แนวคิดและแนวทางในการใช้วรรณคดีสร้างการเรียนรู้ด้วยใจอย่างใคร่ครวญ (๒)


การนำวรรณคดีมาสร้างการเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลง

ในวิธีการของการศึกษาเพื่อการเปลี่ยนแปลงให้ความสนใจกับการพาผู้เรียนไปพบกับ ความจริงสูงสุดที่เมื่อเข้าถึงแล้วจะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขั้นพื้นฐาน (transformation) เกิดอิสรภาพ ความสุข ความรักเพื่อนมนุษย์ และธรรมชาติอันเป็นไปเพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างศานติ

การศึกษาเช่นนี้เป็นการศึกษาที่ต้องพัฒนาคนทั้งคนอย่างเป็นองค์รวม เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ที่ลึกซึ้ง และส่งผลต่อชีวิตด้านในของผู้เรียนจนกระทั่งเกิดการเปลี่ยนผ่าน

วรรณคดีเป็นสื่อการเรียนรู้ที่สามารถสะท้อนภาพอารมณ์รัก โลภ โกรธ หลง ที่มีอยู่ในใจมนุษย์ทุกผู้ทุกนามออกมาให้เห็นได้ชัดเจน เพราะกวีผู้รจนาคำประพันธ์ คือผู้ที่มีความเป็นเลิศในการถ่ายทอดสัมผัสทางอารมณ์ต่างๆ ได้อย่างพิเศษ ด้วยการเลือกสรรถ้อยคำที่มีความประณีต งดงาม มาแสดงอรรถรสได้เหนือกว่าคนธรรมดาทั่วไป ดังนั้น จึงสามารถสร้างแรงส่งที่ก่ออารมณ์สะเทือนใจให้เกิดแก่ผู้ที่ได้อ่านและฟังอย่างกระจ่างชัดราวกับได้ชมภาพขยาย

กวีจึงสามารถพาผู้อ่านไปถึงที่สุดแห่งอารมณ์ ซึ่งมีทั้งความเหนื่อย อันพาไปสู่ความหน่าย ที่หากผู้อ่านเกิดปัญญารู้เท่าทันก็จะไปนำสู่ความเข้าใจในธรรมได้ วรรณคดีจึงทำหน้าที่เป็นสะพานเชื่อมโลกียธรรมเข้าไปหาโลกุตรธรรม ผ่านภาษาที่จำลองโลกเอาไว้ด้วยฝีมือการรจนาของกวีนั่นเอง

 

“รู้จักและเข้าใจรสนิยมข้ามยุคสมัย”

อุปสรรคแรกของการเรียนวรรณคดี คือ การเข้าไม่ถึงสิ่งที่เรียกว่าเป็นรสนิยมของยุคสมัยที่เรื่องราวนั้นเกิดขึ้นมา เมื่อไม่เข้าใจถ้อยคำที่ใช้ ไม่เข้าใจสุนทรียภาพที่ปรากฏ เพราะไม่เข้าใจบริบททางสังคมของคนในยุคนั้น จึงไม่อาจเข้าใจได้ว่าเรื่องราวและรสของความงามที่กวีกำลังนำเสนอเป็นอย่างไร

ดังนั้น การเรียนวรรณคดีเพื่อการเข้าถึงตัววรรณคดี และเพื่อการนำวรรณคดีมาสร้างการเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลง จะช่วยสร้างกระบวนการเรียนรู้ที่จะช่วยหล่อหลอมผู้เรียนให้มีทักษะในการ

  • เข้าใจเขาในแบบที่เขาเป็น
  • ไม่เอาคุณค่าของตัวเองไปตัดสินคนอื่น
  • เรียนรู้ความรู้สึกและความต้องการของคนอื่น

ที่สุดท้ายจะสามารถพาให้ผู้เรียนเกิดความสามารถในการหันกลับมามองความรู้สึก ต้องการของตัวเองเหมือนเป็นความรู้สึก ความต้องการของคนอื่น ซึ่งเป็นการมองเห็นตัวเองในสถานะใหม่ ที่จะเอื้อให้เกิดการใคร่ครวญความคิด อารมณ์ความรู้สึก การกระทำของตนใหม่ และการเปลี่ยนแปลงก็จะเกิดขึ้นตามมาเองเมื่อเกิดการมองเข้าไปเห็นชุดความคิด ชุดอารมณ์ความรู้สึก ที่ก่อให้เกิดการกระทำต่างๆ ของตน

 

หมายเลขบันทึก: 320508เขียนเมื่อ 15 ธันวาคม 2009 19:32 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 มิถุนายน 2012 17:57 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

แวะมาทักทายครับครูใหม่

WSที่ผ่านมา การติดต่อติดขัด...

เพื่อนๆที่เคยไปเยี่ยมเพลินพัฒนามาแล้ว.....ได้รับแรงบันดาลใจ

พวกเรายังคงพูดถึงเขียนถึง "ครูใหม่"และ "เพลินพัฒนา"อยู่บ่อยๆครับ..

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท