ผมจะเริ่มต้นด้วยนิยายของอินเดียที่อธิบายการเกิดฟ้าร้อง และผมจะตั้งชื่อว่า ทฤษฎีรามสูร ทฤษฎีนี้กล่าวย่อๆว่า บนสวรรค์มียักย์ตนหนึ่งชื่อว่ารามสูร รามสูรมีขวานเป็นอาวุธ เมื่อรามสูรขว้างขวานจะเกิดเสียงฟ้าร้อง
เรื่องนี้เป็นนิยาย แต่มันอธิบายการเกิดฟ้าร้อง ผมจึงเรียกว่าทฤษฎี ลักษณะของทฤษฎีนี้คือ (๑)เป็นข้อความที่อธิบายการเกิดฟ้าร้อง (๒) ข้อความนี้บรรจุไว้ซึ่งคำที่ชี้ถึงสิ่งที่สังเกตไม่ได้ และไม่มีความเป็นไปได้ที่จะสังเกต ไม่ว่าจะใช้เครื่องมือใดๆ คือ รามสูร
ทฤษฎีนี้เป็นทฤษฎีประเภทไม่ใช่วิทยาศาสตร์ (Unscientific Theory) เพราะว่า คำว่า รามสูร เป็นชื่อของยักย์ตนหนึ่ง แต่ไม่มีตัวตนกินที่ว่างอยู่ ณ ทีใดๆ ในเวลานั้นๆ ขณะนี้ภาพยักย์ตนนั้นได้เกิดขึ้นแล้วในหัวของท่าน มันเป็นภาพที่เกิดจากความคิด มันก่อรูปขึ้นมาจากภาพเขียนที่ท่านเคยเห็น จากคำบอกเล่าที่ท่านเคยได้ฟังมา ขณะที่เกิดจินตภาพรามสูรนั้น ตัวรามสูรจริงๆไม่มี ไม่มีอยู่ ณ ที่หนึ่งที่ใด ณ เวลาใดๆในโลกนี้ มันไม่มีตัวตนที่จะครองที่ว่าง ณ ที่ใดๆ ในเวลานั้นๆ เมื่อท่านนอนหลับสนิท ภาพรามสูรนั้นก็หายไปจากหัวของท่าน เมื่อท่านตื่น(ถ้าท่านยังไม่ลืม)ก็จะเกิดภาพรามสูรตนนั้นขึ้นมาอีกครั้ง แต่ไม่วามันจะเกิดขึ้นในหัวของท่านกี่ครั้งกี่หน ตัวรามสูรจริงๆก็หามีไม่
แตกต่างจากคอมพิวเตอร์ที่ท่านกำลังจับต้องอยู่นี้ มันทำให้ท่านเกิดภาพคอมพิวเตอร์ขึ้นในหัวของท่านเหมือนกัน แต่เมื่อท่านนอนหลับไป ภาพคอมพิวเตอร์ในหัวท่านก็หายไป แต่คอมพิวเตอร์เครื่องนี้ก็ยังอยู่ มันมีตัวตน มันกินที่ว่างเพื่อตั้งวางมันที่ตรงนี้ บนโต๊ะตัวนี้ ณ เวลานี้ เมื่อท่านตื่นขึ้นมา ท่านก็เห็นมันอีก มันไม่ได้หายไปไหน(ถ้าไม่มีใครมายกไป) และภาพของมันก็เกิดขึ้นในหัวของท่านอีก และภาพคอมพิวเตอร์ในหัวของท่านก็เข้าคู่กับคอมพิวเตอร์ตัวจริงเครื่องนี้ ต่างจากรามสูร ที่ภาพในหัวของท่านไม่สามารถเข้าคู่กับตัวรามสูรตัวจริงได้เลย เพราะไม่มีรามสูรตัวจริงให้เข้าคู่ด้วย มันไม่มีตัวตนอยู่จริงในโลกนี้
วิทยาศาสตร์มีความเชื่อว่า สิ่งใดที่มีอยู่จริง สิ่งนั้นจะต้องมีอยู่จริง กินที่ว่างนั้นๆ ณ เวลานั้นๆ และสามารถสังเกตได้โดยตรงหรือโดยอ้อม ถ้าเป็นการเปลี่ยนแปลงของสิ่งนั้นๆ ก็สามารถสังเกตได้หรือวัดได้โดยตรงหรือโดยอ้อมเช่นกัน หรืออย่างน้อยก็มีความเป็นไปได้ที่จะสังเกต ดังนั้น เรื่องรามสูรที่กล่าวมา จึงอยู่นอกอาณาจักรของวิทยาศาสตร์ และดังนั้น ทฤษฎีฟ้าร้องดังกล่าวจึงไม่ใช่ทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์