การสร้างคำในภาษาไทย (4)


คำประสม วิธีการ ประเภท และตัวอย่าง

         คำประสม

                ความหมายของคำประสม

        บรรจบ ( 2544  )  กล่าวว่า  คำประสม คือ คำที่มีคำ 2 คำ หรือมากกว่านั้นมาประสมกันเข้าเป็นคำใหม่อีกคำหนึ่ง คำที่ประสมกันเข้าเป็นคำใหม่นี้ แต่ละคำไม่ได้มีความหมายคล้ายกันอย่างคำซ้อนความหมายสำคัญอยู่ที่คำต้น  ส่วนคำตามมาเป็นส่วนขยาย

       ประสิทธิ์ ( 2516 )  กล่าวว่า คำประสมเป็นคำที่เกิดจากหน่วยคำอิสระ ( Free  morpheme )   ประสมกับหน่วยคำอิสระด้วยกัน  เช่น คำว่า   ลูกน้ำ    สวนครัว    โต๊ะเรียน    แก้วน้ำ   เป็นต้น 

       ปรีชา  ( 2522 )   อธิบายความหมายของคำประสมว่า  คำประสม ( Compound  Word ) คือ  คำที่ประกอบด้วยหน่วยคำอิสระ  ( Free  morpheme )  ตั้งแต่สองหน่วยขึ้นไปมาประสมกันเป็นคำใหม่  เช่น   ไฟฟ้า   พัดลม   ตู้เย็น   ปลาเนื้ออ่อน   เล็บมือนาง   พระเจ้าแผ่นดิน   ฯลฯ   คำที่ยกตัวอย่างมานี้  ประกอบด้วยหน่วยคำอิสระทั้งนั้น   กล่าวคือ   แต่ละหน่วยสามารถไปปรากฏตามลำพังได้   เป็น   ไฟ   ฟ้า   พัด   ลม     ตู้   เย็น   ปลา   เนื้อ   อ่อน   เล็บ   มือ   นาง   พระ   เจ้า   แผ่น   ดิน  

       โดยปกติ  คำประสมของไทยมักจะเรียงคำหลักหรือคำที่มีลักษณะเด่นไว้หน้า   คำที่มีลักษณะรองขยายไว้หลัง   คำที่เกิดใหม่จึงมักมีควายหมายตามเค้าของความหมายเดิมเสมอ   เช่น   น้ำหวาน   ข้าวตาก   ขันหมาก   ยาถ่าย   ฯลฯ   แต่บางคำใช้คำที่มีน้ำหนักความหมายเท่า ๆ  กันมาประสมกัน  จึงทำให้เกิดความหมายใหม่ที่พิสดาร  ในเชิงอุปมาอุปไมยขึ้น   เช่น   คอหอย   กุ้งยิง   หางเสือ   เป็นต้น

       อุดม ( 2542 )  กล่าวว่า  คำประสม  ได้แก่ การนำหน่วยคำมูลประสมกับหน่วยคำมูล   หรือ หน่วยคำมูลประสมกับหน่วยคำประสม  หรือหน่วยคำประสมประสมกันเอง   ให้เกิดเป็นนามประสม  กริยาประสม  เป็นหลัก โดยยึดโครงสร้างแบบแยก  แบบขยาย  และแบบซ้อน

       สรุปว่า คำประสม   คือ   คำที่เกิดจากการนำคำมูลตั้งแต่ 2 คำขึ้นไปที่มีความหมายต่างกัน  มาประสมกัน  เกิดเป็นคำใหม่ ที่มีความหมายใหม่แต่มีเค้าความหมายของคำมูลเดิมอยู่บ้าง   หรืออาจมีความหมายไปในเชิงอุปมา

                 

       วิธีสร้างคำประสม

       สุธิวงศ์  ( 2531 )  กล่าวว่า วิธีสร้างคำประสม คือ นำคำตั้งแต่ 2 คำขึ้นไป และเป็นคำที่มีความหมายต่างกันมาประสมกันเป็นคำใหม่ โดยใช้คำที่มีลักษณะเด่น เป็นคำหลักหรือเป็น ฐาน (Base) แล้วใช้คำที่มีลักษณะรองมาขยายไว้ข้างหลัง คำที่เกิดขึ้นใหม่มีความหมายใหม่ตามเค้าของความหมายเดิม (พวกความหมายตรง) แต่บางที่ใช้คำที่มีน้ำหนักความหมายเท่าๆกันมาประสมกัน ทำให้เกิดความพิสดารขึ้น (พวกความหมายอุปมาอุปไมย)

 

       บรรจบ ( 2544  )  กล่าวถึง วิธีสร้างคำประสมไว้ดังนี้

       1. นำคำที่มีความหมายสมบูรณ์มีที่ใช้ในภาษา 2 คำ หรือมากกว่านั้นประสมกันเข้า ให้คำต้นเป็นคำตัวตั้งมีความหมายสำคัญ คำอื่นนอกจากนั้นซึ่งอาจถือเป็นคำขยายก็ได้ ช่วยขยายความ เพื่อบอกทั้งลักษณะใหญ่และลักษณะย่อย

       2. คำที่ประสมแล้วจะมีความหมายใหม่ ต้องการให้หมายถึงอะไร เป็นชื่อของอะไร ก็กำหนดคำตัวตั้งตามนั้น ถ้าต้องการบอกรายละเอียดว่าลักษณะเป็นอย่างไร ประโยชน์ใช้สอยอย่างไร หรืออื่นๆ ก็กำหนดคำขยายที่ตามมาให้ได้ความตามต้องการ บางทีต้องอาศัยการย่อความอันยืดยาวลงไว้ในคำเพียง 2-3 คำ หรือบางทีในคำเพียงคำเดียว

       3. คำตัวตั้งก็ตามคำขยายก็ตาม อาจเป็นคำที่มีหน้าที่ต่างๆ เป็นคำนามก็มี กริยาก็มี คำวิเศษณ์ก็มี  เมื่อประสมแล้วทำหน้าที่ได้ทั้งเป็น นาม   กริยา   และคำวิเศษณ์

 

                ลักษณะคำประสม

       บรรจบ ( 2544 )  ได้แบ่งลักษณะคำประสม ตามการใช้ แยกได้เป็น ที่ใช้เป็นคำนาม คำกริยา และคำวิเศษณ์

                คำประสมที่ใช้เป็นคำนาม

                1.    ตัวตั้งเป็นคำนามและคำขยายเป็นวิเศษณ์   เช่น     มดแดง     รถเร็ว      น้ำแข็ง  

                2.   คำตัวตั้งเป็นคำนาม คำขยายเป็นกริยา  บางทีมีกรรมมารับด้วย   เช่น     ผ้าไหว้     ไม้เท้า  

             คำประสมลักษณะนี้ถ้าเป็นชื่อสิ่งของก็บ่งบอกประโยชน์ใช้สอย ของสิ่งนั้นๆ    ถ้าเป็นคนก็แสดงกริยาอาการ คำตัวตั้งของคำประสมลักษณะนี้ มักเป็นคำ    เครื่อง ของ   ผู้   ที่   นัก   หมอ เช่น เครื่องใช้  ของกิน   ที่อยู่     ผู้แทนราษฎร   นักบิน นักสืบ

                3.  คำตัวตั้งเป็นคำนาม  คำขยายเป็นคำนามด้วยกัน   เช่น     เรือนต้นไม้     เก้าอี้ดนตรี     คนไข้      

             คำประสมลักษณะนี้จะย่อความหมายที่ต้องการในคำที่ตามมาเพียงคำเดียวเท่านั้น เพราะคำนามที่ตามมา ไม่อาจบอกลักษณะหรืออาการ ได้อย่างคำวิเศษณ์หรือคำกริยา อย่างข้อ 1 และข้อ 2 

                4.   คำตัวตั้งเป็นคำนาม   คำขยายเป็นบุพบท   เช่น    คนกลาง     คนใน    เครื่องใน    ฝ่ายใน   

                คำประสมลักษณะนี้ย่อความหมายทั้งหมด ลงในคำคำเดียว  เช่นเดียว กับข้อ 3

                5.  คำตัวตั้งที่ไม่ใช่นาม และคำขยายก็ไม่จำกัด   อาจเป็นเพราะพูดไม่เต็มความ   นามที่เป็นตัวตั้งจึงหายไป  กลายเป็นคำกริยาบ้าง คำวิเศษณ์บ้างเป็นตัวตั้ง  เช่น   (แกง) ต้มยำ      (ใบ) เรียงเบอร์    (เครื่อง) พิมพ์ดีด      

 

                คำประสมที่ใช้เป็นคำคุณศัพท์

 1.    คำตัวตั้งเป็นคำนามและคำขยายเป็นคำคุณศัพท์หรืออื่นๆ     

เช่น     ชั้นต่ำ      ส้นสูง   

 2.    คำตัวตั้งเป็นกริยาและคำขยายเป็นคำนามหรืออื่นๆ      

เช่น    กันเปื้อน    วาดเขียน   คิดเลข       

 3.    คำตัวตั้งเป็นคำวิเศษณ์และคำขยายเป็นคำนามและอื่นๆ  

เช่น    หลายใจ   สองหัว ( มีความหมายเชิงอุปมา)

 4.    คำตัวตั้งเป็นบุพบทและคำขยายเป็นนามหรืออื่นๆ     

เช่น     กลางแปลง     ข้างถนน  

 

        คำประสมใช้เป็นคำคุณศัพท์หรือคำนาม   มีความหมายในเชิงอุปมา    

                1.  คำตัวตั้งเป็นคำนามชื่ออวัยวะของร่างกาย  คำขยายเป็นคำนาม กริยาหรือคุณศัพท์       ได้แก่

หัว       เช่น     หัวไม้     หัวเรือใหญ่     หัวหน้า                          

ปาก     เช่น       ปากแข็ง  ปากตลาด

หน้า     เช่น     หน้าม้า    หน้าตาย    หน้าหนา                             

คอ      เช่น       คอหอย    คอแข็ง   คอสูง

                2.   คำตัวตั้งเป็นคำนามอื่นๆ  ที่มีลักษณะอันจะนำมาใช้เป็นอุปมาเปรียบเทียบได้  คำขยายเป็น

คำกริยาหรือคำนาม    ได้แก่    

ลูก      เช่น      ลูกกวาด     ลูกชิ้น    ลูกดิ่ง      ลูกตุ้ม        

แม่      เช่น       แม่ทัพ    แม่บ้าน    แม่สื่อ      แม่เลี้ยง 

 

                 คำประสมที่ใช้เป็นคำกริยา

ความหมายมักเป็นไปในเชิงอุปมา  ดังนี้

       1.  คำตัวตั้งเป็นคำกริยา  คำขยายเป็นกรรม 

           ยิงปืน    (หรือ  ยิงธนู  ยิงหน้าไม้  )  หมายความว่า  ยิงด้วยปืน  ด้วยธนู  

           ตัดเสื้อ   (ตัดกางเกง  ตัดกระโปรง)  หมายความว่า  ตัดผ้าทำเป็นเสื้อ กางเกง กระโปรง

       2.  คำตัวตั้งเป็นคำกริยา  คำขยายเป็นคำนามที่เป็นชื่ออวัยวะ ของร่างกาย  มีความหมายในเชิงอุปมา  ดังนี้

           กริยา + ใจ      เช่น    กินใจ     ตั้งใจ      ตายใจ    นอนใจ    เป็นใจ                                                            

            กริยา +หน้า    เช่น    หักหน้า    ไว้หน้า    ได้หน้า    เสียหน้า                                             

       3.   คำตัวตั้งเป็นคำกริยา  คำขยายเป็นบุพบท   

       เช่น     กินใน          เป็นกลาง     

       4.   คำตัวตั้งเป็นบุพบท  คำขยายเป็นคำนาม    

       เช่น     นอกใจ       นอกคอก   

       5.   คำตัวตั้งเป็นคำวิเศษณ์  คำขยายเป็นคำนาม ที่เป็นชื่ออวัยวะของร่างกาย

        วิเศษณ์ + ใจ        เช่น     แข็งใจ     อ่อนใจ    ดีใจ     น้อยใจ  

        วิเศษณ์ + หน้า     เช่น     น้อยหน้า               

       6.  คำตัวตั้งเป็นกริยา คำขยายก็เป็นกริยา   มีความสำคัญเท่ากัน  เหมือนเชื่อมด้วยและ  อาจสับหน้าสับหลังกันได้ คำใดอยู่ต้นถือเป็นตัวตั้ง ความสำคัญอยู่ที่นั่น คำท้ายเป็นคำขยายไป     เช่น     ให้หา – หาให้

       7.  คำตัวตั้งเป็นคำกริยา  คำขยายเป็นกริยาวิเศษณ์   ได้แก่   อวดดี     ถือดี      คุยโต   

       8.  คำตัวตั้งเป็นคำกริยา มีคำอื่นๆตาม    มีความหมายไปในเชิงอุปมา  เช่น    ตัดสิน   ชี้ขาด     ตกลง

 

                คำประสมที่ใช้เป็นคำกริยาวิเศษณ์

       1.  คำตัวตั้งเป็นคุณศัพท์   คำขยายเป็นคำนาม     เช่น      สามขุม  ใช้กับ   ย่าง  เป็น ย่างสามขุม  

       2.  คำตัวตั้งเป็นกริยา  คำขยายเป็นคำนาม   เช่น    นับก้าว  ใช้กับ   เดิน    เป็น  เดินนับก้าว

       3.  คำตัวตั้งเป็นคำนาม  คำขยายเป็นคำอื่นๆ    เช่น   คอตก       ใช้กับ  นั่ง    เป็น     นั่งคอตก

       4.  คำตัวตั้งเป็นบุพบท  คำขยายเป็นคำนาม   เช่น    นอกหน้า      เช่น   แสดงออกนอกหน้า

       5.  คำตัวตั้งเป็นคำบุพบท คำขยายเป็นคำกริยา หรือคำวิเศษณ์  เช่น   ตามมีตามเกิด   เช่น    ทำไปตามมีตามเกิด (สุดแต่จะทำได้)

                สรุปได้ว่า   คำประสมอาจใช้เป็นทั้งคำนาม  คุณศัพท์ กริยา และกริยาวิเศษณ์

 

       สุริวงศ์   ( 2531)   แบ่งลักษณะของคำประสม ตามความหมาย ออกเป็น  2   พวกหลัก ดังนี้

                1. พวกความหมายตรงและอุปมา ( น้ำหนักคำไม่เท่ากัน)

       นาม + นาม        

เช่น      โรงรถ             เรืออวน         ขันหมาก        ข้าวหมาก       น้ำปลา

       นาม + กริยา       

 เช่น     เรือแจว           บ้านพัก          ไม้กวาด           ไฟฉาย            บังโคลน

       นาม + วิเศษณ์      

 เช่น   น้ำหวาน          แกงจืด           ข้าวสวย          หัวหอม         รถด่วน

       กริยา + กริยา        

เช่น    พัดโพก       บุกเบิก            กันสาด           แก้ไข             ตีพิมพ์

       นาม + บุพบท       เช่น      คนกลาง        เบี้ยล่าง            บ้านนอก      คนนอก      ชั้นบน

       วิเศษณ์ + วิเศษณ์      เช่น   หวานเย็น         เปรี้ยวหวาน         เขียวหวาน

       ใช้คำภาษาต่างประเทศประสมกับคำไทย     

เช่น        โคถึก      ถึก    เป็นคำภาษาพม่า   แปลว่า  หนุ่ม   

                2.  พวกความหมายอุปมาอุปไมย

       คำประสมพวกนี้มักความหมายเป็น สำนวน  และมักนำคำอื่นมาประกอบด้วย 

เช่น

กอดจูบลูบคลำ         คู่ผัวตัวเมีย         จับมือถือแขน       เย็บปักถักร้อย         เป็นหูเป็นตา

 

                ชนิดของคำประสม

       Marry  Hass (1951) อ้างถึงใน ประสิทธิ์ ( 2516 )  ได้ศึกษาและแบ่งคำประสมในภาษาไทยออกเป็น 2  พวก  คือ 

       พวกแรก  เป็นคำประสมที่ถือเอาคำกริยาเป็นหลัก  คือคำประสมที่มีคำกริยาประสมอยู่ด้วย  และถือเอากริยาเป็นแกน  มีอยู่  3 แบบ  คือ

        1.  กริยา  +  นาม     เช่น    เข้าใจ    เป็นต้น

        2.   นาม  +   กริยา    เช่น    ใจดี    ,  ปากจัด   เป็นต้น

         3.   กริยา  +  กริยา   พวกนี้เป็นคำประสมที่ใวช้คำกริยาที่มีความหมายใกล้เคียงกันมา                                      ประสมกัน   เรียกว่า   co – ordinate  compounds  เช่น   หุงต้ม  ,  สวยงาม  ,ขนส่ง  เป็นต้น

       พวกที่สอง  เป็นคำประสมที่มีคำนามประสมอยู่ด้วยและถือเอาคำนามเป็นแกน  มีอยู่   3  แบบ  คือ

        1.   นาม  +  กริยา   เช่น   ของกิน  ,  น้ำแข็ง   เป็นต้น

         2.   นาม  +  นาม   มีนามคำหน้าเป็นคำหลัก  เช่น   รถไฟ  , ไฟฟ้า   ,  ขนตา   เป็นต้น

         3.   นาม  +  นาม   พวกนี้เป็นคำประสมที่ใช้คำนามที่มีความหมายใกล้เคียงกันมาประสม                             กัน   เรียกว่า co – ordinate  compounds   เช่น   พ่อแม่      ,   แขนขา  ,  เสื้อผ้า  เป็นต้น

 

       อุดม ( 2542 )   แบ่งชนิดของคำประสมออกเป็น  2   ประเภทหลักๆ  ได้แก่

       1.  นามประสม    ( นาม+นาม  ,  นาม+กริยา   ,  นาม+ สังขยา  )

       1.1.  นามประสมแบบขยาย     เช่น    ปลาเค็ม     มะขามเปียก    สิบแปดมงกุฎ

       1.2   นามประสมแบบแยก      เช่น     เสื้อฝน      ชิงช้าสวรรค์      โรงเรียน

       1.3   นามประสมแบบเชื่อม     เช่น    เสื้อเกราะ  ( เสื้อและเกราะ)   หัวก้อย ( หัวหรือก้อย)

       1.4   นามประสมแบบซ้อน      เช่น    เสื่อสาด    วัดวาอาราม   ผีสาง

       2.  กริยาประสม    ( กริยา + กริยา ,  กริยา +  นาม  )

       2.1   กริยาประสมแบบขยาย    เช่น    ทำแท้ง      มีดบาง

       2.2   กริยาประสมแบบแยก      เช่น   ตกใจ    ข้ามหัว     จับไข้

       2.3   กริยาประสมแบบเชื่อม    เช่น    ดูแล  ( ทั้งดูและแล)    เท็จจริง ( อาจจริงหรือไม่จริง)

       2.4   กริยาประสมแบบซ้อน     เช่น   ซื่อตรง    อ้วนพี     ยากจน

 

       ปรีชา (2522 )   แบ่งคำประสมออกเป็น  2  พวก  ได้แก่

       1.  คำประสมที่ถือเอาคำนามเป็นหลัก    โดยใช้คำนามเป็นคำต้น  และมีคำชนิดอื่นเป็นคำขยาย

                นาม  +  นาม        เช่น    โรงรถ      กล้วยแขก        คนงาน       สวนสัตว์

                นาม +  กริยา       เช่น     ยาถ่าย      ไข้ต้ม      รถเข็น       ข้าวตาก

                นาม +  วิเศษณ์     เช่น       น้ำหวาน     แกงจืด       เรือเร็ว       ปลาเค็ม

                นาม +  บุพบทหรือ สันธาน     เช่น     ชั้นบน      คนกลาง       ภาคใต้

       2.  คำประสมที่ถือเอาคำกริยาเป็นหลัก    โดยใช้คำกริยาเป็นคำต้น  และมีคำชนิดอื่นเป็นคำขยาย

                กริยา  +  กริยา       เช่น     รวบรวม      แก้ไข      ท่องเที่ยว

                กริยา  +   นาม      เช่น     ว่ายน้ำ      ร้องเพลง       เข้าใจ

                กริยา  +   วิเศษณ์     เช่น   ยิ้มหวาน    คุยโต    กระโดดสูง   

 

   >>> คำประสมเป็นวิธีการสร้างคำที่พบมากที่สุดในภาษาไทย แต่การสร้างคำยังไม่หมดเท่านี้  ติดตามต่อไปนะคะ

 

ยินดีแลกเปลี่ยนเรียนรู้และสร้างมิตรภาพค่ะ

หมายเลขบันทึก: 313342เขียนเมื่อ 14 พฤศจิกายน 2009 00:03 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 22:44 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

เข้ามาอ่านความรู้ดี ๆ อีกนะครับ

อ่านจบไม่ได้ดูเลยว่าใครเห็น แต่เห็นหน้ากัส เพ่งอีกที พี่เอ้นี่นาาาาา อิอิ

ความรู้ดีๆๆมีหมด เชิญมาอ่านได้นะครับ




พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท