ถ้าเอาชนะเขาไม่ได้ ก็คบเขาเป็นเพื่อนดีกว่า


ขอเพียงมองเขาเป็นเพื่อน ใช้เขาให้ถูกงาน แล้วเขาก็จะอยู่กับเราแบบ “เพื่อน” หรือจากไปแบบเพื่อนที่หมดหน้าที่

สำนวนฝรั่งนี้เป็นวิธีการที่น่าสนใจในการสร้างมิตรในระบบสังคม ที่คนส่วนใหญ่ไม่ค่อยสนใจนำมาใช้

อาจเป็นเพราะทำใจไม่ได้ หรือ ไม่ชอบ หรือความรู้ไม่พอ จึงทำแบบนั้นไม่ได้

เมื่อสองสามปีก่อน ครูบาคำเดื่อง ภาษี ปราชญ์แห่งจังหวัดบุรีรัมย์ ได้เล่าให้ผมฟังว่า ทางราชธานีอโศกได้เคยร้องขอให้ไปช่วยหาวิธีปราบหญ้าคา ที่พ่อคำเดื่องได้ใช้เทคนิค “การเป็นเพื่อน”ดังกล่าว

โดยการแนะนำให้นำหญ้าคามาทำหลังคาที่พัก และอาคารต่างๆ ที่ถือว่าได้ประโยชน์มากจนพบว่า หญ้าคาไม่พอใช้

ต่อมาไม่นานกลับมีคำขอมาว่า ช่วยหาวิธีดูแลหญ้าคาให้โตเร็วๆ และยาวๆ หน่อย เพราะไม่ค่อยทันใช้งาน

นี่ก็เป็นอีกวิธีหนึ่งของการทำตัวเป็นเพื่อน หรือนำเขามาเป็นเพื่อนจนปัญหาดังกล่าวหมดไป

ประเด็นเกี่ยวกับวัชพืชนี้ เกษตรกรส่วนใหญ่ไม่เข้าใจระบบนิเวศ และการเจริญของพืชที่มีความทนทานต่อสภาพแวดล้อม ที่ขอรับอาสามาแก้ไขปัญหาของความเสื่อมโทรมของดิน และสิ่งแวดล้อม

แต่เกษตรกรทั่วไปกลับมองว่าพืชเหล่านั้นเป็นปัญหา พยายามกำจัด ทั้งไถ ทั้งฉีดยาสารพิษสารพัดชนิด จนพ่อค้าขายสารพิษร่ำรวยไปตามๆกัน แต่ไม่เคยมีใครทำสำเร็จได้นาน อีกสักพัก พืชเหล่านั้นก็จะกลับมาอีก

เพราะในสภาพที่เสื่อมโทรมนั้น มีแต่พืชเหล่านั้นเท่านั้นที่ขึ้นได้ดี แต่เรากลับเรียกเขาว่า “วัชพืช” พืชที่เราไม่ต้องการ

แต่ถ้าเรากลับมามองว่าเราต้องการเมื่อไหร่ ปัญหาต่างๆเหล่านั้นแทบจะหมดทันที

เช่น ผมใช้หญ้าหวายเป็นพืชยึดคันนา รักษาคันดิน ที่ใช้ได้ดีมาก แต่เมื่อผมพยายามปรับปรุงดินให้ดีขึ้นเรื่อยๆ ปรากฏว่าหญ้าหวายเริ่มถดถอย ปล่อยให้หญ้าขน สาปเสือ กระเพราป่า เข้ามาแทนที่

แต่เมื่อต้นไม้เริ่มโตเป็นร่ม รากยึดคันดินได้บ้างแล้ว พืชที่อาสาทำงานในรุ่นที่สองก็เริ่มถดถอย ปล่อยให้พืชทนร่มบางชนิดขึ้นได้บ้าง

ทำให้ “หญ้า” ถูกไล่ที่ และมีพืชอื่นทำหน้าที่แทน

ที่ผมเชื่อว่า ถ้ากลับมาทำลาย โดยการตัดตันไม้ออก วงจรการเจริญของพืชจะย้อนศรกลับมาเช่นเดิม

เช่นในช่วงแรกๆที่ดินยังดีหน่อยก็น่าจะมีพืชใบกว้างขึ้นคลุมแทน และถ้าเราตัดพืชใบกว้างออกจนดินเสื่อมโทรมลง หญ้าขนน่าจะกลับมาครองพื้นที่ และถ้าตัดหญ้าขนจนดินเสื่อมโทรม หญ้าหวายก็อาจจะกลับมาทำหน้าที่อีกครั้งหนึ่ง อย่างเป็น “ธรรมชาติ”

จากการไปดูการพัฒนาการปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ที่มหาสารคามเมื่อวาน ผมได้พบเหตุการณ์คล้ายคลึงกันในแปลงหญ้า ที่มีพืชใบกว้างตระกูลสาปเสือ แต่เป็นต้นเล็กๆ ออกดอกมาก ติดเมล็ดมาก ขึ้นเต็มไปหมดในบริเวณที่เสื่อมโทรม

เกษตรกรได้พยายามปราบทุกวิธีทาง แต่ก็ยังไม่สำเร็จ ที่ทำให้ผมได้แนวคิดว่าน่าจะทำตัวเป็นเพื่อนกับเขา แล้วลองดูซิว่าเขาจะช่วยอะไรเราได้บ้าง

ลองบำรุงดินช่วยให้เขาโตดีๆมากๆ (จนอาจลืมออกดอก) แล้วใช้เขาเป็นพืชคลุมดิน หรือ อย่าให้เขาได้ทันออกดอก ชิงจังหวะไถกลบเป็นปุ๋ยพืชสดไปเลย จะเป็นอย่างไร

ผมเชื่อว่าเขาจะเป็นเพื่อนที่ดีของเราได้ทันที

เมื่อดินดีแล้ว พืชต่างๆขึ้นได้เร็ว ที่น่าจะทำให้เขาสู้ไม่ได้ แล้วก็หมดหน้าที่ไปโดยปริยาย

นี่คือแนวคิดที่น่าจะง่ายกว่ามองเขาเป็นศัตรู

กับหญ้าหวายนั้น ผมทำตัวเป็นเพื่อนกับเขาจนสำเร็จ และทำให้เขาหมดหน้าที่ มีผู้ทำงานแทนแล้ว กับพืชใบกว้างแบบสาปอะไรไม่รู้นี่ผมว่าน่าจะเล็กกว่ามากๆ

ขอเพียงมองเขาเป็นเพื่อน ใช้เขาให้ถูกงาน แล้วเขาก็จะอยู่กับเราแบบ “เพื่อน” หรือจากไปแบบเพื่อนที่หมดหน้าที่

นี่คือแนวทางการลดปัญหา “วัชพืช” ที่น่าจะได้ผลทั้งในระยะสั้น และระยะยาว

ทั้งในเชิงการเกษตร ระบบนิเวศ และสิ่งแวดล้อมครับ

ผมกะว่าจะลองยืมที่ชาวบ้านลองทำดูสักไร่สองไร่ ที่ผมเชื่อว่าหลักการ “ทำตัวเป็นเพื่อน” น่าจะแก้ปัญหาให้เป็นศักยภาพได้ครับ

ได้ผลอย่างไรจะนำมารายงานครับ

หมายเลขบันทึก: 306266เขียนเมื่อ 16 ตุลาคม 2009 03:18 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 10:08 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (11)
  • สวัสดีค่ะ  ดร. แสวง รวยสูงเนิน
  • มาเรียนรู้แนวคิดดี ๆ ในการแก้ไขปัญหาวัชพืช...
    ในทางกลับกันมาใช้กับ"คน" ก็คงจะได้นะคะ
  • ขอบพระคุณค่ะ

เรียนอาจารย์ครับ ขออนุญาตใช้พื้นที่ตรงนี้ครับ

ผมเดินทางไปหาพ่อคำเดื่อง ไม่ทันเเน่ครับ(อยากไปมากๆครับ) น่าจะเคลียร์งานไม่เสร็จ แต่สัญญาจะขับรถตรงไปที่บุรีรัมย์ในวันที่ นักศึกษาไปถึงสวนป่าครับ น่าจะไปนอนก่อนหนึ่งคืน เเล้วค่อยลุยกับ นศ.+ อาจารย์แสวง ต่อ

------------------------------------------------------------------------

ล้ำลึกมากครับ สำหรับ

ขอเพียงมองเขาเป็นเพื่อน ใช้เขาให้ถูกงาน แล้วเขาก็จะอยู่กับเราแบบ “เพื่อน” หรือจากไปแบบเพื่อนที่หมดหน้าที่

บางครั้งบางที เพื่อนก็หลายเป็นวัชพืช เพียงเพราะเราไม่ได้ให้เขาถูกใช้งาน ตรงนี้เป็นจิตวิทยาการอยู่ร่วมกัน การให้โอกาส การมีส่วนร่วม เเละก็เป้นความจริง

  • ส่วนใหญ่ผมก็ใช้วิธีนี้ครับ
  • ปล่อยให้เขาอยู่ด้วยกันอย่างธรรมชาติในหน้าฝน
  • บางปีเมื่อน้ำท่วม เขาจะช่วยดักตะกอนดินไว้อย่างมหาศาล
  • ยกเว้นหน้าแล้งเมื่อหญ้าตายก็ค่อยตัดและปั่นให้ละเอียด
  • ป้องกันไฟไหม้ในหน้าแล้ง

อาจารย์พูดถึงเรื่องต้นไม้ พืช แต่ผมกลับมองถึงการอยู่ร่วมกันของคนในองค์กร การเป็นเพื่อน การพึ่งพา การจากไป

สวัสดีครับอาจารย์ เข้ามาอ่านครับผมเห็นในทีวีแต่ยังไม่ชัดเจนก็เลยเข้ามาศึกษาอีกครับผม ก็เคยเจอกันที่สวนป่าไงครับผม  เข้ามาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันครับผม

สุดยอดเลยครับ ท่านอาจารย์ ผมถือคตินี้มาตลอด ตั้งแต่ผมเลิกจากอาชีพลูกจ้าง ทุกคนคือมิตร

และถ้าจะให้สนิท จะเปลี่ยนจากมิตร มาเป็นเพื่อน ได้ผลจริง ๆ ครับอาจารย์

แต่คิดว่าคงไม่เข้าข่าย Win Win Solution นะครับอาจารย์ ด้วยความเคารพครับผม

ชอบที่อาจารย์เขียน ถ้ามีโอกาสอยากไปช่วยงานอาจารย์ทำอะไรก็ได้ครับ ไปทำนาก็ดี ทำงานหนักก็เอา เงินไม่เอา ขออย่างเดียวอย่าด่า 5555 (สุดท้ายนี้เป็นกำลังใจให้ครับ ความดีที่ผมเคยทำมาถ้าพอจะเป็นบุญกุศลอยากอวยพรดีๆให้อาจารย์มีความสุข)

ขอแสดงความนับถือ

(วงศ์วริศ อินทะ)

ขอบคุณครับ ขอให้คุณมีความสุขสมหวังที่ดีๆ เช่นกัน

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท