ความรู้เกี่ยวกับจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ (ตอนที่ 6)วัฒนธรรม ขนบธรรมเนียม ประเพณี


ความรู้เกี่ยวกับจังหวัดประจวบคีรีขันธ์

ความรู้เกี่ยวกับจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ (ตอนที่ 6)

.......................................................

1. วัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณีและศิลปะพื้นบ้านของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ 

            ความหมายของวัฒนธรรม

            คำว่าวัฒนธรรม เป็นคำที่มีการกล่าวถึงกันอยู่บ่อยๆ และเมื่อมีการกล่าวถึงวัฒนธรรม จะมีความหมายออกมาในลักษณะที่ดีและควรเอาเป็นแบบอย่าง เกี่ยวกับความหมายของวัฒนธรรมโดยตรงนั้น ตามพระราชบัญญัติวัฒนธรรมแห่งชาติได้ให้ความหมายของวัฒนธรรมว่า "วัฒนธรรม หมายถึงลักษณะที่มีการแสดงออกถึงความเจริญงอกงาม ความเป็นระเบียบเรียบร้อย ความกลมเกลียวก้าวหน้าของชาติและศีลธรรมอันดี"

            ความหมายของวัฒนธรรมในแง่ของสังคมวิทยานั้นมี 3 ลักษณะ คือ

            - วัฒนธรรม หมายถึง การแสดงพฤติกรรมร่วมกันของบุคคลในสังคม อันได้แก่ขนบธรรมเนียมประเพณีต่างๆ

            - วัฒนธรรม หมายถึง การประดิษฐ์และการผลิตสิ่งที่ดีงาม เช่น ประติมากรรม จิตรกรรม วรรณกรรม นาฏกรรม และศิลปะกรรมทั้งหลายทั้งปวง

            - วัฒนธรรม หมายถึง การแสดงพฤติกรรมของมนุษย์ตามความเชื่อ ตามค่านิยม และหลักนิยมของสถาบันที่ตนเป็นสมาชิก

 

ความสำคัญของวัฒนธรรม

            วัฒนธรรมมีความสำคัญต่อความมั่นคงและความเจริญของชาติ เพราะเป็นสิ่งที่บ่งบอกถึงความเป็นชาติและเอกลักษณ์ของชาติ ดังนั้นเราจึงต้องบำรุงส่งเสริมวัฒนธรรม ถ้าชาติใดไม่รู้จักบำรุงส่งเสริมวัฒนธรรมและแก้ไขวัฒนธรรมเดิมของชาติตนได้ทันท่วงที ให้ประสานเข้ากันได้เหมาะสมกับสมัย และสภาพของเหตุการณ์ ก็จะถูกวัฒนธรรมของชาติอื่นเข้าครอบงำ หรือมาแทนที่ทีละน้อยๆ ถ้าไม่รู้จักพินิจวิเคราะห์และตัดสินใจให้ดี ในที่สุดวัฒนธรรมก็จะหมดไป ซึ่งขณะนี้วัฒนธรรมบางส่วนได้ถูกวัฒนธรรมทางตะวันตกเข้าครอบงำมากแล้วเพราะฉะนั้นเราทุกคนควรตระหนักถึงปัญหาและความสำคัญของวัฒนธรรม สมควรที่จะอนุรักษ์และปรับปรุงให้ดีขึ้น เพื่อให้เป็นเอกลักษณ์ของชาติไทยสืบไป 

ศิลปกรรมของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ส่วนใหญ่แล้วเป็นศิลปกรรมที่ประดิษฐ์และจัดสร้างขึ้นในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์แทบทั้งสิ้น ทั้งนี้เพราะจังหวัดประจวบคีรีขันธ์เป็นเมืองใหม่ ฝีมือยังค่อนข้างหยาบเมื่อเปรียบเทียบกับศิลปกรรมที่มีชื่อเสียงของจังหวัดอื่นๆ ซึ่งพอจะแบ่งเป็นแขนงต่างๆ ได้ดังนี้

                        - สถาปัตยกรรม  ได้แก่งานด้านสิ่งก่อสร้างต่างๆ เช่น ที่อยู่อาศัย สถานที่ราชการ โบราณสถานทางศาสนา วัดวาอารามต่างๆ งานสถาปัตยกรรมที่สำคัญและถือว่างดงามที่สุดที่มีการก่อสร้างในจังหวัดประจวบก็คงจะได้แก่ พระราชวังไกลกังวล อุโบสถประจำวัดวาอารามต่างๆ เช่น อุโบสถวัดเกาะหลัก ศาลากลางจังหวัด ส่วนงานสถาปัตยกรรมด้านอื่นๆ นั้นก็เป็นแบบสามัญที่มีอยู่โดยทั่วไป

            - จิตรกรรม ได้แก่งานที่แสดงออกโดยการขีดเขียนออกมาเป็นรูปภาพหรือภาพต่างๆ ซึ่งงานจิตรกรรมในเขตจังหวัดประจวบคีรีขันธ์นี้มีน้อยมาก แต่เท่าที่พอมีอยู่และจัดว่าสวยงามมีอายุมานานก็ได้แก่ ภาพวาดเปิดนรกสวรรค์ ภาพวาดชาดก ในอุโบสถวัดเกาะหลัก

            - ประติมากรรม ได้แก่งานที่เกี่ยวกับการปั้น หล่อ และแกะสลัก ถ้าจะกล่าวถึงงานด้านประติมากรรมของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ได้แก่ พระพุทธรูป และพระประธานในอุโบสถของวัดต่างๆ  ส่วนประติมากรรมด้านอื่นๆ นั้นยังไม่เป็นที่เด่นชัดนัก

2. ขนบธรรมเนียมประเพณี 

            จังหวัดประจวบคีรีขันธ์เป็นจังหวัดหนึ่งที่ประชากรยังมีการอนุรักษ์วัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณีที่ดีของไทยไว้ ซึ่งจะเห็นได้จากในเทศกาลต่างๆ ชาวจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ยังยึดมั่นและสืบทอดประเพณีตามเทศกาลตลอดมา ไม่ว่าจะเป็นประเพณีทางศาสนาหรือประเพณีตาม     เทศกาลก็ตาม เช่นประเพณีลอยกระทง  ประเพณีวันสงกรานต์  ประเพณีการบวชนาค  ประเพณีวันสำคัญในทางศาสนา 

3. นิทานพื้นบ้านเรื่องตาม่องล่าย 

            นิทานพื้นบ้านเป็นเรื่องเล่ากันต่อมา ไม่มีหลักฐานปรากฏว่าเริ่มมีมาตั้งแต่สมัยใด วิวัฒนาการมาเรื่อย ๆ จนกลายเป็นวรรณคดี นิทานประจำพื้นบ้าน ดังเช่นนิทานเรื่องตาม่องล่ายก็เป็นเรื่องเล่ากันต่อ ๆ มาดังนี้

            ณ บริเวณหมู่บ้านอ่าวน้อยริมทะเล มีสามีภรรยาคู่หนึ่งคือ ตาม่องล่ายและยายรำพึง ทั้งคู่มีอาชีพการประมงและทำไร่อยู่กันมาด้วยอย่างมีความสุข จนมีลูกสาวคนหนึ่งชื่อยมโดย จนกระทั่งยมโดยลูกสาวคนเดียวของตาม่องล่ายและยายรำพึงเติบโตขึ้นเป็นสาว มีรูปร่างหน้าตาสวยงามและเป็นคนขยันขันแข็ง ยมโดยเป็นที่หมายปองของชายหนุ่มทั้งใกล้และไกล รวมทั้งหนุ่มน้อยหน้ามลรูปงามบุตรเจ้าเมืองเพชรบุรีซึ่งมีชื่อว่าเจ้าลาย เจ้าลายได้ทราบกิตติศัพท์ความงามของยมโดยก็ปลอมตัวเป็นชาวบ้าน เดินทางมาค้าขายและใช้เวลาว่างทำประมงบริเวณอ่างน้อยเป็นเวลานาน จนได้รู้จักทั้งนางรำพึงและยมโดย ต่อมาในที่สุดทั้งเจ้าลายและยมโดยต่างก็มีความรักใคร่ต่อกันอย่างลึกซึ้ง เจ้าลายจึงส่งผู้ใหญ่มาสู่ขอยมโดยต่อนางรำพึง นางรำพึงเห็นว่าเจ้าลายเป็นคนดีก็ตอบตกลง พร้อมทั้งได้นัดวันแต่งงานกันไว้โดยมิได้บอกให้ตาม่องล่ายทราบเรื่อง

            ในระหว่างนั้นตาม่องล่ายก็ได้รู้จักกับเจ้ากรุงจีนซึ่งเดินทางมาค้าขายแถบนั้น เจ้ากรุงจีนได้เห็นความงามของยมโดยก็เกิดความรักยมโดย จึงได้สู่ขอยมโดยกับตาม่องล่าย และได้นัดวันแต่งงานกันไว้ด้วย ซึ่งก็เป็นวันเดียวกันกับเจ้าลาย และตาม่องล่ายก็มิได้บอกให้นางรำพึงทราบเช่นเดียวกัน

            ครั้นถึงวันแต่งงานทั้งสองตายายก็เตรียมเชิญแขกให้มาในงานแต่งงานลูกสาวมากมาย พอได้ฤกษ์เจ้าลายก็ยกขบวนขันหมากอันมโหฬาร พรั่งพร้อมด้วยทรัพย์สินสิ่งของ ตลอดจนเพื่อนฝูง พี่น้องมาจากเพชรบุรี มาถึงพร้อมๆ กับเจ้ากรุงจีนซึ่งยกขบวนขันหมากมีทรัพย์สินมากมาย ไม่แพ้ขบวนขันหมากของเจ้าลาย ทั้งสองได้ตั้งเรือขันหมากในอ่าวหน้าหมู่บ้านอ่าวน้อยนั่นเอง เมื่อตาม่องล่ายและยายรำพึงได้ทราบความจริง ก็เกิดทะเลาะกันขึ้น ต่างฝ่ายต่างก็จะยกลูกสาวให้คนที่ตนหมายมั่น นางรำพึงโมโหคว้าหมวกที่วางอยู่ใกล้ๆ เหวี่ยงใส่หน้าตาม่องล่าย ตาม่องล่ายหลบทัน หมวกจึงปลิวไปตกที่ริมหาดประจวบคีรีขันธ์ ต่อมาหมวกนั้นกลายเป็นเขารูปร่างคล้ายหมวก เลยได้ชื่อว่าเขา      ล้อมหมวก ตาม่องล่ายก็โยนกระบุงใส่นางรำพึง กระบุงลอยไปตกในทะเลที่จังหวัดตราดกลายเป็นเกาะกระบุง และได้มีการขว้างปาสิ่งของอื่นๆ กันอีกจนไปเกิดเป็นเกาะมากมาย เช่น สากตำข้าวปลิวไปถูกเขาลูกหนึ่งอยู่ที่อำเภอบางสะพานจนทะลุ เขาลูกนั้นได้ชื่อว่าเกาะทะลุ และสากเลยไปตกที่ทะเลชุมพร กลายเป็นเกาะสากอยู่ที่ปากน้ำชุมพร และตอนที่สากไปถูกเกาะทะลุนั้นสากได้ไปถูกกระจงคอขาด หัวกระเด็นไปตกในทะเลที่หน้าบ่อคา อำเภอสวี จังหวัดชุมพร กลายเป็นเกาะหัวกระจง ส่วนไส้พุงของกระจงก็พลอยไปตกอยู่ใกล้ๆ กับหัวกระจงกลายเป็นเกาะไส้กระจง จากนั้นนางรำพึงได้วิ่งหนีตาม่องล่ายไปจนหมดแรงที่อ่าวบางสะพานและได้ตายกลายเป็นภูเขาใหญ่อยู่ที่ริมอ่าว เขาลูกนั้นเลยได้ชื่อว่าเขาแม่รำพึง ตาม่องล่าย ไม่รู้จะทำอย่างไรดี ความเสียใจบวกกับความโกรธอย่างสุดขีด จึงตรงเข้าไปจับยมโดยลูกสาวฉีกออกเป็นสองซีก โยนไปให้เจ้าลายซีกหนึ่งโยนไปตกในทะเลแถบอำเภอปราณบุรีกลายเป็นเกาะ เรียกว่าเกาะนมสาว อีกซีกหนึ่งโยนออกไปห่างพระเจ้ากรุงจีน ไปตกยังทะเลที่จังหวัดชลบุรีกลายเป็นเกาะนมสาวอีกแห่งหนึ่ง เจ้าลายเห็นเช่นนั้นรู้สึกผิดหวังและอาลัยรักยมโดยมาก จึงทิ้งหมากพลูเครื่องขันหมากที่นำไปลงทะเล เครื่องขันหมากหมากพลูกลายเป็นเขาสามร้อยยอดที่อำเภอปราณบุรีและกิ่งอำเภอสามร้อยยอดในปัจจุบัน ส่วนเครื่องเพชรพลอยต่างๆ กลายเป็น  ภูเขาเพชรพลอย เขาหัวแก้วหัวแหวนที่จังหวัดเพชรบุรี จากนั้นเจ้าลายได้เดินทางกลับบ้าน และในที่สุดก็เลยตรอมใจตายกลายเป็นภูเขาที่อำเภอชะอำจังหวัดเพชรบุรี ชื่อเขาเจ้าลาย

            ส่วนขันหมากของพระเจ้ากรุงจีนก็กลายเป็นหอยนานาชนิด เช่น พลูจีบกลายเป็นหอยมวนพลู หมากกลายเป็นหอยหมากที่คนเอามาเล่นหมากรุก ขนมจีนที่ตระเตรียมเอามาเลี้ยงแขกก็กลายเป็นสาหร่ายทะเล ปูทอดมันกลายเป็นปูหิน พวกเครื่องเพชรพลอยต่างๆ ก็กลายเป็นหอยดาว ตะเกียบกลายเป็นเขาตะเกียบที่หัวหิน กระจกส่องหน้าของยมโดยก็ไปติดอยู่ที่เขาช่องกระจกประจวบคีรีขันธ์ จานข้าวไปตกเป็นเกาะจาน ตาม่องล่ายเองก็ระทมทุกข์ไปคว้าเหล่าไปนั่งดื่มที่ชายทะเลอ่าวน้อย จนกลายเป็นเขาตาม่องล่าย นอนพิทักษ์อ่าวประจวบคีรีขันธ์มากระทั่งบัดนี้

4. การเล่นวัววิ่งลาน

            การเล่นวัววิ่งลานเป็นที่นิยมกันมากของชาวจังหวัดเพชรบุรี และราชบุรี แต่เนื่องจากประชากรส่วนหนึ่งของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์อพยพเคลื่อนย้ายมาจากจังหวัดเพชรบุรีจึงได้นำการเล่นวัววิ่งลานมาเล่นที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ด้วย

            การเล่นวัววิ่งลาน วิวัฒนาการมาจากการใช้วัวนวดข้าว เพราะลักษณะลานนวดข้าวเป็นวงกลม การผูกวัวติดกันเพื่อนวดข้าวนั้นวัวที่อยู่ใกล้จุดศูนย์กลางไม่ต้องใข้กำลังและฝีเท้ามาก เพราะอยู่ในช่วงหมุนรอบสั้น แต่วัวที่อยู่นอกสุดนั้นอยู่ห่างจากจุดศูนย์กลางมากระยะทางที่ต้องหมุนจะยาวกว้างขึ้นจึงต้องเลือกวัวตัวที่มีกำลังและฝีเท้าดี การนวดข้าวจึงเป็นไปด้วยดี

            จากลักษณะเช่นนี้เองเกษตรกรจึงคิดการเล่นวัววิ่งลานขึ้นมาเพื่อเป็ฯการประกวดกันว่าวัวของใครจะมีฝีเท้าและกำลังดีกว่ากันเพื่อความสนุกสนาน ความมีชื่อเสียงและยังให้ผลต่อการค้าขายวัวอีกด้วย เพราะวัวที่ชนะการวิ่งลานจะมีผู้สนใจขอซื้อด้วยราคาสูง

            การเตรียมสถานที่เล่นวัววิ่งลาน ต้องมีที่เป็นลานกว้างสำหรับวัววิ่งมีเสาศูนย์กลางซึ่งมีชื่อเรียกเฉพาะว่าเสาเกียรติ และมีเชือกพรวนไปตามแนวรัศมีของลานและมีราวสำหรับพักวัว

            การเล่นจะมีผู้มาร่วมหลายคณะการแข่งขันจะมีสองฝ่ายแล้วแต่คณะไหนจะตกลงแข่งขันกัน ฝ่ายหนึ่งเรียกว่าวัวรอง อีกฝ่ายหนึ่งคือฝ่ายวัวนอก ฝ่ายวัวรองจะผูกวัวไปตามเชือกพรวนรัศมีของลานประมาณ 17-20 ตัว ตามแต่จะตกลงกัน แต่ต้องคัดเลือกวัวที่มีฝีเท้าดีประมาณ 3 ตัว ไว้รอบนอกโดยที่วัวตัวนอกสุดจะต้องมีฝีเท้าดีมาก วัวทั้งสามตัวนี้จะต้องวิ่งกันมิให้วัวนอกของอีกฝ่ายหนึ่งที่จะนำมาผูกวิ่งอยู่ด้วยแซงได้

            ฝ่ายวัวนอกจะนำวัวที่มีฝีเท้าดีที่สุดมาผูกทับ (ผูกต่อ) วัวรอง เพื่อจะได้แข่งกันว่าวัวตัวไหนมีฝีเท้าและกำลังดีกว่ากัน เมื่อปล่อยวัวไปแล้วถ้าวัวนอกวิ่งแซงวัวรองได้ และสามารถลากวัวรองไปได้อย่างไม่เป็นขบวน และทำให้วัวรองดิ้นหลุดจากระดับแถว แสดงว่าวัวนอกชนะ แต่ถ้าวัวรองสามารถวิ่งแซงวัวนอกและลากวัวนอกไปจนทำให้ดิ้นออกจากรัศมีแถวได้ก็ถือว่าวัวรองชนะ ถ้าทั้งสองฝ่ายไม่สามารถแซงซึ่งกันและกันได้ก็เสมอกัน และมีการเล่นแบบนับรอบว่าจะวิ่งได้สูงสุดกี่รอบโดยมีการตั้งเกณฑ์ไว้

            การเล่นวัวลานนี้มักเล่นกันในฤดูแล้ง หรือฤดูว่างจากการทำนา และเป็นการเล่นที่สามารถหารายได้สมทบทุนการกุศลให้แก่วัดวาอารามได้เป็นอย่างดี เพราะมีประชาชนนิยมดูการเล่นวัวลานเป็นจำนวนมาก แต่ในปัจจุบันมักมีเรื่องของการพนันขันต่อมาร่วมอยู่ด้วย

5. เพลงพื้นบ้าน 

เพลงพื้นบ้านเป็นวรรณกรรมชาวบ้านประเภทหนึ่งที่ใช้ร้องเล่นในท้องถิ่นในยามว่างหรือเทศกาลต่างๆ ถ่ายทอดสืบต่อกันมาโดยใช้ความจำแล้วร้องหรือเล่นกันต่อๆ มาเป็นวัฒนธรรมทางด้านความบันเทิงของชาวบ้านในท้องถิ่น

            เพลงพื้นบ้านเป็นเพลงที่มีมาแต่โบราณกาล มีหลายรูปแบบตามแต่ละท้องถิ่น เช่น เพลงปรบไก่ เพลงเรือ สักวา เพลงเกี่ยวข้าว เพลงฉ่อย ลำตัด เป็นต้น ปัจจุบันวัฒนธรรมตะวันตกได้เข้ามาครอบงำวัฒนธรรมในด้านเพลงพื้นบ้าน จนเด็กๆ ปัจจุบันไม่รู้จักและร้องเพลงพื้นบ้านไม่ได้แล้ว ร้องได้แต่เพลงสตริง จึงจำเป็นที่คนไทยทุกคนควรตื่นตัวในการรวบรวมเพลงพื้นบ้านไว้เพื่อมิให้        สาปสูญไป

เพลงพื้นบ้านที่มีร้องเล่นกันในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ส่วนใหญ่เป็นเพลงที่รู้จักกันและร้องเล่นกันทั่วๆ ไปคล้ายคลึงกับจังหวัดอื่นๆ ในเขตภาคกลาง ซึ่งส่วนใหญ่แล้วจะเป็นเพลงที่เด็กร้องเล่นกันและเพลงที่ผู้ใหญ่ใช้ร้อง จำแนกได้เป็นเพลงเด็กและเพลงผู้ใหญ่ดังนี้

เพลงเด็ก 

            - เพลงร้องเล่น เพลงร้องเล่นเป็นเพลงที่เด็กใช้ร้องเล่นกัน ไม่ต้องมีการเล่นประกอบ ใช้ร้องเพื่อความสนุกสนาน เนื้อร้องอาจจะไม่มีความหมายที่ได้ แต่จะมีความคล้องจอง ใช้คำง่ายและชวนขัน เช่น

                        ฝนตกแดดออก                            นกกระจอกเข้ารัง

            แม่หม้ายใส่เสื้อ                                        ถ่อเรือไปดูหนัง

            ทิ้งลูกอยู่ข้างหลัง                          ร้องกระจอ งอแง

 

            - เพลงหยอกล้อ เพลงหยอกล้อเป็นเพลงที่เด็กๆ ร้องล้อเลียนกันเกี่ยวกับสิ่งผิดปกติ เด็กที่ถูกล้อจะโกรธเคืองกันบ้างบางทีถึงกับขับไล่ขว้างปา เตะ ทะเลาะกันก็มี แต่ก็จะหายโกรธกันในเวลาอันรวดเร็ว เช่น

                        ผมจุก    มาคลุกน้ำปลา                  เห็นขี้หมา                    นั่งไหว้กระจ้องหง่อง

            ผมม้า                 หน้าเหมือนแมว                ดูเข้าแล้ว                     หน้าเหมือนหมา

            ผมเปีย               มาเลียใบตอง                   พระตีกลอง                  ตะลุ่มตุ้มโมง

            ผมแกละ กระแดะใส่เกือก               ตกน้ำตาเหลือก    เหลือเกือกข้างเดียว

 

            - เพลงประกอบการเล่น ได้แก่เพลงที่เด็กร้องประกอบการเล่นอาจจะร้องเป็นกลุ่มหรือร้องทีละคน สลับข้างกันก็ได้ บางทีก็ปรบมือให้จังหวะหรือทำท่าประกอบด้วย เช่น

                        มอญซ่อนผ้า                    ตุ๊กตาอยู่ข้างหลัง

            ไว้โน้นไว้นี้                                  ฉันจะตีก้นเธอ

           เพลงผู้ใหญ่ 

            เพลงผู้ใหญ่เป็นเพลงที่ผู้ใหญ่ตั้งแต่วัยหนุ่มสาวจึงถึงวัยชราร้องเล่นกัน อาจร้องเพื่อความบันเทิงในเทศกาลหรือร้องประกอบพิธีกรรม หรือร้องประกอบการเล่นของผู้ใหญ่ แต่เพลงผู้ใหญ่ที่พอมีอยู่บ้างในเขตจังหวัดประจวบคีรีขันธ์มีดังนี้

            - เพลงกล่อมเด็ก เป็นเพลงที่ผู้ใหญ่ร้องกล่อมเด็กในเวลานอนเพื่อต้องการให้เด็กเบนความสนใจมาสู่สำเนียงกล่อม สนใจฟังเนื้อเพลงซึ่งมีต่างๆ กัน จะรู้เรื่องบ้างหรือไม่รู้เรื่องบ้างก็ไม่เป็นไร จะได้หยุดร้องไห้โยเย เกิดความเพลิดเพลินกับทำนองขับเอื้อนในที่สุดก็หลับไปโดยไม่รู้ตัว เพลงกล่อมเด็กที่นิยมร้องกัน เช่น เพลงนกกาเหว่า เพลงเอื้อน  เป็นต้น

            - เพลงประกอบพิธี ชาวบ้านในแต่ละถิ่นจะมีพิธีกรรมที่มาจากความเชื่อ เช่น พิธีขอฝน แห่นางแมว บวชนาค พิธีกรรมเหล่านี้มักจะมีเพลง เหล่ สวด แต่เพลงประกอบพิธีที่ใช้กันบ่อยในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์จะเป็นบทสวดทำขวัญนาค เพราะชาวจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ การทำขวัญนาคจะมีหมอทำขวัญมาว่าบทสวดในตอนกลางคืน บททำขวัญนาคจะเริ่มจากบทอัญเชิญเทวดา เคารพคุณปฏิสนธิ นามนาค สอนนาค ลานาค เชิญขวัญ เป็นต้น

 

หมายเลขบันทึก: 305163เขียนเมื่อ 12 ตุลาคม 2009 11:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มิถุนายน 2012 01:34 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท