การพัฒนาผู้เรียนให้มีทัศนคติการคิดเชิงบวก


มองกว้าง คิดไกล ใฝ่สูง ศีรษะเฉียดฟ้า ฝ้าเท้าติดดิน

 

 

 

การพัฒนานักเรียนให้มีทัศนคติการคิดเชิงบวก

โดย  พรชัย  ภาพันธ์
ผู้อำนวยการโรงเรียนไทยรัฐวิทยา 63 (ชุมชนบ้านคำแดง)
ตำบลเดิด อำเภอเมือง จังหวัดยโสธร 35000

 

       สิ่งที่ทำให้คนเหนือคน คือ การมีความคิดที่ชาญฉลาด สามารถปรับเปลี่ยนความคิดของตนให้แตกต่างจากบุคคลอื่นไปสู่การปฏิบัติที่เป็นไปได้ ทุกคนจึงต้องคิดตลอดเวลาเพื่อปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมรอบตัว บทบาทของครูยุคใหม่ต้องปลูกฝังทักษะการคิดให้เกิดกับผู้เรียนอย่างรอบด้าน เพราะกระแสโลกมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว การรู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงจึงจะทำให้สามารถดำรงตนอยู่ได้อย่างปลอดภัย โรงเรียนเป็นแหล่งพัฒนาคนให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ทั้งร่างกายและจิตใจ สิ่งแวดล้อมรอบตัวนักเรียน เช่น การเลือกคบคนดี มีคุณธรรม มีน้ำใจ มีสติปัญญาเท่ากันหรือเหนือกว่า จะทำให้เกิดการพัฒนาตนเอง ทั้งนี้เพราะอยู่ใกล้กับแหล่งความรู้ ใกล้ครูที่ปรึกษาหรือกัลยาณมิตรที่ดี ทำให้มีโอกาสที่จะเลือกอ่าน เลือกดู เลือกฟัง ในสิ่งที่ดีงาม ถ้าครูจัดบรรยากาศสิ่งแวดล้อมได้ดี นักเรียนจะพัฒนาความคิดและค่านิยมที่ถูกต้องได้ เป็นเส้นทางสู่ความสำเร็จ ก้าวหน้าในงานและชีวิต โดยปกติคนเรานั้นมักจะเป็นไปตามสิ่งที่เราคิด คิดแล้วจึงพูด พูดแล้วจึงทำ คิดเช่นไรมักจะเป็นเช่นนั้น คิดเช่นไรมักจะพูดเช่นนั้น คิดเช่นไรมักจะทำเช่นนั้น การพัฒนาทัศนคติเชิงบวก(Positive Mental Attitude) จะพัฒนานักเรียนมีจิตใจอยู่ในสภาวะที่ดี ปฏิบัติต่อผู้อื่นอย่างสร้างสรรค์ ยึดปรัชญาฉันทำได้ และจะทำดังคำกล่าวที่ว่าฝันให้ไกล ไปให้ถึง โดยมีความเชื่อว่า หากฉันได้ฟัง ฉันจะลืม หากฉันได้เห็น ฉันจะทำได้ แต่ถ้าฉันทำฉันจะเข้าใจ ภารกิจของครูจึงเปลี่ยนบทบาทจากผู้บอกมาเป็นผู้กระตุ้นให้นักเรียนได้เรียนรู้จากการปฏิบัติ ได้ค้นพบตัวตน สามารถคิดเป็น ทำเป็น แก้ปัญหาเป็น มองปัญหาเชิงบวก เพราะทุกปัญหาล้วนมีเมล็ดพันธุ์ของทางแก้อยู่ในตัวอยู่แล้ว การเปลี่ยนวิกฤตให้เป็นโอกาส จึงเป็นบทบาทของครูในการพัฒนานักเรียนให้มีทัศนคติคิดเชิงบวก 

 ความหมายของการคิดเชิงบวก

       นิภา  แก้วศรีงาม(2548 : 76) ให้ความหมายการคิดเชิงบวกว่า เป็นกระบวนการทางความคิดของบุคคลที่เกิดจากการที่คนมีรูปแบบการรับรู้และการคิด(Perception and cognitive style)ไปในทิศทางที่ดี มองและรับรู้สิ่งต่าง ๆ ตามความเป็นจริง ด้วยอารมณ์ที่ผ่องใส จึงทำให้มีพฤติกรรมการแสดงออกที่เหมาะสม เป็นการโน้มน้าวจิตใต้สำนึกที่ดี

       รัตนา  บรรณาธรรม( 2548 : 1) ให้ความหมายการคิดเชิงบวกว่า การคิดเชิงบวกเป็นศิลปะสำคัญของการดำรงชีวิตให้มีความสุข เป็นกลอุบายกล่อมใจให้ยอมรับสภาพปัญหาที่กำลังปรากฏ เพื่อให้มีกำลังใจและความเข้มแข็งในการต่อสู้กับชีวิตต่อไป

      เวรา  ไฟฟ์เฟอร์(2002 : 16 – 27)  ให้ความหมายการคิดเชิงบวกว่า เป็นการสร้างเจตคติที่ดีต่อตนเอง ต่อผู้อื่นและสภาพการณ์เจตคติที่เป็นบวก ทำให้สามารถอยู่ในโลกที่สับสนวุ่นวายนี้ได้อย่างประสบความสำเร็จและมีความสุข

      สรุปได้ว่าการคิดเชิงบวก หมายถึง ศิลปะการดำรงชีวิตให้มีความสุขประสบความสำเร็จ ท่ามกลางปัญหาและอุปสรรค โดยการสร้างเจตคติที่ดีต่อตนเอง ต่อคนอื่นและสภาพการณ์ที่เป็นบวก เปลี่ยนปัญหาให้เป็นกำลังใจและความเข้มแข็งในการต่อสู้อย่างสร้างสรรค์

 ลักษณะของการคิดเชิงบวก

      1. เปลี่ยนการคิดเชิงตำหนิกลายมาเป็นยอมรับความเป็นจริงของตนเอง คิดหาทางปรับปรุงแก้ไขเหตุการณ์ของชีวิตให้ดีขึ้น โดยการศึกษาข้อผิดพลาดของตนเองและผู้อื่นมาเป็นข้อมูล โดยไม่ตำหนิไม่วิพากษ์วิจารณ์ข้อบกพร่องหรือข้อผิดพลาดของตนเอง คนอื่นหรือสิ่งรอบข้าง

      2. มองทุกปัญหาอย่างสดใส ให้มองหาสิ่งที่ดีในเหตุการณ์ รู้จักนำเรื่องร้าย ๆ ที่เกิดขึ้นมาใช้ประโยชน์ เรียนรู้ที่จะเปลี่ยนวิกฤติให้เป็นโอกาส

      3. การคิดเชิงบวกเป็นการเรียนรู้ของบุคคลที่ฝึกฝนและพัฒนาได้ เป็นการเรียนรู้ในการแปลความหมายเหตุการณ์ต่าง ๆ ในด้านบวก แสดงความรู้สึกดี ๆ ความอิ่มเอมใจ ปลาบปลื้มใจ กระปรี้กระเปร่ามีพละกำลัง

      4. มองให้เห็นว่าสิ่งที่เรากำลังทำนั้นส่งผลดีกับใครบ้างอยู่เสมอ เป็นการกล่อมเกลาจิตใจของคนเราให้มองเห็นคุณค่าของตนเองและเห็นคุณค่าของคนอื่น หล่อหลอมให้เป็นคนชอบช่วยเหลือและเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่

      5. สร้างวินัยให้กับตนเองให้เป็นคนที่ทำงานให้เสร็จทันเวลาที่กำหนด เป็นการฝึกตนเองให้เห็นคุณค่าของเวลา ทราบความสามารถของตนว่าอยู่ในระดับใดเพื่อจะได้ขอความช่วยเหลือและคำแนะนำจากคนอื่นได้ทันท่วงที

 การพัฒนาทัศนคติเชิงบวกให้เกิดขึ้นกับนักเรียน

       เฉลิมชัย  เลิศทวีพรกุล(2551 : 9 -123)ได้เสนอแนะแนวทางในการพัฒนานักเรียนให้เกิดทัศนคติเชิงบวก 10 ขั้นตอน ดังนี้

       1. โน้มน้าวให้นักเรียนควบคุมตนเองให้มีจิตสำนึกคิดเชิงบวก ศรัทธาในความงามความฝัน ถ้าคิดว่าทำได้แล้วคุณจะทำได้และลงมือทำเดี๋ยวนี้ กฎของความสำเร็จ คือ ลงมือทำเดี๋ยวนี้

       2. ฝึกให้นักเรียนเอาใจจดจ่อกับสิ่งที่พึงปรารถนาและหลีกจากสิ่งที่ไม่พึงปรารถนา โดยการสร้างมโนภาพ ถ่ายทอดความคิดออกมาเป็นรูปภาพ เพราะรูปภาพหนึ่งรูปมีค่าเท่ากับคำพูดพันคำ เมื่อประสบปัญหา ล้มเหลว พ่ายแพ้หรือไม่สบอารมณ์ ให้ตอบโต้ด้วยความคิดเชิงบวก ที่จบไปแล้วคือจบ เราไม่สามารถเปลี่ยนแปลงอดีตได้ แต่เราสามารถเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นกับสิ่งที่จะเกิดในปัจจุบันและอนาคต วันวานผ่านไปแล้ว พรุ่งนี้ยังมาไม่ถึง จงทำวันนี้ให้ดีที่สุด ครูควรฝึกให้นักเรียนยอมรับว่าทุกปัญหามีทางออกเสมอและเป็นทางออกที่สวยงามด้วย

        3. ยึดกฎใจเขาใจเรา กฎมนุษย์ทองคำกล่าวว่า จงปฏิบัติต่อผู้อื่นในลักษณะเดียวกับที่เราต้องการให้ผู้อื่นปฏิบัติต่อเรา ครูควรฝึกให้นักเรียนแบ่งปันสิ่งของที่มีให้ผู้อื่น เป็นการเสียเพื่อได้ และการให้เพื่อเพิ่ม เมื่อช่วยเหลือผู้อื่นก็เหมือนได้ช่วยเหลือตนเอง การให้จึงควรเป็นการให้เกียรติ ให้โอกาสและการให้อภัยซึ่งเป็นคุณธรรมสูงสุดของมนุษย์

        4. ขจัดความคิดเชิงลบออกให้หมด ด้วยการให้นักเรียนทบทวนตนเอง จากสาเหตุที่ทำให้คิดเชิงลบ 3 เรื่องคือ

            4.1 การนำอดีตที่เคยผิดหวัง ล้มเหลว เราไม่มีทางทำได้ มาตอกย้ำตัวเองนั่นคือขาดความมั่นใจ

            4.2 ปฏิเสธคนอื่นรอบข้าง โดยรู้สึกว่าคนอื่นคงดีใจเมื่อเราล้มเหลว ทำให้โอกาสที่จะร่วมมือทำงานหรือแชร์ความรู้สึกกับคนอื่นไม่สามารถเกิดขึ้นได้

            4.3 คิดว่าอะไรที่ไม่สำเร็จก็ไม่มีทางแก้ไขหรือไม่มีทางออกอื่นอีกแล้ว เช่นเด็กที่เอนทรานซ์ไม่ติด ก็ฆ่าตัวตาย ทั้งที่ความเป็นจริงเราก็สามารถเรียนในมหาวิทยาลัยเปิด หรือมหาวิทยาลัย เอกชนได้เหมือนกัน ครูจึงไม่ควรตอกย้ำปมด้อยของนักเรียน ควรให้เขาได้บอกสิ่งที่เขาประสบความสำเร็จและภูมิใจในตนเองเพื่อขจัดความคิดเชิงลบออกให้หมด

         5. ให้นักเรียนได้ใช้ชีวิตอย่างมีความสุข แล้วแบ่งปันความสุขให้ผู้อื่นด้วย ครูต้องมีความเมตตาเป็นฐาน ไม่กดดันให้เกิดความกังวล เปลี่ยนความกังวลให้เป็นกังวลอย่างสร้างสรรค์ ฝึกให้ยึดกฎในการแก้ปัญหาความกังวล 2 ข้อ คือ ให้คิดถึงผลลัพธ์ที่ดีที่สุดที่อาจเกิดขึ้นกับปัญหาหรือความน่าจะเป็น กับสิ่งที่เขากังวลและสิ่งที่เกิดขึ้นในที่สุดมีความเป็นไปได้สูง ครูควรช่วยให้นักเรียนสามารถควบคุมสถานการณ์ ตอบสนองต่อปัญหาเชิงบวก สร้างนิสัยมองโลกในแง่ดีในทุก ๆ สถานการณ์

         6. สร้างนิสัยใจกว้างให้เกิดขึ้นกับนักเรียน การเปิดใจกว้างเพื่อยอมรับผู้อื่นในรูปแบบที่เขาเป็น มองหาจุดดีและเรียนรู้ที่จะชอบผู้อื่น ฝึกให้นักเรียนนึกถึงบุคคลผู้หนึ่งที่เขายอมรับไม่ค่อยได้ โดยให้เขียนชื่อเขาคนนั้น แล้วฝึกยอมรับในสิ่งที่เขาเป็นโดยไม่ปล่อยให้ความรู้สึกมาครอบงำจิตใจ ฝึกให้นักเรียนเคารพในบุคคลอื่นแล้วนักเรียนก็จะได้รับการเคารพกลับคืน

         7. ให้นักเรียนเตือนตนเองด้วยการคิดเชิงบวก ให้นักเรียนได้ควบคุมสิ่งเร้าจิตใจที่เกิดขึ้นภายนอก การฝึกการควบคุม 3 รูปแบบ คือ การเตือน จากสิ่งเร้าจิตใต้สำนึก คือ การมองเห็น การได้ยิน สัมผัสทางกาย รสชาติและกลิ่น การเตือนตนเองให้พบกับแง่มุมสนุกสนาน หัวเราะกับข้อผิดพลาด ไม่เครียดและมีอารมณ์ขันขณะเกิดปัญหา การเตือนอัตโนมัติ คือ ให้นักเรียนได้รับรู้ข้อมูลที่ดี ๆ เพื่อให้การแก้ปัญหาให้เกิดผลลัพธ์ที่ดีออกมา

         8. พลังแห่งการอธิษฐาน  เมื่ออธิษฐานจะเกิดแรงศรัทธาและความเชื่อมั่นในสิ่งที่มุ่งหวัง  การอธิษฐานได้ผลดีที่สุดคือการเชื่อมั่นอย่างแท้จริงว่าจะได้รับการตอบรับ  ครูควรให้นักเรียนได้ปฏิบัติ  7  ประการคือ  อธิษฐาน  คิด  พูดคุยกับผู้รู้แต่เชื่อทันที  ระมัดระวังในการทำตามความตั้งใจ  มีความโน้นเอียงในสิ่งอธิษฐาน  ลงมือทำโดยไม่รั้งรอ  และบันทึกผลที่เกิดจากการอธิษฐานเพราะพลังอันยิ่งใหญ่ที่สุด  สถิตอยู่ในพลังของการอธิษฐาน

          9. ฝึกให้นักเรียนได้กำหนดเป้าหมาย  การกำหนดเป้าหมายเป็นวิธีการหนึ่งในการมุ่งจุดสนใจไปยังสิ่งที่ต้องการ  โดยกำหนดเป้าหมายทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ครูควรฝึกให้นักเรียนกำหนดเป้าหมายตามสูตร D-E-S-I-R-W  ดังนี้

                        D = Determine             ต้องการอะไร

                        E = Evaluate                 จะให้สิ่งใดตอบแทน

                        S = Setadate                 เมื่อใดจึงจะบรรลุผล

                        I  =  Identify                 จัดทำแผน  สิ่งไดให้ทำทันที

                        R = Repeat                    เขียนขั้นตอนซ้ำอีก            

                        E = Every day              ทำทุกวัน

                        การเดินทางต้องมีเข็มทิศ  การดำเนินชีวิตจึงต้องมีเป้าหมาย

           10. ศึกษาและวางแผนทุก ๆ วัน ในแต่ละวันครูควรฝึกให้นักเรียนได้ปฏิบัติกิจกรรม 15 ถึง 20 นาที ในการคิดถึงเป้าหมายด้วยทัศนคติเชิงบวก  ตรวจสอบทัศนคติของตนเองด้วยทัศนคติเชิงบวก  ทบทวนการกระทำและการคิดด้วยทัศนคติเชิงบวก อ่านหนังสือสร้างแรงบันดาลใจ  จัดสรรเวลาเพื่อศึกษา  คิดและวางแผนด้วยทัศนคติเชิงบวก

 การคิดสร้างสรรค์เพื่อสนับสนุนการคิดเชิงบวก

          เกรียงศักดิ์  เจริญวงศ์ศักดิ์  กล่าวถึงคนคิดที่สร้างสรรค์  ควรหลีกเลี่ยง พร้อมต้องพัฒนาให้เกิดขึ้นด้วย 9 ข้อ ดังนี้

          1. อย่าคิดแง่ลบ  ต้องคิดแง่บวก

          2. อย่าชอบพวกมากลากไป  ต้องหัวเดียวกระเทียมลีบบ้าง

          3. อย่างปิดตัวเองในวงแคบ  ต้องเปิดรับสถานการณ์ใหม่

          4. อย่ารักสบายทำไปเรื่อย ๆ ต้องลงแรงบากบั่นมุ่งความสำเร็จ

          5. อย่ากลัว ต้องกล้าเสี่ยง

          6. อย่าหมดกำลังใจเมื่อไม่พบคำตอบ  ต้องอดทนต่อความคลุมเครือ

          7. อย่าท้อใจกับความผิดพลาด  ต้องเรียนรู้กับความล้มเหลว

          8. อย่าละทิ้งความคิดใด ๆ จนกว่าจะพิสูจน์ได้ว่าไร้ประโยชน์  ต้องชะลอการตัดสินใจ

          9. อย่ากลัวการเผยแพร่ผลงาน  ต้องกล้าเผยแพร่ผลงาน

ลักษณะของบุคคลที่คิดเชิงบวกที่มีเป้าของชีวิตที่เป็นสุข

         พลเดช  ศรีบุญเรือง(2552 : 1 -2) ได้กล่าวถึงลักษณะของบุคคลที่มีกระบวนการคิดที่สร้างสรรค์เชิงบวกและมีการคิดวิเคราะห์ในการพัฒนางานให้ประสบความสำเร็จ ดังนี้

        1. มองตนเองให้ออก การดำเนินชีวิตต้องพึ่งพาข้อมูล สารสนเทศ ประสบการณ์สอนให้เรารับรู้อดีต ปัจจุบันและอนาคต ครูต้องพัฒนานักเรียนให้วิเคราะห์ตนเองว่ามีจุดเด่นจุดด้อยเรื่องใด เมื่อมีจุดด้อยต้องพัฒนา เมื่อชีวิตราบรื่นก็ควรดำรงรักษาไว้ให้ยาวนาน การมองตนเองออกจึงเป็นแนวทางที่จะทำให้นักเรียนสามารถปรับตัวอยู่ในสังคมอย่างราบรื่น

        2. บอกตนเองได้ นักเรียนต้องได้รับการพัฒนาทักษะชีวิต สามารถขับเคลื่อนตนเองในการดำเนินชีวิตได้อย่างมีเป้าหมาย โดยกำหนดเป้าหมายชีวิตได้อย่างมีความหวังและเป็นไปได้ ตาม Road Map : PAAR  ดังนี้

               P : Participates (การมีส่วนร่วม) ในสังคมร่วมกับบุคคลรอบข้าง

               A : Attude (การมีเจตคติที่ดี) ต่อตนเองและผู้อื่น

               A : Action(สรรสร้างการปฏิบัติงาน) ความคิดสร้างสรรค์คือความเป็นคนเหนือคน

              R: Result (การมุ่งผลสัมฤทธิ์ของงาน) การมุ่งมั่นทำงานด้วยความรับผิดชอบ รอบคอบและชาญฉลาดจะส่งผลให้เกิดคุณภาพงาน ที่สำคัญต้องเป็นบุคคลแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต  

          3. ใช้ตนเองให้เป็น ครูต้องกระตุ้นให้นักเรียนสามารถสร้างความฝันหรือจินตนาการอย่างมียุทธศาสตร์ ตามแนวทาง DARA Project ดังนี้

               D : Development (การพัฒนาตนเองอย่างยั่งยืน) การพัฒนาตนเองคือการแก้ไขข้อบกพร่องของตนเองให้เป็นไปในทางที่ถูกต้องเหมาะสม

               A : Assessment (การประเมินเพื่อพัฒนา)

               R : Result (การมุ่งผลสัมฤทธิ์ของงาน)

               A : Advance (ความก้าวไกล)

          4. เห็นตนเองให้ถูก การคิดเชิงบวกต้องมุ่งพัฒนาสู่ผลสัมฤทธิ์ของงาน ( Result Base Management : RBM) ค่าของคนอยู่ที่ผลของงาน คนที่มีคุณค่าจึงสร้างสรรค์งานอย่างไม่มีที่สิ้นสุด

          ความคิดของคนเรานั้นเปรียบเหมือแท่งแม่เหล็กที่เคลื่อนที่นำพาชีวิตให้ไปหาสิ่งที่เราคิดอยู่เสมอและดึงดูดสิ่งที่ความคิดคล้ายกับเราให้เข้ามาหาเรา เราเป็นอย่างที่เราคิด ความคิดเป็นจุดเริ่มต้นของการกระทำและการแสดงออก ความคิดเหมือนมีตัวตน ถึงแม้จะจับต้องไม่ได้แต่มีพลัง มีผลต่ออารมณ์ ความรู้สึกและพฤติกรรมมีการเปลี่ยนแปลงไปตามความคิดได้ การเลือกคิดในเชิงบวก ทำให้ตนเองสบายใจ มีความสุข ทำให้คนรอบข้างมีความสุขด้วย มีความคิดสร้างสรรค์ มีพลัง มีกำลังใจ ต่อสู้กับอุปสรรคต่าง ๆ อย่างไม่ย่อท้อ ทำให้ก้าวสู่ความสำเร็จได้อย่างไม่ยากเย็น นักเรียนเมื่อได้รับการฝึกและรับรู้การคิดเชิงบวกจะส่งผลให้เรียนรู้อย่างมีความสุข ครูควรย้อนถามตนเองบ้างหรือยังว่าวันนี้เราได้หยิบยื่นความคิดเชิงบวกเพื่อพัฒนาให้นักเรียนเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ก้าวเผชิญปัญหาอย่างมีเป้าหมายและรู้เท่าทันปัญหาอย่างสร้างสรรค์ วันนั้นเราจะสุขใจเพราะใครๆก็ไม่อาจสร้างคนให้มีคุณภาพสู่สังคมได้เท่าเทียมครู จงภูมิใจเถิดหนาที่ได้มาเป็นครู

                       
เอกสารอ้างอิง

 

เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์. การคิดเชิงสร้างสรรค์ (Creative Thinking)

           http://www.bb.go.th/information/speech/new_book/creative%
           20thinking.pdf

เฉลิมชัย  เลิศทวีพรกุล.  เปลี่ยนชีวิตคิดเชิงบวก. กรุงเทพฯ : ซี เอ็ด ยูเคชั่น,2551

นิภา  แก้วศรีงาม. (2547, ธันวาคม). ความคิดเชิงบวก. วารสารวงการครู. 12(2) : 76
             -78

พลเดช  ศรีบุญเรือง. ROAD MAP : การขับเคลื่อน PAAR การสร้างสรรค์
             คุณภาพการศึกษา 
เขตพื้นที่การศึกษา ยโสธร. 1  http:// 
              www.yst1.go.th

รัตนา  บรรณาธรรม. (2548) การมองโลกแง่ดี. http : // www.google.com

Peiffer, Vera. (2002). More Positive Thinking. London : Thomsons.

 

หมายเลขบันทึก: 300140เขียนเมื่อ 23 กันยายน 2009 14:01 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 21:36 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (9)
  • ตามมาอ่านครับ
  • ข้อมูลละเอียดมากเลยครับ
  • มีนักเรียนจำนวนเท่าไรครับ
  • ปัญหาที่โรงเรียนที่พบบ่อยๆๆคือเรื่องอะไรครับ

เรียน คุณขจิต ฝอยทอง

ขอบคุณครับที่ติดตามวันนี้ได้เรียนรูและใช้ความพยายามจนได้รับความร่วมมือจากเพื่อนร่วมงาน

มีคนพูดทีเล่นทีจริงว่าผู้บริหารจะบริหารโดยโทรศัพท์ ถามปัญหาของโรงเรียนกับครู ครูจะตอบว่า โรงเรียนไม่มีปัญหา

เพราะตัวปัญหาไม่อยู่โรงเรียน โรงเรียนผมมีเด็ก 185 คน ครู 16 คน ปัญหาที่กำลังแก้ก็คือเด็กย้ายไปเรียนในตัวเมือง

ผมย้ายมาบริหารใหม่กำลังระดมความคิดกับครูที่จะเร่งสร้างคุณภาพมุ่งสร้างเด็กสู่ความเป็นเลิศ(แม้จะยากเราก็จะพลิกผ่ามือทำ)

ปีนี้มีเด็กย้ายกลับมาเรียน 5 คน ท่านมีแนวทางที่จะสร้างคุณภาพโรงเรียนให้เป็นที่ยยอมรับก็ได้โปรดแนะนำด้วย จะเป็นพระคุณยิ่ง

  • สวัสดีค่ะคุณครูพรชัย
  • วันนั้นเราจะสุขใจเพราะใครๆก็ไม่อาจสร้างคนให้มีคุณภาพสู่สังคมได้เท่าเทียมครู จงภูมิใจเถิดหนาที่ได้มาเป็นครู (ท่านคือผู้ให้อย่างแท้จริง)
  • อยากให้คุณครูในประเทศไทยคิดเชิงบวกเป็นแบบอย่างที่ดีอย่างนี้ทุกท่านเลยค่ะ
สวัสดีค่ะท่านผอ.
  • ขอขอบพระคุณที่ไปทักทายค่ะ
  • โรงเรียนครูคิมมีนักเรียนมากกว่าโรงเรียนผอ.๑๐๐ คนค่ะ ๒๘๕ มีครูเพียง ๑๕ คนน้อยกว่า ๑ คนนะคะมาตอบคำถามเรื่อง..การฝึกจิตสาธารณะนักเรียน
  • ที่โรงเรียนได้จัดกิจกรรมจิตสาธารณะมาตั้งแต่ปีการศึกษา ๒๕๔๗ ค่ะ
  • เริ่มที่ห้องเรียนแนะแนวชั้น ม.๑-๓ สามารถแก้ปัญหาพฤติกรรมทุกอย่างที่เกิดกับเด็กได้อย่างเป็นรูปธรรมค่ะ
  • ภายหลังโรงเรียนเห็นว่าดี จึงนำมาวิเคราะห์ลงสู่ทุกกลุ่มสาระและกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน เมื่อปีการศึกษา ๒๕๕๑ นี้เอง
  • เมื่อวันอังคารได้ถ่ายทอดรายการนี้ที่ช่อง ๑๑  พิษณุโลกเวลา ๓๐ นาทีค่ะ
  • วิธีการแรกเริมอยู่ที่นี่ค่ะ
  • http://www.krukimpbmind.com/
  • สังคมเข้ามาช่วยเหลือดูแลพวกเราค่ะ๒๘๓.การผลิตสื่อสร้างสรรค์..สำนึกพลเมืองดี

เรียนครูคิม

เป็นความกรุณาอย่างยิ่งที่แนะนำ ผมรวบรวมองค์ความรู้เกี่ยวกับจิตสาธารณะได้พบคุณครู

เหมือนมีที่พึ่งพิง ขอบคุณจริงๆ จะขอคำแนะนำเมื่อมีปัญหา

เรียน ดร ขจิต ฝอยทอง

ขอบคุณบทความที่ฝากมาให้ ผมกำลังจะเขียนบทความเรื่อง

ครูกับการเตรียมความพร้อมขับเคลื่อนหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 ไปสู่การเรียนรู้ที่ทรงพลัง

ท่านคิดอย่างไรเกี่ยวกับหลักสูตรใหม่ จุดดี จุดเน้น และเป้าหมายที่คาดหวัง ครับ

รัฐฐะ บริรักษ์สกุล

เนื้อหาดีมากเลยครับ

ขอบคุณมากกกกก

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท