Green-2-Sea (1)


บทความนี้เขียนสำหรับคอลัมน์ Green-2-Sea ลงตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น "เมืองชุมพร" เนื้อหาจะเน้นหนักไปทางด้านข้อเสนอแนะและการแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการท่องเที่ยวในจังหวัดชุมพร

จ.กระบี่ เป็นท้องถิ่นที่ผมคุ้นเคยในระดับที่เรียกได้ว่าไปเยี่ยมมาแล้วทุกอำเภอ โดยเฉพาะอำเภอเมืองกระบี่เป็นพื้นที่ที่เคยเข้าไปทำงานในทุกตำบล ดังนั้น เมื่อพูดถึงเกาะพีพี, เกาะลันตา, เกาะศรีบอยา หรือแม้กระทั่งเกาะกลาง ชุมชนมุสลิมที่ไม่ใช่แหล่งท่องเที่ยวตามกระแสนิยม ก็ทำให้ผมสามารถหลับตาหวนรำลึกถึงทัศนียภาพในอดีตได้ไม่น้อย

ระยะหลัง 4-5 ปีมานี้ได้กลับไปเยือน จ.กระบี่ ไม่บ่อยครั้งนัก แต่ทุกครั้งที่ไปก็ได้เห็นความแปลกตาจากการเปลี่ยนแปลงไปสู่ทิศทางของเมืองท่องเที่ยวระดับภูมิภาคมากขึ้นเรื่อย ๆ สิ่งหนึ่งที่ขอชื่นชมในผลงานของชาวกระบี่ก็คือ การร่วมกันผลักดันจนสามารถเปิดพื้นที่สาธารณะริมน้ำ ตั้งแต่บริเวณริมเขื่อนท่าเทียบเรือเจ้าฟ้าหน้าตลาดต่อเนื่องไปเชื่อมต่อกับสวนสาธารณะธาราเป็นแนวยาวกว่า 2 กิโลเมตร ที่ร่มรื่นและสวยงาม จากเดิมที่ใช้ประโยชน์ในการเป็นที่พักผ่อนหย่อนใจและออกกำลังกายของชาวเมืองกระบี่ ปัจจุบันนี้ยกระดับเป็นท่าเทียบเรือท่องเที่ยวเอนกประสงค์ มีศูนย์บริการแลกเปลี่ยนเงินตราทำให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวมาใช้ประโยชน์เป็นจำนวนมาก เรียกได้ว่า เป็น หน้าตาของเมือง ได้อย่างเต็มภาคภูมิ

ย้อนกลับมามองที่ เมืองชุมพร บ้านของเรา ผมค่อนข้างเห็นด้วยกับคำกล่าวที่ว่า เราไม่มี หน้าเมือง จะยึดถือเอาบริเวณพื้นที่ 2 ฟากถนนปรมินทรมรรคา หน้าเทศบาลเมืองชุมพรซึ่งมี Landmark สำคัญคือ ศาลหลักเมือง เชื่อมต่อกับพื้นที่หน้าศาลากลางเก่าซึ่งบัดนี้เป็นที่ว่าการอำเภอเมือง พื้นที่หน้าศาลจังหวัดและองค์การบริหารส่วนจังหวัดชุมพร สถานที่ประดิษฐานพระรูปรัชกาลที่ 5 ว่าบริเวณนี้คือ หน้าเมือง ก็พูดได้แบบไม่ค่อยจะภูมิใจนัก เพราะองค์ประกอบของการจัดภูมิทัศน์และการใช้ประโยชน์พื้นที่ เต็มไปด้วยกิจกรรมที่เน้นหนักไปในแต่ละภารกิจของหน่วยงาน ไม่ใช่ หน้าเมือง ที่สวยงาม ร่มรื่น สะอาด พอที่จะใช้เป็นที่ต้อนรับแขกบ้านแขกเมืองได้

และที่น่าเสียดายสุด ๆ ก็คือ ในช่วง 50 – 60 ปีมานี้ บ้านเมืองของเราโดยเฉพาะบริเวณที่กล่าวถึงข้างต้นเติบโตแบบหันหลังให้กับริมฝั่งน้ำ คลองชุมพร หรือ แม่น้ำท่าตะเภา จึงถูกละเลยความสำคัญที่เป็นมาในอดีตไปเกือบหมดสิ้น เด็กรุ่นใหม่สมัยนี้แทบจะไม่มีความผูกพันกับแม่น้ำท่าตะเภา ยกเว้นวันลอยกระทงที่แห่กันมาใช้ประโยชน์จากแม่น้ำในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของพิธีกรรมความเชื่อ น้อยคนนักที่จะคิดได้ว่า หลังจากกระหน่ำกันลอยวัสดุต่าง ๆ ลงในแม่น้ำแล้ว เราต่างก็มีภารกิจที่จะต้องช่วยกันดูแลรักษาแม่น้ำของเราร่วมกัน

ผมครุ่นคิดอยู่เสมอว่าทำอย่างไรเราจึงจะนำทิวทัศน์ 2 ฝั่งแม่น้ำกลับมาเป็นสมบัติสาธารณะได้อย่างสอดคล้องไปตามยุคสมัย แม้จะต้องทั้งผลักทั้งดันกันจนกว่าจะสำเร็จก็คงจะต้องลองดู เพราะหลาย ๆ จังหวัดก็ทำสำเร็จมาแล้วไม่ว่าจะเป็น จ.กระบี่ ที่กล่าวถึงในตอนต้น หรือ จ.สุราษฎร์ธานี พื้นที่ริมฝั่งแม่น้ำตาปีสร้างคุณภาพชีวิตให้กับชาวบ้านดอนเป็นอย่างมาก หรือจะไปไกลจึง จ.พิษณุโลก ดินแดนที่คุ้นเคยของท่านผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพรคนปัจจุบัน นายพินัย อนันตพงศ์ สวนริมน่าน คือความภาคภูมิใจร่วมกันของชาวเมืองพิษณุโลก

เรื่องหนึ่งที่คิดได้ ขอนำเสนอเป็นจินตนาการให้สังคมเมืองชุมพรได้ช่วยกันนำไปวิเคราะห์ต่อถึงความเป็นไปได้ก็คือ เราจะต้องหาทางให้บ้านเรือนที่อยู่ริมน้ำ เปลี่ยนหลังบ้านกลับมาเป็นหน้าบ้าน โดยการสร้างทางสัญจรเลียบริมฝั่งน้ำ เป็นทางเดินเท้าที่ไม่ใช่แค่ Foot-Path แต่ต้องเป็น Nature Walk-Trail ที่สวยงาม รูปแบบคงหนีไม่พ้นที่จะใช้คอนกรีตเป็นโครงสร้างหลักปักเสาลงไปริมตลิ่ง แต่จะต้องจัดการตกแต่งให้สวยงามด้วยการปูพื้นทางเดินด้วยหินหรือกระเบื้องที่ไม่ลื่น, มีราวจับสำหรับผู้พิการ-ผู้สูงอายุมาเดินออกกำลังกายในช่วงเช้า-เย็น, มีที่นั่งพักผ่อนทุก ๆ 10 เมตร, ติดโคมไฟประดับสวยงามเข้ากับธรรมชาติริมฝั่งน้ำ, มีเจ้าหน้าที่ตรวจตราดูแลความปลอดภัยอย่างสม่ำเสมอ โดยจะต้องควบคุมไม่ให้สถานที่ถูกใช้ไปในการมั่วสุม, ไม่ให้นำยานพาหนะใด ๆ โดยเฉพาะรถจักรยานยนต์ขึ้นมาขับขี่ ยกเว้นก็แต่รถเข็นนำผู้พิการ-ผู้สูงอายุ มาพักผ่อนหย่อนใจ

หัวใจสำคัญของทางเดินริมน้ำนี้อยู่ที่ จุดเริ่มต้น (Start) และ จุดสิ้นสุด (Finish) ของเส้นทาง ต้องออกแบบให้ประณีตและสร้างบรรยากาศให้เป็นสัญลักษณ์ของทางเดินท่องเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจอย่างแท้จริง จะอลังการงานสร้างขนาดไหนอยู่ที่ การเล่าเรื่อง (Story-Telling) ที่เราจะใส่ลงไปเป็น เนื้อหา (Content) ประกอบการออกแบบ ตัวอย่างเช่น จุดเริ่มต้นอยู่บริเวณสะพานรถไฟ เนื้อหาก็จะต้องเกี่ยวกับประวัติศาสตร์การสร้างสะพานรถไฟ และยุทธศาสตร์การทิ้งระเบิดทำลายสมัยสงครามมหาเอเชียบูรพา เมื่อเส้นทางเดินผ่านท่าญี่ปุ่น, ทางเชื่อมในซอยถนนราชวิถีใน, ซอยข้างโรงหนังเฉลิมพร จนกระทั่งไปสิ้นสุดที่ท่าเรือยนต์ หน้าตลาด สถานที่เหล่านี้ล้วนมีตำนานเรื่องราวของท้องถิ่นสอดแทรกอยู่มาก สามารถหยิบยกขึ้นมากล่าวขานเป็นการสร้างคุณค่าเพิ่ม (Value Creation) ให้นักเดินทางท่องเที่ยวโดยเฉพาะชาวต่างชาติได้เรียนรู้และระลึกถึงได้มากมายหลายเรื่อง

มาถึงตรงนี้หลายท่านคงจะเห็นประเด็นปัญหาและคัดค้านออกมาว่า สร้างไปทำไม? ทางเดินผ่านหลังบ้านริมน้ำ เดี๋ยวก็จะไปเห็นภาพที่ไม่สวยงามจากการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น ชาวบ้านนุ่งผ้าถุง-ผ้าขาวม้าอาบน้ำ, ซักผ้า, ล้างจานชามแล้วเทลงในแม่น้ำ หรือแม้กระทั่งส้วมริมน้ำที่อาจจะยังมีหลงเหลืออยู่ เป็น ทัศนะอุจาด (Visual Pollution) ที่ไม่น่าดู

ผมกลับคิดตรงกันข้ามว่า บ้านริมน้ำเหล่านี้ส่วนใหญ่ก็คืออาคารร้านค้าที่หันหน้าเข้าหาถนน มีมาตรฐานในการดำรงชีวิตระดับหนึ่ง ถ้าจะมีวิถีชีวิตอย่างที่กล่าวมาอยู่บ้างก็เป็นเรื่องของ The Way of Life ที่น่าดูในสายตานักท่องเที่ยวต่างชาติ ดูไม่ดูเปล่าถ้าได้เห็นชาวบ้านอาบน้ำริมคลอง คงจะได้ถ่ายวิดีโอกันไปเป็นที่ตื่นตาตื่นใจ และเมื่อผ่านไประยะหนึ่งผมเชื่อว่า หลังบ้านจะหันกลับมาเป็นหน้าบ้าน ขออนุญาตเชื่อมทางสร้างกิจกรรมออกมาร่วมใช้ประโยชน์จากทางเดินริมน้ำกันเป็นที่สนุกสนาน บางส่วนก็จะเปิดเป็นร้านกาแฟ, ร้านจำหน่ายอาหาร-เครื่องดื่ม, ร้านขายของที่ระลึก, ร้านให้บริการนวดฝ่าเท้า, ร้านขายงานศิลปะ-รับวาดภาพ ฯลฯ

ถ้าไม่แน่ใจในประเด็นความร่วมมือของบ้านริมน้ำ ก็เปิดเวทีคุยกัน แลกเปลี่ยนเรียนรู้ สอบถามความคิดเห็นกันให้ชัด ๆ ไปเลย ผมว่าเราจะได้ทัศนะที่หลากหลายนำมาใช้ถอดบทเรียนเอาสิ่งที่เป็นประโยชน์มาพัฒนาให้ออกมาเป็นชิ้นงาน และหาทางป้องกันในสิ่งที่คาดว่าจะเป็นปัญหา ทุกปัญหาพัฒนาเป็นโอกาสได้เสมอ ผมเชื่ออย่างนั้นครับ

ในที่สุดเราก็จะได้สมบัติของสาธารณะที่เป็นทิวทัศน์ 2 ฝั่งแม่น้ำกลับคืนมา ก่อนที่จะค่อย ๆ ขยายตัวต่อไปยัง หน้าเมือง ดังที่กล่าวไว้ข้างต้น.

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 30747เขียนเมื่อ 24 พฤษภาคม 2006 16:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 15:00 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท