผึ้งฯ สัญจรไปกลุ่มผู้เลี้ยงผึ้งวังนกแอ่ง จ.พิษณุโลก

นาย สมลักษณ์ วงศ์สมาโนดน์
เขียนเมื่อ 30 สิงหาคม 2548 15:34 น. ()
แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2556 17:09 น. ()
ปัญหาของพวกราคือ ทุน และ ตลาด

          เมื่อวันเสาร์ที่ 6 สิงหาคม 2548  ตอนบ่ายผมได้ไปเยี่ยมกลุ่มผู้เลี้ยงผึ้งวังนกแอ่น จังหวัดพิษณุโลก โดยให้คุณชินวัฒน์มารับไปที่บ้าน  และประสานงานให้สมาชิกมาประชุมกัน สมาชิกที่มาในวันนี้ประกอบด้วยคุณชินวัฒน์  บุญเหลือ, คุณบุญเชือน เสพอุดม, คุณสราวุฒิ เผือกชาวนา, คุณสะอาด มาบุญลือ, คุณสิงห์ทอง บุญเหลือ, คุณจันจิรา บุญเหลือ และคุณชัยยศ รวมญาติ

          จุดประสงค์ที่มาในวันนี้เพื่อมารับทราบปัญหา และเตรียมแนวทางแก้ไข ที่สำคัญคืออยากจะดูศักยภาพของกลุ่มว่าจะเป็นอย่างไร มีแนวทางจะพัฒนาทางไหนได้บ้าง

           โดยสรุปของการประชุม กลุ่มนี้มีปัญหาเรื่อง ทุน และตลาด  ทุนไว้ใช้ซื้ออุปกรณ์การเลี้ยงผึ้งได้แก่ รังผึ้ง แผ่นรังเทียม เป็นต้น  ไว้ซื้อน้ำตาลราคาถูกมาเลี้ยงผึ้งในฤดูขาดแคลน และใช้สำหรับซื้อน้ำมันมาเติมรถยนต์ที่ใช้ขนย้ายผึ้ง (ปัญหาคือราคาน้ำมันขึ้นทุกวันไม่มีทีท่าว่าจะหยุด)  หรืออาจจะต้องผ่อนรถด้วย รวมทั้งค่าใช้จ่ายในบ้าน (ควรต้องทำบัญชี รายรับ รายจ่ายครัวเรือน) ส่วนตลาดคือราคาน้ำผึ้งลำไยปี 48 ตกต่ำสุดในรอบ 20 ปี (สาเหตุหลัก ๆ คือ การส่งออกน้ำผึ้งที่ไม่ได้คุณภาพ และถูกส่งกลับ ทำให้น้ำผึ้งล้นตลาด และการเปิดการค้าเสรี ทำให้น้ำผึ้งจากจีนทะลักเข้ามาในประเทศ)

           ตลาดสัมพันธ์กับทุน เพราะเมื่อตลาดน้ำผึ้งราคาดี ขายน้ำผึ้งได้ราคา ทุนก็จะเพิ่มมากขึ้น ผมลองถามดู กลุ่มนี้มีผึ้งรวมกันประมาณ 2,000 รัง หากปีที่น้ำผึ้งมีราคาดี ได้เงินรวมกันทั้งกลุ่มประมาณ 2-3 ล้านบาททีเดียว

           ผู้ซื้อน้ำผึ้งรายใหญ่ของประเทศไทย คือ บริษัทเนสท์เล่ (ไทย) จำกัด อย่างในฤดูรับซื้อน้ำผึ้งปลายปี47/ต้นปี 48 รับซื้อน้ำผึ้งสาบเสือ 1,500 ถัง  (1 ถัง 200 ลิตร ประมาณ 300 กิโลกรัม)  และน้ำผึ้งลำไย 3,600 ถัง (หน่วยรับซื้อน้ำผึ้งคิดเป็นน้ำหนัก น้ำผึ้ง 1 ลิตร จะหนักเท่าไร ขึ้นอยู่กับความชื้นในน้ำผึ้ง เช่น น้ำผึ้งความชื้น 18 % จะหนักประมาณ 1.414 กิโลกรัม)  จากเกษตรกรผู้เลี้ยงผึ้งทั่วประเทศ

           กำลังผลิตน้ำผึ้งของอุตสาหรรมการเลี้ยงผึ้งในประเทศไทย รวมทั้งหมดของน้ำผึ้งทุกชนิดประมาณ 9,000 ต้น หรือประมาณ 9 ล้านกิโลกรัม บริษัทเนสท์เล่จะรับซื้ออยู่ประมาณปีละ 800 ถึง 1,500 ตัน  ถ้าเป็น 1,500 ตัน ประมาณ 1 ใน 6 ของกำลังผลิต แต่ถ้าเป็นน้ำผึ้งลำไยชนิดเดียว ปีที่ผ่านมาน่าจะผลิตได้ 5,000 ตัน เนสท์รับซื้อไป 1,100 ตัน หรือ ประมาณ 1 ใน 5 ของกำลังผลิต

          ถ้าจำนวนรังผึ้งเลี้ยงทั่วประเทศมีประมาณ 2 แสนรัง และนำผึ้งเข้าเก็บน้ำผึ้งลำไยหมด ควรจะได้น้ำผึ้งประมาณ 5,000 ตัน หรือ 5 ล้านกิโลกรัม และถ้าเนสท์เล่รับซื้อได้ 1 ใน 5 ของกำลังผลิต แสดงว่า กลุ่มวังนกแอ่นซึ่งมีผึ้งรวม 2,000 รัง  จะได้โควต้ารับซื้อน้ำผึ้ง ประมาณ 10,000 กิโลกรัม (จากกำลังผลิตประมาณ 50,000 กิโลกรัม) หรือ ประมาณ 33 ถัง ถ้าเป็นอย่างนี้ได้ ภาระเรื่องตลาดเหลือให้เราแก้ไขอีก 80 % และทางกลุ่มนี้จะพอใจมาก ถ้าสามารถขายน้ำผึ้งให้เนสท์เล่ได้ ประมาณ 40-50 % ของกำลังผลิต (ซึ่งมันอาจจะเป็นไปไม่ได้)

           ในความเป็นจริงแล้ว เรื่องของถังที่บริษัทเนสท์เล่ แบ่งให้กับเกษตรกร มันยังมีความซับซ้อนมากกว่าการคิดทางคณิตศาสตร์ครับ สรุปว่า ทางที่ปรึกษารับปัญหาเรื่องตลาดไป และจะหาแนวทางแก้ไขต่อไป

            การประชุมจบลงด้วยดีและทุกคนที่เข้าร่วมประชุมเริ่มมีความหวัง และมีความรู้สึกที่ดีกับที่ปรึกษาคืออาจารย์สมลักษณ์ (สังเกตว่าผิดกับตอนแรกที่มา) และได้ถ่ายรูปร่วมกัน แต่ในส่วนลึกแล้วผมคิดว่า พวกเขาคงมีความสงสัยว่า ผมคงทำอะไรไม่ได้หรอกแล้วทุกอย่างคงเหมือนเดิม (เวลาเป็นเครื่องพิสูจน์)

หมายเหตุ  เนสท์เล่เป็น 1 ใน 20 ตลาด ที่ผมคิดจะเข้ามาช่วยแก้ปัญหาให้พวกเขาครับ

 


ความเห็น

ยังไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท
ภาษาปิยะธอน (Piyathon)
เขียนโค้ดไพทอนได้ด้วยภาษาไทย