เพิ่งกลับจากการจัดอบรมให้แก่เจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเพิ่มผลผลิต (Productivity Facilitator) ตามโครงการ การเพิ่มผลผลิตภาคอุตสาหกรรม จ.พระนครศรีอยุธยา ที่ศรีปทุมลองสเตย์ วันที่ 24-26 พ.ค.49 ช่วงที่อบรมนั้นในแต่ละวันมีกิจกรรมถึงประมาณ 21.00 น. ถือว่าเข้มข้นเลยทีเดียว เหตุที่กิจกรรมมีลักษณะเหมือนเข้าค่ายนั้น เพราะต้องการให้ผู้เข้าอบรมได้เรียนรู้การปรับตัวเมื่อต้องอยู่ร่วมกับผู้อื่นและรู้จักการทำงานเป็นทีม ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญสำหรับผู้ที่จะทำหน้าที่เป็น Facilitator หลายๆ คนไม่ได้รู้สึกว่าการปรับตัวหรือการทำงานเป็นทีมเป็นปัญหาสำหรับตน เพราะสามารถพูดคุยกับเพื่อนร่วมงานได้ทุกคน แต่ข้อมูลแค่ชื่อและตำแหน่งงานไม่ได้เพียงพอสำหรับการทำงานเป็นทีม แต่ละคนมีความชอบ ความคิดเห็น หรือมุมมองที่ไม่เหมือนกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่มีประสบการณ์มากและความมั่นใจสูง การที่จะทำให้ยอมรับความเห็นของผู้อื่นที่ไม่ตรงกับตนอย่างเต็มร้อยนั้น บางครั้งก็เป็นเรื่องยาก
พัฒนาการของทีมนั้นต้องเริ่มจาก "ขั้นก่อตัว (Forming)" การที่จะรวมความคิดเห็นที่แตกต่างกันเหล่านั้นให้เป็นกลุ่มก้อน มีการแลกเปลี่ยนความคิดกันอย่างเปิดเผย และกระตุ้นให้เกิดการมองในมุมต่างๆนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายเลยทีเดียว โดยเฉพาะขั้นนี้มักจะเลือกรวมแต่คนที่มีศักยภาพ ซึ่งจะพาเอาความมั่นใจสูงเข้ามาด้วยเช่นกัน ทีมจะมีประสิทธิภาพได้ต้องมีการสร้างบรรยากาศและกระบวนการเรียนรู้ในทีมด้วย การรู้รายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ของเพื่อนร่วมงาน จะทำให้เราสามารถสานความสัมพันธ์ให้เกิดขึ้นได้ เพื่อลดความขัดแย้งอย่างรุนแรงใน "ขั้นปะทะ (Storming)" หรือการระดมสมอง ต้องเข้าใจก่อนว่าความขัดแย้งเป็นของปกติในขั้นตอนนี้ แต่ต้องรู้จักจัดการกับความขัดแย้งอย่างเปิดเผยและให้เป็นไปในทางบวก ทำให้ต้องมีสื่อกลางที่เป็นนักจิตวิทยาในระดับหนึ่ง เพื่อลดความรุนแรง ซึ่งถือเป็นหน้าที่ของ Facilitator ที่ต้องมีความเป็นกลาง ไม่แสดงออกในลักษณะมีความเห็นเข้าข้างไปทางฝ่ายใด และต้องไม่ทำตัวโดดเด่นจนทำให้เป็นที่ไม่พอใจของสมาชิกด้วย ถึงจะสามารถไปยัง "ขั้นลงตัว (Norming)"ได้ ซึ่งจะเริ่มง่ายขึ้นมาอีกนิด แต่ต้องเพิ่มเติมกฎพื้นฐาน เช่น "เราจะไม่เปลี่ยนไปพิจารณาเรื่องอื่น หากไม่มีการพิจารณามุมมองในด้านตรงข้ามให้ถี่ถ้วนเสียก่อน" ทีมต้องพิจารณาว่าไม่ได้พึ่งพิงใครคนใดคนหนึ่งมากเกินไป และต้องใช้หมวกต่างสีในการคิด ( เรื่องเล่าจากหมวก 6 ใบ ) เพื่อให้ได้มาซึ่ง "ขั้นได้งาน(Performing)" มาถึงขั้นนี้บทบาทของ Facilitator จะเริ่มลดลง สมาชิกได้มีการทำงานร่วมกันเพื่อค้นหาความท้าทายและฝึกฝนทักษะใหม่ๆ จนกระทั่งฉลองความสำเร็จร่วมกัน ก่อนไปยัง "ขั้นก่อตัวใหม่ (Adjoining or Performing)" คือเริ่มกิจกรรมอื่นๆ ต่อไป โดยต้องขอความคิดเห็นจากสมาชิกถึงวิธีการที่จะรักษาระดับแรงจูงใจ รวมถึงเน้นย้ำพันธกิจและเป้าหมายของทีม เพียงเท่านี้การทำงานเป็นทีมก็จะสามารถประสบความสำเร็จได้อย่างงดงาม
เหมือนจะเข้าใจแต่ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยใช่ไหมคะ กิจกรรมคราวนี้แสดงให้เห็นได้อย่างชัดเจน การที่จะรวมคน 40 คนซึ่งมาจากต่างที่ ต่างหน่วยงาน ต่างธุรกิจ หลายระดับการศึกษา ให้สามารถระดมสมอง และแสดงความเห็นร่วมกันในกิจกรรมต่างๆได้ภายใน 3 วันนั้น ทำเอาหายใจไม่ทั่วท้องไปตามๆ กัน ทีมงานต้องระดมสมองกันอย่างหนักเพื่อให้ได้มาซึ่งกิจกรรมสานสัมพันธ์ ที่จะสามารถตรึงคนทั้งหมดไว้ได้ และต้องได้รับความรู้กลับไปใช้ประโยชน์ด้วย
การพัฒนาบุคคลากรเป็นสิ่งสำคัญที่จะผลักดันให้องค์กรไปสู่ความสำเร็จ แต่หลายๆ องค์กรต่างก็พบปัญหาเดียวกันคือ เมื่อจัดฝึกอบรมให้แก่บุคลากรแล้วไม่สามารถนำกลับไปประยุกต์ใช้ได้อย่างเต็มที่ เพราะเอาเข้าจริงการปฏิบัติกลับมีอุปสรรคเกิดขึ้นมากมาย โดยเฉพาะเรื่องคนที่เกิดปัญหากับทุกองค์กร การตระหนักถึงความสำคัญและตั้งใจจริงเท่านั้น จึงจะพาให้ผ่านพ้นอุปสรรคต่างๆ ไปได้ จากนี้ไปก็ขึ้นอยู่กับว่า Facilitator จะสามารถนำประสบการณ์ต่างๆ ที่ได้รับไปประยุกต์ใช้ได้ให้เกิดประโยชน์ได้มากน้อยแค่ไหน
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย Porjai ใน PorJai
คำสำคัญ (Tags)#facilitator
หมายเลขบันทึก: 31067, เขียน: 26 May 2006 @ 19:22 (), แก้ไข: 11 Feb 2012 @ 15:01 (), สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการ, ความเห็น: 3, อ่าน: คลิก
เริ่มสนุกแล้วใช่ไหมน้องพอใจ เก็บเกี่ยวประสบการณ์ เล่าขานออกมา มุ่งหน้าฟันฝ่า ความสำเร็จอยู่ไม่ไกล ถ้าเราทำอะไรด้วยใจสนุก แม้เหน็ดเหนื่อยเพียงใดก็หายเป็นปลิดทิ้ง