ประเพณีลากพระที่อำเภอโคกโพธิ์


       เมื่อเดือนสิบเอ็ดมาเยือน ทุกวัดในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้จะกระหึ่มด้วยเสียงกลอง "คุ้มพระ"  เด็กๆ จะทราบว่ามีกิจกรรมทำเรือพระมาตั้งแต่วันทำบุญเดือนสิบหรือประมาณกลางเดือนสิบแล้ว  เด็กๆ จะรู้ว่าหลังจากทำบุญเดือนสิบ "ส่งเปรต" ไปอีกสิบห้าวันเต็มๆ จะมีประเพณีลากพระในวันออกพรรษา  ซึ่งในปี 2552 นี้ ตรงกับวันที่ 5 ตุลาคม  2552 แล้ววันนั้นจะได้เห็นเรือพระที่สวยงามตระการตา

       ที่มุมหนึ่งของวัดจะมีอาคารไม้หลังคาสูง  เป็นที่เก็บเรือพระ  พระสงฆ์ สามเณรและชาวบ้านที่มีฝีมือจะอาสามาทำเรือพระกันตลอดเดือนสิบเอ็ด  บ้างก็ทำโครงสร้าง บ้างก็วาดลวดลายกนก บ้างก็ทาสี บ้างก็ต่อไฟกระพริบ  ให้เรือพระสวยงามที่สุด  หากได้รางวัลมาจะได้นำเงินเข้าวัดอีกทาง

อธิบายภาพบนหัวนาคฝีมือช่างพื้นบ้านที่แกะสลักด้วยไม้ประดู่  อายุร่วมร้อยปี จะถูกนำมาประกอบตัวนาค เป็นส่วนหนึ่งของเรือพระ  ที่เห็นตัวที่อ้าปากเป็นตัวผู้  ส่วนภาพล่างตัวที่ไม่อ้าปากป็นตัวเมีย  ส่วนภาพล่างสุดเป็นหางนาคทั้งสองตัว  ที่มีครีบเป็นหางนาคตัวผู้ 

        ที่ไม่ถนัดทางงานฝีมือ  ก็แบ่งกลุ่มออกไปทำหน้าที่ขบวนลากพระ ซึ่งจะต้องเตรียมกลองยาวและฟ้อนหน้าขบวนให้ตระการตา  เพราะความสวยงามของเรือพระ  หากเสริมด้วยความยิ่งใหญ่ของขบวนแห่จะทำให้ภาพของเรือพระเด่นชัดอลังการยิ่งขึ้น  ตลอดเดือนสิบเอ็ดยามกลางคืนชาวบ้านก็จะช่วยกันทำหน้าที่ช่วยงานที่ตนถนัดตลอดเดือน

อธิบายสามภาพล่าง  ที่เห็นนี้เป็นบุษบกที่ถูกแยกเป็นส่วน ค่อยนำมาประกอบกัน  เมื่อรวมกันทั้งหมดสูงประมาณ 6-8 เมตร เลยทีเดียว ภาพถัดไปเป็น ดอกชายไหว ที่จะนำมาเสียบประดับประดาบนบุษบกอีกทีหนึ่ง ที่เรียกดอกชายไหว เพราะใต้ของฐานดอกจะมีพู่ห้อยลงมา เมื่อลากเรือพระเคลื่อนไป หรือยามต้องลม พู่ที่ห้อยระย้าจะวะวับและมีเสียงเกรียวกราวดังทำด้วยทองเลยทีเดียว ทั้งๆ ที่เป็นแค่กระดาษทองเท่านั้นเอง

        การลากพระเป็นการจำลองเอาเหตุการณ์ที่พระพุทธองค์เสด็จลงมาจากดาวดึงส์ทางบันไดนาค  การสร้างเรือพระจึงมีลักษณะของบุษบกที่อยู่บนหลังนาค ประดิษฐานพระพุทธรูป  แล้วก็ลากผ่านชุมชนไปรวมกันที่จุดนัดหมาย  แล้วทำการสมโภชน์ตามสมควร  แต่ทีอำเภอโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี ยิ่งใหญ่กว่าที่ใดในแถบนี้  มีงานสมโภชน์สิบวันสิบคืน  ขบวนเรือพระมาจากทุกวัดในละแวกใกล้เคียง  ใกลที่สุดมาจากจังหวัดสงขลา นราธิวาสและยะลา  ไม่เคยมีปีใดที่เรือพระน้อยกว่า 50 คัน  บางปีอาจถึงร้อยคัน  เมื่อเรือพระมาจอด ณ ที่นัดหมาย พระเณรก็จะพักอยู่กับเรือพระและเจ้าของพื้นที่ก็จะจัดเวรกันทำภัตตาหารถวายพระ เช้า-เพล  ทุกวันตลอดงาน  ณ ที่แห่งนี้คุณสามารถทำบุญได้กับทุกวัด  ถ้าจะพูดว่าว่าหากคุณมาทำบุญในงานประเพณีลากพระ  คุณสามารถทำบุญหลายวัดได้เท่าอายุคุณเลยทีเดียว

         เรือพระเสร็จเมื่อไร จะหาภาพพร้อมขบวนอลังการณ์มาฝากครับ

หมายเลขบันทึก: 300136เขียนเมื่อ 23 กันยายน 2009 13:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 21:36 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ภาพสวยงาม และได้รับความรู้ดีค่ะ

ขอบคุณครับ / ขณะตอบกระทู้นี้ผมกำลังเตรียมกล้องไปเก็บภาพวิดีโอมาฝากครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท