การเรียนภาษาน่าจะเริ่มที่การ “พูด” ให้ได้ก่อนการอ่าน เขียน และไวยากรณ์


ผมเข้าใจว่ารากศัพท์ “ภาษ” น่าจะแปลว่าการพูด ไม่ได้แปลว่า เขียน ไวยากรณ์ การเขียน และ ไวยากรณ์น่าจะมาทีหลัง หลังจากพูดเป็นแล้ว

จากประสบการณ์ตรงของผม ทั้งส่วนตัว และการทำงาน พบว่าคนไทยมีปัญหาเรื่องการใช้ภาษาที่สอง โดยเฉพาะภาษาอังกฤษ ค่อนข้างมาก

ผมก็เคยมีปัญหาดังกล่าวสมัยมาทำงานใหม่ๆ แบบไม่กล้าพูดกับใคร เห็นฝรั่งเดินมาต้องหาทางเลี่ยงหลบมากที่สุดที่จะทำได้ เพราะพูดไม่เป็น กลัวพูดผิด 

จนมีอยู่ครั้งหนึ่ง มีอาสาสมัครอเมริกันมาพักอาศัยอยู่ใกล้ๆบ้านพักที่ผมอาศัย ในมหาวิทยาลัย เขาพยายามหัดพูดภาษาไทยกับเรา เราก็เลยนึกสนุกแบบพูดไทยคำฝรั่งคำ ไม่กลัวผิด 

พอเห็นผมพูดผิดมากๆเขาก็แนะนำให้ เขาพูดผิดมากๆเราก็แนะนำให้ ถ้อยทีถ้อยอาศัย

ทำให้การพูดภาษาอังกฤษของผมพัฒนาไปรวดเร็วกว่าที่เคยเรียนมาทั้งระดับประถม มัธยม ปริญญาตรี และ โท

ที่ทำให้ผมกล้าและมั่นใจที่จะไปสอบเข้าเรียนปริญญาเอก

ที่จริงก่อนหน้านี้ ผมเคยเรียนภาษาอังกฤษมาก็หลายรอบ ทั้งเรียนในชั้น เรียนพิเศษ เรียนแบบหลักสูตรเร่งรัดตอนได้ทุนเรียนปริญญาโท ก็ยังไปเรียนภาษาอังกฤษก่อน

แต่ก็ไม่มีความสามารถพอที่จะ “กล้า” พูดภาษาอังกฤษกับใคร

เมื่อมีโอกาสมาพบวิธีการเรียนที่ถูกต้อง จึงพยายามทำความเข้าใจ และแก้ไขปัญหาในรุ่นลูกได้อย่างทันเหตุการณ์พอดีๆ

  • ผมสอบผ่านได้ทุนไปเรียนปริญญาเอกที่ออสเตรเลีย กล้าพูด กล้า เขียน กล้าบรรยาย และกล้าที่จะถกเถียง “ปรัชญา” กับฝรั่ง โดยใช้ภาษาอังกฤษ
  • ไปเช่าบ้านร่วมกับนักเรียนฝรั่ง เพื่อที่จะมีโอกาสพูดได้บ่อยขึ้น
  • ใช้หลักการนี้ ทำตัวเป็น “คุณอำนวย” สอนภาษาอังกฤษให้ลูกชาย และลูกสาว
  • โดยเริ่มจากการพูดให้ได้ ผิดถูกไม่สำคัญ หัดฟังและโต้ตอบ แล้วจึงไปเรียนการใช้ภาษา ไวยากรณ์ และการเขียน เป็นลำดับสุดท้าย

ผลเชิงประจักษ์ก็คือ

  • ผมกล้าที่สื่อสารกับต่างชาติแบบไม่กลัวผิด ถ้ามีฝรั่งคนไหนบอกว่าผมพูดผิด หรือเขียนผิด ผมจะท้าสลับภาษาทันที โดยให้ผมพูดหรือเขียนภาษาอังกฤษ เพื่อแข่งกับเขาที่พูดและเขียนโดยใช้ภาษาไทย ที่ไม่มีใครกล้ารับคำท้า และยอมมองข้ามข้อผิดพลาด แบบไม่สนใจมากนัก
  • ลูกชายผมไปสอบเข้างานที่ไหนก็ไม่ค่อยมีปัญหา เพราะเขาสัมภาษณ์เป็นภาษาอังกฤษ วิชาการนั้นไม่เท่าไหร่ แต่ตอบคำถามทุกประเด็นได้พอๆ กับพูดภาษาไทย เขาก็ยอมแล้วครับ
  • ลูกสาวผม ปัจจุบัน จดบันทึกทุกอย่างเป็นภาษาอังกฤษ ทั้งส่วนตัวและการเรียนมหาวิทยาลัย (แม้จะฟังบรรยายเป็นภาษาไทย)
  • สามารถ อ่าน พูด เขียน ภาษาอังกฤษ ได้ดีเท่าๆ กับภาษาไทย
  • ชอบอ่านตำราภาษาอังกฤษ มากกว่าตำราที่ “ดัดจริต” แปลเป็นภาษาไทย แบบดูยังไงๆ ก็ยังมีคราบภาษาอังกฤษอยู่จนน่ารำคาญ
  • ที่ใช้ภาษาไทยก็เฉพาะทำรายงาน กับเขียนตอบข้อสอบเท่านั้น
  • ภรรยาผมที่อยู่ในสภาพแวดล้อมดังกล่าว ก็สามารถพูดจาโต้ตอบเป็นภาษาอังกฤษแบบ “ไม่มีปัญหา”

เรื่องนี้น่าจะเป็นตัวอย่างหนึ่งของการเรียนภาษาที่แท้จริง

และผมเข้าใจว่ารากศัพท์ “ภาษ” น่าจะแปลว่าการพูด

ไม่ได้แปลว่า เขียน หรือ ไวยากรณ์ อย่างที่เราเน้นเรียนกัน

ารเขียน และ ไวยากรณ์น่าจะมาทีหลัง (และควรสอนทีหลัง) หลังจากพูดได้แล้ว

เพราะ เมื่อพูดได้แล้ว อย่างอื่นก็ตามมาเอง ในทุกภาษา (จากข้อสังเกตที่คนไทยทุกคนพูดไทยได้ โดยอาจจะเขียนหรืออ่านไม่ได้ ก็ได้)

ทีนี้ในระบบการเรียนการสอน

เราสอนกันแบบ “ย้อนศร” การพัฒนาการทางสมอง และการเรียนรู้ด้านภาษาของคน

ที่ทำให้ผู้เรียนอย่างผม กลายเป็นคน “อ่อนภาษา”

ไปอย่างไม่น่าจะมีใครเชื่อ

และกล้าพูดว่า "เป็นวิชาเดียวที่ผมสอบตกในระดับปริญญาตรี"

ทั้งๆที่วิชาอื่นๆ ผมได้คะแนนสูงเกือบทั้งหมด จนมีสิทธิ์สมัครทุนเรียนปริญญาโทของทบวงมหาวิทยาลัย (ที่มีตำแหน่ง "อาจารย์" ให้เลือกไปลง พร้อมๆกับทุนการศึกษา)

และ เมื่อผมกลับมาคิดถึงการเรียนภาษาไทยของผม และคนไทยทุกคน

ผมก็ไม่เห็นแม่คนไหนสอนให้ลูกเขียนให้ได้เสียก่อน รู้ไวยากรณ์เสียก่อนที่จะหัดพูดภาษาไทย

และไม่มีแม่คนไหนที่ “บังคับสอน” ให้เด็กท่องว่า "อักษรกลางของไทยมีเก้าตัว" ก่อนที่หัดพูดภาษาไทยคำแรก (แบบที่ถูกบังคับให้ท่องในภาษาอังกฤษ)

เพราะนั่นคือ ธรรมชาติที่แท้จริงของการเรียนภาษา

  • ที่น่าจะแปลว่า “การเรียนพูด”
  • การเขียนน่าจะเป็นการบันทึกคำพูด ที่ตามมาหลังจากพูดได้แล้ว
  • ที่อาจต้องไปเรียนไวยากรณ์
  • ที่ช่วยให้การเขียนมีหลักการ และไม่ผิดเพี้ยนไปตามสำเนียงและวิธีการพูดของแต่ละคน

นี่คือหลักการเรียนภาษาที่ผมเข้าใจ และพัฒนาผลเชิงประจักษ์ในครอบครัวผม

และผมว่า ยังไม่สาย ที่เราจะมาทำความเข้าใจปัญหาการเรียนการสอนภาษาในสถาบันการศึกษาทุกระดับ

โดยปรับกระบวนการให้เป็นธรรมชาติมากขึ้น ประหยัดมากขึ้น มีประสิทธิภาพมากขึ้น และมีผลการเรียนที่นำไปใช้ประโยชน์ได้จริง

ไม่ต้องมาอึดอัดกับการ “ใช้ภาษาที่สอง” ไม่ได้ (จะเป็นภาษาใดก็แล้วแต่)

จนทำงานไม่ได้ การติดต่อสื่อสารผิดพลาด จนอาจเป็นขีดจำกัดในการทำงาน และเกิดความเสียหายกับการทำงาน และการดำรงชีวิตประจำวัน

น่าจะดีกว่าไหมครับ

หมายเลขบันทึก: 304973เขียนเมื่อ 11 ตุลาคม 2009 13:22 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 พฤษภาคม 2012 11:30 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)

     ในฐานะที่เรียนมาทางภาษา และสอนภาษาอังกฤษมาระยะหนึ่ง ขอยนยันว่าจริง และเห็นด้วยกับแนวคิด และความเชื่อของอาจารย์ครับ

     ประสบการณ์ตรงของผมก็คล้ายๆกันครับ ทักษะทางภาษาพัฒนา ก้าวหน้ามากก็เมื่อได้ใช้มันบ่อยๆ ในสถานการณ์จริง มันจะคล่องของมันโดยไม่ทันรู้ตัว 

     โดยธรรมชาติคนเรามีปาก มีหูติดตัวกันทุกคน ไม่ต้องไปแสวงหาสื่อ หรือเครื่องส่งเครื่องรับอื่นใด ก็สามารถสื่อภาษากันได้เสมอ เราจะไม่เคยได้ยินใครบอกว่า ขอเสียบปลั๊กเปิดปาก  หรือกดสวิตช์เปิดหู  นั่นคือเหตุผลว่า ทำไมเรียนภาษาจึงเกิดผลมากจากการพูดและฟังสดๆ ในสถานการณ์จริงอย่างเป็นธรรมชาติ  มันทำให้เกิดการเรียนรู้อย่างมีอารมณ์ เพลิดเพลินและตื่นเต้นตลอดเวลา และที่สำคัญมันเป็นการเรียนรู้ที่มีเป้าหมายชัดเจนมาก  ปฏิบัติอย่างมีความหมายไปตลอดเวลาที่ฟังและพูด  ในที่สุดก็เป็นการจดจำและความเคยชิน พอมาเรียนหลักไวยากรณ์ ก็จะเข้าใจง่าย นึกถึงตัวอย่างจริงมากมายที่เคยใช้สื่อสารด้วยการพูดและฟัง  ความรู้ที่หนักแน่น มั่นคงก็เกิดขึ้น

    ในที่สุดก็มาถึงข้อสรุปแบบเดิมๆอีกจนได้ว่า ไม่ว่าจะเรียนเรื่องใด ศาสตร์แขนงไหน ขอให้ได้ปฏิบัติจริงในสถานการณ์จริง อย่างมีความหมายให้เร็วๆ  ไม่ควรหลงทางไปท่องทฤษฎีกันจนอ่อนล้าแล้วค่อยมาลองปฏิบัติ  ทฤษฎีคู่ปฏิบัติ คือหลักการที่น่าจะยอมรับได้ทุกกรณีครับ  แต่จะต้องวางรากฐานทางหลักการและทฤษฎีมากน้อยเพียงใดก็ขึ้นอยู่กับธรรมชาติของเรื่องราวที่เรียนรู้  การลองผิดลองถูกก็เป็นโอกาสให้ได้ค้นพบอะไรใหม่ๆได้มาก หากเรื่องนั้นๆไม่มีอันตรายหรือความเสี่ยงมากเกินไป

สวัสดีค่ะอาจารย์เห็นด้วยกับการให้พูดได้ก่อนแล้วค่อยมาอ่านและเขียน..ไปเรียน 30 ชั่วโมงก็ยังพูดไม่ได้เลย ภาษาENG เน้นการอ่านถูกต้องลงเสียงชัดเจนและเขียนให้ถูกหลักไวยากรณ์ ..หนูเหนื่อยมากๆ..ฝึกเขียนประโยค..

ขอบคุณครับ อาจารย์ ... ทุกข์ใจเลยล่ะครับ ภาษาอังกฤษเนี่ย เรียนยังไงก็ไม่เก่งสักที

เดินทางผิดนี่เอง ;)

ผมมาคิดออกตรงที่ว่า การพูดเป็นภาษาแรกของการสื่อสาร ถ้าไม่นับภาษาของการแสดงท่าทาง

การเขียนน่าจะมาทีหลังแบบห่างๆเลยครับ

ไม่ว่าเชิงประวัติศาสตร์ หรือก่อนประวัติศาสตร์ หรือ การพัฒนาการของสิ่งมีชีวิต

นี่คือธรรมชาติของการเรียนภาษา

ผมไม่ทราบว่าใคร "ริเริ่ม" การเรียนแบบย้อนศร

ที่ทำให้ทุกคนลำบาก

มันแปลกแต่จริง

ผมคงต้องขอความรู้จากนักภาษาศาสตร์ ว่าข้อได้เปรียบของการเรียนเขียน เรียนไวยากรณ์ก่อนการพูดนั้น คืออะไร

ผมว่าน่าจะมีข้อดีบ้างล่ะครับ แต่ผมไม่ทราบเท่านั้นเอง

แม้จะดีอย่างไร ก็ผิดธรรมชาติอยู่นั่นเอง

ผมไม่ค่อยนิยมสิ่งผิดธรรมชาติ ถ้าไม่จำเป้นจริงๆ

สวัสดีครับ

สำหรับดิฉัน ประสบการเรียนภาษาอังกฤษเริ่มเรียนสนทนาที่ เอ ยู เอ เพราะตอนเรียนอาจารย์ไม่ยอมให้เราอ่านเลย พอไปเรียน เราก็ฝึกเสียงตามครู หัดฟังจนจบได้ เกือบเก้าสิบเปอร์เซ็นต์

ต่อมา ไปเรียนภาษาฝรั่งเศส หยุดไป จนจบปริญญามาเรียนใหม่ อาจารย์บอกว่าอยู่ในลิ้นชักหมดแล้ว ต้องงัดออกมาใหม่ ในห้องไม่ค่อยได้พูด แต่จะหัดพูด หัดฟังจากนักท่องเที่ยว ใครมาพูดมาถามทาง จะต้องลงเอยด้วยภาษาฝรั่งเศสว่างั้น เพราะเราไม่อยากพูดอังกฤษ ปรากฏว่าเขารู้เรื่องแฮะ บอกเลี้ยวซ้าย ขวา.........

ต่อมาไปเรียนฝรั่งเศส ก่อนไปจ้างอาจารย์สอนส่วนตัว ปี ๓๗ได้ ราคาห้าร้อยต่อชั่วโมง ไปถึง อาจารย์ให้ข้ามชั้น เลยต้องรีบไปขอเรียนเริ่มต้น เพราะว่าการฟังยังไม่ดีบวกกับไม่รู้วิธีการเรียน เพื่อนฝรั่งเศสสอนเรา แต่เขาสอนอ่านแล้วอธิบายไม่เป็น เราไม่เข้าใจ

ดูโทรทัศน์ทัศน์ทุกวันถ้าอยู่ห้อง พูดตาม ฟังข่าว ทำอยู่สองปี สำเนียงได้แต่การสะกดยังไม่ถูกหมด

ปีที่สี่ เราก็ได้เพราะว่าเรียนฟังคณะกฎหมายอยู่สองปี แต่ยังไม่กล้าเขียน ทั้งที่เขียนได้ แต่กลัว พอสอบ ถึงจะสอบตกได้เพียงเก้าเต็มยี่สิบ แต่ว่าเราไม่ได้เอาประมวลกฎหมายเข้าไป เพราะไม่ทราบ

ต่อมาไปเรียนภาษาและอย่างอื่นต่อ หนีไปอยู่ปารีสน่ะ

จากนั้นที่ได้เรียนด้านอักษรศาสตร์สำหรับชาวต่างชาติทำให้เราเรียนลึกซึ้งขึ้น แต่ส่วนที่เราชอบเก็บเล็กเก็บน้อยอย่างวัฒนธรรมเราก็ได้มาใช้ในการพูดคุยกับเพื่อน ผู้ใหญ่

ภาษาอังกฤษ ได้ดีขึ้นจากงานล่ามที่ศาล งานเขียนนั้นได้มาจากการอ่านและพื้นฐานฝรั่งเศสระดับสูง จึงเป็นการเรียนแบบก้าวกระโดดด้วยตัวเอง แต่ต้องขยันมากๆ เพราะวันดีคืนดี จะมีคนโน้น คนนี้โทรมาถามว่าการใช้อย่างนี้ ๆๆ ถูกไหมใช้ได้ไหม เราต้องตอบได้ว่าผิดหรือถูกอย่างไร ต้องติดตามค้นคว้าตลอดหรือเรื่อยๆยามมีเวลา

ภาษาอังกฤษไม่ยากเมื่อเทียบกับภาษาอื่นๆ แต่ก็มีความซับซ้อนของตัวเอง ในระดับสูงสุดคงยากแน่ ไม่ใช่ว่าข้าพเจ้าจะเรียนได้ด้วยตัวเองเหมือนกัน

ขอบคุณครับ ที่มาแลกเปลี่ยนประสบการณ์

ก็ตอกย้ำว่า วิธีการสอนและการเรียนภาษาผิดจริงๆ

เมื่อไหร่เราจะคิดแก้ไขกันบ้าง

ขอยืมวลีจากเพลงวงคาราบาว ว่า

"...ชาติหน้ามีจริงแค่ไหน แล้วชาตินี้เราจะทำกันยังไง...."

ฮ่วย....

Sir,

"... ยังไม่สาย ที่เราจะมาทำความเข้าใจปัญหาการเรียนการสอนภาษาในสถาบันการศึกษาทุกระดับ

โดยปรับกระบวนการให้เป็นธรรมชาติมากขึ้น ประหยัดมากขึ้น มีประสิทธิภาพมากขึ้น และมีผลการเรียนที่นำไปใช้ประโยชน์ได้จริง ..."

Indeed! We need more 'English speaking Thai teachers' -- even when they are not qualified. I think if they can learned to speak English, they can be trained to teach English.

I think if we can 'excite' learners' senses, they will learn (some faster than others). To learn to speak English we also learning 'to master' numbers [singular, plural]; sex [ ;-) ]; time [ tenses]; and so on ... The learning can be about becomeing conscious of 'who we are and what things are' in details, 'when events happen' in time, where ..., why and how ... This learning can encourage us to take off into the real world. A living one.

เห็นด้วยครับ

ครูสอนภาษาใดก็ตาม ต้องพูดภาษานั้นเป็นก่อน

เพราะ ภาษา แปลว่า การพูดครับ

ถ้าพูดไม่เป็น ไม่คล่อง

น่าจะถือว่า

คุณสมบัติไม่พอ ครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท