ความรู้เกี่ยวกับจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ (ตอนที่ 5)สถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์


ความรู้เกี่ยวกับจังหวัดประจวบคีรีขันธ์

ความรู้เกี่ยวกับจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ (ตอนที่ 5)

.......................................................

1. สถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ 

            ถ้ำพระยานคร 

            ถ้ำพระยานครเป็นถ้ำธรรมชาติตั้งอยู่บนไหล่เขาสูงลูกหนึ่งในทิวเขาสามร้อยยอด จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์เท่าที่พบในปัจจุบันยังไม่แน่ชัดนักเกี่ยวกับประวัติของผู้ค้นพบถ้ำพระยานคร แต่เท่าที่หลักฐานปรากฏสรุปได้ว่า ผู้ค้นพบถ้ำพระยานครคือพระยานคร ผู้ครองนครศรีธรรมราช แต่ก็ไม่รู้แน่ว่าอยู่ในสมัยกรุงศรีอยุธยาหรือสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ เพราะคำว่าพระยานครเป็นชื่อเรียกเจ้าผู้ครองนครศรีธรรมราช ทั้งสมัยกรุงศรีอยุธยาและสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น

            ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ทราบว่าถ้ำพระยานครนี้มีหินงอกหินย้อยและมีผนังถ้ำงดงามวิจิตรพิศดาร จึงมีพระราชประสงค์จะเสด็จประพาสถ้ำพระยานคร จึงมีพระบรมราชโองการให้ช่างประจำราชสำนักออกแบบสร้างพลับพลาแบบจตุรมุข ขนาดย่อมมีความกว้าง 2.55 เมตร ยาว 8 เมตร สูง 2.55 เมตร (วัดถึงช่อฟ้า) แล้วให้นำไปประกอบติดตั้งที่ถ้ำพระยานคร พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ได้เสด็จประพาสถ้ำพระยานครเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ.2433 แล้วพระราชทานนามพลับพลาที่นำมาประกอบสร้างขึ้นที่ถ้ำพระยานครนี้ว่า "พระที่นั่งคูหาคฤหาสน์" พร้อมกับได้ทรงลงพระปรมาภิไธย

จ.ป.ร. ไว้ที่ผนังถ้ำด้านเหนือของพลับพลา

            ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ก็ได้เสด็จประพาสถ้ำพระยานครนี้ เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ.2469 และพระองค์ก็ได้จารึกพระปรมาภิไธยย่อ ป.ป.ร. ไว้ที่ผนังถ้ำด้านตะวันตกของพลับพลาด้วย

            ในวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ.2501 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ขณะที่พระองค์ได้เสด็จแปรราชฐานมาประทับที่พระราชวังไกลกังวล หัวหิน ก็มีพระราชประสงค์จะประพาสถ้ำพระยานครแห่งนี้ด้วย แต่บังเอิญมีเหตุสุดวิสัย เนื่องจากฝนตกหนักทะเลมีคลื่นลมใหญ่ จึงต้องงดเสด็จ และหลังจากวันนั้นอีก 2 วันคือวันที่ 22 มิถุนายน พ.ศ.2502 ก็ได้เสด็จไปทอดพระเนตรถ้ำพระยานครนี้เป็นครั้งแรก

            ปัจจุบันนี้จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ได้ใช้ตราพระที่นั่งคูหาคฤหาสถ์เป็นสัญลักษณ์ของจังหวัด

2. หว้ากอ 

            หว้ากอปัจจุบันอยู่ในเขตตำบลคลองวาฬ อำเภอเมืองประจวบคีรีขันธ์ เป็นสถานที่ที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์แห่งหนึ่งของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ กล่าวคือ ในปี พ.ศ.2409 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ทรงคำนวณและทำนายล่วงหน้าได้ว่าจะเกิดสุริยุปราคามืดหมดดวงที่ประเทศไทย ในวันที่ 18 สิงหาคม พ.ศ.2411 และสามารถเห็นได้ชัดเจนที่บ้านหว้ากอ เมืองประจวบคีรีขันธ์ หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้คำนวณเกี่ยวกับปรากฏการณ์การเกิดสุริยุปราคาเป็นที่แน่พระทัยแล้ว จึงมีพระบรมราชโองการให้ข้าราชบริพาร เตรียมการที่จะไปดูสุริยุปราคาเต็มดวงที่หว้ากอ

            เมื่อมีการเตรียมค่ายหลวงแล้วก็ทรงมีพระราชสาส์นถึง สเตเฟน นักดาราศาสตร์สุริยุปราคา และถึงเชอร์แฮรี ลอร์ด ผู้ว่าราชการเมืองสิงคโปร์ ในการเตรียมการดูสุริยุปราคาครั้งนี้จะมีชาวต่างชาติมาดูจำนวน 84 คน

            ลำดับเหตุการณ์ตั้งแต่เตรียมการพร้อมแล้ว และการเสด็จเดินทางมาทอดพระเนตรสุริยุปราคา ได้ดังนี้

            วันที่ 7 สิงหาคม  พ.ศ.2411 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเสด็จโดยเรือพระที่นั่งอรรคราชวรเดช ออกจากพระนคร เมื่อไปถึงหน้าค่ายหลวงหว้ากอ อากาศมืดคลึ้มลมจัด จึงทรงมีพระบรมราชโองการสั่งให้ถอยเรือพระที่นั่งกลับไปทอดประทับแรมอยู่ที่อ่าวมะนาวเป็นเวลา 2 วัน

            วันที่ 10 สิงหาคม พ.ศ.2411 เวลาเย็นเสด็จพระราชดำเนินขึ้นจากเรือพระที่นั่ง ขึ้นทรงม้าพระที่นั่งจากอ่าวมะนาวลงไปถึงค่ายหลวงเวลาย่ำค่ำ

            วันที่ 11 สิงหาคม พ.ศ.2411 เวลา 09 นาฬิกาเศษ ได้ฤกษ์ยกเสาธงและฉัตร ชักธง      พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประทับค่ายหลวง ทรงรับสั่งให้ประโคมแล้วทรงยิงปืนด้วยพระหัตถ์ สลุดธงสลับกับทหารปืนใหญ่ฝ่ายละนัด รวมสลุดฝ่ายละ 21 นัด และเรือปืนสยามสดัมภ์ยิงเพิ่มขึ้นอีก 21 นัด รวมเป็น 63 นัด

            วันที่ 13 สิงหาคม พ.ศ.2411 เวลาเช้ากัปตันเรือรบฝรั่งเศสอัญเชิญสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอจุฬาลงกรณ์ กรมขุนพินิตประชานาถ ให้เสด็จลงไปเที่ยวในเรือรบ เวลาใกล้เที่ยงพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงวัดแสงแดดตรวจสอบกับแผนที่ที่ตั้งค่ายหลวง ครั้นเวลา 17 นาฬิกาเศษ เสด็จพระราชดำเนินไปที่เรือนนักวิทยาศาสตร์ชาวฝรั่งเศส และเสด็จกลับเมื่อเวลาใกล้ค่ำ

            วันที่ 16 สิงหาคม พ.ศ.2411 เซอร์แฮรี ลอร์ด เจ้าเมืองสิงคโปร์ เดินทางมาด้วยเรือกลไฟ 3 ลำ ถึงหว้ากอเวลา 09 นาฬิกา

            วันที่ 18 สิงหาคม พ.ศ.2411 ตอนรุ่งเช้ามีเมฆปรากฏเป็นก้อนหนามาทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ และเป็นอยู่อย่างนั้นจนถึงเวลา 09 นาฬิกา ก็มีฝนตกมาประปราย ครั้นเวลา 10 นาฬิกา 05 นาที เมฆเริ่มกระจายออกแต่ท้องฟ้ายังมืดเพราะสุริยุปราคาได้เกิดขึ้นแล้ว ต่อมาเมื่อเวลา 10 นาฬิกา 35 นาที ดวงอาทิตย์จึงสว่างจ้า ดังนั้นจึงไม่สามารถจดเวลาที่เริ่มเกิดสุริยุปราคาได้ แต่คาดว่าเกิดเวลา 10 นาฬิกา 04 นาที

            วันที่ 19 สิงหาคม พ.ศ.2411 ตอนรุ่งเช้ามีพระบรมราชโองการให้ข้าราชบริพารและชาวต่างประเทศไปรวมกันที่พลับพลาและถ่ายภาพไว้เป็นที่ระลึก และเสด็จกลับโดยเส้นทางเดิม

            จากเหตุการณ์ดังกล่าวถือได้ว่า หว้ากอมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ที่ปวงชนชาวไทยโดยเฉพาะชาวจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ทุกคนควรจะระลึกถึงหว้ากอและพระปรีชาสามารถของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวตลอดไป          

3. ด่านสิงขร

            ด่านสิงขรเป็นทางข้ามเทือกเขาตะนาวศรีที่เป็นเขตแดนระหว่างไทยกับพม่า อยู่ในเขตตำบลคลองวาฬ อำเภอเมืองประจวบคีรีขันธ์ บางครั้งก็เรียกกันว่า "ช่องสันพรานหรือสันพร้าว" ด่านสิงขรมีชื่อเด่นในด้านเส้นทางเดินทัพและด้านการคมนาคมติดต่อค้าขายซึ่งปรากฏหลักฐานทางประวัติศาสตร์มาเป็นเวลาช้านาน โดยเฉพาะด้านการคมนาคม ด่านสิงขรเป็นเส้นทางที่พวกพ่อค้าและนักเดินทางชาวไทยและชาวต่างประเทศใช้เป็นเส้นทางลัดระหว่างมหาสมุทรอินเดียกับอ่าวไทยมานับร้อยๆ ปีมาแล้ว โดยไม่ต้องแล่นเรือไปอ้อมแหลมมลายู เพราะสมัยนั้นไม่ค่อยมีเรือเดินอ้อมแหลมมลายู เพราะมีมรสุมจัดตลอดปี จะมีลมสงบก็เพียงปีละเดือนสองเดือนเท่านั้น และการเดินทางอ้อมแหลมมลายูก็เสียเวลาและค่าใช้จ่ายมากกว่าเดินทางลัดเข้ามาทางด่านสิงขร

            ในหนังสือขุนช้างขุนแผนได้กล่าวถึงด่านสิงขรไว้ตอนหลวงทรงพลกับพันภาณไปรับม้าที่เมืองมะริดว่า

            "….จะกล่าวหลวงทรงพลกับพันภาณ                          พระโองการตรัสใช้ไปตะนาวศรี

ไปตั้งอยู่มฤทเป็นครึ่งปี                                                                   กับไพร่สามสิบสี่ที่ตามมา

ด้วยหลวงศรีวรข่านไปซื้อม้า                                                            ถึงเมืองเทศยังช้าหามาไม่

ต้องรออยู่จนฤดูลมแล่นไป                                                  เรือที่ไปเมืองเทศจึงกลับมา

หลวงศรีได้ม้ามามอบให้                                                                 ทั้งม้าเทศม้าไทยหกสิบห้า

อีเหลืองเมืองมฤทพลอดติดมา                                                         ผัวมันท่านว่าเป็นม้าน้ำ

มีลูกตัวหนึ่งชื่อสีหมอก                                                                   มันออกวันเสาร์ขึ้นเก้าค่ำ

ร้ายกาจหนักหนานัยน์ตาดำ                                                 เห็นม้าหลวงข้ามน้ำก็ตามมา

มาถึงสิงขรผ่อนพักหยุด                                                                  ปล่อยม้าอุตลุดให้กินหญ้า

กรมการกุยปราณส่งเนื่องมา                                                            ผ่านฉะอำถึงท่าเพชรบุรี…"

            ในช่วงที่ไทยทำสงครมกับพม่าตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาจนถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น ด่านสิงขรเป็นเส้นทางที่สำคัญทางหนึ่งของพม่าที่ใช้เดินทัพเข้ามายังแผ่นดินไทย อย่างเช่นในคราวที่พม่ายกทัพมาล้อมกรุงศรีอยุธยาก่อนเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 ด่านสิงขรก็เป็นเส้นทางหนึ่งที่พม่าใช้เป็นเส้นทางเดินทัพมา และในคราวสงครามเก้าทัพสมัยรัชกาลที่ 1 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์พม่าได้ยกทัพมาตีไทย ด่านสิงขรก็เป็นเส้นทางหนึ่งที่พม่าใช้เป็นเส้นทางเดินทัพ จะเห็นได้ว่าด่านสิงขรเป็นด่านสำคัญของไทยในอดีต ที่ศัตรูของไทยคือพม่าใช้เป็นทางผ่านเพื่อเข้ามาโจมตีไทย จึงเป็นจุดที่ชาวประจวบคีรีขันธ์ทุกคนควรตระหนักและระลึกถึงประวัติศาสตร์ไทย ณ ด่านสิงขรจุดนี้

            ในปี พ.ศ.2463 รัฐบาลพม่าได้ส่งข้าราชการในแผนกรถไฟคณะหนึ่งเดินทางข้ามด่านสิงขรมายังจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เพื่อสำรวจและพิจารณาเส้นทางที่จะวางรางรถไฟร่วมกับฝ่ายไทย โดยจะวางรางรถไฟจากประจวบคีรีขันธ์ไปเชื่อมกับทางรถไฟในพม่า แต่จะเป็นด้วยเหตุใดไม่ทราบ โครงการนี้ก็เงียบหายไป ถึงกระนั้นเมื่อสงครามมหาเอเชียบูรพาได้เกิดขึ้นใหม่ๆ ก็ยังมีหน่วยทหารของญี่ปุ่นใช้ด่านสิงขรเป็นเส้นทางเคลื่อนที่จากจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ไปยังเมืองตะนาวศรีและเมืองมะริด

4. บ้านร่อนทอง

            เมื่อครั้งสมัยกรุงศรีอยุธยา สมัยพระนเรศวรมหาราช ทรงโปรดเกล้าให้สมเด็จพระอนุชายกทัพไปตะนาวศรี เพราะได้ข่าวมาว่าตะนาวศรีซึ่งเป็นของไทยขณะนั้นเกิดกบฏ ทัพที่มาในครั้งนั้น (พ.ศ.2129) ได้มาประชุมพลที่ตำบลบางสะพานใหญ่ตรงบ้านร่อนทองปัจจุบัน แล้วยกทัพผ่านมาทางด่านสิงขรไปปราบกบฏที่ตะนาวศรี

            ครั้งสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ได้รับแจ้งจากกรมการเมืองว่าพบทองคำที่างสะพานใหญ่ จึงดำรัสให้เกณฑ์ราษฎรขุดทองส่งเรียกว่า ส่งส่วยทอง สถานที่ขุดทองดังกล่าวปัจจุบันนี้คือ หมู่บ้านร่อนทอง หมู่ที่ 6 อำเภอบางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ปัจจุบันมีทองอยู่บางแห่ง ทองคำที่นี่เป็นทองคำเนื้อเก้าบริสุทธิ์เรียกว่า "ทองนพเก้า"

5. พระราชวังไกลกังวล

            พระราชวังไกลกังวล สร้างขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 เมื่อปี พ.ศ.2470 มีพระตำหนักเปี่ยมสุขเป็นตึกหินอ่อนอาคารแบบตะวันตก 3 ชั้น ข้างๆ พระตำหนักเปี่ยมสุขคือ ศาลาเริง ซึ่งเป็นสถานที่เสด็จออกรับแขกหรือจัดการแสดงต่างๆ อยู่ในเขตอำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์

            ในวันที่ 24 มิถุนายน  พ.ศ.2475 วันเกิดการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองแผ่นดิน พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ประทับอยู่ที่พระราชวังไกลกังวลแห่งนี้ ปัจจุบันพระราชวังไกลกังวลเป็นที่ประทับแปรพระราชฐานในฤดูร้อนของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและพระบรมวงศานุวงศ
6. นิคมสร้างตนเองจังหวัดประจวบคีรีขันธ์

            ความหมายและที่มาของนิคมสร้างตนเอง

            พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2525 ได้ให้ความหมายของนิคมสร้างตนเองไว้ดังนี้ "นิคม" หมายถึงหมู่บ้านใหญ่ "นิคมที่ดิน" หมายถึงที่ดินที่รัฐจัดสรรให้ประชากรอพยพครอบครัวเข้าไปตั้งถิ่นฐานเพื่อประกอบอาชีพและอยู่อาศัยอย่างเป็นระเบียบ โดยมีการวางแผนเพื่อพัฒนาพื้นฐานทางเศรษฐกิจ สังคม และวิชาชีพรวมทั้งบริการสาธารณูปโภคต่างๆ ไว้ล่วงหน้า "นิคมสร้างตนเอง" หมายถึงนิคมที่ดินที่กรมประชาสงเคราะห์เป็นผู้จัด

            จากข้อมูลดังกล่าว สรุปความหมายของนิคมสร้างตนเองได้ว่า นิคมสร้างตนเองหมายถึง ชุมชนหรือหมู่บ้านที่กรมประชาสงเคราะห์ได้จัดสรรที่ดินให้ประชากรที่ไม่มีที่อยู่อาศัยหรือที่ทำกินเข้าไปตั้งถิ่นฐานเพื่อประกอบอาชีพ และอยู่อาศัยอย่างเป็นระเบียบและดูแลจัดหาปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจ สังคม และวิชาชีพรวมทั้งจัดบริการระบบสาธารณูปโภคต่างๆ ไว้ให้

            ที่มาและการดำเนินการจัดสร้างนิคมสร้างตนเองของกรมประชาสงเคราะห์ ได้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ พ.ศ.2483 จนถึงปัจจุบัน โดยมีจุดมุ่งหมายเบื้องต้น ที่จะช่วยเหลือเกษตรกรที่ไม่มีที่ดินทำกินเป็นของตนเองหรือมีแต่ไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพ ตลอดจนประชาชนกลุ่มอื่นๆ ที่มีปัญหาในทางเศรษฐกิจให้มีที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง ตามควรแก่อัตภาพ โดยการจัดเป็นชุมชนใหม่ขึ้นมาแล้วส่งเสริมให้มีความเจริญทั้งในทางเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และเมื่อนิคมสร้างตนเองที่กรมประชาสงเคราะห์จัดตั้งขึ้นมีความเจริญแล้ว ทางกรมประชาสงเคราะห์ก็จะถอนสภาพนิคมสร้างตนเอง แล้วมอบให้ฝ่ายปกครองรับไปดำเนินการตามหลักการปกครองท้องที่ต่อไป

            ประวัติความเป็นมาของนิคมสร้างตนเองจังหวัดประจวบคีรีขันธ์

            นิคมสร้างตนเองจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ได้เริ่มดำเนินการโดย นายสะอาด ปายะนันท์ ผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ในปี พ.ศ.2499 โดยได้เสนอต่อกระทรวงมหาดไทย ให้พิจารณาดำเนินการจัดตั้งนิคมสร้างตนเองในท้องที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ โดยได้พิจารณากำหนดเขตที่ดินรกร้างว่างเปล่าในท้องที่ อำเภอเมืองประจวบคีรีขันธ์ และอำเภอทับสะแกบางส่วน ในขั้นแรกกรมประชาสงเคราะห์ ได้จัดส่งเจ้าหน้าที่รังวัดของกรมประชาสงเคราะห์ และเจ้าหน้าที่ที่ดินจังหวัดประจวบคีรีขันธ์จัดทำแผนที่วงรอบเขตนิคมสร้างตนเองจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ โดยมีอาณาเขตดังนี้

            ทิศเหนือ                       จรด ตั้งแต่หลักกิโลเมตรที่ 310 ของถนนเพชรเกษมตัดตรงไปทาง

                                              ทิศตะวันตกผ่านทุ่งเคล็ด บ้านหนองมะขามเฒ่า จรดทุ่งยาว

                                               เลียบตามแนวคลองชายธง

            ทิศใต้                            จรด ถนนเข้าน้ำตกห้วยยาง

            ทิศตะวันตก                     จรด เขตป่าสงวนของกรมป่าไม้

            ทิศตะวันออก                   จรด ถนนเพชรเกษมตั้งแต่หลักกิโลเมตรที่ 310 ถึงหลักกิโลเมตร       

                                              ที่ 350.300

            พื้นที่ซึ่งประมาณไว้ในขั้นแรกประมาณ 150,000 ไร่ แต่ได้มีราษฎรเข้าครอบครองแล้ว 46,083 ไร่ 1 งาน 47 ตารางวา คงเหลือพื้นที่พอจะจัดสรรได้อีกประมาณ 100,000 ไร่

            การจัดสรรที่ดินให้กับสมาชิกนิคมสร้างตนเองจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เริ่มดำเนินการ ตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2499 และในปี พ.ศ.2500 มีการบรรจุสมาชิกนิคมครั้งแรก ได้จัดสรรที่ดินให้สมาชิกนิคม จำนวน 42 ครอบครัว ในปีต่อมาก็ได้บรรจุสมาชิกนิคมเพิ่มขึ้นตามลำดับ สมาชิกนิคมสร้างตนเองจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ส่วนใหญ่ เป็นชาวจังหวัดเพชรบุรีจากอำเภอบ้านแหลมซึ่งส่วนใหญ่มีอาชีพเดิมในการทำประมง ได้รับความ้ดือดร้อนเนื่องจากถูกผู้ประกอบการประมงรายใหญ่และมีทุนรอนมาก มาแย่งการประกอบอาชีพ และสมาชิกนิคมบางกลุ่มเคยปลูกป่าแสมชายเลนมีที่ดินน้อยรายได้จากการทำไม้แสมไม่พอยังชีพ และสมาชิกนิคมบางพวกซึ่งมาจากอำเภอเขาย้อยจังหวัดเพชรบุรี ส่วนมากประกอบการทำนาที่ดินที่มีอยู่เดิม เปลี่ยนสภาพเนื่องจากมีเขื่อนส่งน้ำ กระแสน้ำเปลี่ยนทางเดิน    ทำนาไม่ได้

            ในปี พ.ศ.2502 รัฐบาลมีนโยบายให้เลิกอาชีพถีบสามล้อรับจ้างในจังหวัดพระนคร และจังหวัดธนบุรี กรมประชาสงเคราะห์ได้จัดส่งกรรมกรสามล้อซึ่งสมัครใจประกอบอาชีพทางการเกษตรเป็นสมาชิกนิคมนี้ จำนวน 323 ครอบครัว และสมาชิกนิคมซึ่งเป็นทหารผ่านศึกจำนวน 30     ครอบครัว  และสมาชิกนิคมที่ได้รับภัยพิบัติจากอัคคีภัยส่วนหนึ่งจำนวน 4 ครอบครัว

หมายเลขบันทึก: 305160เขียนเมื่อ 12 ตุลาคม 2009 11:03 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 23:53 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ขอขอบคุณมากๆนะค่ะ สำหรับข้อมูลดี ๆ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท