ความรู้เกี่ยวกับจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ (ตอนที่ 7)บุคคลสำคัญทางประวัติศาสตร์ของจังหวัด


ความรู้เกี่ยวกับจังหวัดประจวบคีรีขันธ์

ความรู้เกี่ยวกับจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ (ตอนที่ 7)

.......................................................

บุคคลสำคัญที่สร้างชื่อเสียงให้จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ในอดีต 

            1. ขุนรองปลัดชู

            ขุนรองปลัดชู เป็นบุคคลหนึ่งที่ได้สร้างวีรกรรมไว้ในเขตจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ สำหรับชาติภูมิของท่านนั้นไม่มีหลักฐานปรากฏให้พอค้นคว้าได้อย่างแน่ชัดว่า ท่านเกิดที่ไหน เมื่อไร และบิดามารดาของท่านเป็นใคร คงรู้แต่ว่าเดิมทีเดียวนั้นท่านเคยอยู่เมืองวิเศษไชยชาญ และมีชื่อเดิมว่า "ชู" เกิดในสมัยกรุงศรีอยุธยา สันนิษฐานว่าคงจะในราวแผ่นดินสมเด็จสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ ถึงแม้ว่าท่านจะมิใช่คนจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ แต่วีรกรรมของท่านเกิดที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และชีวิตของท่านก็ได้สิ้นสุดที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ในสมัยที่ท่านยังมีชีวิตอยู่นั้น บ้านเมืองอยู่ในระหว่างความวุ่นวายมีการแย่งชิงอำนาจกันจนเกิดลุกลามเป็นสงครามกลางเมือง บรรดาขุนนางเสนาอำมาตย์ก็แบ่งกันเป็นพวกเป็นฝ่ายเอาแต่การประจบสอพลอแก่งแย่งชิงดีกัน หาได้เอาใจใส่ในกิจหน้าที่ไม่ จึงจำเป้นอยู่เองที่นายชู ผู้มีความรักชาติและเสียสละต้องขวนขวายแสวงหาวิชาความรู้ใส่ตัว วิชาความรู้ที่คนทั่วไปในสมัยนั้นนิยมเรียนกันคือวิชาอาคม การอยู่ยงคงกระพัน นายชูได้ไปเรียนวิชาเหล่านี้จนประสบความสำเร็จที่มุ่งหวังและต่อมาก็มีลูกศิษย์มากมาย เป็นผู้ที่มีความสามารถและมีคนเคารพนับถือมากมาย จนได้รับแต่งตั้งให้เป็นขุนรองปลัดตำแหน่งกรมการเมืองวิเศษไชยชาญ

            ในสมัยพระเจ้าเอกทัศน์แห่งกรุงศรีอยุธยาและพระเจ้าอลองพญากษัตริย์พม่าได้ส่งกองทัพมาตีเมืองมะริดและเมืองมวาย ซึ่งขณะนั้นยังเป็นของไทยอยู่ พระเจ้าเอกทัศน์จึงทรงส่งกองทัพออกไปขัดขวาง 2 กองทัพ

            กองทัพที่ 1 มีพระยายมราชเป็นแม่ทัพ ยกผ่านด่านสิงขรออกไปป้องกันเมืองมะริด ได้ตั้งทัพอยู่ที่ตำบลแก่งตุ่มปลายแม่น้ำตะนาวศรี

            กองทัพที่ 2 มีพระยารัตนาธิเบศร์ เป็นแม่ทัพ ตั้งทัพอยู่ที่เมืองกุย

            เมื่อขุนรองปลัดชูทราบข่าวว่าพม่ายกทัพมาก็เกิดความวิตกกังวลเป็นอย่างยิ่ง เพราะบรรดาแม่ทัพนายกองที่ควบคุมทัพไปครั้งนี้ไม่ใช่ผู้ถนัดในทางการรบ เกรงจะเสียทีแก่พม่า เมื่อคิดได้เช่นนั้น ด้วยความรักชาติบ้านเมืองทำให้ขุนรองปลัดชูไม่อาจจะนิ่งเฉยได้จึงรวบรวมสมัครพรรคพวกที่มีฝีมือในการรบ และเชื่อในความอยู่ยงคงกระพันได้จำนวน 400 คน ขออาสาไปรบด้วย พระเจ้าเอกทัศน์จึงได้โปรดให้ตั้ง "กองอาทมาต" (น่าจะได้แก่หน่วยกล้าตายหรือหน่วยคอมมานโดในปัจจุบัน) ซึ่งมีขุนรองปลัดชูเป็นหัวหน้าเข้าร่วมรบด้วย โดยให้กองอาทมาตของขุนรองปลัดชูขึ้นอยู่พระยารัตนาธิเบศร์

            ทางฝ่ายพม่าเมื่อทราบว่ากองทัพไทยมาตั้งมั่นที่ปลายแม่น้ำตะนาวศรี จึงสั่งให้มังฆ้องนรธา ยกกำลังเข้าโจมตีทันที กองทัพของพระยายมราชซึ่งไม่ได้เตรียมพร้อมที่จะป้องกันอย่างใดไว้ กูถูกพม่าตีแตกอย่างง่ายดาย พม่าเห็นกองทัพไทยอ่อนแอก็กำเริบใจได้ยกกองทัพติดตามรุกไล่เข้ามา ขณะนั้นพระยารัตนาธิเบศร์ ได้ตั้งกองทัพอยู่ที่เมืองกุย พอทราบข่าวว่ากองทัพของพระยายมราชถูกพม่าตีแตกถอยหนีมา จึงสั่งให้ขุนรองปลัดชูคุมกองอาทมาต 400 คนไปตั้งรับสกัดพม่า ฝ่ายขุนรองปลัดชูได้คุมกองอาทมาตมาตามชายทะเลถึงอ่าวหว้าขาว ก็ปะทะเข้ากับกองทหารของพม่า ขณะนั้นเป็นเวลาเช้าตรู่ ทหารกองอาทมาตเข้าโจมตีกองทหารพม่าอย่างดุเดือดไม่ยอมให้พม่าได้มีโอกาสตั้งตัว ในตอนแรกจึงได้เปรียบรุกไล่พม่าไป สามารถทำลายกำลังพม่าลงได้อย่างมาก แต่เมื่อการต่อสู้ได้ยืดเยื้อมาหลายชั่วโมงโดยที่ไม่มีกำลังใดมาช่วย ตรงกันข้ามกับฝ่ายพม่าที่มีกำลังใหม่ๆ หนุนเนื่องเข้ามาเรื่อยๆ และมีจำนวนมากกว่ากองอาทมาตหลายเท่า กำลังทหารในกองอาทมาตล้มตายลงทุกที การรบครั้งนี้ถึงขั้นตะลุมบอนกองอาทมาตตกอยู่ในวงล้อมของพม่าทั้ง 4 ด้าน คือด้านเหนือและด้านใต้เป็นทหารพม่าล้อมไว้ ด้านตะวันตกเป็นภูเขา ด้านตะวันออกเป็นทะเล การสู้รบดำเนินมาจนถึงเที่ยงวัน ทหารกองอาทมาตอยู่ในสภาพที่ลำบากมาก ถูกข้าศึกไล่ต้อนฆ่าอย่างเมามัน ตัวขุนรองปลัดชูชะตากรรมเป็นอย่างไรไม่มีหลักฐานปรากฏแน่ชัด เมื่อพระยารัตนาธิเบศร์ทราบความก็ตกใจกลัว ไม่อยู่สู้รบได้เลิกทัพหนีมากลับพระยายมราชขึ้นกราบทูลพระเจ้าเอกทัศน์ว่าศึกครั้งนี้หนักมากไม่อาจต้านทานได้

            เรื่องราวความสูญเสียของกองอาทมาตได้สร้างความรู้สึกรันทดใจและซาบซึ้งให้แก่ชาวกรุงศรีอยุธยาเป็นอย่างมาก  ไปทางไหนก็ได้ยินพูดจากันถึงเรื่องกองอาทมาตและขุนรองปลัดชูโดยเฉพาะชาวจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ยังระลึกถึงวีรกรรมของกองอาทมาตและขุนรองปลัดชูตลอดมาเท่าทุกวันนี้  

            2. ลูกเสือเอกบุญยิ่ง  ศิริเสถียร

            ลูกเสือเอกบุญยิ่ง  ศิริเสถียร  เกิดเมื่อวันที่ 4 มิถุนายน  พ.ศ.2460 เป็นบุตรคนที่ 3 ของนายเยื้อน และนางเปล่ง ศิริเสถียร เดิมทีเดียวครอบครัวนี้มีภูมิลำเนาอยู่ที่ใดไม่ปรากฏแน่ชัด แต่ได้เข้ามาตั้งหลักแหล่งประกอบการค้าอยู่ที่ร้านค้าใกล้สโมสรนายทหารสัญญาบัตรในกองบินน้อยที่ 5 (กองบิน 53 ปัจจุบัน) ก่อนสงครามมหาเอเชียบูรพาอุบัติขึ้นหลายปีและอยู่ที่นั่นเรื่อยมาจนสงครามโลกครั้งที่ 2 สงบจึงได้ย้ายไปอยู่ที่อื่น

            ลูกเสือเอกบุญยิ่ง  ศิริเสถียร เคยเรียนหนังสือในโรงเรียนเทศบาล (โรงเรียนสละชีพปัจจุบัน) สำเร็จการศึกษาชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 แล้วเข้าเรียนต่อชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1ที่โรงเรียนประจำจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ (โรงเรียนประจวบวิทยาลัยในปัจจุบัน) เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม  พ.ศ.2483  ขณะนั้นมี นายเลี้ยง  กาญจนะวสิต เป็นครูใหญ่ ขณะที่กำลังเรียนอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 นั้น ได้สมัครเข้าเป็นลูกเสือสังกัดกองลูกเสือโรงเรียนประจำจังหวัด อันดับหมายเลขทะเบียน 592

            ประมาณต้นเดือนสิงหาคม พ.ศ.2484 ข่าวที่ว่าญี่ปุ่นหรือพันธมิตรจะบุกประเทศไทยได้แพร่สะพัดไปอย่างรวดเร็ว แต่ก็หาได้มีใครเฉลียวใจว่าเหตุการณ์จุอุบัติขึ้นอย่างรวดเร็วเช่นขั้น กำลังฝ่ายทหารและพลเรือนมีการเตรียมพร้อมเป็นบางส่วน อีกบางส่วนได้แยกไปเตรียมงานเพื่อประกอบพิธีฉลองรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นงานประจำปี และแล้วเหตุการณ์ซึ่งดูเหมือนจะคาดการณ์ไว้ก่อนแล้วนั้นก็อุบัติขึ้น เมื่อเช้าตรูของวันที่  8 ธันวาคม  พ.ศ.2484 กำลังทหารฝ่ายญี่ปุ่นได้จู่โจมเพื่อเข้ายึดประเทศไทยพร้อมกันหลายจุด โดยเฉพาะที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ การต่อสู้ได้ดำเนินไปอย่างดุเดือดทั้งด้านอ่าวมะนาวและอ่าวประจวบคีรีขันธ์ บรรดาทหารและพลเรือนก็เข้าทำหน้าที่ป้องกันอย่างเหนียวแน่น แม้กำลังฝ่ายเราจะเสียเปรียบอย่างมากมาย แต่ด้วยน้ำใจอันห้าวหาญและความรักชาติ เป็นพลังสำคัญกระตุ้นให้ทุกคนมิได้ย่อท้อ ยินดีเสียสละแม้ชีวิต โดยเฉพาะในกองบินน้อยที่ 5 ขณะนั้นบรรดาครอบครัวทหารส่วนใหญ่ เป็นคนแก่สตรีและเด็ก เริ่มทะยอยกันหลบหนีออกมาหลบซ่อนกันอยู่บนเขาล้อมหมวก ส่วนเด็กผู้ชายเมื่อโตหน่อยต่างก็ได้ช่วยเหลือโดยนำเสบียงอาหารและกระสุนลำเลียงไปตามจุดต่างๆ ที่กำลังยิงต้านทานตามแนวชายฝั่งทะเล ลูกเสือเอกบุญยิ่ง  ศิริเสถียร เป็นผู้หนึ่งที่ช่วยเหลือฝ่ายทหารในการลำเลียงกระสุนด้วยผู้หนึ่ง

            เป็นคราวเคราะห์ของลูกเสือเอกบุญยิ่ง  ศิริเสถียร ในขณะที่กำลังนำกระสุนไปส่งยังจุดที่ตั้งปืนแห่งหนึ่งทางแนวรบด้านอ่าวมะนาว ข้าศึกได้ยิงกระหน่ำมายังเขาอย่างหนาแน่น กระสุนนัดหนึ่งพุ่งเจาะทะลุลำคอของเขา เป็นผลให้ลูกเสือเอกบุญยิ่ง  ศิริเสถียรทรุดลงกับพื้นทันที เมื่อตั้งสติได้เขาก็รีบกระเสือกกระสนกลับไปทางหลังแนวยิงด้านเชิงเขาล้อมหมวก แม้หน่วยพยาบาลจะได้พยายามให้การรักษาอย่างเต็มที่ แต่เนื่องจากบาดแผลที่ถูกยิงสาหัสมาก ในที่สุดเขาก็สิ้นชีวิตในบ่ายวันรุ่งขึ้นคือวันที่ 9 ธันวาคม  พ.ศ.2484

            เนื่องจากลูกเสือเอกบุญยิ่ง  สิริเสถียร ได้ประกอบวีรกรรมอันห้าวหาญในการเสี่ยงตายร่วมกับทหารโดยมิได้หวาดหวั่นต่ออันตรายที่จะพึงเกิดขึ้น มิได้นิ่งดูดายเมื่อภัยของชาติมาถึง เขายินดีพลีชีพและเลือดเนื้อช่วยสนับสนุนต่อสู้ข้าศึกป้องกันประเทศชาติ เพื่อให้รอดพ้นจากอริราชศัตรู ทั้งๆ ที่ยังเยาว์อยู่ ทางราชการได้พิจารณาเห็นคุณงามความดี จึงได้ขอพระราชทานยศให้ลูกเสือเอกบุญยิ่ง  ศิริเสถียร และจารึกชื่อไว้ ณ อนุสรณ์วีรชน 8 ธันวาคม  2484 ในกองบิน 53 จังหวัดประจวบคีรีขันธ์

            3. หลวงพ่อเปี่ยม (วัดเกาะหลัก)

            หลวงพ่อเปี่ยมวัดเกาะหลักมีสมณศักดิ์ว่า "พระสุเมธีวรคุณ นิบุญคีรีเขตต์ ชลประเวศ สังฆปาโมกข์" มีชื่อเดิมว่า "เปี่ยม" นามสกุล "ถาวรนันท์" เมื่ออุปสมบทแล้วได้ฉายานามว่า "จันทโชโต" ท่านเป็นเจ้าอาวาสองค์แรกของวัดเกาะหลักที่ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณธ

            หลวงพ่อเปี่ยมวัดเกาะหลัก เกิดที่บ้านนาห้วย ตำบลเมืองเก่า อำเภอปราณบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม  พ.ศ.2425 ตรงกับเดือน 7 ขึ้น 8 ค่ำ ปีมะเมีย เป็นบุตรคนสุดท้องของนายแก้วนางหนูลัภฑ์  ถาวรนันท์ มีพี่ชายร่วมบิดามารดาคนหนึ่งชื่อถนอมเป็นเปรียญ 4 ประโยค และมีน้องสาวต่างมารดาคนหนึ่งชื่อละมุน บิดามารดาของท่านมีอาชีพทำไร่

            ในวัยเด็กหลวงพ่อเปี่ยมได้ศึกษาเล่าเรียนวิชาการต่างๆ ที่วัดโดยเรียนทั้งหนังสือไทยและหนังสือขอมควบคู่กันไป หลวงพ่อเปี่ยมเป็นผู้สนใจการเรียนวิชาการต่างๆ หลายแขนง เช่น วิชาปลูกสร้างบ้าน วิชาช่างเขียน วิชาช่างปั้น วิชาช่างหยวก จนมีความรู้ความสามารถขึ้นเป็นลำดับ

            เมื่ออายุครบบวช คือในปี พ.ศ.2446 หลวงพ่อเปี่ยมได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุที่วัดลาด อำเภอเมืองเพชรบุรี จังหวัดเพชรบุรี และในปี พ.ศ.2459 หลวงพ่อเปี่ยมได้รับการแต่งตั้งจากคณะสงฆ์ให้เป็นเจ้าอาวาสวัดนาห้วย ในระหว่างนั้นหลวงพ่อเปี่ยมได้สนใจศึกษาวิชาโหราศาสตร์ โดยได้ไปศึกษาจากพระสุวรรณมุนี (ชิด)เจ้าอาวาสวัดมหาธาตุ จังหวัดเพชรบุรี และเริ่มมีชื่อเสียงในทางโหราศาสตร์ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา

            พ.ศ.2462 หลวงพ่อเปี่ยมได้รับตราตั้งเป็นพระครูชั้นประทวน ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะอำเภอปราณบุรี

            พ.ศ. 2463 ได้เลื่อนสมศักดิ์เป็นพระครูชั้นสัญญาบัตรนามว่า "พระครูธรรมโสภิต

            พ.ศ.2465 ได้รับตราตั้งเป็นพระอุปัชฌาย์

            พ.ศ.2467 ได้เลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระครูสุเมธีวรคุณ เจ้าคณะรอง (รองเจ้าคณะจังหวัด)

            พ.ศ.2473 หลวงพ่อเปี่ยมได้ย้ายจากวัดนาห้วยมาเป็นเจ้าอาวาสวัดเกาะหลัก

            พ.ศ.2484 ได้เลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะ เป็นที่พระสุเมธีวรคุณ นิบุญคีรีเขตต์ ชลประเวศสังฆปาโมกข์

            การมาเป็นเจ้าอาวาสวัดเกาะหลักและเจ้าคณะจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ของหลวงพ่อเปี่ยม หลวงพ่อได้นำความรู้ความสามารถที่ร่ำเรียนมา มาใช้ประโยชน์ในงานต่างๆ มากมาย งานสำคัญที่หลวงพ่อเปี่ยมได้ทำคือ การสร้างพระอุโบสถอันวิจิตรงดงาม การเปิดโรงเรียนนักธรรมและบาลี การสร้างบ่อน้ำและถังประปาสำหรับวัด และการปกครองคณะสงฆ์ด้วยความร่มเย็นและเจริญก้าวหน้า

            หลวงพ่อเปี่ยมนอกจากจะเป็นนักก่อสร้างแล้ว ยังมีความรู้ความสามารถพิเศษอีกอย่างหนึ่งคือความรู้ทางโหราศาสตร์ ดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น ความสามารถทางโหราศาสตร์ของหลวงพ่อเปี่ยมทำให้วัดมีความเจริญรุ่งเรือง เพราะมีคนเคารพนับถือและเลื่อมใสหลวงพ่อเปี่ยมมาก สมัยนั้นถ้าพูดถึงหลวงพ่อเปี่ยมวัดเกาะหลักใครๆ ก็รู้จักหลวงพ่อเปี่ยมในฐานะเป็นโหรสำคัญที่ทำนายได้แม่นยำ เรื่องที่เกี่ยวกับความเชี่ยวชาญทางโหราศาสตร์ของหลวงพ่อเปี่ยม มีชื่อเสียงจนฝรั่งก็มาให้ทำนาย คือในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 พ.ต.วิม ทหารอเมริกันกับพวกอีก 3 คน ได้มาขอให้หลวงพ่อเปี่ยมดูโชคชะตาซึ่งหลวงพ่อเปี่ยมก็ทำนายให้ และระหว่างการสนทนากันนั้นหลวงพ่อเปี่ยมพูดภาษาอังกฤษได้บ้าง มีล่ามคือขุนสงวนคุรุเกียรติ นายทหารอากาศกองบินน้อยที่ 5 เป็นล่ามบ้าง ทำให้ พ.ต.วิม เลื่อมใสศรัทธาแสดงความเคารพคารวะหลวงพ่อเปี่ยมเป็นอย่างสูง การที่หลวงพ่อเปี่ยมพูดภาษาอังกฤษได้ก็เพราะหลวงพ่อเปี่ยมเป็นผู้สนใจในการศึกษาเล่าเรียนอยู่เสมอ หลวงพ่อเปี่ยมได้เรียนภาษาอังกฤษกับขุนสวงนคุรุเกียรติจนพออ่านได้บ้างและเขียน พูดได้เช่นกัน ทำให้เป็นที่แปลกใจของฝรั่งที่ไม่คิดว่าพระไทยบ้านนอกที่มีอายุอย่างหลวงพ่อเปี่ยมจะมีความรู้ถึงขั้นนี้ คนที่รักใคร่และนับถือหลวงพ่อเปี่ยมมิใช่เพราะความเป็นโหราศาสตร์ของหลวงพ่อเปี่ยมเป็นเรื่องสำคัญเท่านั้น คนที่รักใคร่นับถือหลวงพ่อเปี่ยมก็โดยเหตุคุณธรรม ความดีของหลวงพ่อเปี่ยมเป็นปัจจัยสำคัญ

            เมื่ออายุหลวงพ่อเปี่ยมได้ 66 ปี หลวงพ่อเปี่ยมได้มีอาการเจ็บไข้ด้วยโรคลำไส้พิการ และได้มรณะภาพเมื่อ ปี พ.ศ.2492

 

หมายเลขบันทึก: 305165เขียนเมื่อ 12 ตุลาคม 2009 11:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 16:48 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

ขอบคุณครับ

ขอบคุณครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท