ซีรี่ย์นี้ คงเป็นตอนสุดท้ายของ กรมอนามัยรับแขก กพร.สป. นะคะ เรามี AAR ต่อท้ายการดูงาน ในประเด็นคำถาม และคำตอบ ซึ่งอาจไม่ใช่คำตอบเดียวซะทีเดียว ... คำว่า KM ไม่มีถูก ไม่มีผิด แต่เป็นสิ่งที่ได้มาจากประสบการณ์ การเรียนรู้ และการต่อยอด AAR ที่ได้มานี้ จึงเป็นคำถาม และคำตอบเบื้องต้นนะคะ ที่ท่านที่มีประสบการณ์เดียวกันอาจเสนอความคิดเห็นต่อยอดเพิ่มเติมได้อีก
AAR จากการ ลปรร. ระหว่างกรมอนามัย และ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ก็คือ
- เราก็ทำคู่มือโดยไม่เคยใช้ KM ... ทำไมบอกว่า KM นำไปสู่คู่มือ
- ถ้าจะ ลปรร. ไปดูงานวิจัยที่เขามีอยู่แล้ว ไม่ดีกว่าหรือ
- ความรู้ที่ได้จาก ลปรร. เชื่อถือได้แค่ไหน
- Website มีประโยชน์อะไร ทำ KM โดบไม่มี Web ไม่ได้หรือ
- คำเท่ห์ๆ จากการ ลปรร.
คลิ๊กแต่ละคำถาม เข้าไปดูเนื้อหารายละเอียดได้นะคะ
ส่วนอื่นๆ ที่เพิ่มเติมนั้น เป็นบทส่งท้ายจาก คุณหมอสมศักดิ์ ค่ะ น่ารู้น่าอ่านก็เลยเอาฝากค่ะ
เรื่อง KM ของกรมอนามัย ถ้าถามผม ผมจะพูดว่า 2-3 ปีที่ผ่านมานี่ มันไม่ได้เริ่มแล้วเปลี่ยนทันทีหรอก ทีมแกนกลางของ KM กรมอนามัย ตั้งขึ้นมาประมาณปี 47 เราตั้ง แล้วคุยกัน ก็เซ็งๆ นิดหน่อย ... เราพยายามถามว่า ทำ KM คืออะไร เหมือนกัน ... ผมก็คิดว่า
อันที่หนึ่ง ... เราโชคดี เพราะรัฐบาลไม่ได้เร่งรัดมาก ผู้ใหญ่ไม่ได้มานั่งเร่งรัด ว่าต้องไปส่งโน่น นี่ เราก็พยายามค่อยทำไปได้ ข้อดีของเรา
อันที่สอง ... ข้อดีคือ กรมปล่อยให้เรา Flexible มาก เราก็หกคะเมนตีลังกา เปลี่ยนคณะกรรมการ จัดประชุม และก็อย่างที่บอก เราเริ่มด้วยการให้เขียนแผน ทุกกองต้องส่งแผนมา ก็ดีนะ เพราะว่าทุกกองก็ส่งแผนมา รู้เรื่องบ้าง ไม่รู้เรื่องบ้าง เราก็ออกมาเป็นตารางๆ ว่า มีกิจกรรม 6-7 ประเภท ท่านดูสิ ว่าท่านจะทำอะไรบ้าง สมมติว่าตีความเป็นประเภทต่างๆ เราก็ไม่ได้ชี้แจงนะ มีกระดาษไปแผ่นเดียว กองก็เลือกมามากมายมาก เราก็มาตรวจว่าตรงกับประเภทนี้หรือเปล่า ก็ไปดูประวัติศาสตร์ตรงนั้นได้ สรุปคือ เราใช้แผนเป็นตัวเดิน และได้บ้างไม่ได้บ้าง
และสิ่งที่ทำให้งานมันเกิดถึงวันนี้ได้ ก็คือ คนในกองแต่ละกอง แต่ละหน่วยงาน ทำกันอย่างมันมือ โดยที่ไม่สนใจว่า ผู้บริหารจะเปิดไฟเขียว ไฟเหลือง หรือว่าไฟแดง อันนี้เป็นส่วนสำคัญ
อันที่สาม ... ผมคิดว่า เราพยายามทำมาก คือ เราพยายามให้คนที่มีแรงอยากทำ มีเพื่อน เราไม่ปล่อยให้เขาโดดเดี่ยว เราพยายามสร้างให้เขามาเจอกัน คณะกรรมการ KM ก็เข้าไป clear และจัดประชุมบ้าง งบประมาณก็มีบ้างไม่มีบ้าง และที่ผมพบคือ คนของกองฯ ก็มีใจ ศูนย์ฯ เองเดินทางมา ออกเงินเองก็มา ก็มีถามว่า มีเงินส่วนกลางหรือเปล่า เราบอกว่าไม่มี เขาก็ออกเงินให้เขามากันเอง เราก็พยายามอยู่ และผู้บริหารกรมก็คอยพูดเชียร์ แค่พูดเชียร์คนก็มีแรง เราทำไปสักพัก ผอ.กอง หรือศูนย์ ที่ละล้าละลัง ไม่แน่ใจ ดีไม่ดี ก็จะเห็นประโยชน์ มันก็จะเริ่ม และพอถึงเวลาก็จะเป็นของเราละ ให้กับคนทำงานที่อยากจะทำ KM
ผมบอกพวกเราที่ทำงาน KM เสมอๆ ว่า ... ถ้าถามผมเหรอ ผมว่า KM เป็นโอกาสดีที่รัฐบาลมองว่าสำคัญ ความจริงมันสำคัญสำหรับทุกคนอยู่แล้ว ในการทำให้คนทำงาน ลองถามตัวเองบ้างว่า ตั้งแต่เราเกิดมา เราไม่รู้เรื่องการจัดการความรู้ได้หรือเปล่า ... ผมจะเทียบเรื่องเด็กนักเรียน เราเห็นเด็กเรียนเก่งสอบได้คะแนนดี เราก็ว่าเด็กคนนี้เก่งหรือเปล่า จริงๆ สิ่งที่เราจะบอกว่าคนเก่งได้ เด็กคนนั้นต้องเรียนเป็น ไม่ใช่เรียนเก่ง ไม่ได้อยู่ที่คะแนนที่ดี ... คนทำงานทุกคนก็เหมือนกัน ทำงานสำเร็จนี่ ไม่เท่ากับรู้ว่าทำงานยังไงให้สำเร็จ เพราะว่าเที่ยวหน้ามันก็อาจจะล้มเหลวก็ได้ เพราะมันก็มี factors เยอะแยะ แต่เรื่องที่ control ได้ คือ ความรู้ของเราในการทำงาน มัน control ยากนะ ทำแล้วจะเป็นใหญ่เป็นโตได้ด้วยหรือเปล่า ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ที่เป็นตัวอย่างเปรียบเทียบได้
เพราะฉะนั้นทุกคนต้องพยายามสร้างความสามารถในการเรียนรู้ แล้วการเรียนรู้จากงานก็เป็นการเรียนรู้ชีวิตแบบหนึ่ง เราก็ทำงานจนเกษียณ หรือว่าจะเกษียณก่อนหน้านั้น ... แต่ว่าการเรียนรู้การทำงานก็เป็นการเรียนรู้ชีวิต มันไม่มีอะไรมาก เพราะฉะนั้น เมื่อองค์กรเขาเปิดโอกาสให้เราพัฒนาความสามารถในการเรียนรู้ ทำไมเราจะไม่ทำ คิดได้อย่างนั้นทุกคนก็จะช่วยกันทำ เท่าที่มีโอกาสอำนวย มากบ้างน้อยบ้าง อย่างน้อยก็ยังดีกว่าไม่มี
... 10 ซีรี่ย์นี้ คงเป็นบท ลปรร. ให้กับผู้สนใจทุกท่านนะคะ และคงต้องคำนึงด้วยว่า เราอาจมีบริบทที่แตกต่าง บทนี้คงเป็นบทเรียนหนึ่ง และบทเรียนของท่านก็คงเป็นอีกบทเรียนหนึ่ง ที่อาจมีความแตกต่างไปบ้าง และทีมกรมอนามัยก็ยินดีที่จะแลกเปลี่ยนประสบการณ์ค่ะ ...