ลูกศิษย์หรือลูกจ้าง


ในองค์กรธุรกิจนั้นการจ้างงานต้องเกิดขึ้นโดยนำผลกำไรเป็นตัวตั้ง

หมายความว่าองค์กรต้องว่าจ้างคนมาทำงานโดยคนนั้นต้องทำงานสร้างรายได้ให้แก่องค์กรมากกว่าค่าตอบแทนที่องค์กรจ่ายให้แก่คนนั้นเสมอ

เป็นกฎข้อแรกของการทำธุรกิจ เพราะมิฉะนั้นองค์กรจะขาดทุนตั้งแต่ต้นมือ

นี่คือสาเหตุที่คนโดยส่วนใหญ่เมื่อเริ่มต้นอายุสามสิบกว่าๆ จะเริ่มอยากเป็นเจ้าของกิจการของตัวเอง เพราะแรงที่ลงไป 100% นั้นไปสร้างรายได้ 110% ให้แก่เจ้าของกิจการ

อายุที่มากขึ้นทำให้เขาเรียนรู้ว่า "โลก" เป็นอย่างไร และเขาย่อมอยากได้ 110% นั้นเป็นของตัวเอง

การถ่ายทอดความรู้ในองค์กรคือการปรับทรัพยากรบุคคลให้สามารถทำงานได้ 100% ตามที่องค์กรต้องการเพื่อไปสร้างรายได้โดยตรง 110% นั้นต่อไป

สิ่งเหล่านี้จะต่างกับสถานศึกษา เพราะกำไรของสถานศึกษาคือการสร้างคน

อันนี้ผมหมายถึงสถานศึกษาดีๆ นะครับ

ดังนั้นสถานศึกษาจะสร้างคนให้ศักยภาพของเขาได้เต็ม 100%

เรื่องนี้ไม่มีปัญหา เป็นเรื่องปกติของ "งาน" ที่แตกต่างกันขององค์กรที่แตกต่างกัน

แต่เมื่อสถานศึกษาต้องการใช้คนล่ะ?

เรากลับเสียเปรียบองค์กรธุรกิจอยู่อย่างแน่ๆ แล้ว 10%

แต่ที่จริงแล้วเราขาดทุนกว่านั้น เพราะเราสร้างคน 100% เพื่อได้ผลตอบแทนทางทรัพยากรบุคคลตั้งแต่ 0% ถึง 100%

ส่วนจะศูนย์หรือจะร้อยขึ้นอยู่กับตัวบุคคล สถานศึกษาโดยเฉพาะในระดับมหาวิทยาลัยมีโอกาสสอนคุณธรรมได้น้อยกว่าสถานศึกษาระดับต่ำกว่านี้

และ "คุณธรรม" นี่เองจะเป็นตัวบอกว่าเขาจะตอบแทนสถานศึกษานั้นในราคาเท่าไหร่ จะเป็น 0% หรือ 100% หรืออื่นๆ

นี่คือต้นตอของสาเหตุที่สถานศึกษายังขาดคนทำงาน แม้เราเองจะเป็นหน่วยงานสร้างคนทำงาน

มหาวิทยาลัยทุกแห่งขาดโปรแกรมเมอร์ ทั้งๆ ที่สถานศึกษาเป็นองค์กรสร้างโปรแกรมเมอร์ในหลักสูตรต่างๆ มากมาย

อันนี้หมายถึงมหาวิทยาลัยไทย เพราะในหลายๆ ประเทศ การได้เป็นโปรแกรมเมอร์ในมหาวิทยาลัยคือความฝันอันสูงสุดของวิชาชีพนี้เพราะหมายถึงอิสรภาพในการสร้างสรรค์อย่างเต็มที่ที่หาที่ไหนไม่ได้ นี่คือสาเหตุที่ซอฟต์แวร์ open source เกือบทั้งหมดเกิดขึ้นในมหาวิทยาลัย

แต่ในประเทศไทยนักศึกษาเขาไม่อยู่กับเราเพราะค่าตอบแทนต่ำ และ "ความก้าวหน้าในวิชาชีพ" ไม่อยู่ในลักษณะที่เป็นที่นิยมของสังคม

อย่างมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์เราต้องการโปรแกรมเมอร์ในส่วนงานต่างๆ ของมหาวิทยาลัยจำนวนมาก โปรแกรมเมอร์ในที่นี้หมายถึงคนที่รักและชอบในวิชาชีพนี้จริง พร้อมจะอุทิศเวลาและกำลังการทำงานเหมือนกับที่อุทิศให้กับเอกชน 100% ไม่ได้มองเราเป็นเพียงทางผ่าน

ความขาดแคลนนำมาซึ่งเรื่องตลก เพราะต่างฝ่ายต่างก็ถามกันไปกันมา ผมถามอาจารย์คนอื่น อาจารย์คนอื่นถามผม เริ่มมีลักษณะถามกันวนเป็น infinite loop

ใน mailbox ของผมตอนนี้มีอีเมลที่เกี่ยวข้องกับการหาโปรแกรมเมอร์ของมหาวิทยาลัยอยู่ประมาณ 3-4 ฉบับ และ mailbox ผมไม่เคยขาดแคลนอีเมลในลักษณะนี้

เวลาอาจารย์ในสายวิชาชีพนี้จับเข่าคุยกัน เราจะจบด้วยประโยคเด็ด

น่าเศร้าที่เราเห็นเขาเป็น "ลูกศิษย์" แต่เขาเห็นตัวเองเป็น "ลูกจ้าง"

เรา "apprentice" เขา "negotiate"

อย่าภาคภูมิใจในฝีมือตัวเอง หากคุณยังไม่ได้กลับไปตอบแทนสถานศึกษาของคุณ!!

หมายเลขบันทึก: 307087เขียนเมื่อ 20 ตุลาคม 2009 09:34 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:42 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (14)

ขอบคุณครับที่มีเรื่องราวคม ๆ ให้อ่าน และได้คิดต่อ

งานเขียนอาจารย์มีพลังครับ ผมรู้สึกได้

สวัสดีค่ะอาจารย์

  • เรียกว่า...มองคนละมุมนะคะ *^_^*
  • น้องคิดว่า...ไม่ว่าจะลูกศิษย์หรือลูกจ้าง  ถ้ารู้จักตอบแทนสถานศึกษา ก็ถือว่าดีมากค่ะ

สำหรับเกต ความศรัทธาเป็นสิ่งสำคัญมาก

ถ้าเราศรัทธาในงาน เราศรัทธาหน่วยงานหรือองค์กรที่เราทำงานด้วย ทุกอย่างไม่สามารถนิยามได้ว่า งาน เงิน ชีวิต จะต่างกันอย่างไร เพราะมันคือสิ่งเดียวกัน

 

วันนี้เกตศรัทธาที่จะทำงานกับอาจารย์ เพราะอาจารย์สร้างความศรัทธาให้เกิดขึ้น แสดงให้เห็นถึงความตั้งใจ และความทุ่มเท แต่บริบท (ขอยืมคำมะปรางมาใช้) ของแต่ละคนนั้นแตกต่างกัน พื้นฐานครอบครัว การศึกษา ประสบการณ์ส่งผลต่อทัศนคติ ดังนั้น สิ่งสำคัญทำอย่างไรจึงจะสมดุล จึงเป็นเรื่องที่น่าจะยากที่สุด แต่ถ้าทำได้ ความสุขก็บังเกิด

 

เรื่องบริหารงานมนุษย์นั้น ยากแท้หยั่งถึงจริง ๆ ค่ะอาจารย์ :-)

เมื่อวานเห็นด้วยกับที่อาจารย์พูดเรื่องสิ่งที่เราฝันกับสิ่งที่เราเป็นในปัจจุบัน

ชีิวิตกุ้งมีหลายเรื่องมากมายที่ความฝันกับความเป็นจริงไม่ตรงกัน (หลายเรื่องจริงๆ)

แต่ในสิ่งที่เราเป็นนั้นมันจะมีข้อดีของมันอยู่ทุกครั้งไป แม้บางเรื่องมันจะไม่ตรงกับความฝันเราเลยสักนิดก็ตาม

แม่สอนเสมอว่าทำวันนี้ให้ดี แล้วทุกอย่างมันจะดีเอง

สู้ๆ กุ้งเต้น อิอิ ^_^

  • ลูกศิษย์ กะ ลูกจ้าง แล้วมันต่างกันตรงไหน ครับ ในมุมมองที่อาจารย์ถ่ายทอดมา แทบจะไม่ต่างกันเลยในเรื่องภาระหน้าที่ และผลงาน แต่ต่างกันอย่างมากในเรื่องมุมมอง มุมมองของอาจารย์ที่พร้อมจะให้ในแง่ของวิชาความรู้ และเรียกร้องให้ศิษย์ รู้จักเพียงพอในเรื่องผลประโยชน์ที่ควรได้รับจากการทำงาน ในขณะที่มุมมองของศิษย์ (บางคน) ที่อาจมองในเรื่องของผลประโยชน์ที่ตนเองควรได้รับ ในเมื่อเพื่อนๆ ที่จบออกไป ดันได้มากกว่า แบบไม่อยากเอ่ยถึง แล้วจะมีประโยชน์อะไรที่ต้องทนทำ ให้เพื่อนมันแดกดันเล่น ว่า ไร้สมอง แม้จะมีปัญญาทำงานแต่อับจนหนทางสร้างความก้าวหน้าให้ตนเองและครอบครัว ได้กินอุดมการณ์ต่างข้าวกับน้ำปลาไปตลอดชีวิต
  • มันผิดด้วยเหรอที่เด็กรุ่นใหม่ จะเรียกร้องในผลประโยชน์ที่เขาคิดว่าเขาควรจะได้ เพราะเมื่อเขาก็ใช้แรงงาน ทำมาหาเลี้ยงตนเอง เช่นเดียวกับคนอื่นเหมือนกัน
  • ผมว่า มันดูแปลกๆนะ ที่องค์กรของรัฐ ที่ตั้งขึ้นมา แล้วบอกว่า คุณต้องตั้งใจทำงานนะ แต่ค่าจ้าง ผมให้คุณได้แค่นี้ เพราะว่านี่เป็นองค์กรของรัฐ มันแปลกตั้งแต่การมีข้อแม้แล้วล่ะ ว่าองค์กรนี้ ไม่แข่งขันทางธุรกิจกับชาวบ้าน แต่เรียกร้องให้คนในองค์กรอุทิศตัวเอง และพยายามทำงาน ให้เท่าเทียมกับธุรกิจเอกชน โดยบอกว่า เอกชนเขาก็ทำกันอย่างนี้ ผมเชื่อว่า องค์กรของรัฐ ไม่ใช่เอกชนที่แสวงหากำไร องค์กรของรัฐมีอะไรอีกตั้งหลายอย่างที่ไม่เหมือนการทำธุรกิจ องค์กรของรัฐมีการตอบสนองคืนหลายอย่างในรูปที่ไม่ใช่ตัวเงิน หากคุณจะคิดถึงตัวเงินเป็นหลัก นั่นเป็นธุรกิจ คุณควรจะออกไปอยู่ในแวดวงธุรกิจไม่ใช่องค์กรของรัฐ แต่ถ้าคุณคิดว่าคุณพอใจในสิ่งที่รัฐตอบแทน ซึ่งส่วนใหญ่คงไม่ใช่ในรูปของตัวเงิน นั่นหมายความว่า คุณเป็นคนหนึ่งที่มีคุณค่าต่อองค์กรของรัฐ (ไม่ใช่ว่าอยู่แบบว่า ไม่มีที่ไปที่อื่นนะ) และรัฐควรจะเก็บรักษาผู้ที่มีมุมมองที่ดีเช่นนี้ไว้ (ซึ่งปกติแล้ว มักจะทนอยู่ได้ไม่นาน)
  • ผมไม่ได้ขัดแย้งในมุมมองกับอาจารย์นะครับ
  • เพียงแต่ ผมคิดว่า ในสถาบันการศึกษา นอกจากเราต้องถ่ายทอดวิชา ให้เด็กๆแล้ว เราต้องถ่ายทอดมุมมอง ถ่ายทอดจริยธรรม และความเป็นคนที่สมบูรณ์ให้กับเด็กด้วย ซึ่งประการหลังๆ ผมไม่ค่อยอยากตั้งความหวังอะไรไว้มากนัก เพราะไม่ว่า KPI ตัวไหน ก็แทบจะวัดกันเพียงแค่ปริมาณ แต่ทิ้งด้านคุณภาพของเนื้อหาไว้ด้านหลัง
  • ในอดีต เมื่อยังไม่มีโรงเรียนสอนเป็นเรื่องเป็นราว ครูเป็นคนเลือกศิษย์ครับ ใครอยากเรียนอะไร ก็มาอยู่กับครู ทำงานต่างค่าแรง ช่วยเหลือครูในทุกเรื่อง แล้วครูก็จะพิจารณาว่าศิษย์คนไหน เป็นอย่างไร สมควรถ่ายทอดอะไรให้รู้ แค่ไหน อย่างไร  ซึ่งต่างฝ่ายต่างก็ได้เลือกครับ เด็กเลือกเรียนในสิ่งที่ตัวเองอยากเรียน ครูได้เลือกศิษย์ที่ใฝ่รู้ และมีคุณสมบัติที่เหมาะสมที่สมควรได้เรียน
  • แต่ปัจจุบัน เมื่อการศึกษาเป็นพาณิชย์มากขึ้น แม้จะบอกว่าเป็นข้อบังคับเบื้องต้นของคนในชาติที่จะต้องรู้ก็ตาม เด็กไม่มีโอกาสได้เลือกมากนัก เพราะต้องเรียนในสิ่งที่ตลาดแรงงานสนใจและต้องการมากกว่าที่จะเรียนในสิ่งที่ตัวเองอยากรู้จริงๆ ครูก็ไม่มีโอกาสได้เลือกเด็ก หากเด็กมีปัญญาสอบเข้ามาเรียนได้ ครูก็ต้องมีปัญญาสอนให้มันจบออกไปให้ได้เหมือนกัน
  • ก็แปะเอี่ยครับ ทั้งครู ทั้งศิษย์เมื่อชีวิตเลือกได้ไม่มากนัก จะทำยังไง
  • ผมคิดว่า สิ่งที่ครูควรทำ คือการพยายามถ่ายทอดความรู้ และความเป็นคน ให้มากที่สุด อย่างน้อย ก็ปลูกฝังให้เด็กได้รับรู้ว่า ชีวิตเขา ควรจะมีการทำงานที่เป็นการอุทิศ และเสียสละให้กับผู้อื่นบ้าง ไม่ว่าจะด้านใดก็ตาม ไม่ว่าจะมีคนเห็นหรือไม่ก็ตาม สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่สิ่งสูญเปล่า แม้ไม่ได้มาในรูปของตัวเงิน แต่มันไม่เคยสูญเปล่าจริงๆ หากมองในด้านของจิตใจ และที่สำคัญ สิ่งที่เขาทำทุกอย่าง ชาติได้เสมอ แต่สิ่งที่เขาเลือกที่จะไม่ทำต่างหาก ที่ชาติสูญเสีย อย่างน้อยก็สูญเสียโอกาสที่สมควรจะได้ครับ

ประเด็นพี่ไมโตฯ สำคัญมากครับ บันทึกนี้ผมเขียนจากมุมมองด้านเดียวคือของสถานศึกษา แต่ไม่ได้มองในมุมของนักศึกษาด้วยครับ

  • มาถามอาจารย์ว่า
  • มะระและพริกอาจารย์ขึ้นหรือยังครับ
  • เอาต้นแม่พันธุ์มาให้ดูก่อนครับ
  • http://gotoknow.org/blog/yahoo/308673

ในฐานะครู ก็คงต้องพยายามอบรมสั่งสอนให้ลูกศิษย์มีคุณธรรมจริยธรรม มีจิตสำนึกต่อส่วนรวม

และไม่เป็นพวกวัตถุนิยม เห็นเงินเป็นพระเจ้า

แต่ผมก็ไ่ม่ปฏิเสธนะครับว่า เงินเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยให้ผมใช้ชีวิตอย่างสุขสบาย แต่เงินก็ไม่ใช่คำตอบทั้งหมด

ความสุขหรือความมีทุกข์น้อยที่สุด การที่ได้ทำงานที่เรารัก แ้ม้บางครั้งจะเป็นงานที่คนอื่นอาจจะมองว่าเป็นงานไม่มีเกียรติ์

ไม่สมกับความรู้ที่ร่ำเรียนมา แต่หากเรามีศรัทธาในงานที่ทำ เราก็จะมีความสุข หรือหากว่ามีปัญหา เราก็จะมีกำลังใจในการแก้ปัญหา

และแก้ปัญหาได้ในที่สุัด

----------

ถ้าหากเงินไม่เป็นเครื่องอำนวยความสะดวกให้คุณ

คุณก็ตกเป็นเครื่องมือของเงิน

คนมีเงินไม่รู้จักใช้ก็อาจกล่าวได้ว่าเป็นทาสเงิน

คุณต้องทำงานหนัก โดยไม่ได้พักก็เพราะ เงิน

เงินไม่เคยให้ใครหยุดพัก จนกว่าผู้นั้นจะรู้จัก “ พอ ”

คนส่วนมากแสวงหาสิ่งที่ต้องการ

แต่มีน้อยคนนักที่ได้ชื่นชมกับสิ่งที่หาได้

เพราะคนส่วนใหญ่เอาแต่หาไม่รู้จักพอ

จึงไม่เหลือเวลาที่จะชื่นชมสรรพสิ่งในโลกและสิ่งที่หาได้

ขอบคุณคุณภูสำหรับความคิดเห็นครับ ประเด็น "เงินหรืองาน" นี้ละเอียดอ่อนจริงๆ ครับ

แวะมาหาข้อคิดขอรับอาจารย์..

สวัสดีค่ะ อ ธวัชชัย

ลูกศิษย์บางคนเค้าอาจจะไม่ได้มองว่าเค้าเป็นลูกจ้าง เค้าอาจจะมองว่าเค้าเป็นลูกคนหนึ่งของเรา ต้อมมีลูกศิษย์ที่บอกว่า เค้ามองว่า ต้อมเป็นแม่คนที่สามของเค้า จริงๆ การที่ลูกศิษย์เค้าจะมองเค้าอย่างไรนะ เราคงจะแก้หรือบังคับไม่ได้ สิ่งที่เราสามารถกำหนดได้คือ เรามองนักศึกษาว่าเป็นลูกศิษย์ หรือเป็นแค่คนที่มาเรียนกับเราแล้วเราก็แค่ถ่ายทอดความรู้ให้เค้าตามที่สถานศึกษากำหนดมาให้เราสอนวิชาอะไร

ถ้าครูอาจารย์ในเมืองไทยมากกว่า 80% มองว่าขาดทุนคือกำไร ไม่ได้กั๊กความรู้เพื่อไปสอนพิเศษเหมือนครูบางคน หรือไม่ได้เห็นงานสอนเป็นงานรอง งานหาเงินวิจัยหรือบริการวิชาการเป็นงานหลัก การศึกษาไทยคงก้าวหน้าไปมากกว่านี้

การมองนักศึกษาว่าเป็นลูกศิษย์นั้นดูเหมือนพูดง่าย แต่ทำไม่ง่าย หนึ่ง เราต้องมีความเมตตาปรารถนาดีต่อเค้าเสมอ ไม่ว่าเค้าจะมีพฤติกรรมอย่างไร หรือมีการพูดจาไม่เคารพเราลับหลังอย่างไร สอง เราต้องถ่ายทอดความรู้ให้เค้าอย่างสุดความสามารถ ให้เค้าได้ฝึกปฏิบัติ ถึงแม้เราจะต้องใช้เวลานอกราชการหลายชั่วโมงเพื่อทำเช่นนั้น สาม เราต้องพยายามคิดว่าจะสอดแทรกคุณธรรมให้เค้าเห็นโดยที่เราไม่ได้แค่พูดเท่านั้นได้อย่างไร ซึ่งนั้นหมายความว่า เราต้องฝึกตนให้เป็นตัวอย่างได้ ไม่ง่ายเลย แต่ก็จะพยายามทำต่อไป เมื่อได้นึกถึงพระราชดำรัสของในหลวงเมื่อไหร่ ก็มีกำลังใจเพิ่มขึ้น พระราชดำรัสนั้นคือ "ทำงานกับฉัน ฉันไม่มีอะไรจะให้ นอกจากการมีความสุขร่วมกัน ในการทำประโยชน์ให้กับผู้อื่น" ขอพระองค์ทรงพระเจริญ

ทุกวันนี้ "เงิน" กลายเป็นเหตุผลของการกระทำหลายๆอย่าง จนเราลืมไปว่า เราเองที่สร้าง "เงิน" ขึ้นมา

ในเมื่อในเป็นสิ่งที่ เรา สร้างขึ้น แล้วทำไม ปล่อยให้มันมาครอบงำ เรา

อย่าใช้ "เงิน" เป็นเหตุผลในการทำ "ไม่ดี" ค่ะ

ชอบมากๆเลยค่ะ

ขอบคุณนะค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท