“ดินแดนในหุบเขา ใต้ร่มเงาพระเจ้าแสนทอง ดอยม่อนจองสูงสง่า สัตว์ป่าล้วนมากมี ประเพณีหลายเผ่าพันธุ์”
วันเสาร์ที่ 3และอาทิตย์ที่
4 ตุลาคม 2552 ที่ผ่านมา
มีโอกาสไปศึกษาดูงานและเยี่ยมชมโครงการพัฒนาศักยภาพบุคลากรครูอาสาสมัครฯ
(ศศช.) อำเภออมก๋อย ในพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตน์ราชสุดฯ
สยามบรมราชกุมารี
โดยออกเดินทางในตอนเช้าของวันเสาร์ท่ามกลางสายฝนที่โปรยปรายอย่างไม่ขาดสาย
แต่ก็ไม่หนักมาก (อิทธิพลของพายุกิสนา)
โดยใช้ถนนสายเชียงใหม่-ฮอด
ผ่านอำเภอหางดง มีพื้นที่ติดกับอำเภอเมืองเชียงใหม่
ซึ่งผมเองผ่านและไปทำธุระที่นี่ค่อนข้างบ่อย
โดยมีสถานที่ที่น่าสนใจ เช่น
หมู่บ้านเครื่องปั้นดินเผาเหมืองกุง ผลิตภัณฑ์มีหลายอย่างเช่น หม้อแกง
หม้อน้ำ แจกัน
โดยเฉพาะน้ำต้น(คนโทใส่น้ำที่ชาวเหนือนิยมวางไว้หน้าบ้านให้ผู้ผ่านไปมา
ได้ดื่มดับกระหาย) นั้นเป็นที่นิยมทั่วไปแก่คนที่พบเห็น
ปัจจุบันได้มีการพัฒนากรรมวิธีในการผลิตและรูปแบบเครื่องปั้นดินเผา
เพื่อให้ผลิตภัณฑ์มีสีสันสดขึ้น
แต่มีการทำเครื่องปั้นดินเผาในบางครัวเรือนเท่านั้น
บ้านร้อยอันพันอย่าง ที่นี่เป็นพิพิธภัณฑ์เอกชนที่รวบรวมงานแกะสลักไม้
ซึ่งส่วนใหญ่เป็นไม้สัก งานแต่ละชิ้นได้รับการแกะสลักอย่างวิจิตรบรรจง
บ้านถวาย แยกซ้ายเข้าหมู่บ้าน
มีโรงงานผลิตไม้แกะสลักเพื่อจำหน่ายทั้งปลีกและส่ง
มีชื่อเสียงในการทำผลิตภัณฑ์เลียนแบบของเก่า
ซึ่งนักท่องเที่ยวสามารถชมการผลิตและซื้อเป็นสินค้าที่ระลึกได้
เมื่อเข้าเขตอำเภอสันป่าตอง ฝนก็ตกลงมาอย่างหนัก
มีน้ำเจิ่งนองสองข้างถนน
เมื่อผ่านอำเภอสันป่าตองก็ชวนให้นึกถึงตอนออกค่ายโครงการฝึกอาชีพระยะสั้นให้กับนักเรียนโรงเรียนสันป่าตองวิทยาคม
เมื่อสองสามปีที่ผ่านมา และการออกพื้นที่สำรวจอาชีพท้องถิ่น
ซึ่งไปสำรวจที่บ้านข่วงมื่น
โดยชาวบ้านนอกจากทำการเกษตรแล้วก็มีอาชีพทำจักสาน และทำปราสาทศพ
ซึ่งครั้งนั้นมีอาจารย์สมบูรณ์ สุวี
เป็นผู้ให้การต้อนรับและนำศึกษาหมู่บ้าน ผ่านเวียงท่ากาน
(เมืองเก่า) รถผ่านกาดทุ่งฟ้าบด ผมเคยไปตลาดนี้เมื่อหลายปีที่ผ่านมา
เป็นกาดนัดที่ใหญ่ที่สุดในเชียงใหม่ก็ว่าได้
เป็นศูนย์รวมของสินค้าทุกประเภท ดูบรรยากาศวันนี้ฟ้าบด (ฟ้ามืด)
สมชื่อ
ไม่ค่อยคึกคักเท่าที่ควรคงเป็นเพราะฝนตก
รถวิ่งเข้าเขตอำเภอดอยหล่อ ฝนเริ่มซาลง และหยุดตก
ท้องฟ้าสดใสขึ้น เดิมอำเภอนี้เป็นกิ่งอำเภอดอยหล่อ
และมีการยกฐานะเป็นอำเภอได้เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา
วัดที่มีชื่อเสียง คือวัดพระธาตุดอยน้อย
เข้าเขตอำเภอจอมทอง
อำเภอนี้ผมเคยออกค่ายไปวันเด็กเมื่อยี่สิบกว่าปีมาแล้ว ไปทางดอย
ตอนนั้นมืดมากดูไม่ออกว่าที่ไหนเป้นอย่างไร
หากพูดถึงอำเภอจอมทองแล้ว
อำเภอจอมทองเป็นศูนย์กลางความเจริญแถบอำเภอสายใต้ก็ว่าได้
โดยเป็นศูนย์กลางการศึกษา ที่มีมหาวิทยาลัยมาตั้งที่นี้ถึง 3 แห่ง
มีโรงพยาบาลจอมทอง มีขนาดเตียง กว่า 800 เตียง
เป็นโรงพยาบาลที่ใหญ่ที่สุด ในสายใต้ของจังหวัดเชียงใหม่
รถผ่านวัดพระบรมธาตุศรีจอมทองวรวิหาร
วันนี้ผู้คนยังไม่ค่อยมาก อาจเป็นเพราะยังเช้าไปหรือเปล่า
ผ่านทางเข้า อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์
และอุทยานแห่งชาติออบหลวง ทั้งสองแห่งนี้ยังไม่เคยไป
คงต้องหาโอกาสไปเยือนให้ได้

สภาพถนนสู่อมก๋อย
เข้าอำเภอฮอด รถแล้วขวาเข้าถนนฮอด-แม่ฮ่องสอน
ถนนคดเคี้ยวไปตามดอย และเลียบแม่น้ำ สองข้างทางต้นไม้เขียวชอุ่ม
เพราะได้รับน้ำฝนมากในหน้าฝนนี้
การเดินทางช่วงนี้ต้องเพิ่มความระมัดระวังเป็นพิเศษ
เพราะตลอดการเดินทางถนนสายนี้มีต้นไม้ล้ม และดิน
หินสไลด์ตลอดเส้นทาง ส่วนแม่น้ำนั้น ก็มีน้ำมาก
บางพื้นที่ที่เป็นที่ต่ำน้ำก็เอ่อท่วมถนนเป็นระยะ ๆ

ถนนเลียบแม่น้ำ น้ำเอ่อเกือบล้นแล้ว
เข้าอำเภออมก๋อย ฝนตกลงมาอีกครั้ง ที่นี้มีทั้งฝนและหมอก
ทำให้การเดินทางลำบากยิ่งขึ้น เพราะมองไม่เห็นถนน
เข้าอำเภออมก๋อยไปสักระยะหนึ่งฝนก็หยุดเม็ด
ท้องฟ้าสดใสอีกครั้งหนึ่ง ผ่านที่ว่าการอำเภอ
โรงเรียนอมก๋อยวิทยาคม สู่อมก๋อยรีสอร์ท เก็บสัมภาระ
ถึงที่หมายอมก๋อยอย่างปลอดภัย โดยใช้เวลาการเดินทาง
3 ชั่วโมง

บรรยากาศข้างทางเข้าอมก๋อย

เข้าอมก๋อย ทั้งฝนและหมอก
ความเป็นมา อมก๋อย มาจากคำว่า อำกอย เป็นภาษาลัวะ (ละว้า) แปลว่า
ขุนน้ำหรือต้นน้ำ สันนิษฐานว่า
หมายถึงต้นน้ำแม่ตื่นที่ไหลผ่านชุมชนเมืองโบราณ
สำหรับที่ตั้งอำเภออมก๋อยในปัจจุบัน เดิมเป็นหมู่บ้านของชาวลัวะ
มีขุนแสนทองเป็น หัวหน้าหมู่บ้าน ต่อมาได้มีคนเมืองอพยพเข้ามาแทนที่
และชาวลัวะได้ย้ายออกไปอยู่ในท้องที่อื่น
ทางการได้ทำการจัดตั้งเป็นตำบลอยู่ในเขตปกครองของอำเภอฮอด
และได้ทำการยกฐานะขึ้นเป็นกิ่งอำเภออมก๋อย ในปี พ.ศ. 2463 และได้
ยกฐานะเป็นอำเภออมก๋อยเมื่อวันที่ 23 เดือนกรกฎาคม
พ.ศ.2501
คำขวัญอำเภอของอำเภออมก๋อย “ดินแดนในหุบเขา ใต้ร่มเงาพระเจ้าแสนทอง
ดอยม่อนจองสูงสง่า สัตว์ป่าล้วนมากมี
ประเพณีหลายเผ่าพันธุ์”

ท้องฟ้าที่อมก๋อยรีสอร์ท

เข้าที่พัก

สภาพห้อง ไม่มีพัดลม แอร์ อากาศเย็นสบาย

แม่น้ำแม่ตื่น น้ำท่วมรีสอร์ท

กลางคืนน้ำสูงมาก

สภาพรีสอร์ท

สะพานนี้ก่อนน้ำจะท่วม เหลือแต่ซาก
ถึงอมก๋อยแล้ว
ยังไม่ได้เข้าเยี่ยมโครงการฯ โปรดติดตามตอนต่อไปครับ