+ สอน อย่างไร เด็กไทย ไม่โกง


                           

                         + สอน อย่างไร เด็กไทย ไม่โกง

          ในภาวะที่ประเทศไทยตกอยู่ในช่วงสถานการณ์ทางการเมืองไม่อาจกระพริบตาได้นั้น เชื่อว่าหลายคนอาจจะเอือมกับคำว่า ประชาธิปไตย เต็มแก่ เพราะนักการเมืองหลายคนก็อ้างเอาคำว่าประชาธิปไตยมาสร้างความชอบธรรมให้กับตนเอง เพื่อให้อยู่ในอำนาจได้อย่างที่ต้องการ ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้วระบบการปกครองระบอบประชาธิปไตย ไม่ได้ให้อำนาจประชาชนเพียงแค่ลงคะแนนเสียงในคูหาเลือกตั้งเท่านั้น แต่ยังให้อำนาจประชาชนมีส่วนร่วมในการบริหารแผ่นดินตามช่องทางอื่นๆ ที่พึงกระทำด้วย จึงเป็นเรื่องน่ายินดีที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) หนึ่งในองค์กรหลักของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.)ได้ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จัดทำ คู่มือการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ประชาธิปไตย ตามหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.๒๕๔๔ ทั้ง ๔ ช่วงชั้น สำหรับครูอาจารย์ฉบับใหม่ขึ้น
          เบื้องต้น สพฐ.ได้จัดทำ และจัดพิมพ์คู่มือการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ประชาธิปไตยชั้นประถมศึกษาปีที่ ๑-๓  และชั้นประถมศึกษาปีที่ ๑-๖ เสร็จเรียบร้อยแล้วช่วงชั้นละ ๑๐,๐๐๐ เล่ม โดยแจกนำร่องให้กับโรงเรียนในเขตพื้นที่การศึกษาทั่วประเทศ เขตพื้นที่ละ ประมาณ ๕๐โรงเรียน ส่วนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๑-๓ และชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๔-๖ อยู่ระหว่างการปรับปรุงแก้ไขต้นฉบับ โดยจุดประสงค์เพื่อให้ครูในสังกัด สพฐ.นำคู่มือประกอบการเรียนการสอนประชาธิปไตยไปใช้สอนนักเรียน เพื่อเป็นการปลูกฝังให้เด็ก และเยาวชนไทยมีความรู้พื้นฐาน เกี่ยวกับการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข สร้างพลเมืองดีในวิถีชีวิตประชาธิปไตย และตระหนักถึงความสำคัญของการมีส่วนร่วมในทางการเมืองยิ่งขึ้น อันจะส่งผลให้เกิดการสร้างวัฒนธรรมทางการเมืองที่ดีในสังคมไทย
         วันเพ็ญ สุทธากาศ นักวิชาการศึกษา 8 ว.สำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา สพฐ. ซึ่งรับผิดชอบดูแลเนื้อหาคู่มือการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ประชาธิปไตยฯ เปิดเผยว่า การจัดทำคู่มือดังกล่าวนั้น กระทรวงศึกษาฯ เคยทำมาครั้งหนึ่งแล้ว เมื่อประมาณปี ๒๕๔๗-๒๕๔๘ ซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับปี ๒๕๔๐ประกาศใช้ใหม่ๆ ซึ่งการจัดคู่มือครั้งนั้น นำเอากฎหมายรัฐธรรมนูญมาตราต่างๆ มาวิเคราะห์ว่าสอดคล้องกับหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานวิชาไหน ช่วงชั้นไหน เป็นการจัดทำคู่มือตามตัวกฎหมาย
          การทำคู่มือครั้งนี้ เราได้หารือกันว่า เนื้อแท้ของประชาธิปไตยมันต้องอยู่ในวิถีชีวิต การพัฒนาประชาธิปไตยถึงจะมีความยั่งยืน ดังนั้น จึงทำออกมาในรูปของกิจกรรมที่ครู อาจารย์จะหยิบออกไปใช้สอนนักเรียน หรือจัดเป็นกิจกรรมสอดแทรกในวิชาอื่นๆ ได้ เน้นไปที่การปลูกฝังประชาธิปไตยในวิถีชีวิตตั้งแต่เด็กเล็กระดับประถมศึกษาไปถึงระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย สอนเด็กเล็กให้เคารพความแตกต่าง
        
วันเพ็ญ อธิบายถึงเนื้อหาที่มุ่งเน้นให้เกิดขึ้นกับเด็กในแต่ระดับผ่านกิจกรรมที่คู่มือฯ นำเสนอว่า ในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ ๑-๓ กิจกรรมต่างๆ ที่นำมาให้เด็กปฏิบัตินั้น จะเน้นไปที่การเป็นสมาชิกที่ดีของสถาบันทางสังคม ซึ่งในวัยนี้สถาบันที่มีบทบาทสำคัญที่สุดของเด็กได้แก่ สถาบันครอบครัว โรงเรียน และชุมชน ดังนั้น กิจกรรมที่ครูจะนำไปสอนจะทำให้เด็กได้เรียนรู้หน้าที่ของตนเองในฐานะสมาชิกคนหนึ่งของสังคม โดยเฉพาะการปฏิบัติให้อยู่ในกฎระเบียบข้อตกลงร่วมกัน เช่น กฎระเบียบของห้องเรียน ที่สำคัญคือการปลูกฝังให้เด็กยอมรับความแตกต่างของคนในสังคม และการทำงานเป็นทีม หรือการสมมติบทบาทให้นักเรียนเป็นผู้นำ หรือสมาชิกคนอื่นๆ ในครอบครัว
          ลักษณะกิจกรรมที่ครูจะนำไปสอนนักเรียนนั้น จะเน้นไปที่การปฏิบัติเป็นหลัก แต่จะไม่เน้นเรื่ององค์ความรู้ เพื่อให้เด็กได้เรียนรู้ และซึมซับเป็นวิถีชีวิต ให้เด็กรู้จักรับผิดชอบหน้าที่ของตนเอง ให้เขาได้รู้ว่าหากทุกคนปฏิบัติหน้าที่ของตนเองปัญหาก็จะไม่เกิด และทุกคนก็อยู่ร่วมกันได้อย่างปกติสุข
         
วันเพ็ญ ได้ยกตัวอย่างกิจกรรมที่ครูสามารถนำไปใช้กับเด็กนักเรียนในระดับชั้น ป.๑-๓ แบบง่ายๆ เช่น การให้นักเรียนรู้จักการเข้าคิว ห้ามแซงคิว หรือการจัดเวรทำความสะอาดห้องเรียน หรือการเลือกหัวหน้าชั้น เป็นต้น คู่มือการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ประชาธิปไตยระดับ ป.๔-๖มีคุณธรรมประชาธิปไตยไทยเจริญ 
          มาถึงระดับประถมศึกษาปีที่ ๔-๖ ที่เด็กระดับนี้จะได้สัมผัสกับโลกภายนอกมากขึ้น กิจกรรมในคู่มือฉบับนี้ จะเน้นไปที่ การสร้างคุณลักษณะบุคลิกประชาธิปไตยให้เกิดกับนักเรียน เพื่อให้เป็นพลเมืองที่ดี และเป็นสมาชิกที่ดีของสังคม ภายใต้วัฒนธรรมอันดีงามของไทย ซึ่งจะมีเรื่องของสิทธิเสรีภาพ หน้าที่ของตนเองเข้ามาด้วย
         
นักวิชาการศึกษา กล่าวต่อไปอีกว่า เด็กในระดับชั้น ป.๔-๖ จะได้เรียนรู้เรื่องสิทธิเด็ก ประเด็นปัญหาที่เกี่ยวกับการละเมิดสิทธิเด็ก และกฎหมายที่คุ้มครองสิทธิเด็ก โดยเด็กจะได้เรียนรู้จากสถานการณ์จริง จากข่าว หรือภาพข่าวที่นำเสนอผ่านสื่อมวลชน โดยครูจะหยิบยกมาเป็นกรณีตัวอย่าง ให้เด็กได้คิดวิเคราะห์เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นว่ามีสาเหตุมาจากอะไร จะป้องกันเหตุซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ได้อย่างไร
       สำหรับคู่มือการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ประชาธิปไตยในระดับ ป.๑-๓ และ ป.๔-สพฐ.ได้จัดพิมพ์เสร็จแล้วทั้ง ๒ เล่ม ส่วนคู่มือฯ ระดับ ม.๑-๓ และ ม.๔-๖ อยู่ระหว่างการจัดพิมพ์ โดย วันเพ็ญ ให้ข้อมูลว่า เนื้อหาของระดับมัธยมศึกษาจะมุ่งเน้นไปที่สิทธิ์ และหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ การเป็นพลเมืองที่ดีระดับชาติ และการเข้าไปมีส่วนร่วมทางการเมือง ให้ตระหนักถึงสิทธิและหน้าที่ในการเลือกตั้ง เป็นต้น
       ทั้งนี้ สพฐ. ได้เชิญศึกษานิเทศก์ ผู้บริหารสถานศึกษา และครูผู้สอนกลุ่มสาระการเรียนรู้สังคม ศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม เขตพื้นที่ละ 3 คน เข้าร่วมประชุมชี้แจงการใช้คู่มือดังกล่าว ทั้ง ๔ ภูมิภาคทั่วประเทศไป
          เมื่อเร็วๆ นี้ ซึ่งกิจกรรมประชาธิปไตยที่อยู่ในคู่มือทั้งหมดนั้น นักวิชาการศึกษา ย้ำว่า ครู อาจารย์สามารถนำไปสอนบูรณาการร่วมกับวิชาอื่นๆ ได้ทุกวิชา โดยในเร็วๆ นี้ สพฐ.จะนำเอาเนื้อหาคู่มือฯ ทุกระดับชั้น บรรจุงในเว้บไซต์ของ สพฐ.ในรูปแบบ อีบุ๊ค เพื่อให้ครู อาจารย์ได้ดาวน์โหลดไปใช้ต่อไป
          หัวใจของประชาธิปไตย คือ คุณธรรม และจริยธรรม หากเด็ก และเยาวชนถูกปลูกฝังเรื่องคุณธรรมให้รู้จักรับผิดชอบต่อสิทธิ์ และหน้าที่ของตนเอง ไม่ดูถูกผู้อื่น เคารพสิทธิ์คนในสังคมเดียวกัน รับรองว่าประชาธิปไตยจะเจริญงอกงาม ซึ่งการเรียนการสอนประชาธิปไตยนั้น ไม่สำคัญเท่ากับการจัดบรรยากาศในสถานศึกษาให้มีความเป็นประชาธิปไตย เพราะการจะปลูกฝังให้เด็กรักประชาธิปไตยนั้น ต้องอยู่ในวิถีชีวิตของพวกเขา เป็นกระบวนการขัดเกลาตั้งแต่เยาว์วัย จะสอนเฉพาะในห้องเรียนไม่ได้ ซึ่งปัจจุบันเราต้องยอมรับว่า คนรุ่นใหม่จำนวนมาก ยอมรับค่านิยมผิดๆ ได้ หลายคนบอกว่าหากนักการเมืองจะโกงกินบ้างก็ไม่เห็นเป็นไร เพราะใครๆ ก็โกงกัน ทั้งๆ ที่คุณธรรมพื้นฐานที่ทุกคนต้องมีคือความซื่อสัตย์ แต่เรากลับบอกว่าไม่เป็นไร นี่คือความผิดเพี้ยนของประชาธิปไตยในปัจจุบันที่เราต้องช่วยกันปลูกฝังให้กับเด็กเล็กๆ ใหม่ ที่สำคัญจะฝากความหวังไว้กับการศึกษาอย่างเดียวไม่ได้ ครอบครัว ชุมชน จนถึงสังคมทุกส่วนต้องช่วยกันสร้างบรรยากาศของประชาธิปไตย หรือสร้างบรรยากาศของการมีคุณธรรมให้เกิดขึ้นนั่นเอง วันเพ็ญ กล่าวสรุป

          

 

                                         **************

คำสำคัญ (Tags): #การศึกษา
หมายเลขบันทึก: 321026เขียนเมื่อ 17 ธันวาคม 2009 19:29 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 22:04 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (14)
พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

ปรัชญาการศึกษาไทย

คิดเป็น ทำเป็น แก้ปัญหาเป็น

พอไหมพระเดชพระคุณขอรับ

พระอาจารย์ครับ ปรัชญาการศึกษาไทยนี้ดีมากครับ แต่เทคนิควิธีการสอน การประยุกต์ใช้ ยังไม่สมบูรณ์ครับ จึงทำให้เด็กไทยปัจจุบันเป็นอย่างที่พวกเราเห็น และต่างก็ท้อแท้เหนื่อยใจ แต่ก็ไม่เปลี่ยนแรงบันดาลใจที่จะปลูกฝังเพื่อให้เด็กไทย คิดเป็น ทำเป็น และแก้ปัญหาเป็น แต่ก็อีกนั่นแหละในช่วงชีวิตเราจะมีโอกาสได้เห็นหรือเปล่ามิทราบครับพระอาจารย์

เพราะที่นี่คือ ประเทศไทยครับ

นมัสการพระคุณเจ้า

  • วันก่อนพี่ครูได้มีโอกาสไปร่วมกิจกรรมการสังเคราะห์งานวิจัย ๔ ประเทศ เกี่ยวกับการสอนคนให้มีคุณธรรมจริยธรรม
  • ผู้เชียวชาญท่านหนึ่งกล่าวว่า...ไม่แน่ใจว่าครูไทยจะมีความสามารถนำหลักการที่สอนคนมาใช้ได้อย่างตั้งใจหรือไม่
  • พี่ครูมีความเห็นว่า..ผู้สอนต้องกล้าเปลี่ยนแปลงตัวเองในการเป็นแบบอย่างที่ดี รักและเอาใจใส่อย่างจริงใจ  และรัฐบาลก็ต้องจริงใจด้วย  ไม่ควรมีข่าวว่าครูซื้อผลงานเพื่อตำแหน่ง
  • กราบขอบพระคุณอย่างสูง เจ้าค่ะ

 

เริ่มแต่คำที่ใช้เลย "สอน" ถ้าสอนทั้งชาติก็ไม่มีทางที่จะให้เด็กเลิกโกง

โกงเป็นเรื่องของจิตใจ ที่เรามักได้ยินบ่อยๆ คือ "กิเลส" ตัวแรก คือ "โลภ" คนโลภเท่านั้นที่โกง คนไม่โลภ ไม่อยากได้ของคนอื่นรับรองว่าไม่โกง ถ้าใครเถียงต้องไปเถียงกับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั่นทีเดียว เพราะพระองค์ท่านสอนไว้เช่นนี้

เมื่อไม่โลภ ไม่อยากได้ พอใจเท่าที่มี และใช้ความสามารถหามาเท่าที่ทำได้ คิดเพิ่มได้ตามเหตุผลของกิจการ เช่น ลงทุนเพิ่ม ขายเอากำไรแต่พอเพียง ให้ประชาชนทุกคนหาใช้ หาบริโภค ได้ทั่วกัน มีรายได้มากก็พอใจ มีรายได้น้อยก็ไม่เสียใจ คิดเมตตาว่า ขอให้ทุกคนได้ใช้อย่างมีความสุขก็พอ ที่เขียนตรงนี้อยากชี้ให้เห็นเหตุทีไม่โกงก่อนเพื่อนำไปสู่กิจกรรมปฏิบัติ(ไม่ใช่สอน แต่เป็นการจัดการเรียนรู้)

วิธีการจัดการการเรียนรู้ คือ ...

1. ต้องให้นักเรียนมีอิสระใน การคิด การทำ การเสนอความคิดเห็น แม้บางความคิด บางการกระทำ ครูเห็นว่าไม่ใช่เรื่องที่จะ "สอน" ก็ไม่เป็นไร เป็นประการแรกทีเดียว เพราะครูที่ดีต้องดึง "การประพฤติปฏิบัตของนักเรียน" เข้ามาสู่การเรียนรู้ได้ ทุกสภาวะการ เช่น ภาษิตการจัดการศึกษาที่ดีกล่าวว่า "การเรียนรู้ทีดี ต้องเกิดขึ้นได้ทุกทุกเรื่อง สถานที่ ทุกเวลา และทุกวิธีการ"(ลองพิจารณาดูนะครับ)

และเรื่องที่จะ "สอน" ไม่มีความสำคัญอะไรเลย เรื่องที่เด็กจะ "เรียนรู้" สำคัญกว่ามากนัก เพราะ ...

ขอพูดตรงๆ "การสอนไม่ช่วยให้เขาเรียนรู้ ถ้าเขาไม่มีประสบการณ์มาก่อน" ส่วน "ประสบการณ์ตรงเป็นการเรียนแล้วรู้ที่ไม่มีวันลืมเลือน" และทุกคนลองนึกถึง "ความประทับใจในอดีตดูซี" ยังเห็นชัดแจ๋วเลยใช่ไหม? ยังปฏิบัติได้อยู่เลยใช่ไหม? ยังชื่นชมอยู่เลยใช่ไหม? ไม่ว่าเวลามันจะผ่านมานานเท่าไรแล้ว? นั่นแหละ ผลของประสบการณ์ตรงละ

2. ต้องให้นักเรียนจัดสภาชั้น ... ขึ้น โดยมีข้อตกลงว่า "ถ้ามีการล่วงเกิน หรือล้ำสิทธิ์ของกันและกัน หรือมีปัญหาเกิดขึ้น คู่กรณีตกลงกันไม่ได้ ให้นำเข้าสู่สภาชั้น ... ทันที คนที่เป็นประธานก็ให้ทุกคนเลือกกันเองในขณะนั้น ... หลังจากคู่กรณีเสนอปัญหาให้ชั้นเรียนฟังแล้ว แต่ละปัญหาๆ ไป ไม่ตั้งประจำ(เพื่อฝึกการเลือกคนอย่างมีเหตุผล ที่เหมาะกับงานนั้น) จากนั้นก็ให้ช่วยกันพิจารณาโดย ...

แรกๆ ครูอาจช่วยนักเรียนเซ็ทคำถามว่า "ตวรตั้งคำถามอย่างไร?" เช่น -การกระทำของคูปัญหามีส่วนดีตรงไหน? -ตรงไหนเป็นการกระทำที่ไม่เหมาะสม? -ความไม่เหมาะสมมีเหตุมาจากอะไร? -จะแก้ปัญหานี้อย่างไร? อะไรเหล่านี้เป็นต้น แล้วให้ประธานหัดถาม นักเรียนในชั้น(รวมทั้งคู่กรณีด้วย)ช่วยกันหัดคิด อาจะได้ความคิดดีๆ และเมื่อคู่กรณีได้คิด ปัญหาก็อาจจะหมดไปแล้วก็ได้

จากนั้นให้คู่กรณีออกมาสรุปปัญหา สาเหตุ และวิธีการแก้ แล้วให้นักเรียนอื่นๆ ฃ่วยเสริม และควรเสริมว่า "เหตุการณ์เช่นนี้ควรเกิดขึ้นกับนักเรียนชั้นนี้อีกหรือไม่? เพราะอะไร?" ให้ช่วยกันหาวิธีนำเสนอความคิดของตนเองต่อชั้นเรียนในรูปแบบที่ตนถนัด เป็นกล่มหรือรายบุคคลก็ได้

ต่อไป ก็ให้นักเรียนไปค้นหาเรื่องที่มีในสังคมโดยเฉพาะ "เรื่องการโกงในสังคม" แล้วนำมาเข้าสภาทีละประเด็นๆ หัดคิด หัดพูด หัดวิเคราะห์ วิจารณ์ หัดตำหนิตนเองว่าเป็นอย่างนั้นหรือไม่ ถ้าเป็นตนเองจะทำอย่างไร ให้อภิปรายกันจนเป็นที่พอใจ จึงให้สรุปตามความคิดเห็นของแต่ละคน

***จากนั้น ก็ให้สภาช่วยกันคิดต่อว่า -นักเรียนคิดว่า พฤติกรรมที่นำมาวิเคราะห์กันมีพฤติกรรมอะไรที่ควรปฏิบัติตาม เพราะอะไร พฤติกรรมใดที่ไม่ควรปฏิบัติตามเพราะอะไร? -ผลของการปฏิบัติที่ไม่ดีเกิดขึ้นกับใคร อย่างไร นักเรียนอยากได้รับผลเช่นนั้นบ้างไหม เพราะอะไร? -นักเรียนจะปฏิบัติตัวกันอย่างไร จึงจะไม่ได้ชื่อว่าเป็น "คนโกง"? และหากมีปัญหาการโกงเกิดขึ้นนักเรียนจะทำอย่างไร ให้ตั้งเป็นข้อตกลงของชั้นไว้ ให้ ชม. ศิลปะฃ่วยกันออกแบบเขียนข้อตกลงปิดในห้อง***(ไม่ควรมองข้าม)

สรุปว่า กิจกรรมนี้นักเรียนได้เรียนรู้อะไรบ้าง? ภาษาไทย สังคม ศึลธรรม วิทยาศาสตร์(เหตุ-ผล) ศิลปะ อาจมีคณิตศาสตร์แทรกตอนนับมติซึ่งควรใช้น้อยที่สุด(ความดี-ชั่ว การควร-ไม่ควร ความเหมาะสม-ไม่เหมาะสม ห้ามลงมติเด็ดขาด) ควรใช้วิธีให้ยอมรับในความถูกต้อง ดี สมควร เหมาะสม และมีเหตุผล จากผลเสียที่นักเรียนจะเป็นผู้แสดงความคิดเห็นถึงผลเกิดขึ้นกับผู้อื่นและ ตนเองเป็นสำคัญ

ต่อไป วิชาต่างๆ ก็เสนอเป็นปัญหาให้นักเรียนจัดสภาช่วยกันคิดหาคำตอบไปทีละขั้นๆ แม้บางครั้งจะต้องลงมือจำลองเหตุการณ์ก็ต้องทำ จะต้องออกไปดูสภาพจริงใตโรงเรียน ในสังคม หรือในแหล่งเรียนรู้ที่นักเรียนเห็นว่าช่วยให้เขาตอบได้ ครูก็ต้องยอมและสนับสนุนอย่างเต็มที่ เพือ่ให้เขาได้เรียนรู้(ด้วยตนเองหรือด้วยกันเอง)อย่างสูงสุด ในที่สุดก็จะได้คำตอบ จากนั้นก็ให้ช่วยกันสรุปวิธีแก้ปัญหานั้น และแนวปฏิบัติที่เป็นไปได้ตามความเหมาะสมกับเหตุการณ์ เขียนรายงานเดี่ยวในชั้นสูงหรือกลุ่มในชั้นเด็กที่เล็กลงมา เขียนไม่ได้ก็ให้วาดเป็นภาพก็ได้นะ อย่าไปปิดกันการเสนอความรู้หรือความคิดเห็น วาดภาพแล้วค่อยช่วยกันเอาภาพมีเขียนคำบรรยายภายหลัง

เท่านี้ก็จะช่วยให้นักเรียนทั้งชั้นเป็น "ประชาธิปไตย" และ "ไม่โกง" ได้อย่างชะงัด และสมัครใจ

นี่เป็นเพียงความคิดเห็นเชิงประจักษ์ ใครจะเห็นด้วย หรือไม่เห็นด้วยก็ ไม่ว่ากัน

ถ้าไม่ถูกใจก็ข้ามไปเสีย อย่าใส่ใจ และขอขอบคุณที่ข้ามไป

ถ้าสนใจก็ลองนำไปปฏิบัติดู ได้ผล-ไม่ได้ผลอย่างไร ก็คุยกันให้ฟังบ้างตาม คุณ-เมล์ ที่ปรากฏ ด้วยความขอบพระคุณ

มีข้อความหนึ่ง อยากฝากไปถึงผู้เกี่ยวข้องกับการศึกษาของเด็กทุกระดับ คือ

"ตัวอย่างที่ดี(การประพฤติปฏิบัติของคนในบ้าน โรงเรียน วัด และในสังคม) ดีกว่าเห็นภาพนับเป็นพันๆ ภาพ และภาพที่ดีช่วยให้นักเรียนเข้าใจได้ดีกว่าคำพูดนับเป็นพันๆ คำ) ดังนั้น

ตัวอย่างที่ดี(การประพฤติปฏิบัติของคนในบ้าน โรงเรียน วัด และในสังคม) ช่วยให้นักเรียนได้เรียนรู้ดีกว่าการพร่ำเพ้อพูดสอนนับเป็นล้าน(1,000X1000=1,000,000)คำ"

จริงไหมเอ่ย ลองคิดดูละกัน

เจริญพรคุณพี่ครูคิม ปัญหาสำหรับการเรียนการสอนในโรงเรียนมีมากมาย ทั้งนโยบายรัฐบาล บริบทต่าง ๆ ทั้งภายในและภายนอกโรงเรียน ปัญหาชีวิตของครู ของนักเรียน ทั้งหมดล้วนแต่ทำให้กระบวนการจัดการเรียนการสอนไม่สมบูรณ์เท่าที่ควร และปัญหาที่บั่นทอนความรู้สึกมากที่สุดก็คือ ปัญหาการวิ่งเต้นซื้อตำแหน่ง การจ้างทำวิทยฐานะโดยที่มิใช่ความสามารถของตน ล้วนแต่เป็นภาพสะท้อนให้เห็นชัดว่า ทำไมการโกงทุจริตจึงมีไปทั่ว นี่แหละคือเรื่องยากที่จะแก้ไข เพราะที่นี่คือ ประเทศไทย

เจริญพรคุณโยมครูคนหนึ่ง ขออนุโมทนาที่เข้ามาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และให้ข้อเสนอแนะที่น่าชื่นชมมาก ยังไงเสียท่านผู้เข้ามาอ่านพบเจอก็เอาข้อเสนอแนะของครูคนหนึ่งไปใช้รับรองว่าได้ผลเป็นที่น่าพอใจยิ่ง

กราบนมัสการพระคุณเจ้าครับ

งานในหน้าที่ของผมอย่างหนึ่งก็คือการเข้าโรงเรียนให้ความรู้แก่เด็กๆ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องพวกกฎจรารแล้วก็ยาเสพติดครับ แต่อย่างไรก็ตามสิ่้งหนึ่งที่ผมจะไม่ลืมเลยก็คือการแทรกหลักธรรมตามหลักพระพุทธศาสนาของเราให้เด็กๆ ด้วย

ผมได้รับความรู้ด้านนี้ส่วนหนึ่งก็จากพระคุณเจ้าหลายท่านที่ผมไปศึกษาและขอรับความรู้รวมถึงเว็บไซต์ที่ผู้รู้ท่านนำมาเผยแพร่นั่นแหละครับ

ในเรื่องที่พระคุณกรุณาเขียนนี้่ก็เช่นเดียวกันผมมักจะนำไปถ่ายทอดให้เด็กๆ ฟังอยู่เสมอ ก็ต้องกราบขอบพระคุณเจ้าอีกครั้งหนึ่งที่กรุณาให้ความรู้เพิ่มเติมในวันนี้และผมขออนุญาตนำสิ่้งที่ได้รับในคืนนี้ไปถ่ายทอดให้เด็กๆ ต่อนะครับ

กราบขอบพระคุณครับ

สาธุอนุโมทนากับคุณโยมพันตำรวจโทสุพจน์นะ น่าชื่นใจนะที่ประเทศไทยยังมีตำรวจดี ๆ อยู่มากมาย สาธุ....

นมัสการพระคุณเจ้าค่ะ

ในส่วนของตนเองในคาบปฐมนิเทศจะแจ้งนักเรียนเกี่ยวกับเรื่องความซื่อสัตย์ในการสอบ คือให้คิดและทำด้วยตนเอง อย่าลอกข้อสอบหรือการบ้านใครมาส่งครู จะเป็นการทำร้ายตัวเอง การที่สอบไม่ผ่าน...ครูยินดีให้ความช่วยเหลือให้ความรู้คำแนะนำเพิ่มเติม เด็กไทยตอนนี้น่าสงสารค่ะ ผู้ใหญ่ตัวโตแบบเราต้องทำตัวให้เป็นแบบอย่างที่ดีค่ะ และยินดีที่สถานศึกษา วัดและบ้าน หรือ บวร. กลับมาสู่วงการศึกษาไทย ตอนนี้รอวันเครือข่าย บวร เข้มแข็งค่ะ เด็กไทย จะได้เก่งดี และมีสุขค่ะ

เจริญพรคุณnoktalay อาตมาก็หวังดังนั้นเช่นกัน อยากเห็นเครือข่าย บวร เข้มแข็ง แต่ก็ไม่รู้จะรออีกนานเท่าไหร่ ถึงนานแค่ไหนก็จะรอ เพื่อเด็กไทยของเรา สาธุ...

หนูคิดว่า ผู้ใหญ่ควรประพฤติปฏิยัติตนเป็นแบบอย่างที่ดีแก่ลูกหลานคค่ะ

หนูคิดว่า ผู้ใหญ่ควรประพฤติปฏิยัติตนเป็นแบบอย่างที่ดีแก่ลูกหลานค่ะ

เจริญพรนะหนูอิ่มใจ พระอาจารย์ก็คิดเช่นนั้นเหมือนกันแหละนะ ผู้ใหญ่เองควรประพฤติตนเป็นแบบอย่างแก่ลูกหลาน แต่ก็อีกนั่นแหละ ผู้ใหญ่เองก็ไม่ค่อยสำรวจตัวเองได้แต่ชี้นิ้วว่าแต่คนอื่น โดยลืมไปว่าสิ่งที่ตนชี้นิ้วว่าผู้อื่นตนเองเสียอีกทำมากกว่า เฮ้อ.. อนิจจาโลกหนอโลก...

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท