KM Workshop ทีมงานสุขภาวะชุมชน (๔)


จังหวะของการถามเป็นเรื่องสำคัญเหมือนกัน หากไม่ปล่อยให้เพื่อนเล่าเรื่องอย่างต่อเนื่อง เราอาจจะไม่เห็นความคิด ความเชื่อ ความรู้สึกของเจ้าของเรื่อง และคำถามจะดึงทิศทางของเรื่องเล่าออกไปจากทางที่เขาตั้งใจไว้

ตอนที่

วันที่ ๔ ตุลาคม ๒๕๕๒
ประมาณ ๐๗ น. ผู้เข้าประชุมทยอยกันมารับประทานอาหารเช้ากันเรื่อยๆ ดิฉันคุยกับคุณอนันต์ ผู้ใหญ่บ้านจากตำบลวังอ่าง ได้รู้ว่าหลังจากได้มาเล่าเรื่องของตนเองในเวทีครั้งก่อน ทำให้ผู้ใหญ่บ้านได้คุณสมพงษ์จาก อบต มาร่วมงานด้วย และในตำบลวังอ่างมีเรื่องดีๆ หลายเรื่อง เช่น เศรษฐกิจพอเพียง ธนาคารต้นไม้ สมุนไพร ที่เริ่มจากการที่มีชาวบ้านคนหนึ่งมีอาชีพไปเก็บสมุนไพรในป่ามาขาย ต่อมาก็นำมาปลูก จนขยายไปสู่การแปรรูปสมุนไพร

ยิ่งพูดยิ่งคุยยิ่งได้รู้ว่ามีเรื่องราวดีอีกมากที่สามารถนำมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกัน หลายพื้นที่ทำเรื่องเดียวกัน เช่น ธนาคารต้นไม้ ที่ชุมพร ที่สุราษฎร์ธานีก็มี ถ้ามีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างพื้นที่ ความรู้ก็จะยิ่งถูกยกระดับขึ้นไปเรื่อยๆ

เมื่อได้เวลา ๐๘.๓๐ น. ตามที่นัดหมาย เราให้ผู้เข้าประชุมเข้ากลุ่มเดิม เล่าเรื่องกันอีกเพื่อจะให้ฝึกการสกัดขุมความรู้ แต่ให้เล่ากันเพียงกลุ่มละ ๑-๒ เรื่อง อาจเป็นเรื่องใหม่หรือเรื่องเดิมที่เล่าเมื่อวานนี้ก็ได้ ทุกกลุ่มเล่ากันแบบออกรสชาติ เสียงดังตั้งแต่เริ่มต้น "คุณลิขิต" ก็ตั้งใจจดบันทึกอย่างเต็มที่ สิ่งที่สังเกตได้อย่างหนึ่งคือ "คุณกิจ" หลายคนลืมใช้เทคนิคการฟังอย่างลึก เพราะสนใจเรื่องที่เพื่อนเล่าอย่างมาก เลยตั้งหน้าตั้งตาซักถามกันเป็นการใหญ่ เจ้าของเรื่องจึงไม่สามารถเล่าเรื่องได้อย่างต่อเนื่องตั้งแต่ต้นจนจบ

 

ทั้งคนเล่า คนฟัง คนจด ต่างก็ตั้งใจกันอย่างเต็มที่

จังหวะของการถามเป็นเรื่องสำคัญเหมือนกัน หากไม่ปล่อยให้เพื่อนเล่าเรื่องอย่างต่อเนื่อง เราอาจจะไม่เห็นความคิด ความเชื่อ ความรู้สึกของเจ้าของเรื่อง และคำถามจะดึงทิศทางของเรื่องเล่าออกไปจากทางที่เขาตั้งใจไว้

เราจำกัดเวลาของการเล่าเรื่อง เพื่อให้ผู้เข้าประชุมได้เรียนรู้เทคนิคอื่นต่อ ดิฉันกับคุณธวัชต้องช่วยกันเบรกตั้งนานกว่าจะทำให้กลุ่มหยุดการเล่าเรื่องได้ คุณธวัชบอกว่าช่วงเล่าเรื่องต้องให้เวลามาก เรื่องเล่าเป็นแบบนี้คือตอนเริ่มยังไม่รู้เป็นอย่างไร แต่พอเครื่องติดจะไม่ค่อยยอมเลิก คุณธวัชยกตัวอย่างเรื่อง “การถอนหลัก ปักเขต” เป็นตัวอย่างการบันทึกเรื่องเล่าว่าต้องประกอบด้วยชื่อเรื่อง เนื้อเรื่อง เจ้าของเรื่อง คำสำคัญหรือขุมความรู้ สิ่งที่สำคัญมากต้องกลับไปดูว่าในเรื่องเล่ามีส่วนที่ว่า “ทำพันพรือ (How to)” หรือเปล่า

ต่อไปเราให้ทุกกลุ่มช่วยกันเขียน “ขุมความรู้” จากเรื่องเล่า การอธิบายเรื่องนี้ให้ผู้เข้าประชุมเข้าใจค่อนข้างยาก คุณธวัชอธิบายว่าเป็นคำหลักที่ได้จากเรื่องเล่า เช่น การให้น้ำในพื้นที่ลาดเอียง.....ช่วงนี้มีคำถามมากว่าอย่างนี้อย่างนั้นใช่ไหม สังเกตเห็นว่าแต่ละกลุ่มเริ่มถกกัน เดินดูเห็นมีวิธีเขียนที่ต่างกัน มีบางกลุ่มเขียนว่า “ปอดอักเสบ” “แผลติดเชื้อ” ดิฉันจึงคุยกับคุณธวัชจนได้ข้อสรุปในการอธิบายว่าให้เขียนเป็นสำนวนหรือวลีที่สรุปจาก “ทำพันพรือ” ใช้เวลามากกว่าการเล่าเรื่องเสียอีก บางกลุ่มเรียกหากระดาษเพิ่มเติมอีก

เราเอาขุมความรู้ที่ได้มาสาธิตการจัดหมวดหมู่และสังเคราะห์เป็นแก่นความรู้ เอาตัวอย่างจากเวทีครั้งก่อนมาให้ดู ผู้เข้าประชุมบางคนมีคำถามเยอะว่าจะมีวิธีการใช้คำสั่งอย่างไรให้ผู้เข้าประชุมเข้าใจและทำได้ถูกต้อง

 

เรียนรู้การสังเคราะห์แก่นความรู้

ประมาณ ๑๐.๓๐ น. พัก รับประทานอาหารว่าง ผู้เข้าประชุมรวมกลุ่มคุยกันอีก ทุกคนดูมีไฟที่อยากจะเอา KM ไปใช้ในการทำงาน ดิฉันเพิ่มเติมเรื่องดีของ KM ว่าได้เรื่องความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างคน ได้เพื่อน ทำให้คนตัวเล็กตัวน้อยรู้ว่าตัวเองมีค่ามีความสำคัญ ผู้ใหญ่บ้านจากตำบลวังอ่างบอกความรู้สึกว่าที่เคยเข้าร่วมเวทีตลาดนัดความรู้และเล่าเรื่องการทำงานของตนเองว่าทำให้รู้สึกภูมิใจมาก

๑๑ น. ดิฉันเล่าเรื่อง “เพื่อนช่วยเพื่อน” ในเครือข่าย KM เบาหวาน ว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร มีการเตรียมการอย่างไรบ้าง กิจกรรมเป็นอย่างไร และเกิดผลอะไรขึ้นบ้าง คุณธวัชเล่าเรื่องการเรียนรู้ของนักเรียนโรงเรียนชาวนา ความรู้มือสองเข้ามาเสริมในจังหวะที่เหมาะสม สร้างความรู้สำหรับตนเองได้

ผู้เข้าประชุมให้ความสนใจจนถึงช่วงสุดท้าย

เราเล่าบอกถึงกระบวนการที่ทำให้ความรู้ไหลเวียน ความรู้อยู่ในตัวของคนปฏิบัติอยู่แล้ว ไม่ใช่เราที่เอาความรู้ไปใส่ การใช้บล็อกเท่ากับได้ share และทำคลังความรู้ไปในตัว ทำไปนานๆ ก็เหมือนมีห้องสมุด เราเอาเครื่องมือหลายๆ อย่างมาบอก ให้เลือกเอาไปใช้ อะไรยากก็เก็บไว้ก่อน

ปิดท้ายด้วย AAR คุณธวัชบอกว่าเหมือนมวยไทยที่ต่อยกันหลายยก พอหมดยกทีเขาจะ AAR พอทำอะไรเสร็จอย่าทิ้งเวลาไว้นานให้ชวนกันมาทำเลย มาจากหลักของทหารที่ใช้ในสงคราม ทุกคนได้พูดบอกว่าตนเองได้อะไรไม่ได้อะไร จะกลับไปทำอะไรต่อ

เราปิดการประชุมเมื่อเวลา ๑๓.๓๐ น. รับประทานอาหารกลางวันร่วมกัน ก่อนแยกย้ายกันเดินทางกลับ ดิฉันนัดหมายกับเจ้าของเรื่องราวดีๆ ว่าจะไปเยี่ยมถึงที่ในเร็วๆ นี้

วัลลา ตันตโยทัย

หมายเลขบันทึก: 304851เขียนเมื่อ 10 ตุลาคม 2009 20:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 21:41 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

เรียนอ. วัลลา

ต้องขอขอบคุณอาจารย์ที่ได้เขียนเรื่องเล่าดี หนูได้มีโอกาสนำไปประยุกต์ใช้ในการทำงานกับกลุ่มสูงอายุ เมื่อ5 ต.ค52 ได้มีโอกาสพบีมหมอนิพัธ มคุณดต้ง ที่รพ แพร่ ในเวทีPhare KMDM

ขอบคุณค่ะ

ครูต้อยมาเรียนรู้ค่ะ

ได้วิธีการเทคนิค

ในการถ่ายทอดการเขียนเล่าเรื่อง

เป็นประโยชน์มากค่ะ

และมาติดตามกิจกรรมเบาหวานดีๆ

บรรยากาศเรแลกเปลี่ยนแบบนี้ดูเหมือนวงการครูยังนำมาใช้น้อยมาก

อาจเป็นเพราะครูยังติดเก้าอี้อยู่ค่ะ

แต่ครูต้อยชอบมากๆค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท